วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555
สวัสดีปีมะโรง…มังกรค้นความนัย “นักษัตรลำดับ 5”
ก้าวข้ามผ่านปีเริ่มพุทธศักราชใหม่กันแล้วในเวลานี้และหากไล่เรียงนับลำดับ ปีมะโรงหรือปีงูใหญ่ นักษัตรดังกล่าวอยู่ในลำดับ 5 ต่อเนื่องจากปีเถาะหรือปีกระต่ายที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ช่วงเวลานี้นอกจากจะได้เห็นหลากสีสันสิ่งของที่ระลึกบอกเล่าปีนักษัตร ในแง่มุมชวนรู้ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวปีมะโรงยังมีอีกหลายด้าน รศ.ดร.สาโรช โศภีรักข์ ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความรู้ว่า มะโรง เป็นคำเรียกปีนักษัตรเป็นปีตามปฏิทินสุริยคติของไทยโดยการนับรอบละ 12 ปีอันเป็นคติการนับปีที่นิยมใช้แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียซึ่งปีนักษัตร12 ปีทั้งหากไล่เรียงจะเริ่มจาก ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ, มะโรง, มะเส็ง, มะเมีย, มะแม, วอก, ระกา, จอ, และ กุน ซึ่งในความหมาย นักษัตร หมายถึงกลุ่มดาวฤกษ์ ขณะที่อีกความหมายหนึ่งหมายถึงชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปีเป็นหนึ่งรอบเรียกว่า 12 นักษัตร
“การนับปีโดยใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์นี้ไม่ใช่มีเพียงประเทศเราในเอเชียหลายประเทศไม่ว่า จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว พม่า ฯลฯ ก็ใช้วิธีดังกล่าวทั้งลำดับปีก่อนหลังและสัตว์ที่ใช้ก็ตรงกันหรืออาจต่างไปบ้างเล็กน้อย อย่างปีมะโรงของจีนเป็นมังกร ปีเถาะของญี่ปุ่นเป็นแมว ขณะที่ปีกุนของล้านนาเป็นช้าง ฯลฯ”
สัญลักษณ์เหล่านี้มีอิทธิพลแวดล้อมอยู่ในวิถีชีวิตเราโดยทั่วไปเมื่อพูดถึง ปีมะโรงจะรู้จักกันในลักษณะงูใหญ่ นาค ซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีชีวิตไทย วัฒนธรรมไทย ปรากฏทั้งในงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทยซึ่งนาคหรือพญานาคเป็นความเชื่อในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเรียกชื่อต่างกันไปและมีลักษณะตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคต่างกัน มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นงูขนาดใหญ่มีหงอนเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ซึ่งในเรื่องราวของตำนานพญานาคมีอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังมีชื่อในพระพุทธศาสนา อย่าง นาคที่แผ่พังพานใต้ร่มไม้จิกให้พระพุทธเจ้านาคตนนี้มีชื่อว่า มุจจลินทร์นาคราช
ในงานประติมากรรมไทย จิตรกรรม ก็มักได้เห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคและด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา นาคได้แฝงตัวอยู่ตามสถาปัตยกรรมภายในวัดช่วยปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาคาร อย่าง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ฯลฯ
อีกทั้งยังเป็นโขนเรือ (หัวเรือ) ในขบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีอีกด้วย อันได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
ส่วนงูใหญ่อาจไม่ค่อยมีใครพูดถึงแต่ทว่างูใหญ่ปรากฏอยู่ในตำนานความเชื่อทางภาคใต้อย่างที่ จ.สงขลา จ.ปัตตานีซึ่งเป็นความเชื่อในท้องถิ่นนั้นมีความเชื่อเรื่อง งูทวดหรือทวดงู งูตัวใหญ่ที่จะมาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามแม้สัญลักษณ์ของปีมะโรงจะต่างกันไปตามความเชื่อ ตามประเพณีวัฒนธรรมและไม่ว่าจะเป็น งูใหญ่ นาค หรือ มังกร สิ่งที่ไม่ต่างกันคือการนำเอาสัญลักษณ์ของสัตว์เหล่านั้นผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และปรับความเชื่อ จินตนาการสอดคล้องกับสัญลักษณ์เหล่านั้น หากคิดไปทางบวกก็จะทำให้ผู้นั้นเดินตามความคิดที่ดีงามเป็นผลให้เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่หากคิดในทางลบหนทางที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จก็ลดลง
จากที่กล่าวถึงความเป็นมาของมะโรงในความสำคัญของช่วงเวลาเหล่านี้ อาจารย์สาโรชกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้เกิดขึ้นทุกปี สัญลักษณ์ที่เป็นสัตว์ต่าง ๆ ที่มาแทนปีไม่น่าจะมีอิทธิพลเท่ากับความคิดซึ่งหากตั้งมั่น ตั้งความหวังว่าในปีใหม่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีเป็นมงคลทั้งสิ้น
นอกจากนี้ในเรื่องราวของปีมะโรง อ.เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักค้นคว้าวัฒนธรรมจีนให้มุมมองเพิ่มอีกว่า นักษัตรเป็นภาษาสันสกฤตหมายถึงดาวฤกษ์ หลายประเทศได้รับเอาวัฒนธรรมเรื่องเหล่านี้มาซึ่งสัตว์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ก็จะต่างกันไป อย่าง ปีมะโรงจีนเป็นมังกร ส่วนไทยเป็นพญานาค ขณะที่ปีระกามีไก่เป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่ก็มีบางที่ใช้ นก เป็นสัญลักษณ์ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่แผ่กระจายออกไป
“ปีนี้คนจีนเรียกปีมังกร แต่หากจะนับก็ต้องตรุษจีนเมื่อเข้าตรุษจีนก็จะเปลี่ยนปี ส่วนถ้าถามถึงเรื่องราวความนัยของมังกร มังกรจัดเป็นสัตว์ในเทพนิยายเก่าแก่ของจีน มังกรมีความหมายสำคัญถือเป็นตัวแทนของสัตว์ทั้งสี่ประจำทิศ
แต่ต่อมาความเชื่อในเรื่องมังกรแผ่ขยายออกไปทุกที่จะเห็นได้ว่ามังกรอยู่ได้ทั้งบนท้องฟ้า ในแผ่นดิน มังกรมีที่อาศัยอยู่ในทะเลรักษาทะเล รักษาแม่น้ำลำคลอง รักษาแผ่นดิน หุบเขาต่าง ๆ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าแผ่ไปทั่วและเกี่ยวข้องผูกพันกับหลายเรื่องในการดำเนินชีวิต”
นอกจากนี้มังกรยังนำมาเป็นสื่อสัญลักษณ์มงคลแทนฐานานุศักดิ์เป็นสิ่งแทนในสถาบันสังคมในด้านศิลปกรรมก็มีการนำรูปมังกรมาใช้อยู่มากแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของมังกรและแม้จะเห็นว่าสามารถพบเห็นมังกรได้ทั่วไป แต่สำหรับชาวจีนมังกรเป็นสิ่งพิเศษเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความผูกพันมายาวนาน
“ช่วงตอนหนึ่งเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในจีน ความเชื่อของมังกรได้รวมเข้ากับเรื่องของพญา
นาค ในเชิงพุทธศาสนามังกรก็คือ พญานาคราช จะเห็นว่าก็มีการผสมผสานความเชื่อในเรื่องมังกรและถ้าเล่าย้อนกลับไปมังกรยังปรากฏในวรรณกรรม เทพนิยายซึ่งก็มีความเชื่อต่าง ๆ บางท่านกล่าวถึงมังกรว่าเป็นการผสมสัญลักษณ์ต่าง ๆอย่างเขาเหมือนกวาง ลำตัวเหมืองู มีเกล็ดเหมือนปลา กรงเล็บเหมือนสิงโต ฯลฯ”
อีกทั้งชื่อมังกรในภาษาจีนยังเป็นมงคลได้รับความนิยมต่อเนื่อง อย่าง เล่ง หลง เฉิงหลงชื่อของผู้ชายแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งก็พบอยู่มาก ขณะที่ภาษาญี่ปุ่น ริว ซึ่งแปลว่ามังกรก็พบว่ามีการนำมาตั้งชื่ออยู่มาก มังกรจึงมีนัยถึง ความเป็นมงคล ความยิ่งใหญ่ที่ยังคงผูกพันกับวิถีชีวิต
เมื่อปีมังกรมาถึงก็เชื่อว่าจะเป็นปีที่ดีนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง แต่ทั้งนี้ก็ไม่เสมอไปอย่างไรแล้วจึงไม่ควรประมาท อ.เศรษฐพงษ์กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า อยากให้พิจารณายึดมั่นหลักธรรมในพุทธศาสนา มองการเปลี่ยนผ่านปีด้วยสติ มองปีใหม่อย่างมีความหวังด้วยความตั้งใจที่จะทำดี โดยที่ไม่มุ่งหวังว่าจะดีได้โดยที่ไม่ทำอะไร
แต่ดีได้ด้วยความพยายาม เพราะเมื่อมีความพยายามแล้วทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดผลสำเร็จขึ้น ช่วงเวลานี้ปีใหม่จึงอาจยึดนำมาเป็นจุดตั้งต้นเริ่มทำสิ่งดีงามทั้งหลาย.
...............................
ตำนานเล่าขานปีนักษัตร์
มะโรง เป็นชื่อปีที่ 5 ของรอบปีนักษัตรเป็นปีตามปฏิทินสุริยคติไทยโดยการนับรอบละ 12 ปีเป็นคติการนับปีที่นิยมใช้กันแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย ในตำนานที่กล่าวขานถึงปีนักษัตร อ.สาโรช บอกเล่าอีกว่า จากที่ปรากฏในตำนานชาวไทยลื้อเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพรหมถูกตัดเศียร ลูกสาวทั้ง 12 นางของพระพรหมซึ่งก็คือนางสงกรานต์มีหน้าที่เชิญพานที่รองรับเศียรพระพรหมออกแห่ในวันสงกรานต์ทุกปีโดยผลัดกันปีละนาง นางเหล่านี้มีพาหนะต่างกัน นางหนึ่งขี่หนู นางหนึ่งขี่วัว นางหนึ่งขี่เสือ ขี่กระต่าย ขี่พญานาค ขี่งู ขี่ม้า ขี่แพะ ขี่ลิง ขี่ไก่ ขี่สุนัข ขี่หมู ไปตามลำดับ ตามตำนานกล่าวว่าชาวไทยลื้อได้เอาพาหนะที่นางทั้งสิบสองขี่นี่แหละมาใช้เรียกชื่อปี
นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเชิญสัตว์ต่าง ๆ มาร่วมงาน หากสัตว์ใดมาถึงงานเลี้ยงได้ 12 ตัวแรกจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสัญลักษณ์ของปีนักษัตรปรากฏว่าในบรรดาสัตว์มากมายมีหนูรวมอยู่ด้วย หนูกระโดดเกาะหางวัวใหญ่ที่กำลังวิ่งอย่างเต็มฝีเท้าผ่านหน้าไปและแซงหน้าสัตว์อื่น ๆ ไปอย่างรวดเร็วจนใกล้ถึงเส้นชัย เจ้าหนูกลับกระโดดวิ่งไปบนหลังวัวและถีบตัวเองลอยลิ่วเข้าสู่เส้นชัยเป็นตัวแรก ฯลฯ ปีเริ่มต้นจึงเริ่มด้วยปีชวดซึ่งมีหนูเป็นสัญลักษณ์
อีกทั้งยังมีตำนานกล่าวถึงหลังเกิดไฟบรรลัยกัลป์เทพเจ้าทั้งสามคือพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมสร้างโลกขึ้น เทพเจ้าได้สร้างสรรพชีวิตและเห็นว่าโลกที่ยังไม่ได้มีการแบ่งช่วงเวลาจึงสร้าง วัน เดือน ปี จากนั้นทรงสร้างสัตว์ 12 ชนิด ขึ้นและนำชื่อสัตว์เหล่านั้นมาตั้งเป็นชื่อ 12 นักษัตร เป็นต้น
ทีมวาไรตี้
@เดลินิวส์
ป้ายกำกับ:
คำทำนายรายปี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น