หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ยาหอม

ยาหอมกับผู้สูงอายุเป็นของคู่กันจริงๆ ที่บ้านพ่อจะกินยาหอมแก้เวียนศีรษะเป็นประจำ เมื่อคืนพ่อเพิ่งมาสั่งให้ซื้อยาหอมให้ด้วย เพราะที่มีอยู่ใกล้จะหมด เดี๋ยวยาจะขาด วันนี้ตื่นมาอ่านอะไรไปเรื่อยเปื่อย ก็มาเจอบทความเกี่ยวกับยาหอมเข้า
------------------------------------------------
เปิดกระปุกยาหอม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ยาหอม เป็นยาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน แม้ในปัจจุบันสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก การแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ซึ่งรักษาหลายๆ โรคให้หายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้ยาไทยแทบทุกชนิดถูกทอดทิ้ง แต่สำหรับยาหอม แม้จะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย


โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุรวมไปถึงชาวต่างชาติในย่านเอเชีย ดูจากจำนวนตำรับยาหอมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารยานั้นมีมากถึง 488 ตำรับ ยังไม่นับรวมยาหอมที่ผลิตโดยร้านขายยาแผนโบราณหรือแพทย์แผนไทยที่มีอีกมาก

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าตำรับสมุนไพร กล่าวว่า ยาหอมเป็นตัวปรับพลังชีวิต ทำให้ธาตุในร่างกายที่กำเริบหรือหย่อนเกินไปเข้าสู่ภาวะปกติ ยาหอมช่วย ทำให้ธาตุต่าง ๆ ทำงานอย่างสมดุลก่อนที่จะสายเกินไป ไม่ว่าระบบย่อยอาหาร ซึ่งทำให้มีสิ่งจำเป็นของชีวิต ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ที่จะนำพาสิ่งจำเป็นเหล่านั้นไปยังอวัยวะต่างๆ และ ระบบสมอง ที่เรียนรู้และสั่งการ ทำให้กลไกต่าง ๆ ของร่างกายเชื่อมประสานกันอย่างเป็นระบบ

"ในทางการแพทย์แผนไทย เลือดลมเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ เมื่อใดที่เลือดลมไม่เดิน นั่นคือไม่มีชีวิต การตั้งตำรับยาหอมเป็นศิลปะในการ เลือกรับ ปรับใช้ และปรุงแต่งสมุนไพรหอมที่มีรสร้อน และรสสุขุมของคนไทยมาใช้ปรับแก้อาการที่เกิดจากธาตุลมผิดปกติ"



ยาหอมเป็น สัญลักษณ์แทนนิสัยของคนไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการปรุง ผสม พัฒนา ต่อยอด และเลือกรับปรับใช้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวและนำมาใช้ประโยชน์ ยาหอมจึงเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่คนในอดีตสร้างไว้

พินิต ชินสร้อย จากโรงพยาบาลวังน้ำเย็น เล่าว่า ตามคัมภีร์อายุรเวทศึกษาของขุนนิทเทสสุขกิจได้ให้คำนิยามของลมว่า “ลม” คือสิ่งที่เคลื่อนไหว ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สามารถรับรู้การมีอยู่ของลมได้ โดยการทำงานของลม ซึ่งทำให้ธาตุต่างๆ เคลื่อนที่ได้ ลมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายทำหน้าที่ได้ตามปกติ

“ลม” ในทางการแพทย์แผนไทย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ลมกองหยาบ เป็นลมที่เกิดขึ้นในช่องท้อง เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แน่นจุกเสียด ซึ่งเกิดจากระบบย่อยอาหารผิดปกติ และ 2. ลมกองละเอียด คือ ลมกองหยาบที่แปรไปเป็นลมกองละเอียดดันขึ้นไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เมื่อลมดันขึ้นมาที่หน้าอกจะทำให้แน่นหน้าอก สูงขึ้นมาเรียกลมจุกคอ และเมื่อดันขึ้นศีรษะเรียกลมตีขึ้นเบื้องสูง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม



ในแง่สรรพคุณของยาหอมไทย รศ.ดร.ภญ.วิสุตา สุวิทยาวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากการทดลองสรรพคุณของยาหอมตามที่มีการระบุไว้ตามฉลาก ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และทำการทดลองกับหนู และสุนัข พบว่า ยาหอมไทย นั้นมีฤทธิ์ตามสรรพคุณที่ระบุทุกประการ ตลอดจนไม่มีผลข้างเคียงและพิษเฉียบพลัน หากรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และรับประทานในจำนวนมาก

โดยมีผลการวิจัย ดังนี้
-ฤทธิ์ต่อหัวใจ โดยยาหอมสามารถเพิ่มความแรงของการบีบตัวของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดยาหอมอินทจักร
-ฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัม ผงยาหอม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด systolic, diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย โดยมีผลความดันเลือด systolic มากกว่า ความดันเลือด diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย
-ฤทธิ์ต่ออัตราการไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น

-ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยสารสกัดยาหอมของเอกชน และยาหอมอินทจักรมีฤทธิ์กดต่อระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับเฉพาะแต่สารสกัด แต่ถ้าให้สารสกัดยาหอม ทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกับ pentobarbital ซึ่งเป็นยานอนหลับ จะพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ
-ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดยาหอมนวโกฐจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร และมีผลยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กด้วย
-ฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้หรืออาเจียน สารสกัดยาหอมอินทจักรสามารถต้านการอาเจียนได้

คมสัน ทินกร ณ อยุธยา ทายาทราชสกุลทินกร ผู้ผลิตยาหอมภูลประสิทธิ์ เล่าถึงยาหอมต้น ตำรับว่า เริ่มมีมาตั้งแต่ครั้งวังทินกร ประมาณช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 เรียกยานัตถุ์หอมภูลประสิทธิ์ ซึ่งมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน โดยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบันนั้นยาหอมสามารถใช้รักษาโรค และวินิจฉัยโรคที่เกิดจากลม



โดยมีตัวยารักษาตามลักษณะมูลเหตุของการเกิดโรค อาทิ ลมกองละเอียด/ลมกองหยาบ แบบไม่มีไข้เป็นอาการข้างเคียง ใช้ยาหอมภูลประสิทธิ์ ลมกองละเอียดแบบมีไข้เป็นอาการข้างเคียง ใช้ยาหอมมหาสีสว่าง ลมกองหยาบใช้ยาหอมอากาศบริรักษ์ ลมแน่นเข้าที่หน้าอก ใช้ยาหอมอุดมนพรัตน์ ลมจุกในลำคอใช้ยาหอมสังข์ทิพย์ ลมเข้าตามเส้นแนวไหล่ถึงศีรษะใช้ยาหอมอดุลสำราญ ลมตีขึ้นเบื้องสูง ใช้ยาหอมเทพจิตรารมย์ ลมกระทำต่อศีรษะให้ปวดใช้ยาหอมเศียรสมุทร ลมที่กระทำให้มิหลับใช้ยาหอมกล่อมอารมณ์ ลมปลายไข้ใช้ยาหอมมหาเนาวรัตน์ เป็นต้น



ยาหอมไทยนั้นมีส่วนผสมของสมุนไพรนานาชนิด และด้วยสรรพคุณของสมุนไพรดังกล่าว ส่งผลต่อสรรพคุณของยาหอมใน ตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันวัตถุดิบของสมุนไพรบางชนิดหายากขึ้นทุกที อาทิ มะลิซ้อน จากสุพรรณบุรี บัวหลวงจากนครสวรรค์ มะลิลาจากนครปฐม บุนนาคจากพิษณุโลก ใบเนียมจากจันทบุรี เนื่องเพราะภาวะแห้งแล้ง คนรุ่นต่อมาไม่ทำต่อ อีกทั้งแปลงที่ใช้ทำยาไม่มีการพ่นยาฆ่าแมลง บำรุงรักษายาก

ในขณะที่การเก็บวัตถุดิบบางชนิดต้องมีความพิถีพิถัน มีความรู้เรื่องการปรุงยา เช่น ถ้าใช้ดอกไม้หอมจากต้นไม้ยืนต้น อย่างน้อยต้นต้องมีอายุเกินสิบปีขึ้นไป ดอกมะลิซ้อนต้องเก็บตอนเช้ามืดเท่านั้น สมุนไพรบางอย่างต้องผ่านการประสะฆ่าฤทธิ์ก่อนนำไปใช้ เช่น หัวบุก/รากระย่อม กวาวเครือขาว/แดง เป็นต้น



ส่วน ยาหอมหมอหวาน เป็นอีกตำรับที่สืบทอดมาจากหมอหวาน ม่วงรอด แพทย์แผนโบราณ ซึ่งสืบทอดตำรับยามากว่า 4 ชั่วอายุคน ภาสินี ญาโณทัย ทายาทของหมอหวาน กล่าวว่า ยาหอมถือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน มีคุณค่าอย่างแท้จริง โดยตำรับยาหมอหวานในปัจจุบันมี 4 ตำรับ คือ ยาหอมสุ รามฤทธิ์ มีสรรพคุณ แก้อาการใจสั่น เป็นลม บำรุงหัวใจ มีตัวยาสำคัญ คือ โสมเกาหลี พิมเสนเกล็ด อำพันทอง หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด และคุลิก่า ยาหอมอินทร โอสถ มีสรรพคุณ แก้เหนื่อย อ่อนเพลีย แก้ไอ แก้เสมหะ มีตัวยาสำคัญ คือ รากแฝกหอม อบเชยญวณ เห็ดนมเสือ หญ้าฝรั่น ชะมดเช็ด และโคโรค ยาหอมประ จักร์ มีสรรพคุณ แก้จุกเสียด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีตัวยาสำคัญ คือ โสมเกาหลี พิมเสนเกล็ด ชะมดเช็ด หญ้าฝรั่น และเหง้าขิงแห้ง ยาหอมสว่าง ภพ มีสรรพคุณ แก้อาการวิงเวียน หน้ามืด แก้ไข้ สะท้านร้อนสะท้านหนาว มีตัวยาสำคัญ คือ ใบพิมเสน พิมเสนเกล็ด หญ้าฝรั่น โสมเกาหลี และชะมดเช็ด


ในปัจจุบัน ตัวยาสำคัญบางชนิดหาได้ยากแล้ว เช่น คุลิก่า เม็ดปรวดในตัวค่าง มีฤทธิ์ช่วยขับเสลดหางวัวในคนไข้หนักใกล้สิ้นใจ ราคากิโลกรัมละ 1.2 ล้านบาท ชะมดเช็ด สารที่ขับจากตัวชะมดได้จากการใช้ไม่พันสำลีเช็ดที่ต่อมกลิ่นรอบก้นของชะมด เช็ด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีคุณสมบัติรักษากลิ่นหอม บำรุงหัวใจ และชูกำลัง อำพันทอง ของเหลวที่ขับจากท้องปลาวาฬตัวผู้หลังการผสมพันธุ์ ช่วยบำรุงกำลัง แก้เป็นลม ขับเสมหะ และเห็ดนมเสือ เห็ดที่เกิดจากน้ำนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อนที่คัดไหลลงสู่พื้นดิน เก็บได้จากป่าดิบเขา มีสรรพคุณแก้อาการเหนื่อยเพลีย แก้ไอ และบำรุงกำลัง
....................


ขั้นตอนการผลิตยาหอม
กว่าจะผลิตยาหอมใช้กันในปัจจุบัน ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ละเอียดมาก เริ่มตั้งแต่
1. เจียดยาจากแหล่งวัตถุดิบ
2. ชั่งน้ำหนักยา ตรวจสอบคุณภาพ
3. ล้างทำความสะอาด ส่วนที่มีน้ำมันหอมระเหย แยกออก
4. ตากให้แห้งแล้วอบ
5. ส่งแลบตรวจเคมีปนเปื้อน
6. บดหยาบ/บดละเอียด
7. ร่อน
8. ตรวจสอบการปนเปื้อน ครั้งที่หนึ่ง
9. ผสมน้ำกระสายยา
10. ปาดแล้วนำอบกระแจะ ให้เป็นกระแจะสุกอีก 60 วัน ๆ ละ 10 ชม.
11. อบให้แห้ง
12. บดละเอียด
13. ร่อน
14. ผสมเครื่องหอม
15. คนยาให้เข้ากันอีก 3 ชม. ด้วยมือเท่านั้น
16. ร่อนสามรอบ
17. ตรวจสอบการปนเปื้อน ครั้งที่ 2 และ
18. นำบรรจุ

ไม่มีความคิดเห็น: