หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

หยุดเหล้า... หยุดสารพัดโรค

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4278 ประชาชาติธุรกิจ




สุราหรือเหล้านอกจากทำให้ขาดสติจนเกิดอุบัติเหตุ ก่อความสูญเสียอันน่าสะเทือนใจแล้ว มันยังทำร้ายร่างกายคุณด้วยสารพัดโรค

ถึงเวลาหยุดสุรากันแล้วหรือยัง ?

ศูนย์ ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า สุราถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการหมักผัก ผลไม้ หรือเมล็ดพืชชนิดต่าง ๆ แล้วแต่งกลิ่น ในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แต่ละชนิดจะมีความเข้มข้นของ แอลกอฮอล์ต่างกัน เช่น เหล้ามีแอลกอฮอล์ 40% ไวน์มีแอลกอฮอล์ 12% และเบียร์มีแอลกอฮอล์ 5% โดยฤทธิ์ร้ายของแอลกอฮอล์จะกดประสาท ทำให้สมองทำงานช้าลง พูดจาอ้อแอ้ เดินไม่ตรงทาง ความคิดสับสน ขาดสติ

ซึ่ง อาการเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้นักดื่มทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่ร่วมใช้ท้องถนน ได้รับบาดเจ็บ พิการ รวมทั้งสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แม้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกมารณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเทศกาลต่าง ๆ ก็ยังน่าเป็นห่วง


และ สุรา หรือเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป ติดต่อกันเป็นเวลานาน ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ได้แก่

กลุ่มโรคทางระบบ ประสาท ทำให้ความจำเสื่อม หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เสียการควบคุมด้านอารมณ์ โรคนอนไม่หลับ กระบวนการรับรู้ ความเข้าใจบกพร่อง ขาดสติ จิตหลอน ประสาทหลอน โรคคลั่งเพ้อ เกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง การทำหน้าที่ของสมองผิดปกติ ส่งผลถึงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อส่วนปลายแขน ขา อ่อนแรง ปลายประสาทพิการ โรคซึมเศร้า โรคลมชัก และโรคระแวงเพราะสุรา

กลุ่มโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งในปากและช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งรังไข่

กลุ่มโรคเรื้อรัง อื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โรคเบาหวาน (เกิดจากตับอ่อนอักเสบ) โรคตับอักเสบ โรคตับแข็งจากสุรา โรคตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคกระเพาะอักเสบจากสุรา เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายสารเคลือบกระเพาะ ทำให้เกิดแผลจนกระเพาะทะลุ หรือเลือดออกในกระเพาะ สังเกตได้จากการถ่ายอุจจาระ หรืออาเจียนเป็นเลือด โรคต่อมหมวกไต กระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคพิษสุราเรื้อรัง

กลุ่มโรคหลอด เลือดและหัวใจ คนที่ดื่มสุราเป็นประจำมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่ดื่มน้อยกว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ และยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมจากสุรา โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมองส่วนนอกลีบฝ่อ อาการระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจล้มเหลว

กลุ่มเสี่ยงที่กำลังตั้งครรภ์ จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์คือมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย ปากแหว่งเพดานโหว่ ดวงตาและกรามมีขนาดเล็ก สมองเล็กกว่าปกติ หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด แขน-ขาเจริญเติบโตผิดปกติ ความสามารถในการมองเห็นน้อยกว่าทารกปกติ ร้องกวนโยเยง่าย รูปร่างแคระแกร็น นอนหลับยาก และมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังสงสัยว่า ดื่มมากขนาดไหนที่เรียกว่า "ติดสุรา" อาจแบ่งให้เห็นชัดเจนได้ 3 ระดับ คือระดับแรก ดื่มเฉพาะตอนที่เข้าสังคม ระดับที่สอง ดื่มเป็นระยะ และกลุ่มที่สาม ดื่มจนติด หรือที่เรียกว่าแอลกอฮอลิซึ่ม คนที่ดื่มจนติดแล้วมักจะดื่มเป็นประจำทุกวัน และเพิ่มปริมาณในการดื่มมากขึ้นถ้าหยุดดื่มจะมีอาการ เช่น ใจสั่น มือสั่นคล้ายจะเป็นลม

สำหรับคนที่ดื่มจนติดแล้วต้องการ เลิกเหล้า มีข้อแนะนำในเบื้องต้นว่า ผู้ที่ดื่มเป็นประจำหรือที่เรียกว่า "ติดสุรา" และไม่สามารถเลิกแบบทันทีทันใดได้ ควรลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อย หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าได้ ควรรับประทานอาหารให้ อิ่มท้อง พยายามอย่าให้ท้องว่าง ขณะเดียวกันควรหันไปดื่มน้ำผลไม้ทดแทน และหากิจกรรมอื่น ๆ หรือ เล่นกีฬาที่ชื่นชอบ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการติดเหล้ารุนแรง ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดรักษา และที่สำคัญควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

หากลด ละ เลิกสุรา ต้อนรับ ปีกระต่าย ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพของท่านอย่างแน่นอน
-------------------------
นอกจากทำลายสุขภาพตัวเอง ยังอาจทำลายสุขภาพคนอื่นด้วยเช่นกัน เมาจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ลำบากคนใกล้ชิด  คนไกลตัวก็อาจเจอลูกหลงอุบัติเหตุจากเมาไม่ขับ หรือการสร้างความรำคาญเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: