หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ภัยพิบัติซ้ำซาก น้ำท่วม-ภัยแล้ง

สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 นับได้ว่ามีความผันแปรมากที่สุดอีกปีหนึ่ง เนื่องจากต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างหนักทั้งภัยแล้งและอุทกภัย เพราะตอนต้นปี ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องประกาศให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกและเลื่อนเวลาการทำนาปีออกไป แม้แต่น้ำอุปโภคและบริโภคก็เริ่มเป็นปัญหาว่าจะไม่พอใช้


แต่พอผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปเพียงแค่ 2-3 เดือน ประเทศไทยกลับต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ของอุทกภัยอย่างหนัก ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งในแง่ตัวเลขผู้เสียชีวิต-ผู้บาดเจ็บ ความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร รวมถึงความเสียหายด้านจิตใจ ที่ผู้ประสบภัยต้องตกอยู่ในความเครียดจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น และความหวาดผวาว่าจะเกิดภัยพิบัติขึ้นอีก


ทุกครั้งหลังภัยพิบัติผ่านพ้นไป นอกจากจะมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากทั้งภาครัฐและ เอกชนตามมาแล้ว มักจะมีการพูดถึงมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่ส่วนใหญ่มักจะมองข้ามภาพใหญ่ของประเทศและการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ แหล่งดูดซับน้ำธรรมชาติที่จะสามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มได้ยั่งยืนและอย่างดีที่สุด

การที่ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเกิดขึ้นในเวลาที่ห่างกันไม่นาน ย่อมฟ้องถึงปัญหาการขาดความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฉะนั้นการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำจะมีส่วนที่จะช่วยควบคุมการไหลของน้ำ และน่าจะช่วยป้องกันทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วย แต่คงต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นด้วย

นักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า หัวใจการแก้ปัญหาน่าจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลทาง ธรรมชาติ เช่น รักษาพื้นที่ต้นน้ำไว้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้น้อยเกินไป รัฐบาลควรฟื้นฟูพื้นที่ป่าและดูแลการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนให้เข้มข้น หาแนวทางที่ครบวงจร ดูสาเหตุแท้จริง แล้วทำการป้องกันในหลาย ๆ จุด ไม่ใช่ทำเฉพาะการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างเท่านั้น การสร้างธรรมชาติคือป่าไม้ให้กลับคืนมาถือว่ามีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำ ทั้งน้ำหลาก น้ำแล้ง รวมทั้งดินถล่ม ซึ่งป่าธรรมชาติมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำดีที่สุด สัญญาณเตือนของธรรมชาติครั้งนี้ เป็นการเรียกร้องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุล

“เดลินิวส์” โดย ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร ก็ตระหนักดีถึงปัญหาของภัยพิบัติ เพราะถือว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวและเกิดขึ้นซ้ำซาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “เจาะลึกภัยพิบัติ...พลิกวิกฤติให้เป็นทางรอด” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ตื่นตระหนก สามารถเตรียมพร้อมรับมือ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาภัยแล้งจะนิยมปฏิบัติ 2 วิธี คือ 1. แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น แจกน้ำให้ประชาชน ขุดเจาะน้ำบาดาล สร้างศูนย์จ่ายน้ำ จัดทำฝนเทียม 2. การแก้ปัญหาระยะยาว โดยพัฒนาลุ่มน้ำ เช่น สร้างฝาย เขื่อน ขุดลอกแหล่งน้ำ รักษาป่าและปลูกป่า

ล่าสุดกรมทรัพยากรน้ำ ได้มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ภัยแล้งและปัญหาน้ำขาดแคลนในบ้านเรา ด้วยการทุ่มงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ด้วยการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมราว 86,860 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นครั้งแรกในการบริหารจัดการน้ำของไทย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างยั่งยืนอีกวิธีหนึ่ง

นอกจากหน่วยงานของรัฐ นักวิชาการ รวมไปถึงภาคเอกชนต่าง ๆ จะได้ร่วมด้วยช่วยกันในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งแล้ว “ในหลวง” ก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องน้ำมาตลอด พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทยได้เป็นที่ประจักษ์ชัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้ในปัจจุบันพระองค์จะยังทรงประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ก็ทรงเปี่ยมพระเมตตา ทรงติดตามสถานการณ์ปัญหาทั้งเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้น และพระราชทานแนวพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไข ปัญหาให้ประชาชน

ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวทาง การบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงถึงสายพระเนตรที่ยาวไกล พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรไทย

สำหรับทฤษฎีดังกล่าวนี้ ข้อมูลของมูลนิธิชัยพัฒนาอธิบายไว้ดังนี้คือ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกชุก และปริมาณน้ำฝนสูง จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่เกือบทุกภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกห่วงใยในปัญหาที่เกิดขึ้น ทรงวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบปัญหา และทรงคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่และเจ้าหน้าที่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ

อาทิ... การก่อสร้างคันกั้นน้ำ โดยก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอ สมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านใน เช่น โครงการปิเหล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส

การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญประการหนึ่งในการกักเก็บน้ำที่ไหลท่วมล้น ในฤดูน้ำหลาก ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่ง อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จ.นครนายก เป็นต้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวพระราชดำริให้มีระบบการบริหารจัดการน้ำด้วย โครงการ “แก้มลิง” ชักน้ำให้รวมกันแล้วเก็บไว้ในจุดพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง

พระองค์ใช้หลักคือ ธรรมชาติ ธรรมดา และทศพิธราชธรรม เป็นแนวคิดหลักในการแก้ปัญหา เห็นได้ชัดจากโครงการพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการ และมี 2,300 โครงการ ที่เป็นการบริหารจัดการแหล่งน้ำ โดยดำเนินการดูแลรักษาและทำให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติ รวมทั้งการฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติต้องเดินหน้าไปด้วยกัน มิฉะนั้นประเทศไทยจะเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซากอย่างไม่มีวันจบ สิ้น.

ที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: