หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประท้วงในเยเมน

ผู้ประท้วงเยเมนปะทะตำรวจ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554



ผู้ประท้วงเยเมนนับพันคนปะทะกับตำรวจ ขณะที่บาห์เรน มีผู้เสียชีวิต 1 คน จากการประท้วงเช่นกัน

เว็บไซท์ข่าวอัล จาซีราห์ รายงานว่า ชาวเยเมนหลายพันคน ซึ่งมีนักศึกษา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและทนายความเข้าร่วมด้วยได้กระจายกันไปตามถนนสายต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นวันที่ 4 เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฎิรูปทางการเมืองและการก้าวลงจากอำนาจของนายอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ประธานาธิบดีวัย 64 ปี ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 30 ปี


ทั้งนี้ มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจและผู้สนับสนุนรัฐบาล บริเวณด้านนอกมหาวิทยาลัยในกรุงซาน่าเมื่อวันจันทร์ ซึ่งมีการใช้ทั้งกระบองและก้อนหินเป็นอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน รวมทั้งคนหนึ่งที่ถูกแทงด้วยกริช ซึ่งผู้ประท้วงระบุว่า ไม่เชื่อใจประธานาธิบดีซาเลห์อีกต่อไปแล้ว เพราะเขาเคยรับปากเมื่อปี 2549 ว่า จะลาออก แต่ก็ยังอยู่ในอำนาจต่อ และยังเตรียมจะขอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เขาได้อยู่ในอำนาจไปตลอดชีวิตอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังได้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟ้ซบุ๊คและทวิตเตอร์ ในการเรียกระดมแนวร่วม
ทั่วประเทศ แต่กองกำลังรักษาความมั่นคง ได้เข้าสะกัดการชุมนุมของประชาชนตามจตุรัสต่างๆ ทั้งในกรุงซาน่าและที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อจากโลกภายนอก โยงการประท้วงในเยเมนเข้ากับเหตุการณ์ประท้วงอิยิปต์ มีการตั้งด่านตรวจตามถนนที่มุ่งสู่ทำเนียบประธานาธิบดี และบางแห่งถึงขั้นกั้นด้วยรั้วลวดหนาม

มีรายงานว่า ประธานาธิบดีซาเลห์ ได้ยกเลิกแผนการเดินทางไปสหรัฐ แต่จะไปเยือนพื้นที่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ แทน เพื่อโน้มน้าวบรรดาผู้นำชุมชนไม่ให้เข้าร่วมการประท้วง

ขณะที่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัฐบาลเยเมน เพิ่งจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ภายในเผชิญปัญหาการแบ่งแยกดินแดน อาหารขึ้นราคา อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

ส่วนที่บาห์เรน มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน จากการประท้วงเนื่องในวันแห่งความโกรธแค้น (Day of Wrath) ในกรุงมานามา ที่มีการเรียกร้องหาแนวร่วมผ่านทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน ซึ่งในจำนวนผู้บาดเจ็บ มีผู้หญิงและคนชรารวมอยู่ด้วย ส่วนอาการบาดเจ็บ เป็นผลมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริง และกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา

ทางการบาห์เรน ได้อารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ในพื้นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมชีอะห์และโครงสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญ แต่ผู้จัดการประท้วงบอกว่า ต้องการประท้วงโดยสันติและเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปและขอสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น

กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเยเมนรวมตัวประท้วง เรียกร้องให้ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ลาออก หลังจากครองอำนาจมานาน

อังกฤษเรียกร้องพลเมืองรีบออกจากเยเมน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 1 เมษายน 2554



อังกฤษเรียกร้องพลเมืองรีบออกจากเยเมน

เว็บไซท์หนังสือพิมพ์เทเลกราฟ รายงานว่า กระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ เรียกร้องให้พลเมืองที่อยู่ในประเทศเยเมน รีบเดินทางออกมาโดยทันที เนื่องจากรัฐบาลอาจจะไม่สามารถจัดการอพยพได้ ถ้าสถานการณ์เสื่อมทรามลงกว่านี้ และยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในประเทศที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤติแห่งนี้ ใช้ความพยายามอดกลั้นอย่างที่สุด ในขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายที่ต้อต้าน ต่างออกไปชุมนุมประท้วงต่อต้านกันและกันในวันนี้

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า ขณะที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วนั้น ขอให้พลเมืองชาวอังกฤษทุกคนเดินทางออกจากเยเมนเสียตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งสายการบินพาณิชย์ยังคงให้บริการอยู่ และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มีแนวโน้มที่รัฐบาลอังกฤษจะไม่สามารถจัดการอพยพพลเมือง หรือให้ความช่วยเหลือด้านกงสุลได้ ถ้าความสงบเรียบร้อยถูกทำลายลง

ทั้งนี้ อังกฤษ ได้เรียกร้องให้พลเมืองรีบเดินทางออกจากเยเมน มาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่เป็นไปในรูปของคำแนะนำ แต่เมื่อมีการพูดถึงการอพยพ ได้สะท้อนว่า สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ

สถานการณ์ในเยเมน กลับมาสู่ความน่าวิตกอย่างยิ่งอีกครั้งในวันนี้ เมื่อประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ และผู้ที่ต่อต้านเขา ได้เตรียมจะเผชิญหน้ากันอีกครั้ง

สำนักข่าวซาบาของทางการ รายงานว่า บรรดาผู้นำชนเผ่า ฝ่ายศาสนา ภาคประชาสังคม ยุวชน และประชาชนจากชนบท ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงซาน่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เพื่อขานรับเสียงเรียกร้องของประธานาธิบดีซาเลห์ ที่ให้พวกเขาเข้ามาแสดงพลังสามัคคี ส่วนพวกที่ต่อต้านเขา ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ได้ปักหลักกันอยู่ที่จตุรัสเชนจ์ ใกล้กับมหาวิทยาลัยซาน่า และเรียกร้องให้ประชาชนที่เหลือทนต่อการปกครองของประธานาธิบดีซาเลห์ ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงตามท้องถนน

การเผชิญหน้ากันระหว่างผู้นำเยเมนและฝ่ายต่อต้าน ได้ดำเนินมานาน 2 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์บานปลายเมื่อวันที่ 18 มีนาคม เมื่อผู้ประท้วง 52 คน ถูกยิงเสียชีวิตในกรุงซาน่า โดยฝีมือของฝ่ายที่สนับสนุนประธานาธิบดีซาเลห์

ผู้ประท้วงชาวเยเมนหลายหมื่นคนรวมตัวที่จัตุรัสในเมืองหลวง เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก 02-04-2011

เยเมนใช้กระสุนจริงสลายผู้ประท้วงตาย 1 เจ็บกว่าพันคน
วันที่ 4 เมษายน 2554


เยเมนใช้กระสุนจริงสลายผู้ประท้วงตาย 1 เจ็บกว่าพันคน

ประชาชนชาวเยเมนปักหลักนั่งประท้วงในจตุรัสของเมืองทาอิซ ห่างจากกรุงซาน่าไปทางใต้ราว 200 กิโลเมตรเมื่อวาน เช่นเดียวกับการชุมนุมในหลายเมืองตลอดกว่าสองเดือนนี้เพื่อขับไล่ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ออกจากตำแหน่ง หลังจากปกครองประเทศมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ตำรวจได้ปืนยิงกระสุนจริงเข้าที่ศีรษะของชายฉกรรจ์คนหนึ่งขณะฉีกป้ายโปสเตอร์ของประธานาธิบดีระหว่างชุมนุมประท้วง หลังจากนั้นยังมีการใช้ปืนกระสุนยาง และกระบองเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วง สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่ามีผู้บาดเจ็บเกือบ 1,600 คน ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บราว 1,200 คน

ผู้ว่าการจังหวัด ฮามุด อัล-ซูฟี ปฏิเสธข่าวที่ระบุว่ามีผู้ประท้วงเสียชีวิต 1 คน และอ้างว่ามีทหาร 8 นายบาดเจ็บจากการที่มีการปะทะภายในกลุ่มผู้ประท้วงกับผู้ที่แทรกซึมเข้าไป ทำให้ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์

การประท้วงเมื่อวาน มีขึ้นหลังจากแนวร่วมฝ่ายค้านยื่นข้อเสนอเมื่อวันเสาร์ให้ประธานาธิบดีซาเลห์สละอำนาจให้กับรองประธานาธิบดี อับดู รับโบ มันซูร์ ฮาดี เพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างสันติ และขอให้นายฮาดีปรับปรุงหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยรีพับลิกันการ์ดที่ภักดีต่อนายซาเลห์และควบคุมโดยลูกหลานของเขา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายต่อต้านได้ยื่นข้อเสนอนี้ หลังจากเริ่มชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้นำมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม

ประธานาธิบดีซาเลห์แถลงปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และบอกว่าฝ่ายต่อต้านควรยุติวิกฤติครั้งนี้ด้วยการหยุดชุมนุมประท้วง ก่อนหน้านี้เขาเคยเตือนว่าเยเมนกำลังเผชิญกับระเบิดเวลา และประเทศอาจถลำเข้าสู่สงครามกลางเมือง เหมือนโซมาเลีย

ขณะที่ชาติสมาชิกในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ หรือจีซีซี เริ่มเจรจาไกล่เกลี่ยกับทั้งฝ่ายรัฐบาลเยเมนและฝ่ายต่อต้านเพื่อหาทางยุติวิกฤตการเมือง หลังจากมีรายงานว่า การสลายกลุ่มผู้ประท้วงตลอดกว่าสองเดือนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 95 คนแล้ว

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ในสหรัฐ รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐเริ่มเล็งเห็นแล้วว่า ประธานาธิบดีซาเลห์จะไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้ และควรลาออกจากตำแหน่ง จึงได้เริ่มผลักดันอยู่หลังฉากเพื่อให้เกิดการผลัดเปลี่ยนอำนาจในเยเมน แม้ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาวิจารณ์ผู้นำเยเมนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนก็ตาม


เยเมนใกล้สงครามกลางเมือง
วันที่ 4 มิถุนายน 2554


เยเมนใกล้สงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีประกาศโต้กลับ หลังเจอฝ่ายตรงข้ามยิงจรวดถล่มจนบาดเจ็บ

ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์แห่งเยเมน ประกาศจะตอบโต้กลับ หลังจากถูกยิงจรวดถล่มทำเนียบประธานาธิบดี จนเขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่ศีรษะ และรัฐบาลระบุว่าเป็นฝีมือของเชคซาดิก อัล-อาห์มาร์ ซึ่งเป็นชาวเผ่าทรงอิทธิพลและสู้รบกับกองกำลังรัฐบาลในกรุงซานา ตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงพังทลายลงเมื่อต้นสัปดาห์

ประธานาธิบดีซาเลห์แถลงทางวิทยุว่าเขามีสุขภาพดี แต่มีเครื่องชี้หลายอย่างว่าบาดแผลของเขาอาจร้ายแรง เพราะเขาถูกนำส่งตัวส่งโรงพยาบาลและยังไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชนตามที่บอกไว้

เจ้าหน้าที่เผยว่าการยิงจรวดถล่มครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน ขณะที่นายกรัฐมนตรีอาลี โมฮัมเหม็ด มูจาวาร์ มีแผลไฟไหม้ที่หน้า ส่วนรองนายกรัฐมนตรีราชัด อัลอลิมี ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ผู้ได้รับบาดเจ็บยังรวมถึงประธานสภา เลขาส่วนตัวของประธานาธิบดีซาห์เล ประธานสภาที่ปรึกษา สส.ผู้ว่าราชการจังหวัดซานา และอิหม่ามประจำมัสยิด หลังจากเมื่อวันศุกร์ (3 มิ.ย.) จรวดลูกหนึ่งไปโดนมัสยิดในทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่นายซาเลห์กำลังสวดมนต์ร่วมกับผู้นำคนอื่น

ในเวลาต่อมาสมาชิกระดับสูงในคณะรัฐบาล 5 คนถูกนำตัวไปรับการรักษาที่ซาอุดีอาระเบีย

การโจมตีเมื่อวันศุกร์นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชนเผ่าพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดี โดยจรวดอย่างน้อย 3 ลูกไปตกภายในและรอบๆ ทำเนียบ


ทั้งนี้ ประธานาธิบดีซาเลห์อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2521 และถูกประชาชนทั่วประเทศเรียกร้องให้ลงจากอำนาจ ตามกระแสการลุกฮือในอียิปต์และตูนิเซีย แต่ประธานาธิบดีซาเลห์ไม่ยอมรับแผนการของสภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซียเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งให้เขาลงจากตำแหน่งแลกเปลี่ยนกับสิทธิคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดี ดังนั้น ชาวเผ่าที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจึงเข้ายึดอาคารของรัฐในกรุงซานา ทำให้เกิดการปะทะกับกองทัพที่จงรักต่อประธานาธิบดี

ไม่มีความคิดเห็น: