หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ภูฎาน

ใต้เงาหิมาลัยใน“ภูฏาน”

สะพานไม้เชื่อมพาโรซอง
อาการเสพติดหิมาลัย เป็นแล้วหายยาก พยายามรักษาแล้ว รู้สึกว่าจะไม่หายขาด แม้จะทำตัวเว้นวรรคและห่างเหินหิมาลัยมาได้ระยะหนึ่ง ไม่กลับไปป้วนเปี้ยนหรือทำตัววอแวอีก หลังจากที่ด้อมๆ มองๆ หิมาลัยจากฝั่งจีนบ้าง ปากีสถานบ้าง อินเดียบ้าง เนปาลบ้าง

แต่มันรู้สึกค้างคายังไงไม่ทราบ ที่ยังขาดหิมาลัยที่มองจากภูฏานอยู่อีกมุมหนึ่ง
เพื่อ ไม่ให้เกิดความค้างคา เลยเดินหน้าผลักดันนโยบายแปลงความฝันให้เป็นความจริง โชคดีได้กูรูเรื่องภูฏานอย่างบริษัทท่องโลกศิลปและวัฒนธรรม (0-29539491-3) มาช่วยทั้งสานฝันและปูพื้นความรู้ให้ เลยเนรมิตให้ทริปภูฏานเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจนได้


ไม่ธรรมดาเลยสำหรับบริษัทท่องโลกศิลปะและวัฒนธรรม เพราะเป็นบริษัทแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้ ที่พาคนไทยเข้าไปท่องภูฏานตั้งแต่เขาเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ ทั้งเรื่องความรู้และความเก๋าของเขาจึงจัดว่าเหนือชั้น

ต้นเดือนหนาวของภูฏาน ใครๆ ก็เมินหน้าใส่แผ่นดินชิดหิมาลัย ก็มีแต่พวกไม่แยแสลมหนาวเท่านั้นแหละ ที่ทำตัวกระดี๊กระด๊าใส่ภูฏาน ยิ่งตอนที่สายการบินดรุกแอร์ (0-22334714) พาเหาะเหินเดินอากาศอยู่เหนือเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ ทิวเขาหิมะขาวโพลนก็โผล่ออกมาต้อนรับขับสู้กันให้สลอนไปหมด

ลุ้นก็แต่ตอนเรือบินจะแลนดิ้งนี่แหละ เพราะสนามบินพาโรเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าค่อนข้างแคบ ตั้งอยู่ในหุบเขาลึกกว่า 2,000 เมตร เหมือนพวกสนามบินที่กาฐมาณฑุแห่งเนปาล จังหวะจะลงเนี่ย เสียวว่าปีกของดรุกแอร์จะไปเกี่ยวหิมาลัยเหลือเกิน

เคยได้ยินว่า เหตุที่ภูฏานเลือกพาโรเป็นสนามบินแทนที่จะเป็นเมืองหลวงอย่างทิมพู เพราะที่นี่มีพื้นที่ราบเยอะและกว้างที่สุดแล้ว เห็นแล้วก็ได้แต่ร้องห้า! นี่ขนาดกว้างที่สุด ตอนเรือบินหย่อนตัวลงเล่นเอาหายใจไม่ทั่วท้อง

พาโรถ้อยทีถ้อยอาศัยกับคนแปลกหน้า ไม่ได้ส่งอุณหภูมิที่กรีดเฉือนเลือดเนื้อมาต้อนรับคนใต้เส้นศูนย์สูตร ทั้งโค้ทใหญ่โค้ทย่อมที่เตรียมไปเลยทำท่าจะเป็นหมัน

เป็นแพทเทิร์นว่า นักท่องเที่ยวทุกรายที่ไปถึงจะมีไกด์และคนขับรถมาถือป้ายรอทุกคนที่สนามบิน จากนี้ไปเขาทั้งคู่จะเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 และ 34 ประกบติดเราไปทุกหนทุกแห่งในภูฏาน ไม่ต้องลุ้นเหมือนในหลายประเทศ เพราะไกด์และคนขับรถที่นี่มารยาทงามเหมือนผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันผู้ดี ภูฏาน ประเภทมาหงุดหงิดงุ่นง่านหรือบ่นใส่แขกนี่ไม่มี อาจจะเป็นเพราะนิสัยใจคอพื้นฐานของชาวภูฏานเองที่อ่อนน้อมถ่อมตน ยิ้มแย้ม และอารมณ์ดี พวกเขาจึงไม่ทำให้ผู้ร่วมทางลำบากใจ

พาโรเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีคนอยู่แค่ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้นเอง เป็นเหมือนเมืองหน้าด่านที่คอยรับนักท่องเที่ยวก่อนจะแยกย้ายไปเที่ยวเมือง อื่นๆ ไม่รู้อีกหน่อยพอภูฏานสร้างสนามบินที่ทิมพูและเมืองอื่นๆ ด้วย พาโรจะเป็นยังไง

ถึงภูฏานจะขยับขยายสนามบินไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ แต่เชื่อเถอะว่า เสน่ห์ของพาโรก็ไม่มีทางหมดอายุง่ายๆ หรอก เพราะเมืองเล็กๆ แห่งนี้มีหลายอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นพาโร ซอง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ วัดคิชู ไทเกอร์เนสท์ ดรุกเยล ซอง หรือแม้แต่ดาวน์ทาวน์ของเมืองก็ยังน่าสนใจ ก่อนจะเตร็ดเตร่ไปเที่ยวตามสถานที่เหล่านี้ เดี๋ยวไปเดินเล่นในตัวเมืองพาโรกันก่อนดีกว่า

จัดว่าเป็นเมืองเล็กจริงๆ มีถนนสายหลักพาดผ่านกลางเมือง สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยร้านรวงตั้งเรียงราย มีทั้งขายของพื้นเมืองให้เจ้าถิ่น และขายของที่ระลึกให้คนต่างถิ่น ตัวเมืองดั้งเดิมถูกไฟไหม้มาหลายครั้ง ที่เห็นอยู่ตอนนี้คือ เมืองที่บูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยึดเค้าโครงเดิมที่อาคารบ้านเรือนจะสูงไม่เกิน 3 ชั้น แต่คราวนี้เขาใช้ไม้น้อยลง ส่วนเรื่องสถาปัตยกรรมและการตกแต่งก็ยังยึดแบบฉบับของภูฏานเอาไว้

ย่านกลางเมืองไม่ค่อยมีโรงแรม เพราะโรงแรมส่วนใหญ่จะพากันขึ้นไปตั้งไปตามไหล่เขา ไกด์บอกว่า ถึงจะเป็นเมืองท่าที่มีสนามบิน แต่ที่นี่อาจจะเจริญสู้เมืองหลวงอย่างทิมพูไม่ได้ ขนาดย่านใจกลางเมืองยังหาพวกผับ บาร์ คาเฟ่ไม่ค่อยเจอ แต่ร้านอาหารนี่พอจะเห็นบ้าง ส่วนเรื่องช็อปปิ้งเนี่ยหายห่วง

เพราะถึงจะเป็นประเทศหลังเหลี่ยมเขาหิมาลัย แต่ภูฏานก็มีอะไรให้น่าช็อปอยู่ไม่น้อยนะคะ พวกหัตถกรรม ทอผ้าประเภทต่างๆ และงานฝีมือจำพวกแกะสลักเครื่องไม้ เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง เครื่องประดับ เขาก็มีชื่ออยู่

เรายังอยู่ใต้ร่มเงาแห่งหิมาลัย เดี๋ยวตอนหน้าจากพาโรจะนั่งรถเลาะเลี้ยวไปบนถนนคดโค้งไต่ไปบนหน้าผาสูงชัน เพื่อมุ่งหน้าไปเที่ยวเมืองหลวงอย่างทิมพูกันบ้าง

จุดชมวิว

บ้านเรือนชาวพาโร

วิวทิวทัศน์ของภูฏาน

ลวดลายบนผนังในวัด

วัดคิชูอันเก่าแก่ / ด้านในของพาโรซอง

โดย : กาญจนา หงษ์ทอง
เที่ยวนี้ขอเล่า @คมชัดลึก

-------------------------------------
ทิมพู..ธนู..และผู้คนบนแผ่นดินแห่งศรัทธา

ยิงธนูประลองฝีมือ
แม้จะเคยผ่านจุด เปลี่ยนครั้งสำคัญในช่วงเปิดประเทศ แต่ตอนนี้ภูฏานกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญอีกครั้ง เมื่อถูกรุกรานด้วยความเจริญ ถูกการพัฒนาและเทคโนโลยีไล่ล่า แต่ไม่ว่าภูฏานจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความสุขยังคงเป็นของหาง่ายบนแผ่นดินมังกรสายฟ้า

3-4 วันในภูฏานฉันได้แต่นั่งรถวนเวียนไปบนทางคดเคี้ยวไปบนไหล่เขา แต่ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ได้บริโภควิวกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ระหว่างทางเจออะไรน่าสนใจก็แวะไปเรื่อย พอเห็นคนจับกลุ่มกันริมทางเราก็ขอไกด์แวะตลอด เลยพบว่าคนที่นี่เขามีกีฬาในดวงใจอยู่ 2 อย่าง คือปาลูกดอกกับยิงธนู เรียกว่าถ้าเป็นวันหยุดหรือมีวันว่างก็จะรวมตัวกันมาแข่ง เล่นกันสนุกๆ บ้าง มีพนันขันต่อกันบ้าง


จากสนามปาเป้า ระหว่างทาง เรายังเจอสนามยิงธนูอีกหลายแห่ง คนที่นี่เขาบอกอย่างน้อยหมู่บ้านหนึ่งต้องมีสนามยิงธนูถึงสองสนาม ทั่วทั้งภูฏานจึงมีสนามนับไม่ถ้วน

ไกด์บอกว่าในโรงเรียนไม่มีหลักสูตรสอนยิงธนูบรรจุไว้ แต่เด็กที่นี่พอโตขึ้นมาก็จับคันธนูขึ้นมาง้างแล้ว ถึงแม้คนรุ่นใหม่จะไปนั่งเชียร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกันตามบาร์ในทิมพู และมีสนามฟุตบอลแทรกตัวขึ้นกลางเมือง แต่สำหรับคนภูฏานยิงธนูไม่ใช่แค่เป็นกีฬาประจำชาติ แต่เรียกว่าผูกพันกับชาวภูฏานมาแต่ไหนแต่ไร

จากพาโร ฉันมาถึงเมืองหลวงอย่างทิมพูแบบไม่ได้เมาโค้งแบบที่เกิดขึ้นกับคนอื่น เลยรี่ไปหาทิมพู ซองชนิดไม่อนุญาตให้ปอดและหัวใจได้ปรับตัว

ที่นี่คือหนึ่งในซองที่ใหญ่ที่สุดในภูฏาน ซึ่งก็เหมือนกับซองในทุกๆ เมือง คือในอดีตเป็นป้อมปราการที่มีไว้เป็นฐานที่มั่นคอยป้องกันศัตรูมารุกราน แต่ในปัจจุบันคือสถานที่บริหารราชการประจำเขต และส่วนหนึ่งของซองจะเป็นวัด
สมัย ก่อนตอนที่ภูฏานเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวใหม่ๆ เขายังไม่มีนโยบายเปิดซองให้เข้าชม เพิ่งมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเมื่อ 10 กว่าปีมานี่เอง

ทิมพู ซองจัดว่าเป็นซองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูฏาน ปกติจะมีพระอยู่ทิมพู ซองประมาณ 200 กว่ารูป แต่วันที่ไปถึงอาจจะดูเงียบเหงาไปหน่อย เพราะเมื่อไหร่ที่เป็นช่วงฤดูหนาวบรรดาพระและเณรก็จะอพยพหนีหนาวไปจำวัดอยู่ ที่พูนาคา ซองแทน

ไกด์เล่าว่า ซองเดิมของที่นี่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่เห็นตอนนี้ เป็นแค่ซองเล็กๆ แต่ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซับดรุง งาวัง นัมกัล ได้รื้อถอนซองเดิมออก แล้วสร้างซองใหม่ขึ้นบนพื้นที่เดิม จากนั้นก็มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งกันมาเรื่อย จนที่นี่อาจจะพิเศษกว่าซองของเมืองอื่นตรงที่มีห้องทำงานของกษัตริย์ด้วย และยังเป็นศูนย์กลางสำคัญในเชิงศาสนาด้วย

ก็เรียกว่าใหญ่โตขนาดมีห้องเกือบพัน แต่เขาไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินเพ่นพ่านได้ทุกห้อง แต่ก็ค่อนข้างแปลกที่ไม่ค่อยเห็นผู้คนมาเดินหมุนกงล้อภาวนาที่ซองนี้เท่า ไหร่ ไกด์บอกอยากเห็นศรัทธาอันเข้มแข็งของผู้คนชาวทิมพู ต้องไปที่เมมโมเรียล ชอร์เตน มีหรือเราจะพลาด รีบสะกิดไกด์ให้พาพุ่งไปที่นั่นอย่างเร็วพลัน

สถูปสีขาวยอดสีทองความสูงราวๆ 200 เมตร ที่เห็นอยู่ สร้างตั้งแต่ปี 1974 เพื่อระลึกถึงกษัตริย์จิกมี ดอร์จี วังชุก ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 3 ที่ชาวภูฏานยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งภูฏานยุคใหม่" ใครที่อยากเห็นเจดีย์สไตล์ภูฏานแบบขนานแท้ ต้องมาดูที่นี่แหละค่ะ ด้านในสถูปนอกจากจะมีรูปของกษัตริย์จิกมี ดอร์จี วังชุกแล้ว ยังมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญของชาวภูฏานอย่าง กูรู รินโปเช และซับดรุง งาวัง นัมกัล แต่ก็เหมือนเคย ที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปหรือบันทึกภาพใดๆ

ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ที่นี่จะเป็นมุมที่ไม่เคยแห้งแล้งศรัทธา มีผู้คนแวะเวียนมาเดินวนขวารอบสถูปกันทั้งวัน ยิ่งถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็จะหอบหิ้วเสบียงมานั่งปักหลักกันตั้งแต่เช้า ไกด์บอกว่านี่เป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ เขาไม่ค่อยชอบหมุนกงล้อภาวนาที่บ้านกันเท่าไหร่ ทั้งที่ก็นั่งหมุนกันที่บ้านได้ แต่พวกเขาเลือกที่ไปที่วัดหรือสถูปเพราะได้นั่งผึ่งแดด สนทนาพาทีกันเรื่องทั่วไป แต่มือก็หมุนกงล้อไปด้วย หรือบางคนมาเดินวนรอบสถูปแล้วค่อยไปทำงาน

ที่นี่เราเห็นแต่พระ ไม่ยักเห็นชี เลยถามไกด์ เขาบอกที่จริงภูฏานก็มีชีแต่ไม่เยอะ ชีที่นี่เขาก็ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดไม่แพ้พระ สงสัยเห็นมีเวลาเหลือเฟือ ไกด์เลยพาไปสอดส่องแถวสำนักนางชีที่ใหญ่ในทิมพู แต่ไม่ว่าพระหรือชี ที่นี่เขาห้ามไม่ให้ออกไปบิณฑบาตเหมือนพระไทย แต่นั่งรอผู้บริจาคอยู่ที่วัด เพราะพระในนิกายดรุกปา คายุ ซึ่งเป็นนิกายประจำชาติ จะได้รับการเลี้ยงดูฟรีจากรัฐบาล

พี่ต๋อย รสสุคนธ์แห่งบริษัทท่องโลกศิลปและวัฒธรรม (0-29539491-3) เล่าให้ฟังว่าคนที่นี่เขานิยมส่งลูกไปบวชตั้งแต่เด็ก เพราะจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้เรียนฟรี แถมไม่ต้องทำงานหนัก มีข้าวกินทุกมื้อ แต่ก็ใช่ว่าเด็กอยากจะบวชเรียนนะ เพราะสำหรับชาวภูฏาน หากบวชแล้วคือบวชเลย ทุกคนที่บวชเป็นพระต้องทำใจว่าจะเป็นพระไปจนตาย หากพระรูปไหนที่ตัดสินใจสึกออกมาเป็นฆราวาส จะไม่ค่อยรับได้รับการยอมรับจากสังคมเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนค่อยๆ ทำใจยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น

ภูฏานส่งฉันกลับภูมิลำเนาด้วยความสวยที่ติดตา ใครอยากได้กำไรแอบบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ขาไปจากกรุงเทพตอนเช็กอินสายการบินดรุกแอร์ (0-26312570) ให้เลือกนั่งเรือบินฝั่งซ้าย ขากลับให้นั่งฝั่งขวา เพราะจะเห็นเทือกเขาหิมาลัยอย่างเต็มตา ทั้งยอดเขาคันเช็งชุงก้าที่สูงอันดับ 3 ของโลก และยอดโจโมฮารีที่สูงกว่า 7 พันเมตร พากันเรียงหน้าออกมารับแขกเหรื่อกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ


ถนนหนทางสายแคบๆ

ร้านริมทาง

เมืองพาโรในมุมสูง

เจีดย์สไลต์ภูฏานขนานแท้


โดย : กาญจนา หงษ์ทอง
เที่ยวนี้ขอเล่า @คมชัดลึก
----------------------------------------------------------
-------------------------------------------------------
ท่องแดน'มังกรสายฟ้า'ฝ่าเทือกเขา-ลำธารใส

ปูนาคาซอง ที่ประทับพระสังฆราชในฤดูหนาว

 หากเอ่ยถึงประเทศ ภูฏาน หรือ ราชอาณาจักรภูฏาน คนส่วนใหญ่จะคิดถึงภาพ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดี องค์ที่ 5) ครั้งเสด็จมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2549 ขณะนั้นดำรง พระยศมกุฎราชกุมาร ทรงมี พระสิริโฉมที่งดงาม และทรงเป็นกันเอง กับประชาชน ขณะที่อีกมุมหนึ่งนึกถึง ภาพดินแดนที่เต็มไปด้วยความ สวยงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะเทือกเขาน้อยใหญ่ สลับกับแม่นํ้าลำธารที่ใสสะอาด ไร้ซึ่งมลพิ

มื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา คุณ สมทรง สัจจาภิมุข ผู้จัดการทั่วไป บริษัทโอเรียวลี่ แทรเวิล แอนด์ ทัวร์ จำกัด ตัวแทนสายการบิน ดรุคแอร์ สายการบินแห่งชาติภูฏาน ประจำประเทศไทย เชิญสื่อมวลชนร่วมบินลัดฟ้าไปสัมผัสความสวยงามของ “ภูฏาน” ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างประเทศอินเดียกับจีน ชื่อในภาษาท้องถิ่นคือ ดรุก ยุล (Druk Yul ) แปลว่า ดินแดนของมังกรสายฟ้า


ขณะใกล้ถึงจุดหมาย มองผ่านหน้าต่างเครื่องบินออกไป เห็นภาพที่สวยสดงดงามอย่างยิ่ง เทือกเขาหิมาลัย ปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน เป็นแนวยาวทอดผ่านแผ่นดินสุดลูกหูลูกตา นักท่องเที่ยวรีบคว้ากล้องถ่ายรูปออกมาเก็บภาพกันอย่างตื่นเต้น ทั้งนี้หลังใช้เวลาอยู่บนเครื่องบิน 4 ชั่วโมง ก็มาถึง สนามบินพาโร เมืองพาโร ต้องบอกว่าลุ้นกันตัวโก่ง ขณะเครื่องบินลงจอด กลัวปีกจะไปเฉี่ยวกับภูเขา ที่อยู่เรียงรายรอบ ๆ สนามบินฯเต็มไปหมด แต่ด้วยความชำนาญ เก่ง และมี ทักษะสูง ของกัปตัน ทำให้นกเหล็กสามารถแตะพื้นได้อย่างปลอดภัย

เส้นทางคดเคี้ยวตามไหล่เขาระหว่างทางเมืองพาโร-ทิมพู

สิ่งแรกที่สัมผัสเมื่อลงจากเครื่องฯ คืออากาศบริสุทธิ์ ที่มาพร้อมกับความหนาวเย็น ทำให้รู้สึกถึงความสดชื่นกับสภาพอากาศของที่นี่ขึ้นมาทันที หลังเสร็จพิธีการตรวจคนเข้าเมือง หัวหน้าคณะทัวร์จัดแจงกางแผนที่เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง ซึ่งจะใช้รถตู้เป็นยานพาหนะ นำเข้าสู่ เมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เดินทางผ่าน ไหล่เขาที่คดเคี้ยว ไปมาน่าหวาดเสียว โดยมี ฉากธรรมชาติ คือขุนเขาสลับกับแม่นํ้าลำธารน้อยใหญ่เบื้องล่างที่สวยงามประทับใจ สมกับที่ได้รับการขนานนามว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย”

และแล้วก็มาถึงจุดหมาย ซึ่งหลากหลายสถานที่ที่ได้เดินทางไปสัมผัส ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น จุดชมวิว “ทาชิโชซอง” สัญลักษณ์ของเมืองทิมพูมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามและใหญ่โต ปัจจุบันถูกใช้แยกเป็นส่วน ต่าง ๆ ตื่นตาตื่นใจกับ มหาสถูป ที่ยิ่งใหญ่, ศูนย์หัตถกรรมพื้นเมืองรัฐบาล, พิพิธภัณฑ์ผ้าทอแห่งชาติ, จุดชมวิว “ดอร์ชูลา” ซึ่งมีความสูง 3,150 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเล มีลักษณะเป็นช่องเขาที่สามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัย, ปูนาคาซอง ที่พำนักของพระสังฆราชในฤดูหนาว โดยด้านหน้าปูนาคาซองเป็นจุดที่แม่นํ้าโพ และแม่นํ้าโม ซึ่งหมายถึงแม่นํ้าพ่อ และแม่นํ้าแม่ ไหลมาบรรจบกันพอดี

วัดคิชู วัดเก่าแก่
สร้างสมัยพระเจ้าเซินกัมโป กษัตริย์แห่งทิเบต

ต่อกันที่ วัดคิชู เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าเซินกัมโป กษัตริย์แห่งทิเบต โดยศาสนิกชนลัทธิลามะจะมากราบแบบนอนราบกับพื้น อันเป็นการแสดงการคารวะสูงสุดเรียกว่า อัษฎางคประดิษฐ์ จากนั้นไปเยี่ยมชม โรงงานทำกระดาษ ซึ่งใช้เฉพาะแรงงานคน แวะเยี่ยมชมโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ตามเมืองสำคัญต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ อันเป็นสิ่งที่ทุกคนปลาบปลื้มใจอย่างสุดซึ้ง ก็คือ พระราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ) พระบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5) ทรงโปรดให้คณะทัวร์จากไทยเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ด้วย

ทั้งนี้จุดท่องเที่ยวที่ได้ไปสัมผัสชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมืองทิมพู วังดิโปดรัง ปูนาคา และพาโร ต้องบอกว่าแต่ละแห่งไม่ได้ไปถึงกันง่าย ๆ การเดินทางต้องผ่านถนนที่คดเคี้ยวคับแคบรถสวนกันไปมาตลอดทั้งวัน ทำเอาท้องไส้ปั่นป่วน แต่เมื่อไปถึงจุดหมายทุกคนถึงกับ ลืมความเหนื่อยล้า ไปทันที ถือเป็นประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามหากใครจะเดินทางไป “ภูฏาน” ควรมี ยาแก้เมารถ ติดตัวไปด้วยจะช่วยได้มาก

ร้านค้า-แหล่งชอปปิงเมืองทิมพู

สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูฏานนั้น สังคมภูฏานเป็น สังคมเกษตร กรรม ประชาชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน บ้านเรือน ร้านค้า มีการตกแต่งขอบประตู-หน้าต่าง ด้วยลวดลายวิจิตรเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงแต่งกายด้วย ชุดประจำชาติ (ผู้ชายแต่งชุดเรียกว่า โค ผู้หญิงเรียกว่า คีรา) เดินจับจ่ายซื้อของกันอย่างเรียบง่าย คนบางกลุ่มยังนิยมการ กินหมาก หาซื้อจากร้านขายของชำทั่วไป ขณะที่ ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า-ประปา และการสื่อสาร ภูฏานถือว่าสร้างระบบได้ดีมาก ถึงจะมีบ้านเรือนอยู่บนภูเขาสูง แต่ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้า-นํ้าประปาเข้าถึงอย่างไม่ขาดแคลน

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากพระราโชบายของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ที่ต้องการให้ภูฏานอนุรักษ์ประเพณีของตนไว้ เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนภูฏานใส่ชุดประจำชาติ, การอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน แม้จะมีนโยบายเปิดประเทศ แต่ภูฏานก็สามารถอนุรักษ์จารีตประเพณีทางสังคมไว้ได้ อีกทั้งพระองค์ยังเป็น กษัตริย์นักพัฒนา และความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฎร การเข้าถึงประชาชน ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน”

อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้หลัก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” แทนการ วัดการพัฒนาจากอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ทรงเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนา คือการแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศเหล่านั้นต้องแลกความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสีย วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศพิสูจน์แล้วว่า ประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง ส่งผลทำให้รัฐบาลภูฏาน และภาคเอกชน ให้ความสำคัญ ร่วมมือพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว มีการวางระบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องสมดุลกับสภาพภูมิประเทศได้อย่างลงตัว

ถึงแม้สภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ การแต่งกาย อาหารการกินจะ แตกต่าง จากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวภูฏานเหมือนกับบ้านเรามากคือ มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ ประชาชนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ร้านค้า หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน จะแสดงความจงรักภักดี โดยมี ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์วังชุก ติดไว้ที่ฝาผนังทุกหนทุกแห่ง เหมือนกับบ้านเราที่พสกนิกรชาวไทยแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่สุดเช่นเดียวกัน

ต้องบอกว่าการไปเยือนภูฏานทริปนี้ นอกจากจะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ สัมผัสธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของคนที่นี่ หวังว่าอนาคตข้างหน้า “ภูฏาน” จะสามารถ รักษาเอกลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ความงดงามทางธรรมชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี สุดท้ายก็คงต้องกล่าวคำว่า ลกเซเก คูซูซังโป ซึ่งแปลว่า แล้วพบกันใหม่ สวัสดี.




ทีมวาไรตี้ @เดลินิวส์
------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: