วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554
ออทิสติก อย่าให้สายเกินแก้
เป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ผู้หญิงว่า การตั้งครรภ์ช่วงอายุมาก บุตรที่คลอดออกมามีความเสี่ยงสูงต่อโรคร้ายแรง อย่างเช่น ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก และอื่นๆ แต่แพทย์เองก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่กฎตายตัวเสมอไป
แม้สาเหตุของโรคจะยังไม่ชัดเจน มีคนพูดถึงพันธุกรรมหรือยีนที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่แพทย์พบยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น โภชนาการ การขาดสารอาหารบางชนิด การได้รับสารเคมีบางประเภท ทำให้ไม่เฉพาะแต่มารดาสูงวัยเท่านั้น แม่วัยเจริญพันธุ์แต่ไม่บำรุงครรภ์ก็มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน
“ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าอะไรเป็นสาเหตุหลัก การวินิจฉัยของหมอจะดูจากอาการเป็นหลัก หมอหลายคนพยายามเก็บข้อมูลเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นและ มีภาวะไม่อยู่นิ่ง เพื่อหาว่ามีปัจจัยอะไรที่ทางการแพทย์สามารถบอกได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ อาการผิดปกติ เช่น ตรวจปัสสาวะ เลือด เส้นผม เพื่อโยงไปถึงสาเหตุของกลุ่มอาการ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการทางเคมี สารอาหารที่ขาดไป กระบวนการขับสารพิษ ซึ่งปัจจุบันเราพบหลายปัจจัยที่มีความแตกต่างกันระหว่างเด็กออทิสติกกับเด็กปกติ” นพ.ภานุวัฒน์ พุทธเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ผสมผสาน จากสถาบันการแพทย์ผสมผสานตรัยยา โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าว
แม้จะยังไม่สามารถฟันธงต้นตอของโรคได้ แต่แพทย์ก็ได้ทดลองนำศาสตร์การรักษาแบบต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยมองถึงการพยากรณ์โรคที่ดีกว่า เพื่อบรรเทา และบำบัดภาวะออทิสติกในเด็กให้ทุเลาและหมดไป
ปัจจุบัน แพทย์สามารถตรวจพบอาการออทิสติกใน เด็กเร็วขึ้น ช่วงเวลาที่พบบ่อยเป็นเด็กในวัยขวบครึ่ง ถึง 2 ขวบ ช่วงที่เด็กเริ่มมีพัฒนาการในการสื่อสาร ใช้ภาษา แต่กลับสื่อสารไม่ได้ หรือมีอารมณ์ก้าวร้าวจนเกินที่จะควบคุม การสนองตอบที่ผิดปกติ ทางสายตา และปฏิสัมพันธ์ที่ ไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น
“บางคนไม่พูดเลย หรือบางคน 2 ขวบแล้วยังพูดไม่ได้ หรือมีอารมณ์ก้าวร้าวควบคุมไม่ได้ เหล่านี้เป็นจุดสังเกตที่มาจากคุณพ่อคุณแม่” คุณหมอกล่าวและบอกว่า นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะเห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว คุณครูประจำชั้นที่มีความใกล้ชิดกับเด็กและเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่าง ชัดเจนเมื่อเทียบกับเด็กปกติในวัยเดียวกัน เช่น เด็กไม่มีสมาธิตั้งใจเรียน ซนผิดปกติ หรือเล่นกับเพื่อในวัยเดียวกันไม่ได้ ครูจึงเป็นอีกบุคคลสำคัญที่ช่วยคัดกรอง และนำเด็กมาสู่การรักษาที่ถูกต้อง
“สมาธิในห้องเรียนไม่ปกติ พฤติกรรมในห้องเรียนเปลี่ยนไป คำถามเหล่านี้ส่งกลับมาให้ผู้ปกครองที่อาจจะไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่ใกล้ชิดกับ ลูกได้ เมื่อถูกตั้งข้อสังเกต คุณพ่อคุณแม่มักจะตื่นเต้นตกใจ และมองหาผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาปรึกษาถึงพฤติกรรมของเด็กเพื่อหาทางออก” คุณหมอเล่าเคส
การรักษาเด็กออทิสติกจะ เริ่มสังเกตพฤติกรรมของเด็กจากการพูดคุย เนื่องจากโรคนี้มีลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคที่ต่างกัน บางครั้งแพทย์ไม่ได้วัดความรุนแรงของโรคจากภาษาเพียงอย่างเดียว การสบตา ปฏิกิริยาโต้ตอบ ก็เป็นส่วนหนึ่ง
กระบวนการรักษาออทิสติกส่วน ใหญ่เริ่มต้นจากการปรับปรุงแก้ไขสิ่งปกติที่เกิดขึ้น เช่น นักโภชนาการจะช่วยแนะนำอาหารกลุ่มทดแทน ปรับสมดุลของระบบย่อยอาหาร การฝังเข็มช่วยทำให้เด็กนิ่งขึ้น ขณะที่การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และปรับกระบวนการอักเสบที่เกิดจากเซลล์สมองผิดปกติ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดมีส่วนทำให้เด็กมีอาการตอบสนองที่ดีขึ้น
รูปแบบของการรักษายังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และช่วงเวลาที่ตรวจพบ เพราะถ้าการตรวจวินิจฉัยทำได้เร็ว ยิ่งพบช้าหนทางแก้ค่อนข้างจะลำบาก โดยเฉพาะเด็กที่อายุเกิน 5 ขวบไปแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมและสมองเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
โดยปกติเด็กในออทิสติกอาจ ต้องพึ่งพายาระงับประสาท ควบคุมอารมณ์ ควบคุมการแสดงออกของระบบประสาท ควบคู่กับการทำพฤติกรรมบำบัด ซึ่งในแต่ละวันพวกเขาต้องรับประทานยามากกว่า 3-4 ตัวขึ้นไป แน่นอนการทานยาต่อเนื่องไม่ใช้ผลดีสำหรับพวกเขาในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คุณหมอบอกว่า โรคนี้ต้องดูในระยะยาว อาจจะบอกไม่ได้ชัดเจนว่าจะดีขึ้นไประยะเท่าไหร่ การรักษาต้องอาศัยความต่อเนื่องด้วย แต่หากมาพบแพทย์ได้เร็ว ในช่วง 1 -2 เดือนของการรักษา อาการจะเริ่มเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งตัวเด็ก ครอบครัว และโรงเรียน ขณะที่ตัวหมอเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
“คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติกต้อง เปิดใจยอมรับและพาลูกมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง แม้การรักษาจะมีค่าใช้จ่ายสูงเป็นหลักหมื่นต่อเดือน เพราะการประเมินโรคต้องอาศัยเทคโนโลยี แต่ข้อมูลได้มาจะช่วยให้การแก้ไขทำได้อย่างตรงจุด ในขณะที่พัฒนาการของเด็กเปลี่ยนไปทุกวัน” คุณหมอ กล่าวและยืนยันว่า เด็กออทิสติกสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเด็กทั่วไปได้ แต่ต้องมีการดูแลต่อเนื่อง ปรับแก้ให้มีพัฒนาที่เหมาะสม
โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา @กรุงเทพธุรกิจ
ป้ายกำกับ:
สุขภาพ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น