หน้าเว็บ

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ครั้งหนึ่งที่ยากจะลืมเลือนในฮัมปิ

โดย : เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ @กรุงเทพธุรกิจ


ลืมไม่ลงจริงๆ ค่ะ กับเส้นทางสุดทรหดจาก 'มายซอร์' มา 'ฮอสเปก' เป้าหมายจริงๆ อยู่ที่ราชอาณาจักรโบราณในเมือง ฮัมปิ

รถออกช้ากว่ากำหนดและสับสนหมายเลขที่นั่ง ก็คุณพี่ที่รับจองตั๋ว ออกเลขให้เหมือนกัน 2 คน จนคุณพี่ประจำรถต้องมาจัดแจงให้ใหม่ ระยะทาง 350 กิโลเมตรค่ะจากมายซอร์ไปฮอสเปก แต่ถนนเสีย เป็นหลุมเป็นบ่อเกือบตลอดทางค่ะ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง แต่ในความรู้สึกเหมือนชั่วกัลป์ อีกเส้นทางหนึ่งคือนั่งรถไฟไปลงบังคาลอร์และนั่งรถย้อนมาอีกที ใช้เวลานานขึ้น แต่น่าจะสบายกว่าค่ะ


ถึงฮอสเปกเช้าตรู่ งัวเงียลงจากรถ อากาศหนาวกำลังสบายค่ะ ฉันจำกระเป๋าตัวเองแทบไม่ได้ ฝุ่นจับแดงทั้งใบ

จากสถานีรถโดยสาร ฉันเรียกสามล้อไปส่งที่สถานีรถไฟเพื่อจัดแจงจองตั๋วเผื่อเที่ยวกลับ เป็นไปตามคาดว่า...ตั๋วเต็มหมด เพราะจะตรงกับช่วงฉลองคริสต์มาส เจรจาต่อรองจนได้ตั๋วนอนชั้นสามในอีก 3 วัน ฉันรีบตกลงโดยไม่มีเงื่อนไข

ระหว่างรอที่สถานีรถไฟ เจอกับ แก๊งเด็กรถไฟ ฉันเรียกทโมน 5-6 คนนี้ว่าแก๊งเด็กรถไฟ เพราะจับกลุ่มเล่นกันอยู่แถวนั้น อายุ 10-15 คนไหนแก่สุดก็เป็นหัวโจก จากที่ตรงเข้ามารุมขอปากกา เปลี่ยนมาขอเงิน ฉันไม่มีเงินให้หรอก แต่มีส้มเหลืออยู่ 1 ลูก เลยปอกแบ่งกันกินคนละกลีบ สักพักหันมาชวนฉันตีคริกเกต กลายเป็นพวกเดียวกันไปแล้ว เด็กพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ และอีกส่วนไม่ไปโรงเรียน พอถามถึงตรงนี้ วิ่งหนีฉันไปเลย

เสร็จสรรพเรื่องตั๋วรถไฟเที่ยวกลับ ฉันจ้างรถสามล้อมุ่งหน้าเข้าเมืองฮัมปิ มีโอกาสชมเมืองฮอสเปกสองข้างทาง บอกได้ว่า ฮอสเปกเป็นเพียงทางผ่านและเป็นจุดต่อรถของนักเดินทางที่ล้วนมุ่งหน้าไปยังฮัมปิ สภาพบ้านเมืองบ่งบอกถึงความฝืดเคืองของเศรษฐกิจ มีกระโจมของคนเร่ร่อนให้เห็นเป็นระยะ เมืองหลับใหลอย่างฮอสเปกจะตื่นอีกทีเมื่อมีเทศกาลงานบุญตามวันทางศาสนา รถวิ่งมาได้หนึ่งชั่วโมงพอดี ผ่านด่านจ่ายเงินเข้าเมืองฮัมปิ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นค่าบรรณาการในสมัยก่อน

ฉันเลือกที่พักชนิดติดขอบกำแพงเมืองโบราณ นักเดินทางทุกคนได้รับการร้องขอให้ไปลงทะเบียนแสดงตัวที่ สถานีตำรวจ ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยหากเกิดกรณีชาวต่างชาติหายตัวไป ด้วยความที่ฮัมปิเป็น เมืองโบราณ มีอาณาบริเวณร้างกว้างใหญ่ไพศาล หลายแห่งเปลี่ยว ปลอดคน จึงอาจเป็นโอกาสของคนร้ายดักปล้นทรัพย์สิน ก็ต้องป้องกันไว้ก่อนค่ะ แต่โดยรวมฮัมปิเป็นสถานที่ปลอดภัยนะคะ เป็นอีกแห่งสำหรับผู้รักและหลงใหลในซากศิลปะของโบราณสถาน ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


ราชอาณาจักรโบราณ วิชัยนครา ซึ่งมี 'ฮัมปิ' เป็นเมืองหลวงในอดีตนั้น เป็นจุดหมายของฉันในครั้งนี้ ที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรฮินดูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของอินเดีย โดยมีเจ้าชาย 2 องค์พี่น้องเป็นผู้ก่อตั้ง ในศตวรรษที่ 13 หลังจากเสด็จออกล่าสัตว์และทอดพระเนตรกระต่ายป่าตัวหนึ่งกระโจนเข้าใส่สุนัข ล่าเนื้อของพระองค์ ปราชญ์ทางจิตวิญญาณแปลความว่า เป็นนิมิตอันเป็นมงคลให้ก่อร่างสร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้น ราชอาณาจักรวิชัยนครา อันหมายถึงนครแห่งชัยชนะจึงก่อกำเนิดขึ้น และรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ด้วยไพร่ฟ้าประชาชนในปกครองถึง 500,000 คน ควบคุมการค้าเครื่องเทศและฝ้ายในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศของคนในยุคต่อๆ มา


วิชัยนครารุ่งเรืองถึงขีดสุดในศตวรรษที่ 16 และความเจริญรุ่งเรืองนี้เองที่ล่อตาล่อใจบรรดาเจ้าผู้ปกครองชาวมุสลิมทั้ง ใกล้ไกล ได้รวมตัวกันบุกเข้ามาปล้นทำลายจนอาณาจักรล่มสลาย เหลือให้เห็นเพียงเค้าโครงของความรุ่งเรืองในอดีต

เส้นทางการสำรวจความยิ่งใหญ่ของวิชัยนคราทำได้หลายวิธีค่ะ เดิน เช่าจักรยาน เช่ามอเตอร์ไซค์ หรือจ้างรถสามล้อ แล้วแต่กำลังกายแต่ละบุคคลเลยค่ะ สำหรับฉันเลือกเดิน และนั่งสามล้อ เหมาชั่วโมงไปเลยค่ะสะดวกกว่า ถ้าจะดูให้ครบถ้วนทั้งในเขตราชวังเก่า และวัดต่างๆ ใช้เวลา 2 วันได้ค่ะ เริ่มจากเช้าตรู่ไปดูพระอาทิตย์ขึ้น จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชม 250 รูปีส์ แต่จ่ายเป็นดอลลาร์ได้ค่ะ 4 ดอลลาร์ ถูกกว่าจ่ายเป็นรูปีส์หลายสิบบาท ฉันแวะคุยกับยามด้านหน้าวังได้เงินเดือนเกือบ 5,000 บาทนะคะ ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นรายได้ที่ดีมากเมื่อเทียบกับงานอื่นๆ ของเพื่อนรุ่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และฤดูท่องเที่ยวของฮัมปิ ที่มีไม่กี่เดือนในแต่ละปี

ฉันเริ่มตระเวนจากเขตพระราชวังเก่าที่หลงเหลือฐานหินพระตำหนักของพระ ราชา ซึ่งอยู่สูงกว่าฐานตำหนักของพระราชินี มีป้อมปราการเฝ้าระวังภัยอยู่ไม่ไกลในทุกมุมจากฐานตำหนักราชินี ป้อมปราการเหล่านี้ ใช่ว่ามีไว้สำหรับยามเมืองอย่างเดียว แต่บางป้อมยังเป็นถังเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในเขตพระราชฐานด้วย เดินต่อไปหน่อยเป็นหอประชุมสภา 2 ชั้นที่เรียกว่า โลตัส มาฮาล เป็นโดมพีระมิดรูปดอกบัว 9 แฉกในศิลปะแบบอาหรับ รอยหยักโค้งบวกกับประติมากรรมชั้นยอดที่สลักเสลาในแผ่นหินแกรนิตสีชมพู ชวนให้นั่งดูไม่รู้เบื่อ


