หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วีซ่า

ข้อมูลทั่วไป

1. คนต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราหรือขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่คนต่างชาติดังกล่าวมีถิ่นพำนัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานที่ขอวีซ่า กรุณาสอบถามได้จากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยทุกแห่ง


สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่และที่ติดต่อของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศที่ http://www.thaiembassy.org

2. คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งมี 2 กลุ่มดังนี้
(1) ประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ดูรายละเอียดได้ที่ รายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน

(2) ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรากับประเทศไทย ดูรายละเอียดได้ที่ รายชื่อประเทศที่ได้ทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต ราชการ และธรรมดา กับประเทศไทย

3. คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถมาขอรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยบางแห่งที่กำหนดไว้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ (visa on arrival) ดูรายละเอียดได้ที่ รายชื่อประเทศที่สามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) และพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 15 วัน

4. คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศเขตติดโรคไข้เหลืองจะต้องแสดง “เอกสารระหว่างประเทศรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง” (International Health Certificate on Yellow Fever Vaccination) ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งจะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ ดูรายละเอียดได้ที่ หลักเกณฑ์การตรวจลงตราแก่คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง

5. คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าเข้าไทยได้มีดังนี้
- ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- มีหลักฐานแสดงว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดการพำนักในไทย เช่น ตั๋วเครื่องบิน และมีวีซ่าหรือหลักฐานว่าสามารถเดินทางกลับประเทศที่มีถิ่นพำนัก หรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นได้ (ในกรณีขอเดินทางผ่าน)
- ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เช่น เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในขณะพำนักในไทยตามระเบียบกำหนดคืออย่างน้อยคนละ 20,000 บาท เป็นต้น

6. ในการขอวีซ่านั้น คนต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ การอนุมัติวีซ่าอยู่ในดุลพินิจของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ และในการตรวจลงตราให้แก่คนต่างชาติบางสัญชาติ ได้มีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นพิเศษ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่ง

7. เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการเดินทาง คนต่างชาติที่จะขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับอายุของวีซ่า (visa validity) และระยะเวลาพำนัก (period of stay) อายุของวีซ่าหมายถึงระยะเวลาที่ผู้ได้รับวีซ่าสามารถใช้เดินทางมาประเทศไทยได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุลจะเป็นผู้กำหนดอายุของวีซ่าและจะปรากฏอยู่ในวีซ่าสติ๊กเกอร์หรือตราประทับวีซ่าของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ โดยทั่วไปอายุของวีซ่าคือ 3 เดือนนับจากวันที่ออกวีซ่า แต่ในบางกรณีและสำหรับวีซ่าบางประเภทอายุของวีซ่าอาจเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปี

ส่วนระยะเวลาพำนักหมายถึงระยะเวลาที่ผู้เดินทางได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาพำนักเมื่อคนต่างชาติเดินทางมาถึง และจะปรากฏอยู่ในตราประทับขาเข้า ระยะเวลาพำนักขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่า เช่น transit visa จะได้รับอนุญาตให้พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน tourist visa ไม่เกิน 30 วันหรือ 60 วัน และ non-immigrant visa ไม่เกิน 90 วัน หากมีความจำเป็นต้องอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว คนต่างชาติต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (มีสำนักงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด) มิฉะนั้น หากอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับวันละ 500 บาทรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตอยู่ต่อ สอบถามได้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 0-2141-9889 หรือดูที่เว็บไซต์ www.immigration.go.th

8. คนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าประเภทใด ๆ ก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ดังนั้น คนต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภทที่ถูกต้องคือ Non-Immigrant Visa “B” เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ รายละเอียดเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตทำงานดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่ www.doe.go.th/workpermit/index.html

9. สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้วีซ่าแก่คนต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เดินทางมาประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เข้าประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาที่จะอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ดังนั้น คนต่างชาติที่ได้รับวีซ่าแล้วบางรายอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะหรือพฤติการณ์เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522


ประเภทของการตรวจลงตรา

1. การตรวจลงตราประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)

2. การตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa)

3. การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)

4. การตรวจลงตราประเภททูต (Diplomatic Visa)

5. การตรวจลงตราประเภทราชการ (Official Visa)

6. การตรวจลงตราประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa)

-------------------------
วีซ่า คืออะไร?



วีซ่าในที่นี้มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "VISA" ซึ่งหมายถึงหลักฐานการอนุญาตให้เข้าประเทศที่ทำเป็นรอยตราประทับ หรือเป็นแผ่นกระดาษสติกเกอร์ติด อยู่ในหนังสือเดินทาง โดยเป็นหลักการเดียวกันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้ถือปฏิบัติว่า ก่อนที่คนของประเทศหนึ่งจะเดินทางเข้าไปอีกประเทศหนึ่ง ประเทศใด ก็จะต้องไปขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศจากกงสุลของประเทศที่จะเดินทางไปเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะได้รับการประทับตราวีซ่า หรือติดเป็นสติกเกอร์ที่เป็นวีซ่าให้ในหนังสือเดินทาง



ตามปกติโดยทั่วไปแล้วถึงแม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องขอวีซ่าสำหรับเดินทาง เข้าประเทศนั้นๆ เสียก่อนก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศที่ได้ทำความตกลงไม่ต้องขอวีซ่าระหว่างกันก็ได้ หรือบางประเทศอาจยกเว้นโดย การอนุญาตให้คนบางสัญชาติเดินทางเข้าไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเลยก็ได้

สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น เป็นลักษณะผสม 3 อย่าง คือ
ต้องขอวีซ่าจากต่างประเทศก่อนเดินทางเข้ามา โดยขอวีซ่าที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า VISA ON ARRIVAL ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบางด่านหรือที่สนามบินนานาชาติในประเทศไทย บางกรณีมีการยกเว้นสำหรับคนที่มีสัญชาติของบางประเทศ ไม่ต้องขอวีซ่าเลยก็สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ว่า พวกที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีวีซ่านี้ ก็จำกัดเพียงเฉพาะคนสัญชาติของประเทศที่มีความเจริญ และมีฐานะค่อนข้างดี ที่มีความประสงค์จะเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยวในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 30 วัน เท่านั้น

การตรวจลงตรา (วีซ่า) มีอยู่หลายประเภท บางประเภทจะออกให้สำหรับบุคคลที่ถือหนังสือเดินทางฑูต หรือหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น บางประเภทจะออกให้กับคนต่างด้าวทั่วไปที่ต้องการจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และบางประเภทจะเป็นวีซ่าเกี่ยวกับผู้ที่จะเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งวีซ่าในแต่ละประเภทนี้ จะมีสิทธิแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของระยะเวลาที่จะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็น ระยะเวลายาวนานไม่เท่ากัน และค่าธรรมเนียมวีซ่าก็แตกต่างกันด้วย ดังต่อไปนี้


วีซ่าสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการฑูต (DIPLOMATIC VISA)


วีซ่าชนิดนี้จะออกให้สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางฑูต เพื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมวิธีการขอกระทำได้โดยการยื่นคำขอวีซ่าที่สถานฑูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ แต่หากผู้ถือหนังสือเดินทางฑูตของประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีความตกลงกับประเทศไทยว่าด้วย การยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกัน ก็จะสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่า คนต่างด้าวประเภทนี้เมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจะได้รับการอนุญาตให้อยู่ต่อในขั้นต้น ณ ด่านตรวจ เป็นเวลา 90 วัน

วีซ่าสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นทางการ (OFFICIAL VISA)

วีซ่าชนิดนี้ออกให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการเพื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ซึ่งมีวิธีการขอวีซ่าหรือมีการยกเว้น ไม่ต้องมีวีซ่าสำหรับบางประเทศที่มีข้อตกลงระหว่างกัน ในทำนองเดียวกันกับวีซ่าสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการฑูต ผู้ถือวีซ่าชนิดนี้เมื่อเดินทางเข้ามาใน ราชอาณาจักรจะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 90 วัน ณ ด่านตรวจเช่นกัน

วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (NON-IMMIGRANT VISA)

วีซ่าชนิดนี้คนต่างชาติจะต้องไปยื่นคำขอที่สถานเอกอัครราชฑูต หรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ โดยต้องระบุแจ้งเหตุผลลงในแบบคำขอวีซ่าด้วยว่าต้องการจะเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยความมุ่งหมายใด วีซ่าชนิดนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวชนิดเดียวเท่านั้น ที่สามารถใช้ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ และการจะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้นั้น ขึ้นอยู่กับประเภทวีซ่าที่ขอเข้ามาในประเทศไทยว่า ต้องไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน คนต่างด้าวผู้ใด

ในปัจจุบันจะเป็นสติกเกอร์ติดลงไปในหนังสือเดินทาง แต่อาจมีกงสุลไทยบางแห่งซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ที่ยังใช้เป็นตราประทับอยู่ แต่ก็ใช้ได้เหมือนกัน โดยสติกเกอร์หรือรอยตราประทับดังกล่าวจะมีข้อความระบุบอกว่าเป็นวีซ่าประเภทอะไร มีรหัสว่าอะไร เช่น ถ้าขอเพื่อไปทำงานในวีซ่าก็จะระบุว่า NON-IMMIGRANT VISA class B ถ้าขอเพื่อเข้ามาศึกษาก็จะเป็น class ED หรือถ้าเป็น O ก็หมายถึง OTHER คือพวกที่อยู่ใน (10) ดังกล่าวข้างต้น และในวีซ่านั้นจะระบุกำหนดระยะเวลาให้ใช้วีซ่าว่าให้ใช้ตั้งแต่วันที่ออกให้ จนถึงเมื่อใด ระยะเวลาตรงนี้มีผู้เข้าใจผิดกันมาก โดยมักจะเข้าใจว่าเป็นระยะเวลาที่อนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เพราะว่าระยะเวลาที่ระบุไว้นั้น เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาที่ให้ใช้วีซ่าเดินทาง เข้าประเทศไทยเท่านั้นเอง และเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยในระหว่างเวลาที่กำหนดให้ใช้วีซ่า ก็จะได้รับการประทับตราอนุญาตให้อยู่ได้เป็นเวลา 90 วัน ณ ด่านตรวจ แม้ว่าจะเดินทางเข้า ประเทศไทยในวันสุดท้ายของระยะเวลาให้ใช้วีซ่าที่ระบุไว้นั้นก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นกำหนดระยะเวลาการอนุญาตในขั้นต้นสำหรับวีซ่าประเภทนี้

นอกจากนั้นแล้ว หากเห็นว่ามีถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษว่า NO EXTENSION OF STAY (ไม่อนุญาตให้อยู่ต่อ) ที่ปรากฏอยู่ในวีซ่า หากการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ตามวีซ่าที่ได้รับไว้ตั้งแต่แรกขณะที่เดินทางเข้ามาจะสิ้นสุดลง คนต่างด้าวนั้นก็มีสิทธิที่จะยื่นคำขออยู่ต่อได้ตามเหตุผล และความจำเป็นของตน ถ้าหากผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นว่า มีเหตุผล หรือความจำเป็นจริง ก็จะอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้ หรือหากว่าคนต่างด้าวผู้นั้นมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การอนุญาตให้อยู่ต่อของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ต่อได้

วีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว (TOURIST VISA)


วีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว ต้องยื่นคำขอจากนอกประเทศไทยเช่นเดียวกับ NON-IMMIGRANT VISA เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยจะได้รับอนุญาต ณ ด่านตรวจ ให้อยู่เป็นเวลา 60 วัน และขออยู่ต่อได้อีก 30 วัน (เฉพาะประเทศศรีลังกา บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล อิหร่าน ไนจีเรีย โตโก ยูกันดา จะขอเลื่อนการเดินทางออกไปได้อีกเพียง 7 วัน ตามนโยบายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) วีซ่าชนิดนี้สามารถขออยู่ต่อในระยะยาวได้เช่นกันหากมีความจำเป็น เพราะกฎหมายให้อำนาจอธิบดีกรมตำรวจ (ปัจจุบันคือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้อยู่ต่อได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพียงแต่ว่าวีซ่าชนิดนี้ไม่สามารถ ใช้ขออนุญาตทำงานได้เท่านั้นเอง อนึ่ง คนต่างด้าวผู้ที่ถือ TOURIST VISA หากเขาต้องการจะขออนุญาตทำงานในประเทศไทย หรือเกรงว่าถ้าไม่มี NON-IMMIGRANT VISA ตามที่ได้รับคำบอกเล่าของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จะไม่สามารถขออยู่ต่อระยะยาวได้ ก็มีสิทธิยื่นคำขอเปลี่ยนวีซ่าประเภทเป็น NON-IMMIGRANT VISA ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ว่าจะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทวีซ่าหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


วีซ่าประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (TRANSIT VISA)

วีซ่าสำหรับคนเดินทางผ่าน การยื่นคำขอวีซ่าชนิดนี้ก็เหมือนกับ การขอ Tourist Visa ทุกประการ คงมีข้อต่างกันเฉพาะชื่อวีซ่า และเรื่องระยะเวลาการอนุญาตให้พำนัก อยู่ในประเทศไทยขณะเมื่อผ่านด่านตรวจ กับจำนวนเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าเท่านั้น วีซ่าชนิดนี้เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย จะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่เป็นเวลา 30 วัน ณ ด่านตรวจ และสามารถยื่นคำขออยู่ต่อได้อีก 30 วัน (เฉพาะประเทศศรีลังกา บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน เนปาล อิหร่าน ไนจีเรีย โตโก ยูกันดา จะขอเลื่อนการเดินทางออกไปได้อีกเพียง 7 วัน เช่นเดียวกับพวกที่มี Tourist Visa) แต่ในกรณีจำเป็นก็อาจคำขออยู่ต่อได้ เช่นเดียวกับ Tourist Visa ดังได้กล่าวมาแล้ว วีซ่าชนิดนี้ไม่สามารถใช้ขอใบอนุญาตทำงานได้ แต่อาจขอเปลี่ยนเป็น NON-IMMIGRANT VISA เช่นเดียวกับ TOURIST VISA

วีซ่าประเภทคนเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา41 (IMMIGRANT VISA UNDER SECTION 41)


วีซ่าชนิดนี้เป็นวีซ่าสำหรับออกให้แก่คนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันไม่มีการออก วีซ่าชนิดนี้ เนื่องจากไม่มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นคำขอเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยผ่านสถานฑูต หรือสถานกงสุลในต่างประเทศแต่อย่างใด คงมีแต่การเข้ามายื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เท่านั้น

วีซ่าประเภทคนเข้าเมืองนอกกำหนด จำนวนคนต่างด้าว ซึ่งจะเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี (NON-QUOTA IMMIGRANT VISA)



วีซ่าชนิดนี้จะออกให้แก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่ประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ และจะกลับเข้ามามีถิ่นที่อยู่ตามเดิม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Re-Entry Visa ของผู้มีถิ่นที่อยู่ โดยทำเป็นตราประทับลงไปในหนังสือเดินทาง และต้องใช้คู่กันกับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งต้องมีการสลักหลัง (Endorsement) ด้วยทุกครั้งที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร ค่าธรรมเนียมของวีซ่าชนิดนี้เป็นเงินจำนวน 1,900 บาท สำหรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 1 ครั้ง และจำนวน 3,800 บาท สำหรับการเดินทางกลับเข้ามาหลายครั้ง โดยจะมีกำหนดอายุการใช้ตามอายุของสลักหลังในใบสำคัญถิ่นที่อยู่

วีซ่าประเภทอัธยาศัยไมตรี (COURTESY VISA)

วีซ่าชนิดนี้เป็นวีซ่าที่ออกให้แก่ผู้ที่ถือหนังสือทางราชการ เพื่อจะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

http://www.imageholiday.com/wizContent.asp?wizConID=320&txtmMenu_ID=7

ไม่มีความคิดเห็น: