คมชัดลึก : คำว่า "ปฏิทิน" ในภาษาอังกฤษ คือ "calendar" เป็นคำที่มาจากภาษาละติน ซึ่งนำมาจากคำพูดของชาวกรีกโบราณอีกที ว่า "Kalend" ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า "I cry"
สาเหตุที่ใช้คำนี้เพราะ มีที่มาว่า ในสมัยโบราณจะมีคนคอยร้องบอกชาวเมือง เพื่อบอกกล่าวเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า รวมถึงประกาศวันขึ้นเดือนใหม่ เพื่อให้ลูกหนี้จ่ายเงินที่คั่งค้าง
ครั้นต่อมาสังคมเริ่มสลับซับซ้อนมากขึ้น ปฏิทินจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแทนคนร้องบอกข่าว ปฏิทินจึงนับว่าเป็นสิ่งบอกเวลา และกลายเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตประจำวันไปในที่สุด ต่อมามนุษย์จึงได้ริเริ่มบันทึก วัน เวลา ขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่เรียกกันว่า "ปฏิทิน"
ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยนับปีตามปีมหาศักราชและจุลศักราชตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปีจุลศักราช ๑๒๔๐ ซึ่งตรงกับพ.ศ.๒๔๓๑ โดยใช้แบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียน ทั้งนี้ได้กำหนดเดือนแรกของปีคือ เดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปี คือ มีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทร์ศก และพุทธศักราชตามลำดับ
จนกระทั่งในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นวันเริ่มต้นของปี แทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ใน พ.ศ.๒๔๘๔
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "พุทธศักราช" หมายถึง ปีนับตั้งแต่ปีพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมา ใช้ย่อว่า พ.ศ.
พุทธศักราช ในประเทศไทยเริ่มนับปีพุทธศักราช ตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มาครบรอบ ๑ ปี เป็น พ.ศ.๑
แต่ในประเทศพม่า ศรีลังกา และลาว นับเร็วกว่าประเทศไทย ๑ ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพานเป็น พ.ศ.๑
ดังนั้นในปีหน้าประเทศไทยเป็น พ.ศ.๒๕๕๔ แต่ในประเทศพม่า ศรีลังกา และลาว จะเป็น พ.ศ.๒๕๕๕
นอกจากนี้แล้วมีอีกคำหนึ่งที่มักได้ยินกันบ่อยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี เก่าต้อนรับปีใหม่ คือ คำว่า "ดิถี" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า วันตามจันทรคติ ที่นับการโคจรของดวงจันทร์
"ดิถี" ใช้เรียกวันตามธรรมเนียมในพุทธศาสนาว่า ค่ำหนึ่ง ๒ ค่ำ เป็นต้นไป จนถึง ๑๕ ค่ำ ใช้ทั้งข้างขึ้นข้างแรม เช่น ดิถีเพ็ญเดือน ๖ หมายความว่า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือ ดิถีแรม ๘ ค่ำ หมายความว่าแรม ๘ ค่ำ เป็นต้น
"ดิถี" ในปัจจุบันใช้หมายถึงวันที่ไม่เกี่ยวข้องกับจันทรคติก็มี ใช้หมายถึงวันทางสุริยคติก็มี เช่น
“นับเป็นศุภาวารดิถีอันงาม ที่ท่านให้เกียรติมาเยี่ยมงานในครั้งนี้”
หรือ “ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคมนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านจงโชคดีมีความสุขกัน”
โดย : พระธรรมกิตติวงศ์
คอลัมน์พระเครื่อง @คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น