นักท่องเที่ยวหน้าตาแปลกๆ อย่างฉันอาจไปดึงดูดนักเรียนหนูๆ ตัวน้อยเข้าให้ กลุ่มครูและนักเรียนจากหลายโรงเรียนร่วมร้อยคน ผลัดกันเข้ามาทักในรูปแบบเดียวกันว่า มาจากไหน ชื่ออะไร และพ่อชื่ออะไร แน้!!...บอกไม่ได้หรอกค่ะ ปิดท้ายด้วยการขอจับมือและถ่ายรูป เป็นอย่างนี้ตลอดระหว่างที่อยู่ในฮัมปิ นักเรียนเยอะค่ะที่นี่ เพราะใช้เป็นพื้นที่ให้นักเรียนลงศึกษาประวัติศาสตร์ บางกลุ่มใช่ว่าเฉพาะนักเรียนนะคะ คุณครูด้วยค่ะ ที่มาถามชื่อพ่อ...อืมม

เขตพระราชวังเก่านี้ องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็น มรดกโลก จึงมีเงินมาอุดหนุนและบูรณะซ่อมแซม เดินทะลุกำแพงออกไปเป็นคอกขนาดใหญ่สำหรับช้างหลวงค่ะ ลานกว้างด้านหน้าสำหรับงานมหรสพ การแสดงของทหาร และสัตว์ และศิลปะการต่อสู้ รวมทั้ง มวยปล้ำค่ะ เป็นที่นิยมมาก โดยมีราชา ราชินี และข้าราชการ นางในทั้งหลาย นั่งประจำที่ทางของตัว ทอดพระเนตร และชมการแสดง นึกแล้วเพลิดเพลินดีนะคะ


ไปถึงช่วงสายพอดี เห็นสาวๆ อินเดียใส่ส่าหรีสีสันสดใส หิ้วปิ่นโตกันคนละเถา เล็กบ้างใหญ่บ้าง ไปทำงานกันค่ะ สาวๆ เหล่านี้เป็นคนงานก่อสร้าง เข้ามาขุด ถางดิน ปรับภูมิทัศน์ แบกดินเทินใส่หัวกันคนละกระจาด ด้วยค่าแรงถูกแสนถูก จึงนิยมจ้างคนแทนการซื้อเครื่องทุ่นแรงมาใช้ และจะไม่ค่อยเห็นสาวๆ ตามร้านอาหารนะคะ เพราะนั่นเป็นงานของพี่ๆ ผู้ชาย

ฉันไปต่อยังที่ สรงน้ำพระราชินี ค่ะ อยากรู้ว่าท่านจะแสนสราญเพียงใดที่สรงน้ำอยู่นอกเขตพระราชฐานนะคะ นึกถึงสมัยโบราณเมื่อ 4-500 ปีก่อน ระยะทางไกลโขเลยค่ะ และทางเป็นหินทั้งนั้น ภูมิประเทศของฮัมปิเป็น ภูเขาหินแกรนิตให้เฉดสีทั้งเทา เหลืองอมน้ำตาล และสีชมพู รูปบูชาเทวา เทวี และเทวาลัยทั้งหลายจึงให้สีมลังเมลือง ยิ่งเมื่อต้องกับแสงแดดแล้ว สวยจนอาจลืมหายใจเลยค่ะ วิธีการที่เขาสกัดเอาหินแกรนิตใหญ่ยักษ์เหล่านี้มาแกะเป็นงานศิลปะชั้นยอด นี้ อึ้งทึ่งไปเลยเหมือนกัน โดยคนงานจะขึ้นรูปไว้ที่หิน และตอกลิ่มไม้เป็นแนวถี่ๆ ตามร่องหินเล็กๆ และหมั่นรดน้ำ ตามธรรมชาติเมื่อไม้เปียกจะขยายตัว และหินจะกะเทาะออก รอยกะเทาะนี้ยังมีให้เห็นตามหินผาสูงชันอยู่เลยค่ะ

ที่สรงน้ำพระราชินีเป็นเรือนหินชั้นเดียว มีระเบียงทางเดินล้อมรอบ สระสรงน้ำทรงสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง ลึก 1 เมตรกว่า ในอดีตตามโถงทางเดินมีภาพสีน้ำประดับ แต่ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงทุกวันนี้ และตอนนี้ไม่มีน้ำให้เห็นหรอกนะคะ มีเพียงทางส่งน้ำ สมัยก่อนเขาอาบน้ำอบปรุง และสงวนไว้เป็นที่สำหรับเจ้านายฝ่ายชายและนางในของพระองค์เท่านั้น


ฉันเลยไป วัดวิทลา ไปดูรถม้าพระที่นั่งหินของพระวิษณุค่ะ ระหว่างทางผ่านตลาดของชาววิชัยนครา ตลาดนี้ไม่ได้ขายผักผลไม้ แพะหรือไก่หรอกนะคะ เขาขาย เพชร และ ทอง กันค่ะ เหลือให้เห็นแต่โครงเสาหินยาวตลอดแนวหลายกิโลเมตร มีบางช่วงเป็นศาลาหินสี่เสา สำหรับให้ชาวบ้านแลกม้ากันในสมัยโบราณ ฉันโดนน้องๆ นักเรียนรุมอีกรอบค่ะที่วัดนี้ ถ่ายรูปคู่กันประหนึ่งเป็นดาราเลยค่ะ ท่าจะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวหน้าแปลกอย่างฉันแวะเวียนไปที่ฮัมปิจริงๆ

วัดวิทลา ถือว่า เป็นวัดมาสเตอร์พีชของวิชัยนครา และงานแกะสลักที่วัดนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า 'สุดยอด' ในสมัยวิชัยนคราเลยทีเดียวค่ะ วัดวิทลาสร้างขึ้นในภายหลังช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ในสมัยของ กฤษณะเทวราช รถม้าพระที่นั่งของพระวิษณุอยู่ด้านหน้าก่อนถึงทางเข้าแท่นบูชาใหญ่ เป็นจุดฮอตฮิตของนักท่องเที่ยวที่ต้องถ่ายรูปคู่กับรถพระนั่ง งานแกะสลักละเอียดและวิจิตรมาก มีแท่นบูชาครุฑขนาดเล็ก อยู่ด้านบนของรถพระที่นั่ง สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์เฉยๆ นะคะ แม้จะเหมือนจริงมาก แต่ล้อหินนั้นวิ่งไม่ได้จริงหรอกนะคะ เพราะสำหรับเคารพบูชา เดินเลยขึ้นไปบนมณฑปทรงพีระมิด ให้ลองเคาะเสาที่หอดนตรีที่มีภาพแกะสลักนูนต่ำเป็นรูปนักดนตรี เคาะเบาๆ ที่เสา จะได้ยินเสียงดังก้องไปทั้งโถง คนเลยเคาะกันใหญ่ มีทั้งเคาะทั้งลูบเสาเป็นเงาวับเชียวค่ะ

แดดเริ่มคล้อย ฉันออกจากวัดวิทลา เจอเด็กวัยเริ่มจะรุ่นอีกกลุ่มใหญ่ เข้ามารุมทักทายและถ่ายรูป เป็นการเริ่มต้นมิตรภาพในอีกรูปแบบ จนมัคคุเทศก์ชาวอินเดียเข้ามาขอโทษขอโพยว่า เด็กพวกนี้รุ่มร่ามกับนักท่องเที่ยว ฉันรีบอธิบายว่า ไม่เป็นอะไรเลย เพราะฉันเองก็เจาะถ่ายรูปคนอินเดียซะเยอะเหมือนกัน บางทีอาจไปรุ่มร่ามโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

จากวัดวิทลา ฉันกลับเข้าเมืองเพื่อหาอะไรรองท้อง ก่อนใช้เวลาช่วงแดดร่มลมตกขึ้นเขา เหมคูตา สถานที่บูชาต่างๆ บนเขานี้เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของสถาปัตยกรรมในยุคก่อนและต้นรัชสมัยวิชัย นครา และอนุสาวรีย์ที่กระจายอยู่ได้สร้างขึ้นในแต่ละยุคตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เรื่อยมา ช่วงพระอาทิตย์ตกดินจะมีคนอินเดีย ซึ่งน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่า นำกลองมาตีสร้างบรรยากาศ บนนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่แนะนำให้อ้อยอิ่งอยู่นานหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพราะเป็นที่ลับสายตาคน

ฉันเดินเรื่อยไปยัง แท่นบูชาพระพิฆเนศประทับนั่ง ขนาดใหญ่เกือบ 5 เมตร มีผู้นำขนมหวานมาบูชาไม่ขาด วัดกฤษณะ เป็นอีกที่ที่ไม่ควรพลาด เดินเลยไปดู นารายสิงห์ อีกหนึ่งอวตารของพระวิษณุ ตัวเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงโต คนไทยเราอาจรู้จักในชื่อ 'ฤๅษีหน้าเสือ' เป็นภาคที่พระวิษณุฆ่าปิศาจ Hiranyakashipu ใกล้ๆ กันเป็นศิวลึงค์ขนาดใหญ่มากสูง 3 เมตรเห็นจะได้ อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในแท่นบูชาค่ะ

โบราณสถานบริเวณนี้อยู่ใกล้กับตัวเมืองค่ะ เดินเล่นได้สบาย หากขยันเดินไกลอีกนิด มีวัดใต้ดินค่ะ ขุดเจอตอนบูรณะพื้นที่ใกล้เคียง ตามหลักฐานเปรียบเทียบสถาปัตยกรรม เชื่อว่าเป็นวัดที่ใช้ในกิจการศาสนาของสมาชิกราชวงศ์

เดินต่ออีกนิดเป็นปราการเมือง อยู่ภายในเขตวัด หัสราม มีร่องรอยภาพแกะสลักแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับชาวยุโรป มีชาวมุสลิมจำนวนมากในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอินเดียฮินดูที่เปลี่ยนความเชื่อ และผู้อพยพจากตะวันออกกลางและเอเชียกลางที่ผู้ปกครองวิชัยนคราว่าจ้างเข้ามา ค้าแรงงาน ไม่นับรวมทาสตุรกี ในระหว่างศตวรรษที่ 14-15 ที่ถูกกวาดต้อนจากเอเชียกลาง เข้ามาเป็นทั้งเจ้าพนักงาน เป็นยามรักษาการณ์ และเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ หรือผู้สร้างความบันเทิงให้กับสมาชิกราชวงศ์ ร่องรอยของชุมชนชาวมุสลิม สุเหร่า และสุสานยังมีให้เห็นอยู่เลยค่ะ ขณะที่มีการดูดกลืนวัฒนธรรมการแต่งกายบางส่วนอย่างเสื้อคลุม และหมวกทรงแหลมสูงที่พวกกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงนำมาใช้ด้วย ไม่รวมถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้อิทธิพลจากมุสลิม และอาหรับมาเต็มๆ อย่างที่เราเห็น

ฉันฝากท้องมื้อเย็นกับร้านอาหารโฮมเมดที่รอนานมาก เจ้าของร้านออกไปซื้อของสดเข้ามาทำทีละอย่าง เดินหลายเที่ยวมาก เดี๋ยวซื้อไข่เป็ด เดี๋ยวออกไปซื้อน้ำมัน ซื้อผัก

แต่ก็อร่อยคุ้ม... อย่างน้อยฉันกลับเข้าไปกินตลอด 3 วันที่อยู่ในฮัมปิ


หมายเหตุการเดินทาง: ฮัมปิ เป็นเมืองหลวงของวิชัยนครา มีรถโดยสารจากกัว และบังคาลอร์ ระยะทาง 325 กิโลเมตร หรือนั่งรถประจำทางจาก 'มาดูไร' 1 คืน มาลงที่เมืองฮอสเปก และนั่งประจำทางต่อไปยังฮัมปิ มีรถออกทุกชั่วโมง หรือ จ้างสามล้อประมาณ 100 บาท

ไม่มีความคิดเห็น: