หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ธนบุรีศรีมหาสมุทร (6)


สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเลิกทัพกลับจากเขมรรีบเดินทางเข้ามายังกรุงธนบุรี มาถึงทุ่งแสนแสบแถวมีนบุรี หลวงสรวิชิต (หน) ออกไปรับและแจ้งข่าวว่าการจลาจลในกรุงธนบุรีสงบแล้ว พระยาสุริยอภัยเข้าคุมสถานการณ์ได้ ท่านก็รุดเข้ามาจนถึงวัดสะแกนอกเมืองบางกอก ถือโอกาสชำระสระสรงน้ำที่สระในวัดและเปลี่ยนเครื่องแต่งกายขึ้นช้างมุ่งไปยังโรงพลับพลาหน้าวัดโพธาราม ซึ่ง ณ ที่นั้นขุนนาง ท้าวนางพญานาง ทหาร พลเรือนกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรรอรับอยู่อย่างพร้อมเพรียง

พูดถึงหลวงสรวิชิตผู้นี้เป็นนักปกครองและนักการเงิน ที่สำคัญคือเป็นกวีมีความรู้ดีทั้งภาษาไทย จีน มอญ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีคลัง เป็นผู้กำกับดูแลการแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ไซ่ฮั่น ราชาธิราชเป็นภาษาไทย

ส่วนวัดสะแกนั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงถือเป็นศุภนิมิตว่าได้ลงอาบน้ำชำระกายที่นั่นจึงให้บูรณะเป็นพระอารามใหญ่ พระราชทานชื่อว่าวัดสระเกศสืบมาจนบัดนี้


ที่โรงพลับพลาหน้าวัดโพธิ์ พระยาสุริยอภัยได้รายงานเหตุการณ์ ท้าวทรงกันดาลเชิญสมเด็จเจ้าพระยาลงเรือพระที่นั่งข้ามแม่น้ำไปยังพระราชวังธนบุรี นมัสการพระแก้วมรกตแล้วจึงเข้าว่าราชการในท้องพระโรง ขุนนางพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพื่อระงับดับช่องว่างแห่งอำนาจที่เกิดขึ้น

พงศาวดารกล่าวว่าเมื่อสมเด็จ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรับการมอบราชสมบัติและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประชุมขุนนางพิจารณาชำระความผู้เกี่ยวข้องกับการก่อการจลาจลวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและความบกพร่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในฐานะที่เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองในขณะนั้น ความจริงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิได้ทรงเกี่ยวข้องกับการจลาจล หากแต่ทรงเป็น “ผู้ถูกกระทำ” จากฝ่ายพระยาสรรค์ เจ้ารามลักษณ์ รวมทั้งพระยาสุริยอภัย แต่ขุนนางเสนาพฤฒามาตย์ในเวลานั้นดูจะตั้งธงเสียแต่แรกแล้วว่าผู้ปกครองเดิมไม่อยู่ในฐานะจะดูแลรักษาบ้านเมืองได้อีกต่อไป สมควรล้มล้างเปลี่ยนแปลง

บางทีการเมืองเบื้องหลังเรื่องนี้อาจเป็นว่าคนเหล่านี้เคยได้รับความคับแค้นข้องใจจากการบริหารราชการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เช่น ถูกลงโทษบ้าง หรือจากการใช้อำนาจของข้าราชบริพารที่แอบอิงพระราชอำนาจกลั่นแกล้งเอาบ้างก็ได้

นอกจากนั้นอาจเชื่อมโยงกับตำแหน่งแห่งหนในทางราชการซึ่งมี “คนของรัฐบาลเก่า” ครองอยู่แล้ว ถ้าไม่หาทางโยกย้ายหรือปลดผู้คนเหล่านั้นแบบล้างบางไฉนเลยคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจมีอาวุโสสูงจะมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้ ตำแหน่งหน้าที่ในสมัยก่อนก็เหมือนเป็นตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการทั้งหลายในกรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา แม่ทัพนายกอง เจ้าเมือง ขุนทหารและตุลาการทั้งปวงก็เหมือนข้าราชการการเมือง ต้องเปลี่ยนผู้นำเสียก่อนจึงจะเปลี่ยนข้าราชการดังกล่าวได้

ปัญหามีอยู่ว่าจะยกเอาเหตุใดเป็นข้ออ้างให้ฟังดู “เข้าเค้า” หน่อยเพื่อสร้างความชอบธรรม “เหตุ” ที่เคยใช้มาตลอดในประวัติศาสตร์ไทยคือการไม่ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมจรรยาสัมมาปฏิบัติดังที่พระพิมลธรรมอ้างคราวยึดอำนาจจากเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ สมเด็จพระนารายณ์อ้างคราวยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชและคราวยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

ในที่สุดก็ได้มีมติให้จัดการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับการจลาจลทางฝ่ายพระยาสรรค์

พงศาวดารกล่าวว่าการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทำที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ข้างพระราชวังธนบุรี แต่การถวายพระเพลิงตามโบราณประเพณีทิ้งช่วงเวลาไว้นานหลายปี จึงเป็นช่องว่างให้เกิดความกังขาว่ามีการสำเร็จโทษจริงหรือไม่ หรือจะมีการปล่อยตัวให้ท่านหลบหนีไปอยู่ที่อื่น แต่ต้องแกล้งออกข่าวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยว่าได้ถูกสำเร็จโทษแล้ว

พระราชโอรสธิดาบางพระองค์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกสำเร็จโทษด้วย โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราชซึ่งเพิ่งเลิกทัพจากเขมรตามเข้ามา ครั้งแรกก็ว่าจะทรงอุปถัมภ์ชุบเลี้ยง แต่พระมหาอุปราชท่านยอมตายตามพระราชบิดา เจ้ารามลักษณ์ก็ถูกสำเร็จโทษ รวมทั้งพระยาสรรค์และขุนนางที่เป็นพรรคพวกร่วมคิดกันมาก็ถูกประหารเสียสิ้น

แม้คำพูดในเวลานั้นจะมีว่า “ตัดไม้อย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” ซึ่งเป็นหลักในการตัดสินคดี แต่พระราชโอรสธิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มิได้ถูกสำเร็จโทษเสียหมด พระมเหสีและเจ้าจอมหม่อมพระสนม พระญาติพระวงศ์หลายพระองค์ก็ยังมีชีวิตต่อมา เพียงแต่ถูกถอดเป็นสามัญชน บางคนยังได้เข้ารับราชการจนได้ดีเป็นหมอหลวงในสมัยรัชกาลที่ 2-3 บางคนได้เป็นหม่อมห้าม (เมีย) เจ้านายในพระบรมราชวงศ์ใหม่ และมีลูกหลานเป็นเจ้า เช่น ราชสกุลกุญชร นพวงศ์ สุประดิษฐ์นั้นสืบมาจากทั้งราชวงศ์จักรีและราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สกุลสามัญที่มีบทบาทสำคัญในแผ่นดินและเป็นเชื้อสายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีอีกมาก เช่น สินสุข ณ นคร อินทรกำแหง เป็นต้น


กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีต่อจากกรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ 15 ปีก็ปิดฉากลง รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้ย้ายราชธานีข้ามฟากมาอยู่ฝั่งบางกอก เพราะทรงเห็นว่าแม้เป็นที่ลุ่มแต่ชัยภูมิดีกว่า มีทางหนีทีไล่จากข้าศึกศัตรูหลายทาง แต่สิ่งก่อสร้าง วัดวาอารามในกรุงธนบุรีก็ยังอยู่และได้รับการทะนุบำรุงมาเป็นลำดับ เช่น พระราชวังธนบุรีก็ให้ใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งต่อมาเป็นรัชกาลที่ 2 วัดหงส์รัตนาราม วัดแจ้ง วัดอินทาราม วัดระฆัง วัดพลับก็ยังคงเป็นวัดสำคัญสืบมาจนบัดนี้

วันที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้ากรุงธนบุรีและรับราชสมบัตินั้นเป็นวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 เวลาบ่าย 2 โมงเศษ ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325

หลังจากนั้นก็ได้มีพระราชดำริให้ย้ายพระนครมาตั้งที่ฝั่งตรงข้าม มีพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที หรือ 06.45 น. ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325

ส่วนการปราบดาภิเษกพอเป็นสังเขปเพราะขณะนั้นยังไม่พร้อมมีขึ้นในวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน 2325 และมีการเฉลิมพระราชมณเฑียร (ขึ้นบ้านใหม่) ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2325 เมื่อการสร้างพระนครเรียบร้อยแล้วจึงมีพิธีปราบดาภิเษกเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณีอีกครั้งเมื่อปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับ พ.ศ.2328

การเล่าเรื่องกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรต้องเล่าต่อเนื่องไปถึงกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอย่างนี้แหละครับ อ้อ! ขอเรียนอีกครั้งว่าที่เรียกกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเพราะเป็นชื่อทางการที่ตั้งมาอย่างนั้นตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

สถานะของกรุงธนบุรีถูกลดลงเป็นลำดับตามอนิจลักษณะที่ว่าด้วยการเกิดขึ้น การตั้งอยู่และการดับไป แต่ความที่กรุงธนบุรีอยู่ใกล้พระนครใหม่แค่นี้เอง สถานะของกรุงธนบุรีจะเป็นอะไรจึงไม่สู้จะมีใครสนใจมากนัก พระสงฆ์ฝั่งธนข้ามไปรับบาตรฝั่งกรุงเทพฯ เป็นปกติ เจ้านายกรุงเทพฯ หลายพระองค์ก็ยังคงประทับอยู่ฝั่งธน ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนก็อยู่ทางฝั่งธนเพราะมีที่ว่างมากกว่า อย่างนายบุนนาคที่ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหม สมัยรัชกาลที่ 1 ก็มีที่ทางอยู่ฝั่งธน ภายหลังบุตรชายทั้งสองของท่านคือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยจนถึงหลานปู่ของท่านซึ่งได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็มีที่พักถาวรอยู่ฝั่งธนบุรี เรียกกันว่า “เจ้าคุณฝั่งขะโน้น”

ในเวลาต่อมาธนบุรีได้รับการยกขึ้นเป็นจังหวัด แต่มาในระยะหลังก็ถูกผนวกเข้ากับกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี จนกระทั่งเป็นกรุงเทพมหานครในที่สุด การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานับแต่สะพานพระราม 6 สะพานพุทธฯ สะพานกรุงธนฯ สะพานกรุงเทพฯ สะพานพระปิ่นเกล้าฯ จนถึงอีกสารพัดสะพานเปิดทางให้กรุงเทพฯ และธนบุรีเชื่อมติดต่อเหมือนเป็นเมืองเดียวกันยิ่งขึ้น เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้หลายคนเริ่มคิดว่ากรุงเทพมหานครจะกว้างใหญ่ไพศาลเกินไปหรือไม่กับการบริหารในลักษณะท้องถิ่นรูปแบบพิเศษภายใต้ผู้บริหารชุดเดียวและสภาท้องถิ่นชุดเดียวกันเช่นนี้

ข้อเรียกร้องที่เคยมีคนอยากให้กลับไปคงชื่อธนบุรีเป็นเมืองเอกเทศต่อไป หากอ้างแต่เหตุผลในทางประวัติศาสตร์อาจมีน้ำหนักน้อยเพราะบางกอกเคยรวมทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งกรุงเทพฯ มาก่อน แต่การบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือภัยธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพอาจเป็นข้อพิจารณาที่ใหญ่กว่าอย่างอื่น ซึ่งคงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียและความคุ้มค่าทุกสถานในการจะแยกธนบุรีออกเป็นอีกจังหวัดหรืออีกมหานครที่มีรูปแบบเป็นการปกครองท้องถิ่นพิเศษเพราะอาจบั่นทอนความเจริญของธนบุรีลงก็เป็นได้ พอดีจะร้ายจะกลายเป็น “ท้องถิ่นบ้านนอก”

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าการพิจารณาต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาไม่ใช่เหตุผลทางการเมืองหรือการแบ่งเขตเลือกตั้ง การหาเสียง และต้องคำนึงถึงความรู้สึก ความต้องการของประชาชนควบคู่ไปด้วย

ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด พระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีควรอยู่ในใจของคนไทยตลอดไป และเป็นผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในบรรดาสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งหลายของไทยตราบกาลนาน.


ในเวลาต่อมาธนบุรีได้รับการยกขึ้นเป็นจังหวัด แต่มาในระยะหลังก็ถูกผนวกเข้ากับกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี จนกระทั่งเป็นกรุงเทพมหานครในที่สุด การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานับแต่สะพานพระราม 6 สะพานพุทธฯ สะพานกรุงธนฯ สะพานกรุงเทพฯ สะพานพระปิ่นเกล้าฯ จนถึงอีกสารพัดสะพานเปิดทางให้กรุงเทพฯ และธนบุรีเชื่อมติดต่อเหมือนเป็นเมืองเดียวกันยิ่งขึ้น

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: