หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

น้ำท่วมกรุงเทพ

ระวัง ! กรุงเทพฯ จมน้ำ จาก สิงหาคม ถึง พฤศจิกายน 4 เดือนอันตราย

ภัยธรรมชาติปีนี้ดูน่ากลัวและรุนแรงกว่าทุกปี หลายประเทศทั่วโลกทั้งยุโรป อเมริกา ต่างประสบภาวะภัยพิบัติกันถ้วนหน้า ทั้งน้ำท่วม พายุถล่ม คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่เอเชียก็เพิ่งเผชิญกับภัยพิบัติครั้งรุนแรงจากพายุไซโคลนนาร์กีส หรือจีนเองก็สูญเสียอย่างหนักจากแผ่นดินไหวถึงน้ำท่วม

ประเทศไทยเอง หลังโศกนาฏกรรม สึนามิที่ภาคใต้ มีความพยายามรับมือหายนะจากภัยธรรมชาติไม่มากก็น้อย แต่ไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่า เหตุการณ์ สึนามิจะเป็นการสูญเสียครั้งสุดท้าย ?


ก่อนหน้านี้ นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เจ้าของคำทำนายเตือนภัยพิบัติจากสึนามิ ออกทำนายรอบใหม่ว่า อีกไม่นานน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ !!!

คำถามคือ ถ้าเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางของการบริหารราชการและ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศไทย จมน้ำสัก 2-3 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น ?

จากบทวิเคราะห์ล่าสุดของนายสมิทธชี้ว่า ปลายปีนี้อาจเกิดสภาวะน้ำท่วมขังในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล จากอิทธิพลของการเกิดฝนตกหนัก น้ำเหนือไหลผ่าน และน้ำทะเลหนุน และจากอิทธิพลของการเกิดพายุเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่บริเวณจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย และบริเวณพื้นที่ของกรุงเทพฯและ ปริมณฑล

นอกจากนี้ยังมีลักษณะน้ำทะเลระดับสูงไหลทะลักในลักษณะ storm surge เข้ามาในปากแม่น้ำสำคัญของกรุงเทพฯและ จังหวัดใกล้เคียง เป็นเหตุให้พื้นที่ลุ่มส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯและปริมณฑลมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง และมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

ฉะนั้นที่จะหนักในปีนี้ก็คือ storm surge หมายถึงการที่ระดับน้ำมากับพายุตรงและเคลื่อนตัวมาถึงก้นอ่าวไทย อาจจะทำให้ระดับน้ำตรงก้นพายุสูงขึ้น คล้ายกับการเกิดพายุไซโคลนนาร์กีสที่พัดถล่มประเทศพม่า

"ที่พวกเราตื่นเต้นและเป็นห่วงกันมาก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา หรือที่อินเดียก็น้ำท่วม ด้วยสภาพที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นก็จะมีไอระเหยไปรวมกับอากาศที่อยู่รอบข้าง ก็กลายเป็นลมและไหลมาเป็นพายุ ก็จะทำให้มีอันตราย

อย่างนาร์กีส ตอนเกิดใหม่ๆ ความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ตอนขึ้นฝั่งถล่มพม่ามีความเร็วถึง 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง นักอุตุนิยมวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มสงสัยและกังวลกันว่า พายุไซโคลนที่มีมาในมหาสมุทรอินเดียไม่เคยรุนแรงแบบนี้มาก่อนเหมือนอย่างนาร์กีส นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์กันว่า ปีนี้การเกิดพายุในมหาสมุทรอินเดีย หรือมหาสมุทรแปซิฟิกก็ดี ประเทศที่ติดชายฝั่งจะได้รับผลกระทบไปด้วย



อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเล่าว่า ช่วงนี้หากดูสถิติพายุเขตร้อนที่เคลื่อนตัว เข้าสู่ประเทศไทย ก็พบว่าประเทศไทยจะเริ่มได้ผลกระทบตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม เดือนสิงหาคมจะมีพายุพัดผ่าน 19 ลูก กันยายน 45 ลูก ตุลาคม 49 ลูก และพฤศจิกายน 30 ลูก

"4 เดือนนี้ผมถึงบอกว่า ประเทศไทยเราจะมีผลกระทบจากพายุในปีนี้ โอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯอยู่ใน 4 เดือนนี้ ทุกคนก็แตกตื่น ก็ด่าผม แล้วก็มีคนแย้งว่าน้ำก็ท่วมทุกปี แต่ผมบอกว่า ถ้าท่วมอย่างที่เคยเป็นมา วันสองวันน้ำลด ก็ดี แต่นี่ถ้าคล้ายลักษณะพายุนาร์กีส มันจะท่วมเป็นอาทิตย์ ไม่ได้ท่วมแค่วันหรือ 2 วัน แล้วมันก็จะมี ผลกระทบกับเศรษฐกิจ การสัญจรคมนาคมอย่างมาก"

ล่าสุดที่ผมและทีมงานทำสถิติไว้พบว่า เดือนสิงหาคมราววันที่ 11-20 ก็จะเริ่มมีพายุเข้ามาทางตอนเหนือของประเทศไทย จะมีฝนตกในบริเวณภาคเหนือมาก และปริมาณฝนที่ตกจะไหลมาบรรจบในกรุงเทพฯ เป็นน้ำเหนือเข้ามา

ถึงปลายเดือนสิงหาคม พายุก็ยังอยู่ในภาคเหนือ บางลูกก็ไหลเข้ามาในภาคอีสาน แล้วน้ำก็จะไหลมารวมกันในภาคกลาง ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ยิ่งเดือนกันยายน พายุจะเข้าในภาคเหนือมากขึ้น บางลูกอาจจะพัดผ่านเข้ามาถึงกรุงเทพฯก็มี

ถัดมาปลายเดือนกันยายน ร่องมรสุมก็จะลงมาทางใต้ ซึ่งตอนนี้เองโอกาสที่ภาคกลางจะได้รับปริมาณน้ำฝนมีมากที่สุด ถ้าฝนตกนานและมีกำลังแรงลมเหมือนนาร์กีส หรือน้องๆ นาร์กีส ซึ่งเรายังไม่เคยประสบเลย ก็จะทำให้มีปริมาณน้ำมาก

ถึงเดือนตุลาคม พายุก็จะลงไปทางใต้ แต่ที่ผมห่วงคือเวลาพายุพัดเข้าอ่าวแล้วทวีกำลังแรงลมขึ้นมาถึงก้นอ่าว กรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบมาก อีกสาเหตุหนึ่งก็คือในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคมจะมีน้ำทะเลหนุนโดยธรรมชาติ ถ้าพายุเคลื่อนตัวเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักเข้ามาในกรุงเทพฯได้ เหมือนที่นาร์กีสพัดเข้าไปในปากแม่น้ำอิรวดี

นักวิชาการที่ร่วมงานด้วยบอกว่า ได้คำนวณว่าน้ำจะเข้ามาจากปากแม่น้ำถึงกรุงเทพฯลึกถึง 30 กิโลเมตร ซึ่งปัญหาของกรุงเทพฯคือการระบายออกจะช้า เมื่อผสมกับน้ำทะเลหนุนโดยธรรมชาติ ก็จะทำให้น้ำระบายออกคืนสู่ทะเลช้ายิ่งขึ้น ประกอบกับมีน้ำเหนือไหลเข้ามาสมทบ ฉะนั้นกรุงเทพฯก็จะมีน้ำท่วมขัง ถ้าโชคร้ายหน่อยก็อาจจะขัง 1-2 อาทิตย์

สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ที่มีดินทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะดินกรุงเทพฯเป็นดินเลนจะทรุดตัวอยู่แล้ว 5-8 เซนติเมตรต่อปี ที่รามคำแหงหรือที่เขตสวนหลวงทรุดไปแล้ว 1 เมตร หากเปิดประตูน้ำพระโขนงหรือสำโรง น้ำท่วมทันทีโดยที่ฝนไม่ตก เพราะบริเวณนั้นอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล

หรือแถวสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ดินทรุดตัวหมด หากมีพายุเข้ามาแรง โรงงานแถวนั้นมี 3 หมื่นกว่าโรงอาจจะต้องปิดลง คน 3 แสนคนต้องหยุดทำงาน ตกงาน หากน้ำท่วมเป็นเดือน

มีนักวิชาการบางท่านเป็นห่วงว่า เมื่อ น้ำเข้ามา 30 กิโลเมตรจากปากอ่าว น้ำเค็มก็จะเข้ามาในคลองประปา คนกรุงเทพฯและคนปริมณฑล 8-10 ล้านคน อาจไม่มีน้ำจืดดื่ม จะเป็นน้ำประปาเค็มหมด ปัญหาคือเราจะเอาน้ำที่ไหนกิน

ที่พม่า คนตายเยอะ เพราะคนไม่มีน้ำดื่ม ต้องไปดื่มน้ำสกปรก ก็เป็นโรคตาย ผมก็บอกกับทาง กทม.ว่าให้เตรียมเรื่องน้ำดื่ม ไว้ด้วย

แน่นอนว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ น้ำก็จะท่วม 1-2 เมตร ฉะนั้นวิธีการป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียวขณะนี้คือ ต้องสร้างเขื่อนสูงสัก 5 เมตร เป็นคอนกรีต ทำแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้างให้หนา ข้างบนรถสามารถวิ่งได้ สร้างตั้งแต่นนทบุรีไปถึงปากคลองประปา เพราะน้ำทะเลจะหนุนไปถึงคลองประปา สร้างวิ่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอดไปถึงสมุทรปราการ อ้อมไปถึงบางปะกง

ส่วนอีกด้านหนึ่ง สร้างจากฝั่งธนบุรี อ้อมมาถึงพระประแดง ไปสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก็อาจจะรักษากรุงเทพฯไม่ให้จมน้ำได้ แต่ก็ต้องเริ่มคิดเริ่มสร้างกันเดี๋ยวนี้

เชื่อมั้ยว่า ทุกครั้งที่ผมพูดหรือไปบรรยายที่ไหน คนส่วนใหญ่ก็มองว่า ผมสร้างความแตกตื่น ทำให้คนตกใจ นักธุรกิจก็ด่าผมว่าทำให้ธุรกิจเขาล้มละลาย ก็ต่อว่าอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหญ่ๆ

สมิทธเล่าว่า ทุกครั้งที่ผมไปพูดหรือบรรยายที่ไหน ผมจะบอกว่า ผมไม่ใช่หมอดู หรือนักวิเคราะห์วิจารณ์ แต่เอกสารหรือสถิติที่ผมนำมาอ้างอิงหรือบรรยาย มาจากวิทยาศาสตร์ล้วนๆ โอกาสถูกก็มีมากกว่าผิด

"แต่คุณฟังผมแล้ว คุณไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ฟังแล้วก็วิเคราะห์เสียก่อน ผมจะเรียนว่า จริงๆ แล้วกรม อุตุนิยมวิทยาเรามีศักยภาพดีมาก เรามีเครื่องมือพร้อม หากมีพายุ ภาพจาก ดาวเทียมหรือเครื่องมือที่เรามีอยู่ สามารถบอกเตือนล่วงหน้าประชาชนได้ 3-5 วัน แต่เราจะรอให้ถึงวันนั้นหรือ"

ด้าน นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับสถานการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนที่อาจจะเกิด น้ำท่วมว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยาต้องเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพราะเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ร่องความกดอากาศ ต่ำและร่องมรสุมพัดผ่านภาคเหนือของประเทศไทย

"ร่องมรสุมและร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่านภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคม จะทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนัก น้ำจะไหลลงแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แล้วไหลเข้าสู่เจ้าพระยา ช่วงนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี หลังจากนั้นร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงมายังภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคมที่ร่องความกดอากาศจะอยู่ที่ภาคกลางนั้น คงทำให้กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น"

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้ความเห็น เพิ่มเติมว่า เดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม หากมีพายุจากทะเลจีนใต้เข้ามายังประเทศไทยก็จะทำให้มีโอกาสที่ปริมาณน้ำภาคกลางและกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น

"ประเด็นต่อมาคือ แผ่นดินกรุงเทพฯยุบตัว สูงกว่าระดับน้ำทะเลเล็กน้อย บางส่วนก็ใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล เพราะในอดีตเราใช้น้ำบาดาลเยอะ แผ่นดินจึงต่ำ สำคัญที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยาที่น้ำลงมา และประชากรเพิ่มมากขึ้น ถนนหนทางและการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.อ่างทองจะทำให้น้ำไหล เร็วขึ้น

ถ้าน้ำจากทะเลหนุน กรุงเทพฯก็จะได้รับผลกระทบ การบริหารจัดการน้ำกับปริมาณน้ำฝนจากภาคกลางและภาคตะวันออกจะส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯ อาจจะต้องมีการเตรียมการเครื่องสูบน้ำ ระบายน้ำ โดยเฉพาะลักษณะพื้นที่กรุงเทพฯ เรามีการก่อสร้าง ปัญหาระบายน้ำต้องเตรียมการ ให้ดี การจราจรจะมีผลกระทบ"

นอกจากนี้ นายศุภฤกษ์ยังกล่าวว่า ที่บางขุนเทียนมีปัญหาคลื่นซัด หากการระบายน้ำไม่ดีจะเกิดน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในขณะนั้นว่ามีฝนตกต่อเนื่องหรือไม่ มีพายุหรือไม่ น้ำเหนือไหลบ่าหรือไม่ และจะมีปริมาณมากในช่วงไหน มีน้ำทะเลหนุนด้วยหรือไม่ ซึ่งคงต้องมองอีกทีหนึ่ง

"ภาพรวมของประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่ม ช่วงนี้ปรากฏการณ์ลานินญาค่อยๆ หายไป จึงทำให้เกิดฝนตก เราประมาท ไม่ได้เรื่องของฝน อยู่ที่ช่วงเวลานั้นว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้น้ำเพิ่มขึ้นมาก แค่ไหน ซึ่งกรุงเทพมหานครเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ฝนตกค่อนข้างมาก ประกอบกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกค่อนข้างมากและรุนแรง ในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยาก็จะมีการแจ้งเตือนปริมาณ น้ำฝนในพื้นที่เขตประเทศไทย แจ้งว่ามีพายุเข้ามาหรือไม่

ดังนั้นเรื่องการบริหารจัดการก็ต้องให้หน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบร่วมกันประสานให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน กรุงเทพฯต้องเตรียมพร้อม แก้ปัญหาน้ำท่วมเพราะ ผู้อาศัยมาก หากจราจรติดขัดก็จะเสียหายต่อเศรษฐกิจ"

ขณะที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) เชื่อมั่นว่า ระบบเตือนภัยจะทำให้คนกรุงเทพฯรู้ล่วงหน้าว่าพายุจะเข้ามาเมื่อใด และมีเวลาเตรียมรับมือ

แต่ที่ยากจะรับมือก็คือ หากกรุงเทพฯต้องเจอน้ำท่วมนานเป็นเดือน งานนี้ตัวใครตัวมัน...

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ย้อนรอย'น้ำท่วม'บางกอกปี2485-2539กรุงเทพฯจมบาดาล

เดือดร้อนไปตามๆ กันสำหรับ "พิบัติภัยน้ำท่วม" ที่ณ เวลานี้ เมืองฟ้าอมร นาม "กรุงเทพมหานคร" น้ำได้เอ่อล้นกระสอบทรายเข้าท่วมหลายพื้นที่แล้ว...

แม้เหตุน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น แต่ทว่าความเป็นจริงก็คือ เมืองหลวงแห่งนี้ เคยถูกน้ำท่วมซ้ำซากหลายครั้ง หลายคราว นับตั้งแต่มีการสถาปนาเป็นราชธานี


"...ด้วยปรากตว่า ฝนตอนต้นรึดู พุทธสักราช 2485 ตกมากทางภาคพายัพ และภาคอิสาน เปนเหตไห้น้ำท่วมเรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนราสดร ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอิสาน ไนระหว่างเดือนกันยายน ตุลาคม และพรึสจิกายน เปนอุทกภัยครั้งสำคันไนประวัติการน์น้ำท่วมของเมืองไทยที่ทำความเสียหายไห้แก่ประชาชนพลเมืองเปนหย่างมาก..."

ข้อความข้างต้น เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ในหนังสือ"เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ส.2485" ของ กระทรวงมหาดไทยซึ่งเหตุการณ์ครานั้น เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และมีนายกรัฐมนตรีคือ จอมพลป.พิบูลสงคราม

ในปี พ.ศ.2485 เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งร้ายแรงของเมืองไทย หลายจังหวัดที่มีชัยภูมิอยู่ในที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาล้วนได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน โดยเฉพาะชาวบางกอกเดือดร้อนหนักถึงขั้นต้องนำเรือออกมาพายแทนจักรยาน ครานั้นเมืองหลวง ต้องจมอยู่ใต้บาดาลนานนับเดือน

"...ไนตอนปลายเดือนกันยายน พ.ส. 2485 ระดับน้ำไนแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเปนลำดับ ทั้งนี้วัดจากระดับน้ำที่กองรังวัดที่ดิน กรมที่ดิน เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า น้ำเริ่มท่วมล้นฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม มีระดับน้ำสูงสุด2.27 เมตร แล้วก็ลดลง โดยลำดับจนแห้งไปหมด ราวกลางเดือนพรึสจิกายน..."

หนังสือ "เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ส. 2485" ยังได้บันทึกเหตุ อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ ไว้อีกหลายครั้ง...

พ.ศ.2328 ช่วงรัชกาลที่ 1 เกิดน้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็งซึ่งเป็นปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จนั้นเอง ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ปรากฏว่าระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว

พ.ศ.2362 ในรัชกาลที่ 2 น้ำท่วมเดือน ตุลาคมข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

พ.ศ.2374 ในรัชกาลที่ 3 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายนคราวนี้น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง

พ.ศ.2402 ในรัชกาลที่ 4 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายนและปีพ.ศ. 2410 น้ำท่วมเดือน พฤศจิกายนอีกเช่นกัน แต่เสียหายไม่มาก เพียงท่วมภายนอกกำแพงพระราชวังเท่านั้น

พ.ศ.2422 ในรัชกาลที่ 5 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายนน้ำท่วมเพียงประตูพิมานไชยศรี

พ.ศ.2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้าถึงกับมีการแข่งเรือกันได้

พ.ศ.2485 ในรัชการที่ 8 น้ำท่วมใหญ่ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี พ.ศ.2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูงมากไหลล้นคันกั้นน้ำ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำตลอดแนว โดยวัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการบันทึกสถิติ น้ำท่วมครั้งสำคัญในเขตกรุงเทพฯ ไว้หลายครั้ง...

น้ำท่วม

พ.ศ.2518 เกิดน้ำท่วม เนื่องจากพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ

พ.ศ.2521 พายุ 2 ลูก คือ "เบส" และ "คิท" พาดผ่านขณะเดียวกันมีปริมาณน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมากทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออก และ เข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ

พ.ศ.2523 ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ2.00 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วง 4 วันทำให้เกิดน้ำท่วมขัง

พ.ศ.2526 น้ำท่วมในปีนี้มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือ และภาคกลางในช่วงเดือนกันยายน- ตุลาคมประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม

พ.ศ.2529 เกิดฝนตกหนักมาก และตกติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากได้มีพายุ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในกรุงเทพฯ

พ.ศ.2533 ในเดือนตุลาคม พายุโซนร้อน "อีรา" และ"โลล่า" พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมที่กรุงเทพฯ

พ.ศ.2537 เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝน ได้มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกได้ว่าเป็น "ฝนพันปี" ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วกรุงเทพฯ

พ.ศ.2538 มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นมา และมีสภาพฝนตกหนัก ในช่วงเดือนสิงหาคม- ตุลาคม เนื่องจากพายุ "โอลิส" ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปีพ.ศ. 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50-100 ซม.

พ.ศ.2539 มีน้ำท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพมหานคร มีเพียงน้ำท่วมขังในเวลาไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ

นับเป็นเวลามากกว่า 200 ปี ที่เมืองฟ้าอมรแห่งนี้ต้องผจญกับพิบัติภัยน้ำท่วม...การเรียนรู้อดีต เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคต จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: