หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

มนต์เสน่ห์มายซอร์

โดย : เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ @กรุงเทพธุรกิจ


รถไฟเที่ยวกลางคืนมุ่งหน้าไปยัง มายซอร์ คืนนั้น ลบภาพความน่าสะพรึงกลัวที่พูดๆ กันเลยค่ะ เบาะที่นอนสะอาด สะดวกสบาย

มีปลั๊กไฟสำหรับชาร์จแบตเตอรี่และไวร์เลสสำหรับคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก เป็นรถนอนชั้น 1 แต่สำหรับนักเที่ยวแบ็คแพ็คอย่างฉัน มีไว้ชงมาม่ากินรองท้อง และชาร์จแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูปก็สบายเกินพอแล้วค่ะ


ถึงมายซอร์เมื่อ เช้าตรู่อากาศดีเชียว แต่อืมม...ฝุ่นเยอะมาก ผ้าพันคอนี่ละค่ะสารพัดประโยชน์ใช้คาดจมูกกันฝุ่น โพกหัวเวลาร้อน และพันคอกันหนาวยามค่ำได้ ขอแนะนำให้ติดกระเป๋ามาสักผืนค่ะ

ได้ที่พักแล้วอาบน้ำอาบท่า กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด...ก็ฉันนั้น ฉันเริ่มต้นวันด้วย ทาลี อาหารที่คนอินเดียเรียก ว่า พื้นๆ นั่นล่ะค่ะ ต้องลอง ไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ เป็นข้าวที่มาพร้อมกับเครื่องเคียงเป็นซุบสารพัดชนิด เหมือนกินข้าวกับน้ำแกง แต่แกงแต่ละชนิดนั้นอุดมด้วยเครื่องเทศ วิตามินทั้งนั้นนะคะ เป็นการกินที่คนอินเดียบอก ว่า 'ตามหลักอายุรเวท' ที่ผักต้องต้มสุก ตบท้ายมื้อเช้าด้วยทับทิมลูกใหญ่สีแดง หวานจัด นำเข้าจากแคชเมียร์ เช่นเดียวกับผลไม้เมืองหนาวจากทางเหนือมีหาบขายกันเกลื่อน

ฉันใช้เวลาเกือบครึ่งวันนั้นใน ร้านหนังสือ สมกับที่อินเดียเป็น ประเทศยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งพิมพ์ และแหล่งก๊อบปี้หนังสือ แต่ต้องพิจารณาดีๆ เพราะหนังสือดีหลายเล่มราคาถูกกว่าของจริง แต่หน้าหายไปหลายหน้า ได้ไปจะเสียอารมณ์เปล่าๆ ร้านหนังสือดีๆ มีกระจายอยู่แทบทุกเมือง แม้ส่วนใหญ่เป็นร้านเก่า เทียบไม่ได้กับในเมืองใหญ่อย่างบังคาลอร์ แต่อัดแน่นไปด้วยหนังสือดีๆ และหายาก ฉันได้หนังสือของนักเขียนอินเดียติดมือมาหลายเล่ม สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับอายุรเวท และโยคะ ก็เป็นแหล่งค้นคว้า และแสวงหาที่ดีเลยล่ะค่ะ

ชื่อเสียงของเมืองมายซอร์ โดดเด่นคู่มากับโยคะค่ะ ด้วยว่ามีสถาบันโยคะที่มีชื่อเสียงหลายแห่งและหลายแขนง ที่ฮอตฮิตมากเป็น อัชแทงกาโยคะ ฉันลองเข้าไปเยี่ยมๆ มองๆ ที่สถาบันโยคะอัชแทงกา เห็นฝรั่งหลายคนปักหลักอยู่กันครึ่งค่อนปีเพื่อฝึกโยคะ แต่ใช่ว่าจะออกไปเป็นครูสอนโยคะกันง่ายๆ นะคะ จบออกไปแล้วยังต้องกลับมาทดสอบกันอยู่เป็นระยะ ซึ่งหมายถึงอีกเป็นปี ก่อนที่จะได้ใบรับรองเพื่อใช้ประกอบอาชีพได้ มีโอกาสได้เจอกับอาจารย์ใหญ่ ผู้ก่อตั้งสถาบันโยคะอัชแทงกา ท่าน Patthabhi Jois อายุ 90 แล้วค่ะ แต่ยังเดินหลังตรง ดูแลนักเรียนของท่านอย่างขันแข็ง เห็นท่านแล้วเป็นแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีเชียวค่ะ

เย็นนั้นฉันลิ้มลองอาหารหาบเร่ริมทาง สารพัดอย่างที่พ่อค้าเข็นมาขายร่วมสิบคัน หอมควันฉุยแทบเลือกไม่ถูก ยืนกินปะปนไปกับชาวอินเดีย อร่อยได้บรรยากาศไปอีกแบบ แต่ส่วนมากจะเป็นของกินเล่น ที่ชอบเป็นพริกสดชุบแป้งผสมเครื่องเทศทอด กินร้อนๆ หอมกลิ่นพริกสดๆ และ บอนดาส เป็นขนมอบสอดไส้มันฝรั่งบด แน่นอนว่า ผสมเครื่องเทศจนชุ่ม หอมมันถูกใจคนชอบความหวานและมันแบบเข้มข้นตามแบบฉบับอินเดีย หรือจะลอง พาบาจิส์ เป็นขนมปังปิ้งจิ้มกับสารพัดเครื่องเทศที่ไปผัดในน้ำมันร้อน มีมะนาว และหัวหอม ให้กินแก้เลี่ยน...อร่อยค่ะ

พระราชวังมหาราชาแห่งมายซอร์
 วันที่สองในมายซอร์ ฉันเข้าวังค่ะ เป็น พระราชวังของมหาราชาแห่งมายซอร์ ยิ่งใหญ่อลังการสมกับเป็นของมหาราชา ต้องถอดรองเท้า และไม่เฉพาะห้ามถ่ายรูป แต่ต้องฝากกล้องไว้ด้านนอกเลยล่ะค่ะ สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบผสมผสานอินโด-ซาราซีนนิก คือมีกลิ่นอายของยุโรป ด้วยสถาปนิกเป็นช่างชาวอังกฤษ เทพองค์เล็กองค์น้อยจึงดูละม้ายคล้ายกามเทพของยุโรปอยู่ในที พระราชวังที่หลงเหลือถึงวันนี้เป็นพระราชวังหลังใหม่ที่สร้างเสร็จเมื่อ 95 ปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ หลังเดิมถูกไฟไหม้ไปเมื่อปี พ.ศ.2440 ศิลปะการใช้สีฉูดฉาด จุดเด่นอยู่ที่การตกแต่งพื้นด้วยโมเสก และเล่นแสงเงาด้วยการสะท้อนแสงของกระจกสี รวมทั้งภาพเขียนสีประวัติศาสตร์บอกเล่าชีวิตของชาวมายซอร์ในอดีต และประตูไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง พระราชวังของมหาราชาในแต่ละแคว้นจะมีวัดประจำพระองค์ เช่นเดียวกับมหาราชาแห่งมายซอร์ทรงดำริให้สร้าง วัดฮินดูชเวตา วราหัสวามี ขึ้นในเขตพระราชฐานด้วย

ตอนนี้พระราชวังตกเป็นสมบัติของรัฐรวมทั้งเรือนที่ทำการของกรมกองต่างๆ ของสำนักราชวัง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นวิทยาลัย เป็นธนาคาร และที่ทำการของหน่วยงานอื่นๆ ส่วนลูกหลานของมหาราชามีข่าวว่า พยายามฟ้องร้องต่อศาลเรียกคืนทรัพย์สินที่ปัจจุบันได้ครอบครองแต่เพียงพระ ตำหนักส่วนพระองค์และทรัพย์ศฤงคารบางส่วน ที่บรรดาเครือญาติของพระองค์เห็นว่า เล็กน้อยเท่านั้น

พาหนะพระอิศวรบนยอดเขาชามุนดิ

จากวังของมหาราชา ฉันไปดักขึ้นรถประจำทางขึ้นเขาไป 1,000 กว่าเมตร ประมาณ 40 นาทีถึงยอดเขา ชามุนดิ เดินผ่านดงร้านขายของที่ระลึก เห็นชาวฮินดูเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าไปสักการะรูปสลักศิวลึงค์พระศิวะ บนเขาชามุนดิมีชุมชนเล็กๆ อยู่อย่างใกล้ชิดกับชุมชนขนาดย่อมของเหล่าวานร ที่เพียรแวะเวียนเข้าไปฉกเอากล้วยที่มีผู้นำมาบูชาเทวรูปต่างๆ มากิน และพวกมันนี่ล่ะค่ะเที่ยวปีนป่ายขึ้นเศียรของเทวา-เทวีทั้งหลายอย่างไม่เกรง บาปกลัวกรรม ฤๅมันจะถือว่า บรรพบุรุษเป็นทหารคู่ใจพระราม

ทาลี อาหารพื้นเมือง (บน) - แม่ค้ากระทงดอกไม้บูชาเทพ (ล่าง)


เครื่องสักการะของชาวฮินดูเป็นกล้วย มะพร้าว และดอกไม้ เสร็จพิธีบูชา เขาจะนำมะพร้าวมาทุบให้แตก โดยมีพลพรรคขอทานหรือพ่อค้าแถวนั้นคอยจ้องหยิบเศษมะพร้าวมากินเนื้อ ส่วนกล้วยก็...แฮ่มม..เสร็จทหารเอกพระรามตามระเบียบ แบ่งปันกันถ้วนหน้าดีค่ะ คนที่นี่เขายังนิยมซื้อกล้วย หรือแตงโมผ่าซีกแจกให้วัวกินด้วยนะคะ ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง

เจดีย์แห่งชามุนดิ - รูปเคารพเทพประจำเมือง
 เขาชามุนดินี้นะคะ หากเป็นนักแสวงบุญที่เคร่ง เขาจะเดินขึ้นเขากันค่ะ 1,000 ขั้น และลงอีก 1,000 ขั้น ส่วนนักแสวงหาแต่ความสุขอย่างฉันขอแค่เดินลง 1,000 ขั้นก็พอแล้วค่ะ เดินชมวิวเห็นมายซอร์ใน มุมสูง สวยไปอีกแบบ ลงมาได้ครึ่งทางเจอกับรูปปั้น 'โคนนทิ' หรือพาหนะของพระศิวะ ตัวใหญ่สูงกว่า 5 เมตร หันหน้าไปทางยอดเขาชามุนดิ มีชาวฮินดูมาสักการะไม่ขาดค่ะ พร้อมกับนำอาหารมาถวายพระ ผู้ดูแลรูปปั้นโคนนทิในช่วงวันทางศาสนา

ตลาดมายซอร์ (บน) - หมากพลูอินเดีย (ล่าง)

เมืองมายซอร์นี้อบอวลด้วยกลิ่นธูปนะคะ สมกับเป็นเมืองของการผลิต ธูป มีหลายร้านที่เป็นธูปแบบโฮมเมด มีกลิ่นเฉพาะ และแบบที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ทำส่งออกขายทั่วโลกกันเอิกเกริก


ของดีหลายประการที่พลาดไม่ได้ในมายซอร์อีกอย่างคือ ผ้าไหม ว่ากันว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผ้าไหมที่ขายกันทั่วอินเดียมาจากมายซอร์นี้ ละกัน ซื้อของที่นี่ก็ง่ายดีเพราะแยกกันเป็นถนนเป็นแหล่งไปเลยว่าที่ไหนขายอะไร ฉันติดใจความคลาสสิกของเครื่องทองเหลืองทองแดงของที่นี่มาก แม้ปัจจุบันผู้หญิงอินเดียหัน มาใช้ถังพลาสติกแทนคนโททองเหลืองกันหมดแล้วก็ตาม ก็ได้แต่ถอนใจด้วยความเสียดาย คนโบราณเชื่อว่า การดื่มน้ำที่เก็บกักไว้ในภาชนะที่เป็นทองแดง พลังจากสารประกอบทองแดงจะช่วยเพิ่มคุณค่าของน้ำ อีกอย่างค่ะคือ น้ำมันจันทน์หอมระเหย ที่มายซอร์ภูมิใจเป็นหนักหนาว่า เป็นแหล่งผลิตของแท้ และหาได้ที่มายซอร์เท่า นั้น ปกติน้ำมันหอมระเหยจะเบสด้วยน้ำมันงา อัลมอนด์ หรือไม่ก็น้ำมันมะพร้าว แต่ของเขาขายกันเป็นน้ำมันจันทน์บริสุทธิ์จากต้นจันทน์ ขวดขนาด 5 มิลลิลิตร เรียกว่า ไม่กี่หยดก็ได้นะคะ ราคา 700 บาท เหมาะสำหรับผู้พิสมัยกลิ่นไม้จันทน์จริงๆ

เพราะความหอมของไม้จันทน์ เป็นกลิ่นเฉพาะจริงๆ

หมายเหตุการเดินทาง : จากบังคาลอร์ หรือจากเชนไน มีทั้งรถไฟและรถโดยสารประจำทาง วันละ 3 เที่ยวตรงถึงมายซอร์ ตรวจสอบตารางการเดินทางที่แน่นอนที่สถานีขนส่ง ราคาอยู่ระหว่าง 50-150 บาท ขึ้นอยู่กับรถวีไอพี ธรรมดาแอร์ หรือธรรมดา

ไม่มีความคิดเห็น: