หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

ใบไม้เปลี่ยนสี ที่ มอสโก


"แสงแดดทอเป็นลำลอดช่องว่างระหว่างใบไม้ ทาทาบลงบนพื้นที่ดาษไปด้วยใบเมเปิลสีเหลืองทองที่ปลิดขั้วร่วงหล่น ใบแล้วใบเล่าราวกับปูลาดด้วยพรมสีเหลืองทอง ยาวสุดลูกหูลูกตา"

ต้นไม้ที่ยืนเรียงเป็นทิวแถว กลายเป็นเพียงองค์ประกอบ เสริมให้ภาพตรงหน้างามลึกซึ้งอย่างที่มือมนุษย์ไม่สามารถจะสร้างสรรค์ได้

"พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ" หรือ "พระราชวังแคเธอรีน" ที่เป็นไฮไลต์สำคัญของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต้องมาชมให้เห็นกับตานั้นถูกลืมไปชั่วขณะ


ก่อนหน้านี้ระหว่างที่เดินเข้าออกตามห้องต่างๆ แค่เพียงไม่กี่ห้องในจำนวนเป็นร้อยห้องของพระราชวังแคเธอรีน มักได้ยินเสียงบ่นลอยตามลมมาว่า

""การได้อยู่ในพระราชวังหรูเลิศ ใหญ่โตขนาดนี้มีความสุขตรงไหนนะ !""

ออกจะเห็นด้วย ประสาคนตัวเล็กๆ ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่พี่น้องและหลานๆ ใต้ชายคาบ้านหลังน้อยๆ นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไรถ้าต้องมาอยู่ในพระราชวังใหญ่โตมโหฬารชนิดที่แค่เดินตามหากันก็เมื่อยแล้ว

ต่างคนต่างที่ต่างจิตใจและต่างกรรมวาระ ก็อย่างนี้แหละ

"ครั้งนั้นพระเจ้าปีเตอร์มหาราชกำลังอยู่ในระหว่างการขยายอาณาเขต การมีพระราชวังที่หรูอลังการอย่างพระราชวังแวร์ซายน์ของฝรั่งเศสที่พระองค์ทรงโปรดนัก เหมือนเป็นการแสดงแสนยานุภาพหนทางหนึ่งว่ารัสเซียก็ไม่ด้อยไปกว่าประเทศตะวันตก"

"?แม้ว่าไพร่ฟ้าประชาชนจำนวนมากแทบไม่มีจะกินอยู่ก็ตาม"

จึงไม่แปลกที่เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย เช่นเดียวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ที่พระนางมารีอังตัวเน็ตทรงเสพสุขอยู่บนความอดอยากของอาณาประชาราษฎร์โดยไม่ได้สนใจอะไรอื่น

""ประชาชนไม่มีข้าวกิน ก็ให้กินขนมปังสิ""

นั่นคือวรรคทองของพระนางที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดอื่นถึงสาเหตุของการเกิดปฏิวัติฝรั่งเศส กับรัสเซียก็ไม่ต่างกันสักเท่าใด

แต่มาจนถึงวันนี้ ระบอบสังคมนิยม ระบอบคอมมูนที่ครั้งนั้นถูกเลือกใช้เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมแล้ว แม้จะไม่เต็มตัวและชัดเจนเหมือนกับจีนก็ตาม

"ฤดูกาลที่ต้องเปลี่ยนผ่าน ก็เหมือนกับคนในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้กระแสทุนนิยมที่มีพลังอันมหาศาล จนยากจะต้านทานได้"

รัสเซียวันนี้จึงเปลี่ยนไป แม้จะยังใช้ชื่อว่าเป็น "สังคมนิยม" แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็น "ทุนนิยม"

ถ้าจะเปรียบกับเมืองหลวงในศักดิเดียวกัน อย่างปักกิ่ง มอสโกถือว่าไม่เขี้ยว

คนที่นี่นอกจากชื่อเสียงของการเป็น "คนสองบุคลิก" อย่างที่หลายๆ คนบอกว่าเหมือนอยู่ในเปลือกถั่ว หน้าตาภายนอกเหมือนขมวดคิ้วตลอดเวลา แต่ถ้าได้ทำความคุ้นเคยแล้วจะพบว่าคนรัสเซียมีความน่ารัก มีจิตใจที่อบอุ่น ใจดี รู้จักโอภาปราศรัยเหมือนกัน

หน้าตาสวนจตุจักรของรัสเซีย

บ่าวสาวรัสเซียนนิยมเช่าลีมูซียคันยาวและไปหยุดถ่ายภาพตามสถานที่สำคัญๆ

รับจ้างถ่ายภาพตามพระราชวัง เป็นอาชีพที่รายได้งาม


"คนรัสเซียส่วนใหญ่เป็นคนคิดชั้นเดียว บริหารการจัดการไม่เป็น"

ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมาเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าต้องจองผ่านทัวร์ ซึ่งทัวร์ไทยเองก็จะต้องติดต่อกับทัวร์รัสเซียให้จัดการให้อีกทอดหนึ่ง ถ้าต้องการสิ่งใดเพิ่มเติม เช่น เปิดห้องเพิ่ม หรือเพิ่มเมนูอาหารอีกสักอย่าง...เป็นเรื่องใหญ่ ถึงกับต้องมีการเรียกประชุมด่วน

"ฉะนั้น นักท่องเที่ยวที่หวังว่าจะแบ๊คแพคมาเที่ยวเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีคนที่รู้จักอยู่ที่รัสเซีย เพราะนับตั้งแต่ภาษาที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในโรงแรมหลายๆ แห่งยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้"

และการจะเดินเข้าไปจองห้องพักในโรงแรม หรือซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่ต่างๆ นั้น ถ้าไม่ได้ซื้อผ่านทัวร์ท้องถิ่นแล้ว ราคาแพงกว่าเท่าตัว

"เหมือนจะไม่ง้อคนต่างชาติอย่างไรอย่างนั้น"

ขนาด "ออสก้า ทัวร์" บริษัทนำเที่ยวมืออาชีพที่ทำหน้าที่ประสานงานให้กับ "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" พาสื่อมวลชนไปสังเกตการณ์งานส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่รัสเซีย ยังถึงกับปวดศีรษะ เพราะเซ็ตอาหารที่ร้านอาหารจีนในกรุงมอสโก จากที่ตกลงกันว่าขอแบบอาหารฮ่องเต้ กลับโดนลดเกรดเหลือแค่อาหารระดับร้านข้าวต้มกุ๊ย

"น่าสังเกตว่ารัสเซียเป็นประเทศยังได้ชื่อว่าสังคมนิยม แต่มีบ่อนกาสิโนอยู่กลางเมือง เช่นที่ โรงแรมคอสมอส โรงแรมระดับ 4 ดาวครึ่งถึง 5 ดาว ที่มีสาขาอยู่เป็นสิบแห่ง ที่ล็อบบี้โรงแรมมีเครื่องเล่นให้เลือกใช้บริการได้โดยไม่ต้องแอบๆ ซ่อนๆ"

หรืออย่างเซ็กซ์ ช็อป ก็สามารถหาได้ไม่ยาก ส่วนสถานบริการทางเพศนั้น ถ้าเปิดอย่างเป็นกิจจะลักษณะไม่ได้ แต่ถ้าคุณเธอจะไปยืนกันอยู่คนละเสารอลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล

"ใครๆ ก็บอกว่าคนรัสเซียดื่มวอดก้า เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ให้ความอบอุ่นท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็น ถึงขนาดที่บางปีอุณหภูมิติดลบ 30 องศา"

แต่พอมาเหยียบถึงถิ่นจริงๆ ประเด็นนี้ถูกแค่ครึ่งเดียว

"นับแต่ก้าวออกจากสนามบินมอสโก ป้ายบิลบอร์ดที่เห็น นอกจากขายรถยนต์หรู ขายคอนโดมิเนียมแล้ว ก็คือ ขายเบียร์สารพัดยี่ห้อ"

ในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีเบียร์ให้เลือกกันจนตาลาย และตามเคาน์เตอร์โรงแรมใหญ่ๆ รวมทั้งร้านอาหารจึงมีให้บริการดราฟต์เบียร์เป็นสามัญ

วิหารเซนต์บาซิล สัญลักษณ์รัสเซีย
ภายในพิพิฑภัณฑ์เฮอมิเทจจัดแสดงศิลปะระดับมาสเตอร์พีซของพระนางแคเธอรีนมหาราช

"เหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันอย่างชัดเจนถึงความชอบกินชอบดื่มของคนรัสเซียรุ่นใหม่ ฉะนั้นสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวรัสเซียนิยมเข้ามาใช้บริการจึงเป็น พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย และล่าสุดที่กำลังมาแรงคือ เกาะช้าง"

ฉะนั้น ถ้าไก่ไม่ตื่นเสียก่อน เพราะสถานการณ์บ้านเมืองของเราที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง รัสเซียเป็นตลาดใหม่ที่ยังกินได้อีกยาว

เพราะเมืองไทยเรายังมีสถานที่ที่จะแนะนำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียได้รู้จักและเข้าไปสัมผัสมีมากมายมหาศาล ทั้งที่เป็นเพิงผา ภูเขาที่โอบล้อมไปด้วยทะเลหมอก และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ชวนเสน่ห์อีกมากต่อมาก

รัสเซียยังปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้บริหารประเทศ

แต่คนรัสเซียกลับพูดอย่างเต็มปากว่า ภาคภูมิกับอดีตอันรุ่งเรืองเมื่อครั้งที่ยังมีซาร์ปกครอง และเป็นเหตุผลที่กอร์บาชอฟนำเอาพระอัฐิที่เหลือของซาร์นิโคลัสที่ 2 และคนในราชวงศ์โรมานอฟที่ถูกลอบสังหาร และหายสาบสูญไปตั้งแต่ปี 1918 มาไว้ในสุสานหลวงในปี 1990

แน่นอน "พระราชวังทั้งหลายที่เป็นสัญลักษณ์อันรุ่งเรืองของราชวงศ์รัสเซียน ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์ของช่องว่างระหว่างชนชั้น ท่ามกลางความหิวโหยของประชาชน ในยามนี้ได้รับการพลิกฟื้นขึ้นอีกครั้ง"

เช่น ที่พระราชวังแคเธอรีน ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ถูกทำลายยับเยินในช่วงสงครามโลก โดยเยอรมันถือเอาโอกาสนั้นกอบโกยเอาทรัพย์สินอันมีค่าทั้งหลายกลับประเทศของตนในฐานะผู้ชนะสงคราม

5 ปีก่อน พระราชวังแห่งนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อย่างเช่น ในห้องอำพัน ซึ่งนำเอาอำพันน้ำงามชิ้นโตเท่าฝ่ามือมาแต่งผนังห้อง ทั้งหมดถูกลอกหายไปหมด แต่ผู้ปกครองรัสเซียก็ยังอุตส่าห์ให้หาอำพันของแท้ แม้จะได้เพียงแค่ชิ้นไม่ถึงครึ่งของเดิม มาแต่งผนังให้มีลักษณาการเช่นเดิม

"อดีตอันรุ่งเรืองเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวรัสเซียเหล่านี้ ปัจจุบันกลายเป็นทุนทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ"

นอกจากจะสามารถเก็บสตังค์ค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวได้แล้ว ภายในพระราชวังแต่ละแห่งยังเกิดอาชีพหนึ่ง คือ รับจ้างเป็นแบบถ่ายรูปด้วย โดยจะมีชายหนุ่มหญิงสาวในเครื่องแต่งกายย้อนยุคยืนโพส์ตรอท่านักท่องเที่ยวทั้งหลาย

"ถ่ายรูปคู่ด้วยแชะละ 70 รูเบิล (1 รูเบิลเท่ากับ 1.50 บาท โดยประมาณ) ถ้า 2 แชะลดให้เหลือ 100 รูเบิล"

สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่นักท่องเที่ยวควรจะมาเยี่ยมชมคือ "พระราชวังเซนต์นิโคลัส" ที่นี่ ณ ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดการแสดงวัฒนธรรมพื้นเมืองของรัสเซีย โดยโปรแกรมจะเริ่มในราว 1 ทุ่ม แต่นักท่องเที่ยวจะทยอยไปจบจองที่นั่งตั้งแต่ 6 โมงเย็น เพราะใครมาก่อนได้ที่นั่งก่อน

ประสาพระราชวัง บันไดทางขึ้นปูลาดด้วยพรมแดง พอถึงกึ่งกลางบันได ฝั่งซ้ายมีนักดนตรีคลาสสิคบรรเลงเพลงระหว่างรอเวลาการแสดง ส่วนทางฝั่งขวาเป็นโต๊ะตั้งแชมเปญเป็นเวลคัมดริ๊งก์

ส่วนการแสดงนั้นหรือ จะเป็นการร้องเพลง เต้นระบำในแบบพื้นถิ่น นาน 40 นาที ก่อนจะพักครึ่งให้รับเครื่องดื่มและคานาเป้

"การแสดงครึ่งหลังจะเป็นการเต้นระบำและสอดแทรกด้วยการโชว์ "ผ้าคลุมไหล่พื้นเมือง" สินค้าหนึ่งในหลายๆ อย่างที่คนที่มารัสเซียต้องซื้อกลับไปฝากคนทางบ้าน"

สามารถหาซื้อได้จากบู๊ธที่มาออกร้านอยู่ด้านหน้าห้อง ราวกับจะการันตีว่าเห็นมั้ยเหมือนกับที่นักแสดงคลุมไหล่เต้นอยู่เมื่อกี้นี้เปี๊ยบเลยนะ

"แม่ค้าบอกว่า เป็นผ้าเนื้อดีทอด้วยวู ชายทำด้วยไหม ราคาผืนขนาดกลาง 1,100 รูเบิล ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่รับมาจากโรงงาน ไม่สามารถลดราคาให้ได้อีกแล้ว"

อย่างไรก็ตาม สามารถไปหาซื้อผ้าคลุมไหล่ชนิดเดียวกันนี้ที่ตลาดนัดจตุจักรของกรุงมอสโก (Izmailovo Market) ได้ในราคาประมาณ 7,000 รูเบิล

รวมทั้งของที่ระลึกของฝากอื่นๆ ในราคาที่ถูกกว่าที่อื่น และยังสามารถต่อรองราคาได้

ถามว่ารัสเซียมีเสน่ห์มั้ย ต้องยอมรับว่ามีเสน่ห์ไม่น้อย โดยเฉพาะกับคนที่รักอากาศหนาวเย็น เพราะไก๊ด์บอกว่าที่รัสเซียมีเพียง 2 ฤดูคือ ไวท์ วินเทอร์ กับ กรีน วินเทอร์ ก็เหมือนกับที่หลายๆ คนพูดกระเซ้าว่าเมืองไทยก็มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนกว่า และฤดูร้อนที่สุด

ฉะนั้น "ถ้าคุณมีงบประมาณ 1 แสนบาท สำหรับการเที่ยวรัสเซีย ไม่รวมพ็อกเก็ตมันนี่ และไม่เหนื่อยหน่ายกับรถติด โดยเฉพาะที่มอสโก" จากสนามบินมอสโกไปที่พักระยะทาง 35 กิโลเมตร โชเฟอร์บอกว่าไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน เราจึงใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงบนรถ

ซึ่งภาวะรถติดหนึบแบบไม่ค่อยยอมขยับนี้ไม่ใช่แค่ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน แต่เกิดขึ้นตั้งแต่เช้ากระทั่งเที่ยงคืนก็ยังติดอยู่เช่นนั้น

"ถ้ารับได้ รัสเซียเป็นที่น่าไปเปิดหูเปิดตา"

คอลัมน์ บันทึกเดินทาง@มติชน
โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช
09-11-2008

ไม่มีความคิดเห็น: