หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

'แธตเชอร์'ถึงแก่อสัญกรรมวัย87ปี

'มากาเร็ต แธตเชอร์' อดีตนายกฯอังกฤษ ถึงแก่อสัญกรรมแล้วด้วยวัย 87 ปี


              8เมษายน 2556 นายทิม เบล โฆษกส่วนตัวนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอังกฤษ เปิดเผยต่อสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ ถึงการอสัญกรรมของนางแธตเชอร์ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันและสิ้นลมอย่างสงบเมื่อวันจันทร์ (8 เม.ย.)

   
           นางแธตเชอร์เผชิญกับอาการโรคหัวใจกำเริบหลายครั้งในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จนเมื่อปี 2545 แพทย์ต่างลงความเห็นว่านางแธตเชอร์สมควรหยุดพักภารกิจที่ต้องปรากฏตัวต่อสาธารณชน เพื่อรักษาสุขภาพอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า สุขภาพของนางแธตเชอร์เลวร้ายลงจากอาการสมองเสื่อม ทำให้ต้องหลีกเร้นจากสายตาสาธารณชนอย่างเต็มที่
   
           นางแธตเชอร์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในปี 2522 และดำรงตำแหน่งนาน 11 ปี จนถึงปี 2533 ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ปี 2518-2533 ทำให้เป็นผู้นำหญิงและเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมควบคู่กันไปด้วยเป็นคนแรกของสหราชอาณาจักร นอกจากนั้นยังเป็นสตรีคนแรกที่นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากของประเทศอังกฤษ และเป็นสตรีคนแรกของเพียงสามคนที่ได้ดำรงหนึ่งในสี่ตำแหน่งใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันนางแธตเชอร์มีบรรดาศักดิ์ขุนนางเป็นบารอนเนสแธตเชอร์แห่งเมืองเคสตีเวน ในมณฑลลิงคอล์น ไชร์ ซึ่งทำให้มีโอกาสได้นั่งในสภาขุนนาง
   
           เมื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ นางแธตเชอร์ได้เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจเสรีตามที่ทางการร่างแผนขึ้นมาในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน โดยได้อิทธิพลแนวความคิดจากเฟเดอริค ฮาเยค นักปรัชญาชาวออสเตรีย และมิลตัน ฟรีดแมน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก
   
           นอกจากนี้ยังได้ใช้นโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างรุนแรง สนับสนุนกิจการเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่รัฐบาลก่อนๆ ยึดเป็นของรัฐคืนเอกชนด้วยการกระจายหุ้น ลดบทบาทสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ และพยายามจัดตั้งบรรษัทขึ้นดูแลการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นหน้าที่ของรัฐ
   
           นางแธตเชอร์ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 2 ในปี  2526 โดยได้เสียงข้างมากทั้งๆ ที่ปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย ทั้งอัตราการว่างงานของอังกฤษต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี สงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา แต่พรรคฝ่ายค้านเกิดความระส่ำระสายทำให้ความนิยมนางแธตเชอร์เพิ่มมากขึ้นและได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 3 ในปี 2530 และเมื่อถึงปี 2531 นางแธตเชอร์ได้ทำสถิติกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20
   
           ด้วยบุคลิกที่แข็งกร้าว และมีความมุ่งมั่นอยู่เต็มเปี่ยม รวมทั้งการนำอังกฤษชนะสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ รวมทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการมุ่งดำเนินนโยบายอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ทำให้นางแธตเชอร์ได้รับฉายาว่า "หญิงเหล็ก"
   
           นางแธตเชอร์มีชื่อเต็มว่า มาร์กาเร็ต ฮิลดา แธตเชอร์ เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2468 ที่เมืองแกรนแทมในมณฑลลิงคอล์น ไชร์ บิดาคือ อัลเฟรด โรเบิร์ต ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายของชำในเมืองและได้มีส่วนร่วมในการเมืองและศาสนาของท้องถิ่น โดยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นฆราวาสนักเทศน์ในนิกายเมโธดิสต์ ที่แต่งงานกับนางเบียทริซ สตีเฟนสัน และได้มีบุตรีสองคน คือมูเรียล และ แธตเชอร์
   
           ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นางแธตเชอร์ได้เข้าศึกษาและจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเคมีจากวิทยาลัยซอเมอร์วิลล์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเริ่มต้นทำงานเป็นนักวิจัยทางเคมี ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งฟินช์เลย์เป็นครั้งแรก ในปี 2502 ก่อนร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเงา ในปี 2510 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2513-2517 เป็นอัครมหาเสนาบดีเงาร่วม (Joint Shadow Chancellor)ในปี 2517-18 และในปี 2520 ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแทนนายเอดเวิร์ด ฮีท และในปี 2494 นางแธตเชอร์ได้สมรสกับนายเดนิส แธตเชอร์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ แครอล และ มาร์ค แธตเชอร์ ต่อมาในปี 2546 นายแธตเชอร์เสียชีวิตในวัย 87 ปี
   
           ทั้งนี้ นางแธตเชอร์ เคยถูกลอบสังหารด้วยการวางระเบิดโดยกองทัพปลดปล่อยไอริช เมื่อปี 2527 ระหว่างที่เข้าร่วมประชุมประจำปีพรรคอนุรักษนิยมที่โรงแรมไบรตัน ในกรุงลอนดอน เหตุการณ์นั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย แต่ก็ไม่ได้ทำให้นางแธตเชอร์เสียขวัญหรือหยุดยั้งการทำงาน โดยในวันรุ่งขึ้นนางแธตเชอร์ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บก็เข้าร่วมประชุมกับสมาชิกพรรคตามปกติ
   
           อย่างไรก็ตาม นางแธตเชอร์ที่ชนะการเลือกตั้งได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง ก็ถูกสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมบีบให้ลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่นางไม่ยอมอ่อนข้อเปลี่ยนแปลงนโยบายเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจจนมาชุมนุมประท้วงและเกิดการจลาจลในที่สุด

           ขณะที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการอสัญกรรมของนางแธตเชอร์ ขณะที่นายเดวิด คาเมรอน ก็แสดงความเสียใจต่อการจากไปของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ และกล่าวว่า "เรา (สหราชอาณาจักร) สูญเสียผู้นำที่ยิ่งใหญ่ นายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่ และชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่"
   
           นอกจากนั้นนายคาเมรอนยังเปิดเผยด้วยว่า พิธีศพของนางแธตเชอร์จะจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ เป็นพิธีใหญ่ ที่มีทหารกองเกียรติยศร่วมไว้อาลัยภายในพระราชานุญาตของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ที่วิหารเซนต์ปอล แต่ไม่ถึงกับระดับรัฐพิธี ก่อนจะมีการจัดพิธีศพเป็นส่วนตัวโดยครอบครัวของนางแธตเชอร์ต่อไป
   
           ส่วนนายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ส่งสารแสดงความเสียใจต่อการจากไปของนางแธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ที่ได้ชื่อว่ามีส่วนอย่างมากในการวางรากฐานของสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยการร่วมลงนามในรัฐบัญญัติว่าด้วยยุโรปเดียว ที่ช่วยนำไปสู่การผสานตลาดในประเทศต่างๆ ของยุโรปเป็นตลาดเดียว ทั้งยังเป็นผู้นำในการดึงยุโรปเข้าร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออก ที่เคยถูกปิดกั้นอยู่หลังม่านเหล็ก

คมชัดลึก

อาลัย'มาร์กาเร็ต แธทเชอร์'
อาลัย'มาร์กาเร็ต แธทเชอร์' ด้านสส.พรรคอนุรักษ์นิยมเรียกร้องให้จัดพิธีศพ'อดีตนายกรัฐมนตรี'แบบรัฐพิธี

               9 เม.ย.56 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บรรดา สส.ของพรรคอนุรักษ์นิยม หรือ ทอรี่ ของอังกฤษ ได้เรียกร้องให้จัดพิธีศพแบบรัฐพิธีให้แก่นางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอังกฤษ เพื่อเป็นเกียรติอย่างสูงสุดต่อสตรีผู้พิทักษ์อังกฤษ

               ทั้งนี้ นางแธทเชอร์ ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นบารอนเนสส์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ด้วยวัย 87 ปี หลังจากป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง รัฐบาลได้เตรียมจัดพิธีศพให้แก่เธออย่างสมเกียรติในสัปดาห์หน้า ที่มหาวิหารเซนต์ ปอล โดยมีทหารกองเกียรติยศร่วมสดุดี

               รายงานยังระบุว่า ศพของนางแธทเชอร์ ถูกเคลื่อนออกจากโรงแรมริทซ์ ในย่านพิคคาดิลลี่ ของกรุงลอนดอน เมื่อคืนวันจันทร์ ท่ามกลางการอารักขาจากกองกำลังตำรวจ หลังจากเธอถึงแก่อนิจกรรมที่โรงแรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่พำนักของเธอ นับตั้งแต่เข้ารับการผ่าตัดย่อยเมื่อเดือนธันวาคม ทำให้ต้องจัดวางกำลังตำรวจคอยอารักขาอย่างแน่นหนาตั้งแต่ตอนนั้น

               ภายใต้การเตรียมการระดับสูงสำหรับบุคคลที่ทรงเกียรติของชาติ ได้มีการวางกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบไว้รอบโรงแรม พนักงานโรงแรมต้องปิดทางเข้าลานจอดรถยนต์ เพื่อเตรียมไว้สำหรับรถบรรทุกศพ และนำแผงกั้นสีดำไปติดตั้งไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าทุกทาง โดยมีเฮลิคอปเตอร์บินวนสำรวจเส้นทางเพื่อเปิดทางให้รถบรรทุกศพ

               เหล่าพันธมิตรของนางแธทเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของยุโรป ต่างแสดงความผิดหวังที่เธอจะไม่ได้รับการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธี โดยเธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งให้เข้าไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 10 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ต่างก็พูดถึงเธอเป็นเสียงเดียวกันว่า เธอเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอังกฤษ หลังจากยุคของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล สามัญชนคนสุดท้ายที่ได้รับการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธี เมื่อปี 2508

               อีกทั้ง พิธีศพของนางแธทเธอร์ จะได้รับการสดุดีจากทหารกองเกียรติยศ ซึ่งเท่าเทียมกับพิธีศพของเจ้าหญิงไดอาน่าและควีนมัม แต่ สส.พรรคอนุรักษ์นิยมบางคน ระบุว่า นางแธทเชอร์ควรได้รับเกียรติอย่างสูงสุด แม้ว่า มิตรสหายของเธอจะบอกว่า เธอไม่ต้องการพิธีศพแบบรัฐพิธี และไม่ชอบแนวคิดให้เอาศพของเธอไปตั้งอย่างเป็นทางการที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ก็ตาม

               ด้านนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ได้ยกย่องนางแธทเชอร์ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีผู้รักชาติ และเขาได้ยกเลิกการเยือนยุโรปกระทันหันและเดินทางกลับกรุงลอนดอนทันที รวมถึงการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ในช่วงหยุดพักช่วงเทศกาลอีสเตอร์ เพื่อร่วมไว้อาลัยแด่นางแธทเชอร์

               เซอร์ มาร์ค และแครอล บุตรชายและบุตรสาวของนางแธทเชอร์ ไม่ได้อยู่เคียงข้างเธอ ในช่วงที่เธอถึงแก่อนิจกรรม เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ มีเพียงแพทย์และคนดูแลเท่านั้น ส่วนลอร์ดชาร์ลส พาวเวลล์ นายตำรวจที่คอยติดตามอารักขานางแธทเชอร์อย่างใกล้ชิดยาวนานที่สุดพูดถึงเธอว่า เธอเปลี่ยนพวกเราทุกคน จากความคิดที่ว่าจะต้องทนรับความตกต่ำไปชั่วนิรันดร์ให้กับมาภาคภูมิใจกับการเป็นคนอังกฤษอีกครั้ง ... บนเวทีโลก

               ขณะที่ สส.โคเนอร์ เบิร์นส ที่ไปเยี่ยมนางแธทเชอร์ ทุกสัปดาห์ กล่าวว่า มันช่วยไม่ได้ที่หวนคิดไปถึงเรื่องที่เธอพูดกับเพื่่อนเก่าอย่างโรนัลด์ เรแกน ที่ป่วยหนักด้วยโรคอัลไซเมอร์ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต แต่แม้นางแธทเชอร์จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์อยู่บ้าง แต่ความทรงจำและความคิดของเธอ ยังคมชัดอยู่ตลอด เธอมักจะยกย่องเรแกนเสมอ และยังเคยพูดถึงการจัดพิธีศพของตัวเองหลายครั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และสรุปว่า เธอไม่ใส่ใจกับมันโดยสิ้นเชิง เธอมักจะบอกด้วยว่า ไม่ชอบให้จัดงานแบบรัฐพิธี เพราะเธอไม่ใช่เซอร์วินสตัน

               ลอร์ด เบลล์ เพื่อนและโฆษกส่วนตัวของนางแธทเชอร์ ก็ระบุเช่นกันว่า นางแธทเชอร์ไม่ต้องการพิธีศพแบบรัฐพิธี และในการจัดพิธีศพที่อาจจะมีขึ้นในวันพุธหน้า จะเป็นการออกค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างทางการกับฝ่ายดูแลทรัพย์สินของเธอ

อังกฤษเตรียมเส้นทางและสถานที่ประกอบพิธีศพนางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์

               แท็บลอยด์เดลี่ เมล รายงานว่า ได้มีการจัดเตรียมพิธีศพของนางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ เจ้าของฉายา " นางสิงห์เหล็ก " รวมถึงเส้นทางและสถานที่ประกอบพิธีไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 5 ปี ที่ผ่านมาโดยการเดินทางครั้งสุดท้ายของเธอ จะเริ่มต้นจากอาคารรัฐสภาที่เธอรัก และเปรียบเสมือนบ้านทางการเมือง ที่เธอครองอำนาจยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ไปจนถึงมหาวิหารเซนต์ ปอล

               นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ และนางแนนซี่ เรแกน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ และภริยาของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้รับการคาดหมายว่า จะอยู่ในรายชื่อของแขกผู้มีเกียรติจากต่างประเทศ ที่ได้รับเชิญไปร่วมพิธีด้วย เช่นเดียวกับบรรดานายกรัฐมนตรีที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น เซอร์ จอห์น เมเจอร์ , โทนี่ แบลร์ , กอร์ดอน บราวน์ และเดวิด คาเมรอน รวมถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเงา จะไปร่วมพิธีเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีขึ้นในวันพุธหรือวันพฤหัสบดีของสัปดาห์หน้า

               รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีสดุดีของทหารกองเกียรติยศ ถูกกำหนดไว้แล้ว ในการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาล และตัวนางแธทเชอร์เอง เมื่อ 5 ปีก่อน อีกทั้ง  เมื่อวานนี้ ได้มีการลดธงชาติลงครึ่งเสา ตั้งแต่ลอนดอน จนถึงพอร์ต แสตนลีย์ บนเกาะฟอล์คแลนด์ และกรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐ ส่วนผู้ที่ปรารถนาดี ได้นำดอกไม้ไปไว้อาลัยให้แก่เธอที่บ้านในเบลเกรเวีย ใจกลางกรุงลอนดอน

               ก่อนที่จะมีการประกอบพิธีศพ  โดยโลงศพของนางแธทเชอร์ จะถูกนำไปไว้ที่โบสถ์เซนต์ แมรี่ อันเดอร์ครอฟต์ ภายในอาคารรัฐสภา ที่เรียกว่า พาเลซ ออฟ เวสต์มินสเตอร์ เนื่องจากเป็นที่ประทับเดิมของกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งจะมีการทำพิธีในช่วงสั้น ๆ หลังจากโลงศพเดินทางไปถึงด้วย  ซึ่งในวันงาน การจราจรบนถนนทุกสายที่เป็นเส้นทางผ่านของรถบรรทุกศพไปยังโบสถ์ เซนต์ คลีเมนต์ เดนส์ ซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดเล็กของกองทัพอากาศ จะถูกเคลียร์จนหมด

               เมื่อถึงโบสถ์แล้ว โลงศพจะถูกนำไปตั้งบนโครงตั้งปืน เทียมด้วยม้าของกรมทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ (King’s Troop of the Royal Horse Artillery) จากนั้นศพของเธอ จะเคลื่อนผ่านไวท์ฮอลล์ ผ่านจตุรัสทราฟัลการ์ บนถนนสแตรนด์ ผ่านวงเวียนอัลด์วิช , ลัดเกท ฮิลล์จนกระทั่งถึงวิหารเซนต์ ปอล

                ในระหว่างทางจะมีทหารจากกองทัพประจำการตลอดเส้นทาง และเชื่อว่าจะมีฝูงชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานหลายหมื่นคน และคาดว่า เมื่อไปถึงวิหารเซนต์ ปอลแล้ว จะมีทหารกองเกียรติยศอีกชุดหนึ่ง และบรรดาทหารวัยหลังเกษียณจากเชลซี คอยให้การต้อนรับ

               ด้านครอบครัวของนางแธทเชอร์ ได้ขอร้องไม่ให้ผู้ปรารถนาดีส่งดอกไม้ไปที่บ้านพวกเขา แต่ให้ส่งไปยังโรงพยาบาลที่ดูแลคนชราที่เชลซีแทน โดยหลังการทำพิธีศพอย่างเป็นทางการแล้ว ทางครอบครัวจะแยกไปทำพิธีแบบเป็นการส่วนตัวต่างหาก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการฌาปนกิจและเถ้าอังคารของเธอจะถูกนำไปลอยในทะเลสาป มอร์ทเล้ค ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน

               อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพ จะแบ่งเป็นความรับผิดชอบระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายบริหารสินทรัพย์ของนางแธทเชอร์ ขณะที่หน่วยงานของรัฐบาล เช่น กระทรวงกลาโหม จะจัดสรรเงินบริจาคต่างหาก ด้านโฆษกของทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การจัดพิธีทั้งหมดได้เป็นไปตามความปรารถนาของครอบครัวนางแธทเชอร์ ซึ่งทำตามเจตนารมณ์ของนางแธทเชอร์ ที่ไม่ต้องการพิธีแบบรัฐพิธี เพราะไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองเงิน

คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: