หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ซาเลห์สละอำนาจ


ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ของเยเมน เซ็นลงนามสละอำนาจแล้วเมื่อวันพุธ (23 พ.ย.) เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง การนองเลือดประท้วงขับไล่ ที่ดำเนินติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.

กลายเป็นผู้นำรายที่ 4 และรายล่าสุด ที่ถูกขับจากตำแหน่ง ในรอบ 12 เดือน จากผลพวงของ “อาหรับสปริง” กระแสประชาชนลุกฮือปฏิวัติ โค่นล้มผู้นำและระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่เริ่มจากตูนิเซียเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

ผู้นำเหยื่อ อาหรับ สปริง 3 คนก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ประธานาธิบดีซีเน เอล อาบีดิน เบน อาลี ของตูนิเซีย ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ของอียิปต์ และ พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย 2 รายแรกกำลังถูกดำเนินคดีเช็กบิลย้อนหลัง แต่รายหลังจบชีวิตน่าอนาถ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าถูกวิสามัญ หลังจนมุมถูกจับกุมตัวได้


ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ด้านการทูต ของกลุ่มความร่วมมือ 6 ประเทศในภูมิภาค คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ที่สามารถกล่อมซาเลห์ ให้สละอำนาจที่ครองมายาวนานถึง 33 ปี ได้สำเร็จ หลังจากหลายประเทศและกลุ่มองค์กรพยายามแล้ว แต่ไม่ได้ผล

ซาเลห์ลงนามวางมือจากอำนาจ ที่พระราชวังซาอุดีอาระเบีย ในกรุงริยาด ต่อหน้าพระพักตร์กษัตริย์อับดุลลาห์ และสักขีพยานตัวแทนชาติสมาชิกจีซีซีอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คูเวต โอมาน และกาตาร์ และแน่นอนรวมถึงตัวแทนฝ่ายค้านเยเมน ที่ยกขบวนไปดูซาเลห์สละอำนาจให้เห็นกับตาด้วย

ภายใต้ข้อตกลงตามแผนสันติภาพของจีซีซี ซาเลห์จะส่งมอบ “อำนาจหน้าที่” ทั้งหมด ให้รองประธานาธิบดีอับดุล ราบู มันซูร์ ฮาดิ ของเยเมน “ในทันที” แต่จะยังครองตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ในนามอีก 30 วัน จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. จึงจะสละตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ

ฮาดิจะตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ร่วมกับฝ่ายค้าน และประกาศให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนด ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ซาเลห์ลงนามสละอำนาจ

ประเด็นสำคัญสุด ซาเลห์จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใด ๆ หลังพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เอกสิทธิคุ้มกันนี้รวมถึงลูกชายและหลานของซาเลห์ ที่มีส่วนร่วมในการควบคุมประเทศ ด้วย

อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ วัย 69 ปี อดีตนายทหารกองทัพบก ยศจอมพล เป็นประธานาธิบดีของเยเมนเหนือตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2521 และของสาธารณรัฐเยเมนตั้งแต่ 22 พ.ค. 2533 รวมระยะเวลาครองอำนาจติดต่อกัน 33 ปีกว่า ยาวนานกว่าประธานาธิบดีทุกคนของประเทศ และถึงเดือน พ.ย. 2554 กลายเป็นผู้นำประเทศ ที่ไม่ใช่ราชวงศ์ ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

เข้าทำเนียบผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมอีกราย หากวัดกันตามมาตรฐานสากลของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรืออื่น ๆ วาระดำรงตำแหน่งโดยเฉลี่ย 4, 5 หรือ 6 ปี จะครองอำนาจติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย

ซาเลห์สละอำนาจแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในเยเมนจะจบหรือไม่? ปัญหานี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ เพราะยังเชื่อลึก ๆ ว่า ซาเลห์ตัดไม่ขาด และตัดไม่ได้แน่นอน เนื่องจากกว่า 33 ปีที่ครองอำนาจ ครอบครัว รวมทั้งญาติมิตรบริวาร โยงใยฝังรากลึกในกองทัพ ธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ

ซาเลห์เคยเปรียบเปรย ความพยายามรักษาอำนาจตลอด 33 ปีที่ผ่านมาว่า เหมือนเต้นรำหลอกล่อบนหัวงูหลายหัว ต้องระวังไม่เผลอให้หัวใดหัวหนึ่งฉกกัดเอาได้

กาห์เนม นัสไซเบห์ นักวิเคราะห์แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่การปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งแผนสันติภาพเยเมนของจีซีซีที่ซาเลห์ลงนาม มีช่องโหว่จำนวนมากให้ซาเลห์บิดพลิ้ว

สอดคล้องกับมุมมองของนักการทูตต่างชาติในกรุงซานา ซาเลห์ยอมลงนามตามแผนสันติภาพของจีซีซี เพื่อต้องการลดกระแสต้านของฝ่ายค้าน และบรรดาชาติมหาอำนาจ ในแผนมีจุดอ่อนที่ซาเลห์สามารถหลีกเลี่ยงไม่ทำตามได้ทุกขั้นตอน

ซาเลห์ถือเป็นนักบริหารจัดการอำนาจ ระดับเซียนรายหนึ่ง เชี่ยวชาญวิธีประสานประโยชน์ทางการเมือง เอาตัวรอดจากความพยายามโค่นล้มของฝ่ายตรงข้ามนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงการลอบสังหารอีกหลายครั้ง

ความหวังที่จะเห็นความสงบสุขกลับคืนสู่เยเมน ถูกสั่นคลอนเพียงแค่วันเดียวหลังการลงนาม ผู้ประท้วงในกรุงซานา ที่ก่อหวอดเรียกร้องให้นำตัวซาเลห์ดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ถูกกลุ่มคนร้ายที่เชื่อกันว่าเป็นฝ่ายจงรักภักดีต่อซาเลห์ กราดยิงดับอย่างน้อย 5 ราย

อีกทั้งยังไม่มีวี่แวว กลุ่มผู้ประท้วงขับไล่ซาเลห์หลายหมื่นคน ที่ปักหลักพักแรมตามถนนสายต่าง ๆ ในเมืองหลวงกรุงซานา ตลอด 8 เดือนเศษที่ผ่านมา จะสลายตัวแยกย้ายกันกลับบ้าน ผู้ประท้วงจำนวนมากแสดงความโกรธแค้น ที่แผนของจีซีซีคุ้มกันซาเลห์ รวมทั้งลูกและหลานชาย ไม่ให้โดนเช็กบิล

นักการทูตหลายราย กล่าวว่า การลงนามตามแผนจีซีซี มีขึ้นเพียงเพราะเกิดแรงกดดันมหาศาล ทั้งต่อซาเลห์และฝ่ายค้านเยเมน จากมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และหลายประเทศในยุโรป

ตัวหลักอยู่เบื้องหลังแผนสันติภาพจีซีซีคือสหรัฐ ซึ่งพยายามตัดไฟแต่ต้นลม กันสถานการณ์รุนแรงในเยเมนก่อนการอำลาของซาเลห์ ลามข้ามแดนส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านซาอุดีอาระเบีย เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในภูมิภาค และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบหมายเลข 1 ของโลก

อีกอย่างการแก้วิกฤติเยเมนได้ อย่างน้อยจะช่วยแบ่งเบาแรงสหรัฐ ในการเผชิญกับปัญหาท้าทายอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะซีเรียและอียิปต์ ที่กำลังคุกรุ่น

ซาเลห์สละตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ยังคงเป็นผู้นำพรรคเยเนอรัล พีเพิ่ล’ส์ คองเกรส (จีพีซี) ที่เป็นรัฐบาลเยเมนมายาวนาน และจีพีซีจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลแบ่งสรรอำนาจชุดใหม่ร่วมกับฝ่ายค้าน ทำหน้าที่รัฐบาลเฉพาะกาล ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี

มีความเป็นไปได้สูง ที่รัฐบาลเฉพาะกาลเยเมนจะพังก่อนกำหนด และเยเมนกลับคืนสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม หากฐานอำนาจและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของซาเลห์ ถูกฝ่ายค้านที่ร่วมรัฐบาลแตะต้อง.

สุพจน์ อุ้ยนอก
via @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: