โดย : กอบภัค พรหมเรขา
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 มกราคม 2554
ถ้าปะการังฟอกขาว ไม่ถูกเอาไปโยงเป็นสาเหตุของการปิดเกาะ คนคงไม่สนใจและอะไรๆ ก็โลกร้อน แต่ความจริงเราๆท่านๆล้วนแต่เป็นจำเลยฐานฟอกขาวกันทั้งนั้น
ปะการังฟอกขาว หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าสวย |
อีกมุมของปะการังฟอกขาว |
ว่ากันตามหลักธรรมชาติแล้ว การที่เรามองเห็นปะการังกลายเป็นสีเหลืองทองนั้นเพราะสาหร่ายที่ปกคลุมอยู่ บนผิวปะการังเริ่มตายลงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นตามฤดูกาล และค่อยๆ ขาวซีดลง จนเหลือแต่สีขาวตุ่นๆ ของแคลเซียมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของปะการัง เมื่อเข้าฤดูฝน อุณหภูมิน้ำก็จะลดลง ปะการังและสาหร่ายก็จะสามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ครั้งอีกตามวัฏจักร
ทีมใต้น้ำออกสำรวจความเสียหาย |
ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่ เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป น้ำทะเลมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้น
"แต่ไม่ได้หมายความว่าปะการังจะตายทั้งหมด โดยทั่วไปที่เราพูดถึงปะการังแข็งหากเกิดการฟอกขาวขึ้นไม่เกิน 1 เดือน ปะการังก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ สีสันที่หายไปนั่นก็เพราะไม่มีสาหร่ายเกาะเหมือนแต่ก่อน เพียงแต่จะอยู่ในสภาพที่อ่อนแอมาก ถ้าหากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอุณหภูมิน้ำกลับมาดีขึ้น เริ่มเข้าสู่สภาวปกติ ปะการังก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา"
พื้นที่(ควร)ปลอดมนุษย์
แม้ปัจจัยหลักจะมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์เราจะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่หนุนเสริมให้ปะการังอ่อนแอ และฟื้นตัวช้า ก็คือ กิจกรรมทางทะเลของมนุษย์นั่นเอง
"มีความเป็นไปได้ ถ้าเราปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครไปยุ่ง ปะการังที่แข็งแรงก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับคืนมา แต่ถ้าคนยังมีการเข้าไปทำกิจกรรมในบริเวณนั้นอยู่ ก็จะยิ่งทำให้ปะการังตายเร็วขึ้น"
ผศ.ดร.วรณพ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของกรณีปะการังฟอกขาวเมื่อ ปีที่แล้วกับปีนี้ว่า ทั้งหมดถือเป็น "ลอตเดียวกัน" ที่เป็นอย่างนั้นเพราะปีก่อนประเทศไทยเกิดปรากฏการเอลนินโญล่าช้าไป 3 เดือนทำให้ปะการังฟอกขาวกัน เป็นจำนวนมาก และเมื่อเวลาผ่านไปปะการังค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา แต่ก็ต้องมาเจอกับปรากฏการณ์ลานินญาอีก ซึ่งก็ส่งผลให้หมู่ปะการังชุดเดิมที่เพิ่งฟื้นตัวกลับมาฟอกขาวอีกครั้ง
"ตอนนี้เรายังคงไม่สามารถคาดคะเนได้ชัดเจนถึงการฟื้นตัวของแนว ปะการังภาย หลังการฟอกขาว เพราะปัจจัยแวดล้อมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณภูมิของน้ำ การไหลของกระแสน้ำ หรือกิจกรรมทางทะเลของผู้คนในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งตอนนี้ทางนักวิจัยเองก็กำลังพยายามหาทางฟื้นฟูในส่วนที่น่าจะทำได้อยู่ เพราะตัวปัจจัยค่อนข้างผันผวนมาก หากมองในสเกลใหญ่เราก็คงต้องรอให้อุณหภูมิของน้ำดีขึ้น และพยายามลดกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อปะการังลงน่าจะเป็นการแก้ปัญหาเบื้อง ต้นได้ดีที่สุด"
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวนั้น ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะฝั่งอันดามันเท่านั้น เพราะตั้งแต่ต้นปี 2553 แนวปะการังในฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ตลอดเรื่อยไปจนถึง ชุมพร สุราษฎร์ธานี (ส่วนตั้งแต่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไปนั้น เกิดความเสียหายน้อยกว่า เพราะได้รับอิทธิพลจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากซึ่งไหลลงมาช่วยให้อุณหภูมิผิวน้ำ ลดลง) ล้วนได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำอุ่นซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าปกตินี้ไม่แพ้กัน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ จึงมีแต่นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการเข้าศึกษาสาเหตุและหาหน ทางแก้ไข
ให้ปลา ฆ่าปะการัง
ด้าน เจษฎา ณ ระนอง ผู้ประกอบการด้านการดำน้ำท่องเที่ยวรายหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เล่าว่า “ตั้งแต่เดือนแปดเดือนเก้าก็เริ่มรู้ชะตากรรมแล้วว่าสถานการณ์ไม่ดีแน่ๆ เพราะอุณหภูมิน้ำขึ้นสูงถึง 32 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งถือว่าร้อนจัด จนมาถึงทุกวันนี้ ที่แนวปะการังเกาะราชาใหญ่ด้านตะวันตก ใช้คำว่าหมดเกลี้ยงได้เลย ปะการังส่วนที่ยังดูดีอยู่เหลือไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ พวกปะการังโขดที่อยู่น้ำตื้นไม่ต้องพูดถึงเลย ตายเรียบ ขนาดว่าที่เคยขึ้นคลุมหินก้อนใหญ่ๆ มันถึงกับล่อนออกมาเป็นแผ่นๆ เหลือแต่ก้อนหิน หรืออย่าง East Eden ที่ หมู่เกาะสิมิลัน ก็เหลือแต่หิน ปิดะนอก ปิดะใน ก็เหี้ยนหมด ในแง่ของความเสียหาย ตอนนี้แนวปะการังมันเหมือนคนใกล้ตาย
เรื่องปิดอุทยานนั้น หลายคนบอกว่าเป็นการทำลายการท่องเที่ยว แต่ถ้ามันจำเป็น มันก็ต้องปิด เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มันเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น เพราะถ้ามันหมดไปในตอนนี้ อีกอนาคตจะเอาอะไรหากินกัน ทะเลบ้านเรามันจะเหลืออะไร แล้วอย่างที่อื่นๆ เช่น เกาะราชา มันก็ไม่ใช่เขตอุทยาน ก็ยังสามารถไปกันได้ ไม่จำเป็นต้องมุ่งไปหากินกันแต่ที่เกาะสิมิลัน หรือ เกาะพีพี”
ตรงกันกับข้อมูลจากการสำรวจวิจัยที่ เกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลแลพชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ปะการังในแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันตายลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์และเสียหายมากกว่าเมื่อเผชิญสึนามิหลายเท่าตัว
แต่กับเสียงสะท้อนจากบางมุมของสังคม ยังกังขากับเรื่องการเตรียม “ปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลบางแห่ง” ของหน่วยงานภาครัฐ เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เจษฎา ให้ความเห็นว่า
“วัฒนธรรมการท่องเที่ยวบ้านเรามันก็แปลก เช่น ไปให้อาหารปลาตามแนวปะการัง ทีนี้ แทนที่ปลามันจะไปกินสาหร่ายที่ขึ้นคลุมปะการังที่ใกล้ตาย มันก็ไปกินขนมปังแทน สิ่งที่ยังภูมิใจอยู่อย่างหนึ่งคือ เรือที่เราพานักท่องเที่ยวออกไปดำน้ำจะไม่ให้อาหารปลา อย่างเรืออื่นเขาจะเอาขนมปังติดเรือไปด้วยเลย เอาไปให้ปลากินเพื่อให้ปลาขึ้นมาโชว์ตัวผิวน้ำ หรือแม้กระทั่งใต้น้ำก็มี ยิ่งหลังๆ ราคา(ค่าทริป)มันถูกลง คนมันก็ยิ่งเยอะขึ้น”
ไม่เพียงแค่เรื่องเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องอย่างการให้อาหารปลาเท่านั้น การเข้าใช้ทรัพยากรบนเกาะต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิ่งปฏิกูล คราบน้ำมัน สารตกค้างจากการซักล้าง อันตรายจากใบจักรและสมอเรือ การขาดความรู้ความเข้าใจของนักท่องเที่ยว เช่น การเดินลงไปเหยียบย่ำ หรือ ยืนบนปะการังซึ่งไม่นับรวมปัญหาเดิมๆ อย่างการลักลอบเข้าทำประมงในเขตหวงห้าม ซึ่งหากเกิดขึ้นในยามที่ปะการังยังแข็งแรงสมบูรณ์ คงไม่เห็นผลอะไรมากนักในระยะสั้น เพราะในไม่ช้า ความสมดุลของธรรมชาติจะช่วยกันเยียวยาตัวเอง แต่ถ้ามาซ้ำเติมกันในช่วงที่ปะการังอยู่ในระยะไอซียู เรื่องเหล่านี้นับเป็นสิ่งสำคัญที่ “ต้อง” ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปิดอุทยานในบางพื้นที่ “ถ้าศึกษาแล้วพื้นที่ใดมันสมควรปิดก็ต้องปิดเพื่อให้ธรรมชาติมันฟื้นฟูตัว เอง”
"หลังจากนี้คงต้องจัดระเบียบการท่องเที่ยว เช่น ขยับทุ่นผูกเรือออกมาจากแนวปะการัง จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลว่าจะทำอย่างไร” รัฐมนตรีว่าไว้อย่างนั้น
ปะการังสีขาว = สวย?
ย้อนกลับไปที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะยังอยู่ในช่วงไฮซีซั่นที่จะต้องเร่งหาลูกค้าได้ให้มากที่สุด ก่อนจะหมดฤดูการท่องเที่ยวในอีกไม่นาน แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่ปะการังฟอกขาวไม่ ส่งผลลบต่อรายได้ของบริษัทนำเที่ยวคือ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเห็นแนวปะการังของจริง ไม่เคยเห็นฝูงปลา เมื่อมาเจอแนวปะการังที่ฟอกขาว นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงไม่รู้ ยังคงตื่นตาตื่นใจ กระทั่งบางรายยังให้บอกว่า ปะการังสีขาวที่ประเทศไทยนั้น สวยแปลกตากว่าที่เคยเห็นในหนังสือ แต่กับนักดำน้ำที่เคยสัมผัสความอลังการของแนวปะการังครั้งที่ยังอยู่ในสภาพ สมบูรณ์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสียใจและเสียดาย
ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยเท่านั้น เพราะก้อนกระแสน้ำอุ่นจากมหาสมุทรอินเดีย ไหลเวียนไปทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะที่เกาะอาเจะห์ ประเทศอินโดเนเซีย นั้น ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว
เจษฎา ณ ระนอง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำรายเดิม เล่าอีกว่า
"อย่างเมื่อวันก่อนเพิ่งไปมาเลเซียมา ก็ลองสังเกตดู ท่าทางก็ไม่ค่อยดี น้ำก็ยังอุ่นอยู่ แต่บ้านเราตอนนี้ดีหน่อย ลงมาอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส หรืออย่างที่ Manta alley (ทางตอนใต้ของเกาะโคโมโด ประเทศอินโดนีเซีย) อุณหภูมิน้ำขึ้นมาถึง 24-25 องศาเซลเซียส ซึ่งปกติอย่างมากก็แค่ 20 องศาเซลเซียส มันผิดปกติมาก”
รวมทั้งแหล่งดำน้ำชื่อดังอย่าง เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปกติแล้วจะมีกระแสน้ำเย็นจากออสเตรเลียช่วยหล่อเลี้ยง แต่ในปีที่ผ่านมา อุณหภูมิก็สูงขึ้นจนถึงระดับ 27 องศาเซลเซียส ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้ปะการังน้ำตื้นที่คุ้นชินกับน้ำเย็นตายลงเป็นจำนวนมาก
เอมิโกะ ชิบุยะ ชาวญี่ปุ่น ผู้จัดการร้านให้บริการด้านการดำน้ำแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลี บ่นให้ฟังเสียงดังๆ ว่า
“ปีนี้ปะการังโทรมลงมาก น้ำก็ไม่ใสเหมือนเก่า แถมยังมีฝนตกนอกฤดูกาลอีก ถ้าเรายังไม่ช่วยกันดูแลโลกตั้งแต่วันนี้ ต่อไปก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว”
-------------------------------------------
ปิดจุดดำน้ำ7หมู่เกาะดังฟื้นปะการัง
@เดลินิวส์ วันศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2554
สั่งปิดจุดดำน้ำ 7 จุด "อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา-หมู่เกาะชุมพร-หาดนพรัตน์ ธารา หมู่เกาะพีพี-หมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน” ฝ่าฝืนสั่งดำเนินคดีเด็ดขาด หวังฟื้นฟูตัวปะการังฟอกขาว ชงตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยแก้ไขปัญหาด่วน พบปะการังเสียหายเกินร้อยละ 50 ยํ้าฟื้นฟูอย่างน้อยต้อง 5 ปี
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ม.ค. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงข่าวถึงการแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวในทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย ภายหลังการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากกรณีข่าวปะการังฟอกขาวเนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปรากฏการณ์ โลกร้อน และสารเคมีจากที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เสนอให้ปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่ง ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทะเลฝั่งอันดามัน เราต้องการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนั้น หากปรากฏว่า พื้นที่ใดมีปะการังฟอกขาวเกินร้อยละ 70 ทางกรมจะปิดเฉพาะจุด
โดยจะสั่งงานทันทีในวันที่ 21 ม.ค. นี้ ถ้าสามารถสั่งการได้ทัน ห้ามดำน้ำ ห้ามจอดเรือ และถอดทุ่นจอดเรือ โดยวางทุ่นสีขาวห้ามเข้าแทน ซึ่งจะเป็นงานของเจ้าหน้าที่อุทยานนั้น ๆ หากมีผู้ฝ่าฝืน จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยยึดมาตรา 16 ( 18 ) ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ในอัตราโทษปรับ 1,000-10,000 บาท เป็นอัตราเดียวกับการห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าอุทยานแห่งชาติ และในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นบริษัทเอกชนก็จะให้บริษัทนั้นติดแบล็กลิสต์ ซึ่งพื้นที่ที่ปิดนั้น จะมีนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าศึกษาพัฒนาการฟื้นฟู เช่น การเพาะปะการังตัวอ่อนเข้าแทนที่ การสร้างปะการังเทียมเพิ่ม
นายสุนันต์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการหารือนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทช. ทุกฝ่ายเห็นว่า อุทยานแห่งชาติที่จะต้องงดกิจกรรมดำน้ำ เพื่อให้ปะการังฟื้นตัว ประกอบด้วย 1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก 2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง 3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง 4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว 5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา–หมู่เกาะพีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง 6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น
นายสุนันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือส่งเสริมให้เที่ยวในจุดอื่นที่ไม่ใช่การดำน้ำ เช่น ชายหาด ภูเขา เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุทยาน เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจจับการลักลอบทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ สำหรับการฟื้นฟูแนวปะการัง ต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา เพื่อเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ การเกิดปะการังฟอกขาวครั้งนี้ถือว่า ร้ายแรงมาก ปะการังที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือปะการังเขากวาง และถ้าประเมินความเสียหายภาพรวมปะการังทั้งประเทศจากปรากฏการณ์นี้ พบว่า ปะการังเสียหายเกินร้อยละ 50 การฟื้นฟูนั้น อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา 5 ปี ซึ่งอาจต้องเอาปะการังที่เพาะแล้วลงไปช่วยฟื้นฟูปะการังตามธรรมชาติด้วย
เมื่อถามว่า เหตุที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด นายสุนันต์กล่าวว่า เรื่องผลกระทบนั้น ตอนนี้ยังไม่มีการปิดอุทยาน จึงยังไม่มีการประเมินผลกระทบ และเราไม่ได้ปิดทั้งอุทยาน ปิดเฉพาะจุดล่อแหลม ซึ่งคงไม่ปิดยาวถึง 5 ปี เราควรเน้นควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวที่ดำน้ำดูปะการัง ควบคุมผู้ประกอบการไม่ให้ทำกิจกรรมที่กระทบต่อปะการังมากกว่า และอาจต้องสำรวจเพิ่มพื้นที่แหล่งดำน้ำใหม่มารองรับด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าจุดไหนที่มีแนวโน้มเสี่ยงจะเกิดปะการังฟอกขาวเกินร้อยละ 50 ก็ต้องจับตาควบคุมด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแหล่งดำน้ำใหม่โดยไม่ดูแล ซึ่งเดือน มี.ค.-เม.ย. ก็มีความน่าเป็นห่วงเช่นกันว่า อุณหภูมิของน้ำจะสูงขึ้นอีก ส่วนเรื่องหากมีการปล่อยให้ทำประมงไม่เหมาะสมนั้น จะพิจารณาลงโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น