หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

น้ำท่วม

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ นับแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2539 ที่ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์

สาเหตุที่กรุงเทพฯ ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด เป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายอ่าวไทย ด้วยเหตุนี้กรุงเทพฯในอดีตจึงมากไปด้วยคูคลอง จนไดรับการเรียกขานกันว่าเป็น "เวนิชตะวันออก"

แต่เมื่อความเจริญเติบโตถาโถมเข้าสู่กรุงเทพฯ เมืองจำเป็นต้องขยายตัว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนและถมพื้นที่จาก บึง สระ คู คลอง ให้กลายสภาพเป็นถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จึงทำให้กรุงเทพฯระบายน้ำได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่สำคัญคือ น้ำฝนที่ตกลงมาในปริมาณที่มากเกินไป เมื่อน้ำเหนือไหลหลาก น้ำทะเลจะหนุน และแผ่นดินทรุดตัว ด้วยเหตุนี้กรุงเทพฯจึงประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด
เพียงแต่ว่าปัญหาน้ำท่วมในอดีต กับปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันนั้นแตกต่างกันออกไป เพราะบ้านเมืองเปลี่ยนไป และวิถีชีวิตผู้คนในกรงเทพฯก็เปลี่ยนไป

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันก็มีดังนี้


น้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็ง พ.ศ.2328 ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จนั้นเอง ได้เกิดอุกทกภัยครั้งใหญ่ ปรากฏว่าระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว

น้ำท่วมเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2362 ในรัชกาลที่ 2 ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2374 ในรัชกาลที่ 3 คราวนี้น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง

น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ในรัชกาลที่ 4 และเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2410 อีกคราวหนึ่งแต่เสียหายไม่มาก เพียงท่วมภายนอกกำแพงพระราชวังเท่านั้น

น้ำท่วมเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2422 ในรัชกาลที่ 5 น้ำท่วมเพียงประตูพิมานไชยศรี

น้ำท่วม พ.ศ. 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้าถึงกับมีการแข่งเรือกันได้

น้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี พ.ศ.2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่
น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำตลอดแนว โดยวัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

น้ำท่วม พ.ศ.2518 เนื่องจากพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร

น้ำท่วม พ.ศ. 2521 เกิดจากพายุ 2 ลูก คือ "เบส" และ "คิท" พาดผ่าน ขณะเดียวกันมีปริมาณน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร

น้ำท่วม พ.ศ. 2523  เกิดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ 2.00 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วง 4 วัน สูงถึง 200 มม. ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

น้ำท่วม พ.ศ. 2526 น้ำท่วมในปีนี้มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม โดยวัดปริมาณฝนตลอดทั้งปีได้ 2119 มม.

น้ำท่วม พ.ศ. 2529 ได้เกิดฝนตกหนักมากและตกติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 8 - 10 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากได้มีพายุจรนำฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีฝนตก 254 มม. ที่กรมอุตุนิยมวิทยา(บางกะปิ) และ 273 มม. ที่เขตราษฎร์บูรณะ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในบางพื้นที่

น้ำท่วม พ.ศ. 2533 ในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน "อีรา" และ "โลล่า" พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกหนักที่กรุงเทพมหานครถึง 617 มม.

น้ำท่วม พ.ศ. 2537 ได้เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนได้มากที่สุด คือ เขตยานนาวาได้ 457.6 มม. โดยเฉลี่ยในทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกได้ว่าเป็น "ฝนพันปี" ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วกรุงเทพมหานคร

น้ำท่วม พ.ศ. 2538 มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ "โอลิส" ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์(เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 ) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50 - 100 ซ.ม.

น้ำท่วม พ.ศ. 2539 มีระยะเวลาท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน -ธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพียงน้ำท่วมขังในเวลาไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ

น้ำท่วม พ.ศ. 2541 น้ำท่วมเกิดจากฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วัดน้ำฝนได้สูงสุดที่สถานีดับเพลิงพญาไท 2451 มม. จุดที่น้ำในถนนแห้งช้าที่สุดที่ถนนประชาสงเคราะห์(จากแยกดินแดงยาวตลอดสาย) เขตดินแดงท่วมสูง 20 ซม. นาน 19 ชม. โดยท่วมสูงสุดที่ถนนเพลินจิต และถนนราชดำริ เขตปทุมวัน ท่วมสูง 20 - 40 ซม. นาน 11 ชม.


หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก หนังสือ“เหตุการน์น้ำท่วม พ.ส.2485” ของ “กระซวงมหาดไทย” และจาก “ข้อมูลสถิติน้ำท่วมสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร”

ที่มา : Travel@Manager Online


ย้อนอดีตน้ำท่วม พ.ศ.2485 เด็กสนุก ผู้ใหญ่ทุกข์ใจ

น้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ทำให้ประชาชนต่างต่างออกมาพายเรือกันอย่างคึกคักที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

"...ด้วยปรากตว่า ฝนตอนต้นรึดูพุทธสักราช 2485 ตกมากทางภาคพายัพและภาคอิสาน เปนเหตไห้น้ำท่วมเรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนราสดรทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอิสาน ไนระหว่างเดือนกันยายน ตุลาคม และพรึสจิกายน เปนอุทกภัยครั้งสำคันไนประวัติการน์น้ำท่วมของเมืองไทยที่ทำความเสียหายไห้แก่ประชาชนพลเมืองเปนหย่างมาก..."

ส่วนหนึ่งของบทนำในหนังสือ "เหตุการน์น้ำท่วม พ.ส.2485" ของ กระซวงมหาดไทย (ภาษาที่ใช้เป็นภาษาตามต้นฉบับของหนังสือ ซึ่งเป็นภาษาไทยที่ใช้กันในสมัยนั้น)

จากข้อความข้างต้นในหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำการบันทึกไว้ ได้บ่งบอกให้เห็นว่าปี พ.ศ. 2485 นับเป็นหนึ่งในปีแห่งประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ปรากฏอยู่ตามบันทึกและเอกสารต่างๆ มากมาย โดยอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 นั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อครั้งที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


สถานการณ์ตอนนั้นน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปิง วัง ยม น่าน ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง และทางภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นปีหนึ่งที่มีน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์

สำหรับกรุงเทพฯ เมืองที่มีชัยภูมิเอื้อต่อการถูกน้ำท่วม แน่นอนว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2485 ได้เปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร (ของคนยุคนั้น) ให้กลายเป็นทะเล (น้ำจืด) ขนาดใหญ่ ที่ในหลายๆ พื้นที่มีคนนำเรือออกมาพายกันเป็นทิวแถว

ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ในครั้งนั้น คนที่มีอายุในวัยหลัก 7 หลายคนๆ ยังจำได้ดี เพราะในขณะที่ผู้ใหญ่ (สมัยนั้นที่ปัจจุบันต่างก็อำลาโลกไปกันหมดแล้ว) หลายๆ คนรู้สึกเป็นทุกข์และเดือดร้อนกับน้ำท่วม แต่ว่าพวกเขาที่ช่วงนั้นอยู่ในวัยเด็กกลับรู้สึกสนุกต่อการออกพายเรือเล่นน้ำ และทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำอีกสารพัดอย่าง
น้ำท่วมปี 2485 ทำให้ถนนราชดำเนินกลายเป็นทะเลสาบไปโดยปริยาย

รำลึกความหลังเมื่อครั้งน้ำท่วมปี 2485

"ในสมัยก่อนน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เป็นฤดูกาลที่แน่นอน คือเมื่อฝนตกทางเหนือมากน้ำก็จะหลากลงมา สมัยนั้นยังไม่มีเขื่อน พอน้ำไหลโกรกลงมากรุงเทพฯ ก็ถูกน้ำท่วมเป็นธรรมดา เพราะกรุงเทพฯ มันเป็นที่ต่ำ มันเป็นแอ่งน้ำ เป็นก้นกระทะของประเทศ เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯจะถูกน้ำท่วมทุกปี โบราณเขาถึงได้บอกว่าเดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง"

ลุงจุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ วัย 72 ปี หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2485 ที่ในปีนั้นลุงจุลทรรศน์เพิ่งมีอายุได้ 9 ขวบ เล่าให้ฟังก่อนที่จะอธิบายเพิ่มว่า ทุกๆ ปีพอน้ำเหนือไหลมาปริมาณน้ำในกรุงเทพฯ จะค่อยๆ ท่วมขึ้นทีละน้อย เมื่อพอสูงขึ้นจนสังเกตเห็นคนกรุงเทพฯ ก็จะรีบขนของย้ายหนีขึ้นที่สูง และส่วนใหญ่ก็จะหนีกันทัน

"ในสมัยนั้นแต่ละบ้านจะมีเรือบดอยู่ พอน้ำเริ่มมาก็เอาเรือออกมาซ้อมด้วยการยาให้หายรั่วก่อนที่จะนำออกมาใช้"

"บ้านใครที่อยู่ใกล้คลองต้องมีเรือ ที่บ้านผมมีคลอง หลังบ้านเป็นคลองทะลุคลองผดุงกรุงเกษมต้องใช้เรือสัญจรไปมาเพราะต้องไปหาพี่น้องที่อยู่ท้องนา พอหน้าข้าวเราพายเรือไปบรรทุกข้าวมากิน" ลุงจุลทรรศน์เล่าอดีต ที่ปัจจุบันบรรยากาศเช่นนั้นได้เลือนหายไปจากกรุงเทพฯ นานแล้ว

ถึงแม้ว่ากรุงเทพฯ จะคุ้นเคยกับเหตุการณ์น้ำท่วม และถูกน้ำท่วม (ในปริมาณไม่มาก) แทบทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลากจนกลายเป็นเรื่องปกติของคนยุคนั้น แต่ว่ากลับเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2485 กลับแตกต่างออกไป เพราะถึงแม้ว่าก่อนที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ กองอุตุนิยมวิทยาจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าทางวิทยุกระจายเสียง แต่ว่าด้วยความที่น้ำเหนือหลากมามาก และฝนยังตกติดต่อกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน กรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่รับน้ำจึงถูกน้ำท่วม (หนัก) เป็นเวลาร่วม 3 เดือน (ก.ย.–พ.ย.) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อนุสาวรีย์ชัยฯ ก็กลายเป็นทะเลสาบเช่นกันในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2485

โดยในหนังสือ "เหตุการน์น้ำท่วม พ.ส.2485" ได้บันทึกวันที่น้ำท่วมสูงสุดไว้ในบทที่ 1 หมวดข้อความทั่วไปว่า

...ไนตอนปลายเดือนกันยายน พ.ส. 2485 ระดับน้ำไนแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเปนลำดับ ทั้งนี้วัดจากระดับน้ำที่กองรังวัดที่ดิน กรมที่ดิน เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า น้ำเริ่มท่วมล้นฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม มีระดับน้ำสูงสุด 2.27 เมตร แล้วก็ลดลงโดยลำดับจนแห้งไปหมดราวกลางเดือนพรึสจิกายน...

"ปี 2485 น้ำท่วมกรุงเทพฯ เจิ่งนองไปหมด เอาง่ายๆ ว่าลานพระบรมรูปทรงม้าเราสามารถแจวเรือไปได้สบาย ปีนั้นระดับน้ำบางวันท่วมเลยหัวเข่า ส่วนบางวันก็ท่วมถึงเอว ไปไหนมาไหนก็ต้องใช้เรือ สมัยนั้นไม่มีเขื่อนอย่างสมัยนี้น้ำก็เลยท่วมทุกปี" ลุงจุลทรรศน์หวนรำลึกความหลัง

สำหรับถนนหนทางของกรุงเทพฯ ในยุคนั้นแม้ว่ารถยนต์จะวิ่งไม่ได้ แต่ว่าในถนนบางสายที่น้ำท่วมไม่มากก็ยังคงมีรถรางและรถยนต์ประจำทางสัญจรบ้าง ส่วนบริเวณไหนที่น้ำท่วมสูงถึงระดับเข่าประชาชนต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะแทน โดยกรุงเทพฯ ในตอนนั้นกลายเป็นท้องทะเลน้อยๆ ไปโดยปริยาย แน่นอนว่าช่วงแรกๆ ที่น้ำเริ่มท่วมกรุงเทพฯ โกลาหลกันมาก เพราะทั้งรถทั้งเรือต่างแล่นสวนกันไปมาบนถนนขวักไขว่ไปหมด แต่เมื่อปริมาณน้ำมากขึ้นรถยนต์ส่วนตัว รถลาก รถม้า หรือสามล้อรับจ้างก็เริ่มหายไป เหลือเพียงแต่เรือพายไปมาตามท้องถนนที่เต็มไปด้วยน้ำ

เมื่อน้ำท่วมประชาชนหันเปลี่ยนมาใช้เรือสัญจรไปไหนมาไหนแทน

ลุงประพิมพ์ อิศรเสนา อายุ 78 ปี ที่เป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งในปี 2485 ลุงประพิมพ์มีอายุ 15 ปี รำลึกภาพในยุคนั้นให้ฟังว่า

"กรุงเทพฯ ช่วงนั้นมองไปทางไหนก็เห็นแต่ท้องน้ำ ที่ถนนพระอาทิตย์ (บริเวณบ้าน) ของลุงประพิมพ์เดินไม่ได้เลย ต้องใช้เรือสัญจรไปมา บางคนก็ถือโอกาสหารายได้ด้วยการรับจ้างเข็นเรือ เวลาจะไปไหนมาไหนต้องใช้เรืออย่างเดียวเพราะรถวิ่งไม่ได้ โดยช่วงแรกๆ เห็นคนลำบากกันมาก ไปไหนมาไหนไม่ได้เพราะเป็นอุปสรรคในการเดินทาง แต่เมื่อเกิดขึ้นนานเราก็เริ่มปรับสภาพได้ และหาทางไปใช้เรือแทน"

ส่วนลุงจุลทรรศน์ได้เล่าเสริมว่า แม้ว่าน้ำจะท่วมแต่ว่าก็ยังมีคนเอาของมาขาย ข้าวสารก็ยังไม่แพงมาก ส่วนคนกรุงเทพฯ สมัยนั้นก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมได้ เพราะว่าที่ผ่านมามีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมาตลอด พอถึงหน้าน้ำก็จะมีการเตรียมเสบียงพวกข้าวสาร อาหารแห้ง ปลาเค็ม ปลาแห้ง เอาไว้กินที่บ้าน ไม่เหมือนกับทุกวันนี้

นอกจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2485 จะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมืองเป็นอย่างมากแล้ว ในช่วงนั้นเมืองไทยยังต้องประสบกับสภาวะคับขัน เพราะต้องร่วมทำสงครามมหาเอเชียบูรพา ด้วยสาเหตุนี้จึงมีคนบันทึกเหตุการณ์ปี 2485 เอาไว้ว่าเป็นปีที่ "ถึงแก่ทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง"

ลุงประพิมพ์ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2485
น้ำท่วม 2485 ผู้ใหญ่ทุกข์ เด็กๆ สนุกเพลิดเพลิน
ในขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2485 สร้างความเดือดร้อนและความยากลำบากให้กับประชาชนทั่วไป แต่ว่าส่วนใหญ่ก็เป็นความยากลำบากทุกข์ใจที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใหญ่ แต่ว่ากับเด็กๆ (ในยุคนั้น) หลายๆ คนกับรู้สึกแตกต่าง เพราะเมื่อนานๆ เข้าน้ำจะท่วมสูงถึงระดับที่สามารถลงแหวกว่ายและพายเรือได้ พวกเขาจึงใช้ช่วงเวลานี้เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

"โอ้ย...น้ำท่วมปีนั้นนะรึ ไม่รู้สึกเดือดร้อนเลย แต่กลับรู้สึกสนุกสนานมากกว่า เพราะช่วงนั้นยังเป็นเด็ก (อายุ 15 ปี) พอน้ำท่วมสามารถพายเรือได้ใครมีเรือบดสักลำถือว่าโก้มาก เพราะจะได้พายเรือพาสาวๆ ไปเที่ยว ตอนนั้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หน้ารัฐสภา น้ำท่วมมิดหัวเลย ไม่สามารถยืนได้ ส่วนเราก็พายเรือเล่นไปทั่วลานพระบรมรูปเพราะในตอนนั้นบรรยากาศเหมือนทะเลสาบมาก มีคนไปพายเรือเล่นกันเยอะมาก" ลุงประพิมพ์รำลึกอดีตในวัยเด็กช่วงที่น้ำท่วมใหญ่

เช่นเดียวกับลุงจุลทรรศน์ที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2485 ก็รู้สึกสนุกไม่แตกต่างไปจากลุงประพิมพ์

"ช่วงนั้นบ้านลุงอยู่แถวนางเลิ้ง พอน้ำท่วมโรงเรียนต่างก็ปิดหมด ไม่ได้ไปโรงเรียน ทีนี้ก็ถือโอกาสเล่นน้ำกันสนุกเลย เวลาเราพายเรือออกไปเจอเพื่อนฝูงก็จะมาแข่งพายเรือกันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้พอน้ำมา ปลาก็มาตามน้ำ พอปลามาเราก็ออกไปตกปลากัน เด็กๆ ตกปลา ส่วนผู้ใหญ่ก็เอาแหไปทอด ช่วงนั้นมีปลาเยอะมาก โดยเฉพาะปลาหมอนี่เยอะจริงๆ ตกกันไม่หวาดไม่ไหว เราเป็นเด็กเราก็สนุกไปตามประสา ได้เที่ยวได้เล่นน้ำ เพราะตอนนั้นกรุงเทพฯ น้ำสะอาด ไม่เหมือนสมัยนี้" ลุงจุลทรรศน์กล่าวถึงอดีตอย่างสนุกสนาน ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องสนุกๆ ต่ออีกเรื่องหนึ่งว่า

"สมัยนั้นที่บริเวณสะพานพุทธน้ำจะท่วมเยอะมาก แล้วก็เกิดเรื่องขำๆ ขึ้น พอน้ำท่วมน้ำก็ลบแผ่นดินหายหมด มองไม่เห็นว่าตรงไหนเป็นแม่น้ำตรงไหนเป็นถนน เพราะเป็นน้ำเท่ากันหมด ทีนี้ก็เกิดเหตุการณ์รถกับเรือชนกันออกบ่อย แล้วใครเล่าจะไปคิดว่ารถกับเรือมันชนกันได้ยังไง ตอนนั้นที่ลุงเจอคือรถสามล้อกำลังขับมา แล้วจู่ๆ ไอ้เรือแทกซี่มันก็วิ่งมาจากไหนไม่รู้วิ่งมาชนกับสามล้อเข้า แต่ว่าไม่อันตรายเพราะชนกันไม่แรง เรื่องนี้หนังสือพิมพ์ยังลงเลย คนในยุคนั้นถือเป็นเรื่องสนุกๆ"

นอกจากนี้ลุงจุลทรรศน์ยังเล่าอีกว่า ถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมแต่โรงภาพยนตร์บางโรงก็ยังคงเปิดฉายกันอยู่ โดยคนดูก็ไม่ย่อท้อ ลงทุนนั่งยองๆ บนเก้ายาวดูภาพยนตร์

เหตุการณ์น้ำท่วมกทม.ปี 2539

และถึงแม้ว่ากรุงเทพฯ จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง ตั้งแต่ก่อนปี 2485 และในยุคหลังปี 2485 ที่ก็ยังคงมีน้ำท่วมอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ใน พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2539 แต่ว่าไม่มีครั้งไหนๆที่น้ำท่วมเป็นระยะเวลานานและท่วมมากเท่าเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2485 ซึ่งลุงจุลทรรศน์และคุณลุงประพิมพ์ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่เกิดมาปี 2485 ถือว่าเป็นปีที่มีน้ำท่วมหนักและยาวนานมากที่สุด

"แต่ว่าคนไทยสมัยก่อนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่กับน้ำ พอเกิดน้ำท่วมชีวิตก็ยังคงเป็นปกติ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่พอฝนตกหนักได้พักใหญ่น้ำก็ท่วมนอง แล้วรถก็ติด คนก็เดือดร้อนกันแล้ว" ลุงจุลทรรศน์เล่าเพิ่มเติม

กรุงเทพฯยุคนี้หากเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมถือว่าเป็นภาวะที่หนักหนาสาหัสนัก

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2485 แม้ว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ แต่ว่าด้วยความที่คนไทยยุคนั้นมีชีวิตคุ้นเคยและผูกพันกับสายน้ำ พวกเขาจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ว่ามาในวันนี้ หากกรุงเทพฯ ยุคโลกาภิวัตน์เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ดังเช่นปี 2485 กรุงเทพฯ ยุคนี้ พ.ศ.นี้จะเป็นเช่นใด???

หมายเหตุ : ภาพน้ำท่วมในอดีตจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ที่มา : Travel@Manager

ไม่มีความคิดเห็น: