หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

10 ข่าวเด่นเศรษฐกิจรอบปี 55 เตือนรัฐหาทางปิดช่องโหว่

อันดับ 1 ยอดจองรถคันแรกทะลัก

ต้องยอมรับว่านโยบาย “รถคันแรก” ของรัฐบาลปูกรรเชียง...ได้ทำให้วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต้องพลิกประวัติศาสตร์กันทีเดียว เพราะทั้งมือเก่ามือใหม่ต่างเฮโลมาขอใช้สิทธิกันกว่า 1.3 ล้านคันทีเดียว ก็...รัฐบาลลดเงินสดสำหรับการซื้อรถยนต์คันแรกให้ตั้ง 1 แสนบาท ไม่ว่าใครก็ต้องโดดเข้ามาร่วมวงด้วยทั้งนั้น

ที่สำคัญรถคันแรก...ยังผลักดันให้ยอดผลิตรถยนต์ของไทยทะลุ 2.4 ล้านคัน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ ที่อุตสาหกรรมนี้มียอดซื้อ-ยอดขาย-ยอดผลิต แบบถล่มทลาย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะยอดคืนเงินรถคันแรกมีจำนวนมากกว่า 8 หมื่นล้านบาทและมีโอกาสทะลุไปถึง 1 แสนล้านบาททีเดียว หากนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนสร้างรถไฟฟ้าจะได้ประโยชน์กับประเทศมากกว่าไม่รู้กี่เท่า

แต่ในแง่ของรัฐบาลแล้วกลับมองว่านโยบายประชานิยมชิ้นนี้ ถือเป็นประโยชน์กับประเทศเสียเหลือเกิน เพราะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศแบบตรงเป้าแถมยังช่วยส่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยไปถึงฝั่งฝันกลายเป็นผู้ผลิต 1 ใน 10 ของโลกเป็นครั้งแรก ที่สำคัญยังสามารถเรียกคะแนนคนชั้นกลางได้อีกมากทีเดียว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้าทำกล้าตัดสินใจเช่นนี้มาก่อน

ด้วยเหตุนี้จึงต้องยกให้ ’โครงการรถยนต์คันแรก“ กลายเป็นสถานการณ์ฮอตฮิตที่สุดในปี 2555 จนต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์


อันดับ 2 แฉ ''รับจำนำข้าว'' ฉาวโฉ่


โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด...เป็นอีกหนึ่งนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชูโรงเป็น “ผลงานเด่น” แข่งขันกับนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันให้แซดว่าโครงการรับจำนำข้าวนั้นใช้เงินงบประมาณมากที่สุดในบรรดานโยบายประชานิยม เพราะแค่ปีแรกรัฐบาลได้ใช้วงเงินไปมากถึง 3.3 แสนล้านบาท เพื่อรับจำนำข้าวเปลือก  21-22 ล้านตัน

นอกจากนี้ตลอดการรับจำนำ ยังเต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาวเกิดขึ้นทั้งระบบ จนกลายเป็นประเด็นร้อนอภิปรายดุเดือดกันในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เร่งสอบสวนถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็น

เริ่มตั้งแต่การทุจริตในระบบจำนำ เกิดการลักลอบนำข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเกษตรกรไทย รวมถึงการโกงความชื้นของโรงสี จนส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับจำนำไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนั้นในขั้นตอนระบายข้าว ต้องประสบปัญหาขายข้าวออกยาก เพราะราคาจำนำราคาสูงกว่าตลาดถึง 50% โดยข้าวเปลือกเจ้าสูงถึงตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาท จนกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยปีนี้ให้ตกลง จากเคยเป็นแชมป์ส่งออกที่หนึ่งของโลก ตกอยู่ที่สาม ยอดส่งเหลือแค่ 6.5 ล้านตัน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 10.6 ล้านตัน

การระบายข้าวออกยากสร้างผลกระทบต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนไปขายด้วยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) แทน แต่การขายจีทูจี ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวเลขลม มิหนำซ้ำยังมีข้อครหาว่าฮั้วขายหลอก ไม่ได้ส่งออกจริง แต่เป็นคนในและนอกประเทศสมยอมขายข้าววนเวียนในประเทศแทน จากปัญหาทั้งหมดทั้งการใช้งบประมาณมากและขายข้าวไม่ออก ส่งผลให้ประเมินว่ารัฐบาลจะขาดทุนจากการจำนำปีละเป็นแสนล้านบาท และทำให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จนเกินขีดอันตราย หากรัฐบาลยังดื้อรั้นจำนำต่อไป

อันดับ 3 กิตติรัตน์หลุดวลีเด็ด ''ไวท์ไลน์''

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้กล่าวในการสัมมนา 1 ปี ยิ่งลักษณ์กับอนาคตเศรษฐกิจไทย ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยยอมรับว่าการที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออก 15% ทั้งที่ทำไม่ได้จริง .. ทำให้มีคำถามว่าทำไม่ได้และตั้งเป้าหมายไว้ทำไม จึงอยากชี้แจงว่าในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับอนุญาต ให้พูดไม่จริงในบางเรื่อง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “White lie” ที่แปลว่าโกหกสีขาว

ด้วยวลีเด็ดในครั้งนี้ทำให้รองนายกฯโต้งกลายเป็น ’เป้า“ โจมตีทันทีโดยมีการตั้งกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านในวันที่ 13 ก.ย. และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง เพราะถือว่า รองนายกฯโต้ง เป็นถึงหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองเพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ได้ออกมา

ยอมรับว่าต้องโกหกเพราะทำไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในฝีมือการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ตัวของรองนายกฯโต้งก็ยืนยันว่า ตัวเองไม่โกหก ไม่เคยโกหก และไม่ประสงค์โกหก

อันดับ 4 พิษค่าแรงเปิดศึกประธาน สอท.

อีกหนึ่งนโยบาย...ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่สร้างคะแนนเสียงให้รัฐบาลแบบถล่มทลาย และไม่มีวันยอมถอยแม้จะมีเสียงเรียกร้องจากเอกชนมากเท่าใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุความปั่นป่วนแบบไม่น่าเชื่อกับองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เกิดศึกไล่ “ประธาน” ออกจากตำแหน่งเพราะไม่พอใจผลงานที่ไม่สามารถต่อรองให้รัฐบาลชะลอนโยบายค่าแรง 300 บาท ออกไปก่อน

แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง...เพราะเหตุผลกลในที่แท้จริงเป็นที่รู้กันอยู่ว่ามี ’เรื่องอื่น” เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าได้ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ขึ้นในส.อ.ท.ที่ดำเนินการมาเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ต้องแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายโดยกลุ่มตัวแทนของบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจาก 300 บาทมากนัก กับตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดที่เดือดร้อนอย่างหนักกับค่าจ้างที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนี้แม้ทำให้ใครหลายคนมองว่าเป็นเรื่อง “ตลก” ของภาคเอกชน เพราะแทนที่จะช่วยกันเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนแก่สมาชิกในองค์กรแต่กลับพบว่าภายในองค์กรกลับเกิดความแตกแยกซะเองโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องการให้ “พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธาน ส.อ.ท. ออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถแสดงบทบาทในฐานะของประธานได้อย่างเต็มที่

แต่สุดท้าย...จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน

อันดับ 5 ผู้นำ 2 บิ๊กโลก เยือนไทย

อีกหนึ่งสถานการณ์สำคัญในปีมะโรงที่ผ่านมา คือเรื่องราวของผู้นำโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยและเลือกเดินทางมาเยือนแม้ว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นเพียงการแวะเยี่ยมก่อนเดินทางไปร่วมประชุมที่ประเทศกัมพูชา...ก็ตาม แต่ผลของการเดินทางเยือนของทั้ง 2 ผู้นำ ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก

เริ่มจาก ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา“บารัค โอบามา” ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรก เมื่อกลางเดือนพ.ย. 55 หลังจากได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้มีหัวข้อที่เกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การขอให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ทำให้เกิดประเด็นให้ตามกันต่ออย่างร้อนแรง โดยเฉพาะข้อดี-ข้อเสีย หากไทยจะเข้าร่วมในข้อตกลงนี้

ถัดจากนั้นมาไม่กี่วัน...ผู้นำของชาติมหาอำนาจอีกฝั่งโลก คือ “เหวิน  เจียเป่า” นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสาระในการเยือนไทยในครั้งนี้ ทางไทยและจีนได้หารือแบบทวิภาคี ก่อนประกาศความร่วมมือได้ลงนามความตกลงและเอกสารความร่วมมือไทย-จีน รวม 4 ฉบับ เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา การค้าข้าว การกระชับความสัมพันธ์ และการโอนตัวผู้ต้องโทษผู้พิพากษา ยังสนใจเรื่องลงทุนในไทยด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

อันดับ 6 โครงการประชานิยมสร้างหนี้พุ่ง

ผลงานหลังเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับนโยบายประชานิยมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและกระตุ้นการใช้จ่ายเงินหวังให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต โดยหลายคนหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันมาในเรื่องของนโยบายประชานิยมที่จะสร้างหนี้ แม้แต่สถาบันจัดอันดับของต่างประเทศเองก็พร้อมจะปรับลดเครดิตของประเทศไทยลงทันที หากผลพวงของนโยบายประชานิยมทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ต.ค. 55 มีจำนวนกว่า 4.82 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43.27% ของจีดีพี ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือ สบน.ได้ประมาณการว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะสูงสุดในปี 59 ที่ระดับ 49.9% ของจีดีพี ซึ่งเป็นหนี้ที่รวมเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำและการกู้เงินเพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว

เชื่อแน่ว่า...ณ จุดนี้ รัฐบาลต้องพยายามเดินเครื่องทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะยิ่งเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นเท่าใด จะยิ่งทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดน้อยลงมากเท่านั้น ซึ่งเป็นเทคนิคของคณิตศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า...ทำไมรัฐบาลจึงเร่งบู๊ทเศรษฐกิจให้โตมากขึ้น เพราะนั่นหมายความว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะน้อยลงตามไปด้วย

อันดับ 7 ช็อก...พี.ซี.แอร์ ทิ้งผู้โดยสาร


“พีซีแอร์” หยุดบินลูกทัวร์ตกค้างวุ่นกลายเป็นหัวข่าวตามสื่อทุกแขนง จนสร้างความร้อนระอุให้กับแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่เรียกได้ว่าแทบไม่เคยได้ยินสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่สายการบินพีซีแอร์ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้อีกหนึ่งเรื่อง โดยค้างค่าธรรมเนียมกับสนามบินในเกาหลี จนเป็นเรื่องเป็นราวถูกระงับไม่ให้บินกลับไทย เดือดร้อนถึงลูกทัวร์ทั้งหลายที่เดินทางไปเกาหลีกับบริษัททัวร์ที่ใช้บริการพีซีแอร์ แม้ว่าสุดท้ายแล้วสายการบินจะจัดการปัญหาได้ โดยหยุดบินชั่วขณะ จัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง ลูกค้าที่ตกค้างในไทยและเกาหลีจนเรียบร้อย แต่ปัญหาที่ตามมายังไม่จบ เพราะบริษัททัวร์บางส่วนได้สำรองค่าใช้จ่ายให้ลูกทัวร์ที่เดือดร้อนจากการตกค้างในเกาหลี รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายเปลี่ยนสายการบินให้ลูกค้า ซึ่งขณะนี้ก็ยังเรียกร้องค่าเสียหายกับพีซีแอร์กันอยู่

นอกจากนี้ยังมีลูกทัวร์บางรายที่ต้องรับกรรม เพราะบริษัททัวร์บางบริษัทไม่ได้ช่วยออกค่าใช้จ่าย หรือรับผิดชอบอะไรจากกรณีนี้ทั้งสิ้น โดยอ้างว่า เป็นความผิดของพีซีแอร์ ไม่ได้ผิดที่ทัวร์ ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัวมากว่าหากเกิดปัญหาแบบนี้อีกในอนาคตจะทำเช่นไร เพราะบริษัททัวร์ก็นิยมใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟลต์) จัดทัวร์ไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนการทำทัวร์

งานนี้จึงต้องรอดูภาครัฐว่า จะวางมาตรฐานอะไรไว้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากรมการท่องเที่ยวระบุว่าจะเจรจากับกรมการบินพลเรือน ขอให้วางกฎเกณฑ์กำกับดูแลชาร์เตอร์ไฟลต์ระหว่างประเทศ ในการดูแลนักท่องเที่ยวกรณีเกิดปัญหา แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมา เงียบหายไปพร้อมกับข่าวคราวพีซีแอร์ที่หยุดบินไป

อันดับ 8 เสริมสุขปิดตำนาน ''เป๊ปซี่''

ไม่เพียงแต่เรื่องราวจากนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ในแง่ของภาคเอกชนเองก็มีเรื่องราวที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับไทยด้วยเช่นกัน เมื่อ “เป๊ปซี่” และ “เสริมสุข” ได้ประกาศยกเลิกการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานถึง 50 ปีทีเดียว หลังจากที่ เป๊ปซี่ ต้องการซื้อกิจการของเสริมสุข เพื่อทำหน้าที่บริหารธุรกิจน้ำดำในไทยเองทั้งหมด ตามนโยบายของบริษัทแม่ในสหรัฐ

แต่งานนี้ค่ายเสริมสุข ไม่ตอบตกลงและยอมจบการเป็นพันธมิตรระหว่างกันเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับปล่อย “เอส โคล่า” มาสู้กับเป๊ปซี่ทันที ด้วยการใช้งบการตลาดกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อสร้างแบรนด์พร้อมประกาศลั่นการันตีภายใน 3 ปีจะครองตลาดน้ำอัดลมในไทย ฟาก “เป๊ปซี่” ก็ไม่น้อยหน้าประกาศเดินหน้าลงทุนใหญ่ 18,400 ล้านบาทในช่วง 3 ปีเช่นกัน ทั้งสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง พื้นที่ 96 ไร่ เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมขนาดใหญ่สุดในโลก งบที่เหลือทำการตลาด พัฒนาบุคลากร รวมทั้ง ประกาศเลิก ขวดแก้ว เข้ามาทำตลาด ใช้เป็นขวด พีอีที แทน และย้ำกระแสคนรุ่นใหม่ใช้ขวด พีอีที มากกว่า ขวดแก้ว ด้วย พร้อมมั่นใจ ยังไงเป๊ปซี่ จะเป็นผู้นำในตลาด น้ำอัดลมสีดำของไทยต่อไป ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50%

การตัดสัมพันธ์กันครั้งนี้ถือเป็นการปิดตำนานเสริมสุข-เป๊ปซี่แบบถาวร แต่หลังจากนี้ต้องมาดูการแข่งขันของทั้ง 2 ค่ายว่าจะร้อนระอุและสามารถถึงจุดหมายได้มากน้อยอย่างไรต่อไป

ส่วนคู่แข่ง อย่าง ’โค้ก“ ที่เป็นผู้นำในตลาด น้ำอัดลมไทย ก็ใช้งบการตลาดตลอดปีกว่า 600 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 63 ปี และเดินหน้าแจกโค้ก ทั่วประเทศ 1 ล้านขวดด้วย ยืนยัน โค้กก็จะเป็นผู้นำในตลาดน้ำอัดลมไทยต่อไป เรื่องนี้ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด !!! ทุกแบรนด์ต่างประกาศขอเป็นที่หนึ่งในไทยทั้งหมด แต่ใครจะมาที่หนึ่งและสามารถเอาใจคนไทยกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศได้

อันดับ 9 เสียชื่อไฟดับทั่วเกาะสมุย

กลายเป็นข่าวดังรับไฮซีซั่น หลังแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตทั้งของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ อย่างเกาะสมุยและเกาะพงัน ไฟฟ้าดับทั้งเมือง หลังสายเคเบิลใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 240 ตารางมิลลิเมตร ระเบิดที่จุดต่อสายพังกา อ.เกาะสมุย ซึ่งเริ่มเจอปัญหามึดสนิททั้งเมืองตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.จนกระทั่งเพิ่งมีไฟใช้กันวันที่ 7 ธ.ค. ในช่วงเช้าตรู่ งานนี้เดือดร้อนไปทั่วทั้งเกาะ โดยผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในเกาะสมุยได้พากันไปกว้านซื้อน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันทุกแห่งในเกาะสมุย เพื่อสำรองเครื่องปั่นไฟบริการนักท่องเที่ยว ขณะที่ปั๊มน้ำมันหลายแห่งน้ำมันหมดไม่เพียงพอกับความต้องการ และได้สร้างความโกลาหลเป็นอย่างมาก

ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทยอยเดินทางกลับโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเต็มทุกเที่ยวบิน ทำให้บริเวณสนามบินเกาะสมุยแน่นขนัด อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อันดับ 10 ทีวีจอดำรับศึกบอลยูโร

กลายเป็นประวัติศาสตร์ของ “คอบอล” คนไทยอีกเช่นกันที่ตลอดปี 55 ปัญหาจอดำถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกกลายเป็นโรคฮิตระบาดมาตลอดทั้งปี เกิดจากเจ้าของลิขสิทธิ์บอกว่าดูได้เฉพาะเสาอากาศเท่านั้น เพราะหากปล่อยสัญญาณผ่านดาวเทียมจะเป็น

การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ได้รับมา ปมขัดแย้งนี้ร้อนถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องโดดมาเคลียร์ แต่ปัญหาจอดำยังมีถึงทุกวันนี้ เพราะปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และผู้ซื้อลิขสิทธิ์ภาคเอกชนจากไทยไม่สามารถกำหนดเองได้ โดยเฉพาะการเปิดให้จานดาวเทียมรับสัญญาณ เพราะจะทำให้สัญญาณรั่วไหลไปประเทศอื่น จนเจ้าของลิขสิทธิ์เสียผลประโยชน์ และถึงวันนี้ปัญหา จอดำ ยังไม่มีทีท่าได้รับการแก้ไข

ทีมเศรษฐกิจ
เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: