หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประท้วงในอียิปต์ (2)

อียิปต์ขยายเคอร์ฟิว-ประท้วงไม่มีกำหนด
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554


อิยิปต์เตรียมประท้วงใหญ่อย่างไม่มีกำหนด ขณะบ้านเมืองระส่ำระสายเหตุผู้คนกักตุนสินค้า

เว็บไซท์อัล จาซีร่า ของการ์ต้า รายงานว่า ชาวอิยิปต์กำลังเตรียมจัดการชุมนุมประท้วงใหญ่
" มาร์ช ออฟ มิลเลียนส์ " ในกรุงไคโรในวันนี้ อย่างไม่มีกำหนด เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดี
ฮอสนีย์ มูบารัค ลาออก และกองทัพได้ประกาศไว้แล้วว่า จะไม่ใช้กำลังจัดการกับผู้ประท้วง
และนับเป็นการลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลเป็นวันที่ 8 แล้ว ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจาก
การปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม อยู่ที่อย่างน้อย 125 คน


นอกจากนี้ ยังจะมีการประท้วงของคนนับล้านที่อเล็กซานเดรีย เมืองท่าในเมดิเตอร์เรเนียน
การให้บริการรถไฟแห่งชาติถูกยกเลิก อันเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงอย่างเป็นระบบ ส่วน
การประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุด ได้มีขึ้นในขณะที่ตำรวจกลับไปประจำการตามถนนอีก แต่ยังไม่
ทราบแน่ชัดว่า จะมีการรับมือกับการประท้วงอย่างไร แต่ทางกองทัพอิยิปต์ ได้ประกาศย้ำ
อย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า จะไม่ขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ทางการได้รับมือกับการประท้วงที่คาดว่าจะมีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมหาศาล ด้วยการสั่งระงับ
การให้บริการรถไฟในกรุงไคโรทั้งหมด ตั้งแต่บ่ายวันจันทร์ ส่วนสายการบินแห่งชาติ อิยิปต์
แอร์ ระบุว่า ได้ยกเลิกเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ตาม
เวลาในท้องถิ่น หรือราว 20.00 น. ตามเวลาในไทยของเมื่อวานนี้ จนถึงเวลา 08.00 น. ตาม
เวลาในท้องถิ่น หรือราว 13.00 น. ของวันนี้ จนกว่ามีการประกาศเพิ่มเติมต่อไป และการ
ระงับเที่ยวบินครั้งนี้ ได้สอดคล้องกับการประกาศขยายเคอร์ฟิว ในกรุงไคโร , อเล็กซานเดรีย
และสุเอซ

อย่างไรก็ตาม กองทัพ ยืนยันว่า จะไม่ยิงใส่ผู้ประท้วงตามท้องถนน แต่การที่มีทหารประจำ

การอยู่ก็เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ของพวกเขา แต่ก็ขอร้องไม่ให้ประชาชน
แสดงพฤติกรรมที่เป็นการบ่อนทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดความมั่นคง หรือทำลายทรัพย์สิน
ของทางราชการและเอกชน พร้อมกับเตือนว่า จะไม่ยอมให้มีการปล้นสะดมภ์ และทำร้ายผู้คน

กลุ่มที่จัดการประท้วง ที่เรียกตัวเองว่า " เอพริล เดอะ ซิกส์ มูฟเม้นท์ " ระบุว่า มีแผนจะจัดการ
ชุมนุมตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงไคโร ที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 1 ล้านคน และเป็นช่วงเวลาที่
ไล่เลี่ยกับที่ประธานาธิบดีมูบารัคและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
เพื่อพยายามปลดชนวนความไม่พอใจของประชาชนที่พากันออกมาประท้วงทั่วประเทศ

