100 ปี อากิระ คูโรซาวา 1 ศตวรรษสัจจะบนแผ่นฟิล์ม
โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร
โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร
ครบ1ศตวรรษผู้กำกับ ระดับตำนาน ถือเป็นวาระดีที่เราจะได้ย้อนไปทำความความรู้จักและระลึกถึงคูโรซาวาอีก ครั้งว่าทำไมชื่อของเขาจึงอยู่ยั้งมาจนวันนี้
หากจะมีถ้อยคำที่ไพเราะที่สุด นั่นก็อาจดู "เล็กน้อย" เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของผู้ชายคนนี้
หรือถ้าจะมีการแนะนำมากมายแค่ไหน นั่นก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ ต่อเกียรติประวัติของเขา
"เขา" ที่ว่านี้มีชื่อว่า อากิระ คูโรซาวา ตำนานผู้กำกับหนัง ที่นักวิจารณ์บางคนเคยบอกต่อๆ ว่า "ดีที่สุด" เท่าที่เอเชียเคยมีมา
ดีอย่างไร ? นักวิจารณ์หนังที่มีความเข้าใจภาพยนตร์ญี่ปุ่นมากที่สุดคนหนึ่งอย่าง โดนัลด์ ริชชี่ บอกไว้ว่า "มนุษย์คือแกนกลางสำคัญของภาพยนตร์ คูโรซาวา ซึ่งส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงความท้อแท้ที่กลับกลายเป็นความหวังขึ้นมาใหม่ และนี่คือเหตุผลอันหนึ่งที่ชี้ว่า เหตุใดภาพยนตร์ของเขา จึงมีความหมายยิ่งใหญ่ต่อโลกทั้งโลก" (จากหนังสือ "ชีวิตและความตาย สัจจะและแผ่นฟิล์ม : อากิระ คูโรซาวา" โดย สนานจิตต์ บางสพาน)
"ลูกชายคนสุดท้อง" ในครอบครัวที่มีพ่อเป็น "ทหาร" คนนี้ เกือบจะได้เป็น "จิตรกร" ที่เขาคิดไว้ ก่อนจะพลิกผันหลายครั้งจนกลายมาเป็นตำนานผู้กำกับหนังชาวญี่ปุ่นคนนี้ หากยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุครบ 100 ปีในปีนี้ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสมาคมญี่ปุ่นฯ กับโรงภาพยนตร์ SFX CTW ถึงมีการจัดงานฉายหนังคลาสสิคหลายเรื่องของ คูโรซาวา ระหว่างวันที่ 6-19 มกราคม 2554
ในวันเปิดงานของเทศกาลหนัง คูโรซาวา นี้ ได้มีการฉายหนังเรื่อง Rashomon ซึ่งนอกจากจะเป็นหนังในระดับตำนานและเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 11 ของเขาแล้ว หนังเรื่องนี้ยังเป็นงานแจ้งเกิดของเขาต่อโลกตะวันตกอีกด้วย
แต่หากย้อนกลับไปในปี 2486 ตอนที่ คูโรซาวา อายุได้ 33 ปี เขาทำหนังเรื่องแรกคือ Sanshiro Sugata และเป็นที่จับตาของนักดูหนังต้นคอ ในเวลาต่อมา แม้จะมีการวิจารณ์ว่า นักเขียนวรรณกรรมหลายคนของเอเชียได้รับอิทธิพลของตะวันตกมา ทั้งทางพล็อตและตัวละคร แต่สำหรับ คูโรซาวา แล้ว งานของเขาหลายเรื่องถูกฮอลลีวูดลอกไปทั้งดุ้น ยกตัวอย่างเช่น Rashomon ที่กลายเป็น Outrage ซึ่งมี พอล นิวแมน มาแสดงนำ
ผลงานของ คูโรซาวะ ทำให้เขาได้รับรางวัลจากหลายสถาบันทั่วยุโรป
รวมไปถึงรางวัลเกียรติยศที่ "ออสการ์" ไม่อาจปฏิเสธความสามารถของเขา แต่สำหรับคนยุคใหม่ นี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะเริ่มต้นรู้จักกับหนังของเขา ผ่านมุมมองและความคิดของคนทำงานหลายคน
ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนังที่โดดเด่นคนหนึ่งของบ้านเรา และยังเป็นอาจารย์สอนวิชาพื้นฐานภาพยนตร์ในหลายมหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ "จุดประกาย" ว่า ประสบการณ์ในการดูหนังของ "คูโรซาวา" นั้น ทำให้เขาได้รับแง่มุมหลายอย่าง
"อย่างแรกเลยคือ คูโรซาวา นี่ถือว่าเป็นพวก perfectionist มากเมื่อเปรียบกับคนทำงานยุคเดียวกัน งานของเขามักพูดถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้พูดถึงสิ่งนี้อย่างคนละเมอเพ้อพก เขาใช้วิธีบอกเล่าที่หลากหลาย แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน ที่สุดแล้วปลายทางของความคิดนั้น มนุษย์คือสิ่งที่มีคุณค่า ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยก็คือ ในหนังเรื่อง ราโชมอน นั้น เราก็ทราบกันดีว่า ตัวละครทุกตัวต่างก็มีด้านที่อ่อนแอในตัวเอง คือไม่ว่าพวกเขาจะพูดอย่างไร มันก็สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ออกมา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นการมองมนุษย์ด้วยสายตาที่งดงาม"
ประวิทย์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการตัดสินหนังทุกๆ ปีในหลายสถาบัน อธิบายว่า อย่างในตอนท้ายหนัง ราโชมอน นั้น มีฉากที่คนตัดฟืนเลือกที่จะโอบอุ้มและดูแลเด็ก ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า ไม่ว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไร ที่สุดก็มีด้านที่สวยงามในตัวมันเอง
"โดยส่วนตัวผมชอบหนังหลายเรื่องของ อากิระ คูโรซาวา แต่ที่ชอบมากที่สุดคือ หนังในยุคเแรกๆ ของเขา ผมชอบหนังที่มีสเกลเล็กๆ มากกว่างานที่มีโปรดักชั่นใหญ่โต หรือมีสเกลที่มันคุมเนื้อหาเอาไว้ในระดับหนึ่ง"
เมื่อถามถึงหนังที่ชอบของไม้ยืนต้นนามนี้ ประวิทย์เลือก Rashomon และ high and low
ญี่ปุ่นมองญี่ปุ่น
คนทำงานตัวจริงที่คลุกคลีกับงานของเขา มองแบบหนึ่ง ในคำถามเดียวกัน เมื่อเป็นชาวญี่ปุ่นอย่าง อุจิดะ ฮิโรชิ รองผู้อำนวยการ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ บ้าง เขาบอกว่า ถ้าไปถามคนญี่ปุ่น พวกเขาคงตอบคำถามแตกต่างกันไปช่วงเวลาและยุคสมัย
"ผมว่าคนญี่ปุ่นจะมอง คูโรซาวะ ว่าอยู่ในฐานะเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและความชอบส่วนบุคคลด้วย เพราะไม่ค่อยจะมีความคิดเห็น “โดยรวม” สำหรับคนญี่ปุ่น สิ่งที่โดดเด่นอย่างมากในผลงานชิ้นเอกๆ ของ คูโรซาวา ก็คือ เนื้อเรื่องและรูปแบบของแต่ละเรื่องเอกเหล่านั้นแตกต่างกัน และแตกต่างจากผลงานของปรมาจารย์ท่านอื่นด้วย เรียกได้ว่าไม่มีคำอธิบายอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “นี่แหละคือสไตล์ของ คูโรซาวา” ดังนั้น หากตั้งคำถามนี้กับคนญี่ปุ่นคนอื่น ก็อาจจะได้รับคำตอบที่แตกต่างกันออกไป"
อุจิดะ ฮิโรชิ บอกว่าเขาชื่นชอบเรื่อง “Kakushitoride no San Akunin” เป็นพิเศษ
"เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า คุโรซาวะนั้น สามารถสร้างภาพยนตร์ที่ดีเด่นทั้งด้านศิลปะ เทคนิคการถ่ายทำ และยังดูสนุก ในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งในยุค 1950 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เฟื่องฟูในฐานะสิ่งบันเทิงสำหรับคนทั่วไปนั้น การ “ดูสนุก” เป็นสิ่งสำคัญทางการตลาดด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ดีเด่นด้านศิลปะเพียงอย่างเดียว แถมในยุคเช่นทศวรรษที่ 50 นั่นเอง คุโรซาวะเป็นหนึ่งในชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่มากที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงไปทั่ว โลก ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจ"
ความหมายของคำว่าภาคภูมิใจนั้น สามารถแจกแจงได้หลายชั้นผ่านหนังหลายเรื่องของเขา อาทิ หนังอย่าง 7 เซียนซามูไร ฮอลลีวูดเอาไปทำเป็นหนังชื่อ "7 สิงห์แดนเสือ" หรือแม้แต่ตำนานอย่าง จอร์จ ลูคัส นั้น ครั้งหนึ่งก็เคยยอมรับว่า หุ่นยนต์อย่าง R2D2 และ C3PO นั้น เขาเอามาจากตัวละครในหนัง the ็Hidden Fortress นั่นเอง
แม้หลายคนจะชื่นชมเนื้อหาในหนังของ คูโรซาวา แต่หลายคนข้างต้นก็บอกว่า สไตล์และเทคนิควิธีการในหนังก็มีความยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน โดม สุขวงศ์ ยังเคยบอกไว้ในหนังสือ "ประชาชน" ว่า งานของเขาเป็นการผสมผสานอย่างน่าทึ่งระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา
"การประกอบภาพนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยลีลาการเคลื่อนไหว ภายใต้รูปแบบของการเล่าเรื่องที่มากด้วยชั้นเชิง และตั้งอยู่บนแกนเรื่องของแนวคิดแห่งปรัชญาชีวิต สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกประกอบเข้าด้วยกัน เป็นงานภาพยนตร์ซึ่งอิทธิพลอย่างสำคัญต่อพัฒนาการศิลปะ มันมิได้เป็นของตะวันออกแท้ๆ แต่มันเป็นงานผสมทั้งสองฝ่าย มันเป็นตัวของตัวเองอย่างน่าพิศวงและทรงประสิทธิภาพ"
ดูเหมือนว่า งานของ อากิระ คูโรซาวา นั้น นอกจากจะพูดถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์แล้ว ยังสามารถพาคนดูก้าวข้ามไปสู่มุมมองใหม่ๆ ในการดูหนังของใครหลายคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ไม่แม้แต่ในบ้านเราจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองเท่านั้น
แต่ในยุโรป ในอเมริกา และในหลายเทศกาลหนังทั่วโลกนั้น ล้วนเคยจัดงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ของเขามาแล้วทั้งสิ้น
สำหรับผู้ที่สนใจ "จุดประกาย" ขอเชิญชวนไปสัมผัสผลงานคลาสสิค ทั้งยุคแรก ยุคกลาง และยุคหลังของคุโรซาวา
แต่ไม่ว่าดูหนังยุคไหนของเขา
เราต่างมีโอกาสเข้าใจชีวิต อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสิ้น
.............................................
เส้นทางของคูโรซาวา
ถ้าผู้กำกับที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่นคนนี้ จะมีตลกร้ายประจำตัวสักเรื่องก็คงเป็นเรื่องที่การงานบนแผ่นฟิล์มของเขาไป ดังอยู่ต่างประเทศมากกว่าในบ้านเกิดของตัวเอง
ลูกชายนายทหารอย่าง คูโรซาวา ศึกษาเล่าเรียนด้านศิลปะก่อนโลกภาพยนตร์จะดึงดูดเขาเข้าไปหา แต่ก็นับว่าเป็นการปูพื้นฐานให้อาชีพได้เป็นอย่างดี
เขาทำงานเป็นผู้ช่วยให้ผู้กำกับ คาจิโร่ ยามาโมโต (Kajiro Yamamoto) อยู่ 7 ปี ก่อนจะเริ่มเป็นผู้กำกับเต็มตัวในหนังเรื่องแรก Sanshiro Sugata ในปี ค.ศ.1943 ว่าด้วยการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจจของสองกลุ่มอิทธิพลคือ ยูโดและยูยิสสู ซึ่งสร้างแรงกดดันให้แก่กองทัพของรัฐบาลมาก และจากผลสำเร็จของเรื่องนี้ เขาก็ได้ทำหนังภาคต่อ Sanshiro Sugata Part II ในเวลาถัดมา
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การงานของคูโรซาวาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เขาได้ทำหนังหลายๆ เรื่องที่ถือว่าแหวกตลาดในยุคนั้น เรื่องที่เขาทำมีตั้งแต่ฆาตกรรมชวนสยองไปจนถึงดราม่าย้อนยุค จนมาถึงปี ค.ศ.1551 หนังของเขาเรื่อง Rashomon ได้กลายมาเป็นหนังหลังสงครามเรื่องแรกที่ได้ออกไปสู่สายตาโลก พร้อมกับที่ดารานำเลือดซามูรอย่าง โทชิโร มิฟูเน (Toshiro Mifune) เป็นที่รู้จักของชาวตะวันตก
แต่เรื่องที่สร้างชื่อและดันคุโรซาวาให้ขึ้นทำเนียบผู้กำกับระดับโลกคือ 7 เซียนซามูไร (The Seven Samurai) ในปี ค.ศ.1954 แม้ฉบับดั้งเดิมจะถูกตัดออกไป แต่ความยาวของม้วนหนังกว่า 3 ชั่วโมงก็เล่าเรื่องราวของยุคกลางสไตล์ดราม่า นำเสนอความอดทนอย่างถึงที่สุดของคนยุคนั้น จนหนังเรื่องนี้ได้เป็นหนังญี่ปุ่นที่ดีที่สุดตลอดกาลในทำเนียบโลกตะวันตก
หลังจากนั้นมา หนังแทบทุกเรื่องของคูโรซาวาก็ได้ไปขายตั๋วในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น The Hidden Fortress (1958) และในเวลาเดียวกันนั้น ทั้งอเมริกันและยุโรปก็หันมาสนใจงานของคูโรซาวาอย่างจริงจัง ในแง่ของวัตถุดิบผลิตพล็อตเรื่องในหนังของตัวเอง
อย่าง Rashomon ก็เป็นต้นทางของ The Outrage หรือ Yojimbo ที่กลายมาเป็น A Fistful of Dollars (1964) โดยผู้กำกับ Sergio Leone และ เค้าโครงหลัก 7 เซียนซามูไร ก็กลายเป็นมา The Magnificent Seven ของ John Sturges (1960)
จะว่าไปแล้วหนัง "รีเมค" แบบนี้ ทำรายได้ในญี่ปุ่นได้ดีกว่าหนังฉบับดั้งเดิมของคูโรซาวาเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปี 1980 บทภาพยนตร์ไม่มีชื่อของคูโรซาวา คือ เค้าโครงเรื่องของ The Runway Train หนังแอคชั่นเขย่าขวัญเรื่องดังในปี 1985
หนังภาคต่อของคูโรซาวา อย่าง Sanjuro (1962) ละทิ้งขนบหนังแอคชั่นเดิมๆ ที่เขาเคยทำมา หลายคนบอกว่าดราม่าหนักหนามากขึ้น เข้าใจยากมากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงหนังมหากาพย์สไตล์เมโลดราม่า Red Beard (1965) ด้วย
2-3 ปีหลังจากนั้น ทั้งๆ ที่สุขภาพของเขาเริ่มรวน ประกอบกับการขาดเงินทุนในการทำหนังเรื่องใหม่ๆ คูโรซาวายังคงเป็นผู้กำกับทรงอิทธิพลของวงการ อาจด้วยสไตล์หนังตะวันตกของเขา คูโรซาวาได้ต้อนรับ "แฟนหนัง" หน้าใหม่ของเขาในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับแหล่งทุนจากฝั่งยุโรปและอเมริกา ที่ยินดีสนับสนุนมากกว่านายทุนชาติเดียวกัน
ในปี ค.ศ.1990 เขาได้รับรางวัลออสการ์เกียรติยศ และหลังจากลาโลกไปในปี 1993 เขาได้รับการยกย่องให้เป็น "ชาวเอเชียแห่งศตวรรษ (Asian of the Century) " สาขาศิลปะ วรรณคดี และ วัฒนธรรม ซึ่งจัดโดย นิตยสาร AsianWeek
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------------
ดูหนัง 100 ปี คุโรซาวา
โดย : มณิกา
โดย : มณิกา
เมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ.2010 เป็นวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดของ อากิระ คุโรซาวา ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นที่ สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ
และยังได้รับการสรรเสริญจาก "คนทำหนัง" ทั่วโลก นับจากผลงานของคุโรซาวะช่วงทศวรรษ 1940s จนถึงต้นยุค 1990s และแม้คุโรซาวะจะวายชนม์ไปแล้ว แต่ผลงานภาพยนตร์ของเขายังคงเป็นต้นแบบของความยิ่งใหญ่ในงานสร้างสรรค์ สำหรับคนรุ่นต่อมาเสมอ
ในปีที่ผ่านมา เจแปนฟาวน์เดชั่นสำนักงานใหญ่ (ประเทศญี่ปุ่น) ได้จัด "เทศกาลภาพยนตร์วันครบรอบวันเกิด 100 ปี ของคุโรซาวะ อากิระ" โดยมอบหมายให้ เจแปน ฟาวน์เดชั่น สาขาต่างๆ ทั่วโลก จัดฉายผลงานของคุโรซาวะถึง 25 เรื่อง ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับคนนี้ เพื่อให้ผู้ชมนานาชาติ รวมทั้งผู้ชมชาวไทยได้รับชม และร่วมรำลึกถึงคุโรซาวะ เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิด 100 ปี ของเขาด้วย
ผลงานของคุโรซาวะ มีตั้งแต่แนวทางมหากาพย์อย่าง Seven Samurai และ Ran แต่หนังดราม่าสะท้อนชีวิตสามัญชนอย่าง Ikiru และ High and Low หรือกระทั่งหนังสะท้อนการสร้างชีวิตของชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ สองอย่าง One Wonderful Sunday จนถึงหนังที่พูดถึง "คนชายขอบ" ในสังคม อย่าง Drunken Angel และ Stray Dog
Rashomon หนังในยุค 50s ของคุโรซาวะ ที่มีวิธีการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเหตุการณ์ สะท้อน ปากคำ ความจริงจากเหตุการณ์เดียวกัน แต่มีความจริงหลายแบบ ได้อย่างน่าทึ่ง เป็นหนึ่งในผลงานที่โลกไม่
"นักทำหนัง"ที่โด่งดัง ยุคหลังคุโรซาวะหลายคน ยอมรับว่า ได้รับอิทธิพลจากผู้กำกับคนนี้ ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ ลูคัส แห่ง Star Wars (ยุค 70s) “ผมได้ดูหนัง Seven Samurai และก็รู้สึกตะลึงตะลานมาก มันส่งอิทธิพลมหาศาลต่อชีวิตผม กับการได้เห็นสิ่งที่วิจิตรและแสนกินใจ ในขณะที่มันช่างดูแปลกพิสดารเหลือเกินสำหรับผม"
ในทางเดียวกัน ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้สร้างตำนานหนัง Godfathers ไตรภาค ก็เอ่ยถึงคุโรซาวะว่า "สำหรับผมดูเหมือนว่า คุโรซาวะเป็นคนที่ได้สร้างสรรค์งานมาสเตอร์พีซไว้กลายชิ้นเหลือเกิน ไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองเท่านั้น"
คุโรซาวะ เกิดปีค.ศ. 1910 และผ่านการฝึกฝนทั้งศิลปะวาดภาพ การเขียนอักษรด้วยพู่กัน ศิลปะป้องกันตัวเคนโด้ และยังสนใจในงานภาพยนตร์มาตั้งแต่เยาว์วัย ผ่านทางพี่ชายที่พาเขาอ่านวรรณกรรม ดูหนังมากมาย จนกระทั่งคุโรซาวะอายุผ่านเบญจเพส วัย 26 พี่ชายเขาเสียชีวิต จึงได้ก้าวสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัว ด้วยการเป็นพนักงานของบริษัทหนัง PCL ที่ต่อมาเป็นสตูดิโอหนัง โตโฮ ที่รุ่งเรือง และได้ผ่านงานเขียนบท การเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ก่อนจะกำกับหนังเรื่องแรกในปี 1943 เรื่อง Sanshiro Sugata และมีผลงานชิ้นเอกออกมามากมายในยุค 50s-60s
ปี 1970 คุโรซาวะ ล้มเหลวจากการทำหนังสีเรื่องแรก Dodes’Kaden เสียงตอบรับจากสื่อในญี่ปุ่นที่เป็นไปในทางลบ ยังผลให้คุโรซาวะเสียจริต ถึงขั้นลงมืออัตนิวิบาตกรรม แต่ไม่สำเร็จ ทว่าชื่อเสียงในวงการหนังนานาชาติของเขายังมีอยู่ และในยุค 1980s คุโรซาวะกลับมาอย่างสง่าผ่าเผยอีกครั้ง และทำหนังชั้นดีอีกหลายเรื่อง อาทิ Kagemusha (The Shadow Warrior) (1980) Ran (1985) Dreams (1990) Rhapsody in August (Hachigatsu no kyoshikyoku) (1991) Madadayo (1993) จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1998 ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะวัย 88 ปี
ใน วันที่ข่าวของคุโรซาวะเสียชีวิตเผยแพร่ออกสื่อในเดือน กันยายนปี 1998 นสพ.ดิอินดิเพนต์ ของอังกฤษ ยกคำกล่าวของ โยชิโอ ชิราอิ นักวิจารณ์หนังในโตเกียว ที่เอ่ยถึงความสำคัญของคุโรซาวะว่า
"ก่อน Rashomon ภาพของประเทศญี่ปุ่นในสายตาโลกภายนอกมีแค่ ภูเขาไฟฟูจิ เกอิชาและซากุระ แต่หลังจากหนังเรื่องนี้อออกฉายภาพญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไป คนนึกถึง คุโรซาวะ โซนี่และฮอนด้า มากกว่า"
----------------------------------------
เจแปน ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจําประเทศไทย จับมือกับ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า จัดเทศกาล นอกจากการฉายภาพยนตร์แล้ว ยังมีกิจกรรมพูดคุยกับผู้กำกับไฟแรงของไทยเกี่ยวกับคุโรซาวะ เกี่ยวกับผลงานของเขา และอิทธิพลที่เขามีต่อผู้กำกับยุคหลังๆ พร้อม นิทรรศการแสดงภาพผลงานการกำกับภาพยนตร์ของ "คุโรซาวะ อากิระ"
"เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2554 ครบรอบวันเกิด 100 ปี คุโรซาวะ อากิระ"จัดระหว่างวันที่ 6-19 มกราคม 2554 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ คอหนังที่สนใจสามารถเข้าชมได้ "ฟรี" โดยรับตั๋ว 1 ใบ ต่อ 1 ท่าน ครึ่งชั่วโมงก่อนเวลาฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ได้ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ชั้น 7 โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SF Call Center 02-268 8888 หรือ www.sfcinemacity.com และ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพ 02-260-8560-3 หรือ www.jfbkk.or.th
ตารางการฉาย
6 มกราคม เวลา 20.00 น. Rashomon (รอบพิธีเปิดเทศกาล)
7 มกราคม เวลา 19.00 น. The Quiet Duel
เสาร์ที่ 8 มกราคม มี 4 รอบ
เวลา 11.00 น. Sanshiro Sugata
เวลา 13.20 น.The Most Beautiful
เวลา 15.40 น. Sanshiro Sugata II
เวลา 18.00 น.The Idiot
อาทิตย์ที่ 9 มกราคม มี 4 รอบ
11.00 น No Regrets for Our Youth
13.40 One Wonderful Sunday
16.20 Drunken Angel
19.00 Scandal
จันทร์ที่ 10 มกราคม 19.00 Stray Dog
อังคารที่ 11 มกราคม 19.00 Those Who Step on the Tail of the Tiger
พุธที่ 12 มกราคม 19.00 Ikiru
พฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 19.00 Seven Samurai
ศุกร์ที่ 14 มกราคม 19.00 I Live In Fear
เสาร์ที่ 15 มกราคม
11.00 Throne Of Blood
13.40 The Lower Depths
16.30 The Hidden Fortress
18.30 Talk on Kurosawa: Life, Works and Inspiration
พูดคุยเกี่ยวกับคุโรซาวะ - ชีวิต ผลงาน และแรงบันดาลใจ
อาทิตย์ที่ 16 มกราคม
11.00 The Bad Sleep Well
14.20 Yojimbo
17.00 Sunjuro
19.30 Madadayo
จันทร์ที่ 17 มกราคม 19.00 High and Low
อังคารที่ 18 มกราคม 19.00 Red Beard
พุธที่ 19 มกราคม 19.00 Dodes'ka-den
หมายเหตุ ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น