ที่จตุรัสทาห์รีร์ ในกรุงไคโร ที่นอกจากจะมีคนไปค้างแรมกันตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมานั้น ยังมีผู้คน
หลั่งไหลเข้าไปสมทบเพิ่มราว 250,000 คน โดยไม่สนใจประกาศเคอร์ฟิว ที่กองทัพประกาศ
ขยายเวลาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีทั้งรถถังและเจ้าหน้าที่คอยตรวจเอกสารประจำตุวของคนที่ผ่าน
ไป-มา บริเวณจตุรัสทาห์รีร์ และแม้จะมีการปิดถนน แต่ผู้คนก็ยังหลั่งไหลเข้าไปอย่างไม่ขาด
สาย และผู้ประท้วงบางคนประกาศว่า จะอยู่ที่จตุรัสแห่งนี้ จนกว่าประธานาธิบดีมูบารัคจะ
ลาออก พวกเขาไม่สนใจการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจตามคำโน้มน้าวของประธานาธิบดี
มูบารัค โดยบอกว่า มันน้อยเกินไปและสายไปแล้ว

ผู้ประท้วงได้แสดงความคับข้องใจ และรอคอยว่ารัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่จะประกาศแผนการ
ทำงานอย่างไรบ้าง เพราะช่วงที่ตำรวจหายไปจากถนนเมื่อวันศุกร์ ทำให้เกิดการปล้นสะดมภ์
จนต้องอาศัยเพื่อนบ้านลาดตระเวณตรวจความเรียบร้อยกันเอง ซึ่งพวกเขาคิดว่า เป็นการตอบโต้
จากรัฐบาล ที่เห็นว่าเมื่อประชาชนต้องการประท้วง ก็ถอนตำรวจออก จะได้เห็นว่า สภาพบ้านเมือง
ที่ไร้ขื่อแปนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งมีรายงานว่า มีคนจำนวนมาก พากันไปซื้อของจำเป็นมากักตุนไว้ เพราะ
ความตื่นตระหนก ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าเริ่มขาดแคลนสินค้าจำเป็น เช่น ไข่ เนยและเนื้อ
ส่วนชาวต่างชาติก็พยายามอพยพกลับประเทศ เนื่องจากมีรายงานว่า ยิ่งมีการประท้วงต่อเนื่อง
ความมั่นคงก็ยิ่งเสื่อมถอยลง และมีรายงานเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ ถูกโจมตีด้วย


อียิปต์เริ่มขาดแคลนอาหาร-คนตกงาน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554


อิยิปต์เผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร สินค้าขึ้นราคาเพราะเคอร์ฟิว และคนส่วนใหญ่เริ่มตกงาน

เว็บไซท์ อัล จาซีร่า รายงานว่า อิยิปต์กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร หลังจากธุรกิจพากันปิดตัว ท่ามกลางเคอร์ฟิว และการประท้วงยังคงยืดเยื้อต่อไป ที่ตลาดกลางแจ้งที่ขายผักและผลไม้ในย่านอัล มาเนียล กลางกรุงไคโร พบว่า ราคามันฝรั่งต่อกิโลกรัมของบางร้านนั้น ขึ้นราคาจาก 3 ปอนด์อิยิปต์ เป็น 4 ปอนด์อิยิปต์ หรือราว 21 บาท

พ่อค้าคนหนึ่ง บอกว่า ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงทุกวัน ขึ้นอยู่กับรถส่งของว่าจะฝ่าผู้ประท้วงเข้ามาได้หรือไม่ ซึ่งปกติแล้ว พวกพ่อค้าส่งจะนำสินค้าไปส่งในตลาดตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งเป็นช่วงที่การจราจรเบาบางที่สุด และได้มีการผ่อนผันข้อจำกัดสำหรับพวกรถบรรทุก แต่หลังจากมีเคอร์ฟิวทำให้ยากที่จะส่งของตอนกลางคืนได้ และต้องหันมาส่งของในเวลากลางวัน ทำให้สูญเสียรายได้ในช่วงเช้า ทั้งยังสูญเสียลูกค้าในช่วงบ่าย เพราะต้องรีบกลับบ้านก่อนเคอร์ฟิวอีกด้วย

บรรดาร้านอินเตอร์เน็ต ต่างได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะอินเตอร์ยังคงเข้าไม่ได้ทั่วประเทศทำให้ธุรกิจประเภทนี้หลายพันแห่ง ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ เช่นเดียวกับร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และแม้แต่ถนนที่เคยคับคั่งและไม่ได้อยู่ในจุดที่มีการประท้วง ก็ยังพบว่า ธุรกิจกว่าครึ่งพากันปิดตัว คนขับแท็กซี่หลายคน พากันร้องทุกข์ว่ารายได้น้อยกว่าเดิม เพราะแม้จะได้ลูกค้า แต่ก็ไม่อาจพาไปส่งยังจุดหมายปลายทางได้ เนื่องจากถนนถูกปิด

ผู้ให้บริการล่องเรือแม่น้ำไนล์ ก็ต้องระงับให้บริการโดยสิ้นเชิง แต่ยังต้องจ่ายค่าแรงพนักงานต่อไป แต่ลดลงจาก 150 ปอนด์อิยิปต์ เหลือเพียง 50 ปอนด์อิยิปต์ ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ได้ชื่อว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงอิยิปต์ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ร้านอาหารรวมทั้งภัตตาคารลอยน้ำล่องแม่น้ำไนล์ ก็ต้องปิดให้บริการ พวกผู้สื่อข่าวที่หลั่งไหลเข้าไปทำข่าวต่างก็เลือกที่จะพักร่วมกัน และมีชาวอิยิปต์ไม่น้อยที่ต้องการให้ยุติการประท้วง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังจะทำให้อนาคตของหลายคนไม่แน่นอน โดยเฉพาะคนที่กำลังขาดรายได้หาเลี้ยงครอบครัว



สถานการณ์อียิปต์ดันราคาน้ำมันพุ่ง
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554

ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น จากความวิตกระลอกใหม่ว่า เหตุความไม่สงบในอียิปต์ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการจัดส่งน้ำมันในคลองสุเอซ

ราคาน้ำมันดิบไลท์ ส่งมอบล่วงหน้าเดือน มี.ค. ที่ตลาดนิวยอร์ก สหรัฐ ขยับขึ้นอีก 9 เซนต์ ปิดซื้อขายวานนี้ (2 ม.ค.)ที่ 90.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือ ส่งมอบล่วงหน้าเดือนเดียวกัน ในตลาดลอนดอน อังกฤษ ปรับตัวขึ้น 60 เซนต์ มาอยู่ที่ 102.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังระหว่างวันซื้อขาย ทะยานขึ้นไปถึง 102.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เทรดเดอร์ ชี้ว่า เหตุประท้วงทางการเมืองในอียิปต์ ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดน้ำมันมีความผันผวน และไร้เสถียรภาพมากขึ้น โดยทำให้เกิดความกังวลระลอกใหม่ว่า อาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งน้ำมันบริเวณคลองสุเอซ



รัฐบาลอียิปต์ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554


รัฐบาลอียิปต์ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการหวังลดกระแสไม่พอใจผู้ประท้วง

นายฮอสนี มูบารัก ประธานาธิบดีอียิปต์ ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นครั้งแรก เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) โดยที่ประชุมมีมติปรับขึ้นเดือน และเงินบำนาญ อีก 15% ให้กับข้าราชการราว 6 ล้านคน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย.นี้ และจะใช้งบราว 960 ล้านดอลลาร์

ที่ผ่านมา ข้าราชการถือเป็นเสาหลักสำคัญที่สนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนมาหลายปีแล้ว ในขณะที่ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้

ขณะนักวิเคราะห์ มองว่า มาตรการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลพยายามจะลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วง โดยหวังว่าจะประคับประคองรัฐบาลได้จนถึงการเลือกตั้งในเดือนก.ย.

นอกจากนี้รัฐบาลสัญญาว่าจะตรวจสอบข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปลายปีที่แล้ว โดยพรรครัฐบาลชนะถล่มทลายกวาดที่นั่งในสภาไปกว่า 83% รวมถึงตรวจสอบข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐบาลคอร์รัปชั่น

ขณะที่ผู้ประท้วงยังยืนยันให้ประธานาธิบดีมูบารักลาออกก่อนการเลือกตั้ง และยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ในบริเวณจตุรัสตาหะรีในกรุงไคโร

แต่บรรยากาศแตกต่างจากการปะทะนองเลือดก่อนหน้านี้ โดยมีพ่อค้าขายอาหารเครื่องดื่มมากมาย ผู้ชุมนุมมีการร้องรำทำเพลง และตะโกนขับไล่นายมูบารักให้ลาออกจากตำแหน่งบ้างเป็นครั้งคราว

นอกจากนี้มีการจัดทำพิธีแห่ขบวนศพหลอกๆเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับนักข่าวคนหนึ่งที่เสียชีวิตในเหตุปะทะ โดยมีการแบกโลงศพเปล่าคลุมด้วยธงชาติ รวมทั้งมีการแขวนคอหุ่นจำลองนายมูบารักใกล้กับป้ายประท้วงขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า ลาออก

ผู้นำอียิปต์ยืนยันไม่ลาออก
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554



ฮอสนี มูบารัก แถลงผ่านโทรทัศน์ ยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่ง หรือเดินทางออกนอกประเทศ แต่ส่งมอบอำนาจบริหารให้รองปธน.แทน

นายฮอสนี มูบารัก ประธานาธิบดีอียิปต์ แถลงวานนี้ (10 ก.พ.) ปฏิเสธที่จะลาออก หรือเดินทางออกนอกประเทศ ยืนยันที่จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำต่อไป สร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงใจกลางกรุงไคโร

อย่างไรก็ดี นายมูบารักตัดสินใจที่จะมอบอำนาจบริหารให้กับนายโอมาร์ สุไลมาน รองประธานาธิบดี ซึ่งหลังเสร็จสิ้นแถลงการณ์ นายสุไลมาน ก็ออกมาเรียกร้องในทันที ให้ผู้ประท้วงเดินทางกลับบ้าน พร้อมเรียกร้องให้ชาวอียิปต์สมัครสมาน และมองหน้าไปในอนาคต


ขณะผู้ประท้วงนับแสนคน ที่ชุมนุมบริเวณจัตุรัสตะหารี ใจกลางกรุงไคโร พากันตกอยู่ในความเงียบ หลังนายมูบารักยืนยันไม่ลงจากตำแหน่ง ก่อนที่จะแสดงความโกรธออกมา บางคนถึงขั้นร้องไห้ด้วยความผิดหวัง

ถ้อยแถลงของนายมูบารัก ยังทำให้เหล่าผู้จัดการชุมนุมประท้วงออกมาเรียกร้องให้กองทัพยื่นมือเข้ามา เพื่อจัดการกับผู้นำประเทศ พร้อมประกาศที่จะยกระดับการชุมนุมในวันนี้ (11 ก.พ.)

นายโมฮาเหม็ด เอลบาราเด แกนนำฝ่ายค้าน ทวีตข้อความเรียกร้องให้ทหารยื่นมือเข้ามา โดยระบุว่า กองทัพต้องเข้ามาช่วยเหลือประเทศได้แล้ว

"ผมขอเรียกร้องให้กองทัพอียิปต์เข้าแทรกแซงทันที เพื่อช่วยอียิปต์" ส่วนหนึ่งของข้อความที่นายเอลบาราเด ทวีต


เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างนายมูบารัก กับเหล่าผู้นำกองทัพหรือไม่

ก่อนหน้าที่นายมูบารัก จะแถลงผ่านโทรทัศน์ไม่กี่ชั่วโมงนั้น เหล่านายทหารระดับสูง ของสภากองทัพอียิปต์ ประกาศที่จะยื่นมือเข้ามาเพื่อช่วยรักษาความมั่นคงของประเทศ และบรรดาผู้บัญชาการอาวุโส ประกาศต่อกลุ่มผู้ประท้วงว่า จะได้ตามข้อเรียกร้องทั้งหมดในไม่ช้านี้ สร้างความดีใจให้กับผู้ชุมนุมอย่างมาก


กองทัพหนุน"มูบารัก"
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554




ไคโร - กองทัพหนุนต่ออายุ "มูบารัก" อยู่ในอำนาจถึงก.ย.

กองทัพอียิปต์แถลงว่าจะรับรองว่าประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก จะอยู่ในอำนาจตามคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อให้แน่ใจว่าการเลือกตั้งในเดือนก.ย.จะบริสุทธิ์ยุติธรรม


การตัดสินใจของกองทัพอาจเป็นชนวนให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพกับผู้ประท้วง ซึ่งผิดหวังอย่างแรงจากการที่มูบารักประกาศว่าจะถ่ายโอนอำนาจให้รองประธานาธิบดีโอมาร์ สุไลมาน และจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเดือนก.ย. เพราะแถลงการณ์ของกองทัพสะท้อนว่าทหารหนุนหลังมูบารัก ที่อ่อนข้อให้หลายเรื่องเพื่อปรามกระแสไม่พอใจของผู้ประท้วง

นอกจากนั้น กองทัพยังรับปากจะยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ใช้มาตั้งแต่ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2524 แต่จะยกเลิกโดยเร็วที่สุดเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันสิ้นสุด

กองทัพย้ำว่าจะไม่จับกุมผู้ประท้วง แต่เตือนว่าไม่ควรมีการทำลายความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ พร้อมขอให้พนักงานของรัฐกลับเข้าทำงาน

ผู้ประท้วงที่อยู่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีผิดหวังอย่างมากกับแถลงการณ์ของกองทัพ โดยคนหนึ่งฉวยไมโครโฟนแล้วพูดว่่า "คุณทำให้เราผิดหวัง ความหวังทั้งหมดอยู่ที่คุณ"

ผู้นำอียิปต์ยอมลาออกแล้ว
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554


มูบารักยอมลงจากตำแหน่งแล้ว หลังปกครองอียิปต์มานาน 3 ทศวรรษ พร้อมมอบอำนาจให้กองทัพเป็นผู้ดูแลประเทศ


นายโอมาร์ สุไลมาน รองประธานาธิบดีอียิปต์ แถลงวานนี้(11 ก.พ.)ว่า นายฮอสนี มูบารัก ประธานาธิบดี ตัดสินใจที่จะลาออกจากตำแหน่งแล้ว พร้อมมอบอำนาจให้สภาสูงสุดแห่งกองทัพ เป็นผู้จัดการกับกิจการต่างๆ ของประเทศต่อไป

การลาออกข้างต้นมีขึ้น หลังบรรดาผู้ประท้วงชาวอียิปต์ที่อยู่ในอารมณ์คลั่งแค้น พากันหลั่งไหลเข้าสู่จตุรัสตะหารี ใจกลางกรุงไคโร และยึดพื้นที่บริเวณด้านนอกสถานที่ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกลียดชังระบอบการปกครองในปัจจุบัน เพื่อปักหลักประท้วง พร้อมกับสัญญาว่าจะเพิ่มการผลักดันให้ประธานาธิบดีมูบารักลาออกให้ได้

นอกจากนี้ผู้ประท้วงราว 2,000 คนได้เดินขบวนไปที่สถานีโทรทัศน์ของทางการที่อยู่ห่างจากจตุรัสเพียงไม่กี่ช่วงตึก ขณะพนักงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนหลายหมื่นคนทั่วประเทศ อย่างการไปรษณีย์ การไฟฟ้า โรงงาน แพทย์ และระบบขนส่งมวลชน ได้ก่อหวอดผละงานประท้วง

ส่วนนักกฎหมายหลายร้อยคนพากันฝ่าด่านกั้นของตำรวจและเดินขบวนไปยังหนึ่งในบ้านพักของนายมูบารักที่อยู่ไม่ไกลจากจตุรัสมากนัก


ถ้อยแถลงของนายสุไลมาน สร้างความดีใจให้กับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างมาก โดยทั่วทั้งกรุงไคโรเต็มไปด้วยเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจต่อความคืบหน้าในครั้งนี้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า นายมูบารัก ได้เดินทางออกจากกรุงไคโร ไปยังเมืองชาร์ม เอล ชีค ริมทะเลแดง เพื่อพักผ่อนกับครอบครัว

ไม่มีความคิดเห็น: