หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ซนไดและโทโฮขุ...ที่นี่ยังเหมือนเดิม


“คุณคือคนไทยคนที่ 2 ที่ผมเจอที่เซนไดหลังจากแผ่นดินไหว” ทาคุมะ โอยามาดะ เจ้าหน้าที่แผนกส่งเสริมกิจกรรมระหว่างประเทศ กรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมืองเซนได บอกเล่าหลังจากได้พบกัน




หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นนอกชายฝั่งภูมิภาคโทโฮขุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมายังภูมิภาคนี้รวมทั้งเมืองหลักอย่างเซนไดแทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะเป็นศูนย์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เมืองเซนไดเชิญชวนผู้สื่อข่าวจากเมืองไทยไปพิสูจน์ว่าทุกอย่างที่นี่ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติดังเดิมแล้ว


ไม่ว่าจะเป็นอิจิบังโจ หรือโคะคุบุนโจ ย่านชอปปิงที่เต็มไปด้วยผู้คนใจกลางเมืองเซนไดที่เคยไฟดับอยู่ 2 วันหลังแผ่นดินไหว หรือโจเซนจิ ถนนที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเซนไดสมกับสมญานามที่ว่า “เมืองแห่งต้นไม้” ซึ่งประดับประดาไปด้วยดวงไฟดวงเล็ก ๆ กว่า 4.6 แสนดวงในช่วงเดือนธันวาคมที่เรียกว่า Pageant of Starlight ซึ่งลดจำนวนดวงไฟที่ใช้ในเทศกาลนี้ลงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาเพื่อประหยัดพลังงาน แต่ความโรแมนติกของถนนสายนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ลดน้อยถอยลง

ขณะที่อ่าวมัตสึชิมาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอ่าวที่มีความสวยงามที่สุดหนึ่งในสามของญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์ที่พัดเข้าฝั่ง แต่เมื่อเทียบกับชายฝั่งแห่งอื่น ๆ แล้วมัตสึชิมาได้รับผลกระทบไม่มากมายนัก เพราะความสูงของคลื่นเพียงเมตรกว่ายังไม่สามารถพัดเข้าไปถึงเขตวัดซุยกันจิที่อยู่ด้านใน เช่นเดียวกับศาลเจ้าโกไดโด ศาสนสถานในศาสนาพุทธ ซึ่งตั้งอยู่บนโขดหิน ณ ริมอ่าวมิยาจิมายังคงตั้งอยู่ที่เดิมไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งรวมทั้งพระพุทธรูปที่อยู่ภายในซึ่งจะเปิดให้นมัสการทุก 33 ปี เพียง 3 วันยังคงอยู่รอเวลาที่จะเปิดให้ผู้คนได้มานมัสการอีกครั้ง โดยเพิ่งเปิดให้นมัสการครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2549


ว่ากันว่าเป็นเพราะคนโบราณรู้ดีว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงมากเพียงใด จึงได้สร้างวัดให้เลยเข้ามาจากชายฝั่งเกือบหนึ่งกิโลเมตร โดยมีหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้านั้นช่วยลดแรงปะทะของคลื่น และเพราะภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ที่คาดการณ์ธรรมชาติไว้อย่างแม่นยำนั่นเองวัดนี้เลยกลายเป็นที่หลบภัยของคนกว่า 300 ชีวิตหลังจากได้รับการเตือนภัย บริเวณที่ได้รับความเสียหายจึงอยู่เพียงแค่ร้านค้าที่อยู่ด้านหน้าบางส่วน ซึ่งปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูจนเกือบจะกลับคืนมาดังเดิมแล้ว

ส่วนสนามบินเซนไดที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลและกลายเป็นภาพข่าวไปทั่วโลกนั้น คลื่นยักษ์ความสูงกว่า 3 เมตรได้พัดพาเอาสิ่งก่อสร้างที่อยู่ริมชายฝั่งรวมทั้งรถยนต์บางส่วนที่นำออกไปไม่ทันเข้ามายังชั้นล่างของสนามบิน แต่เพียงแค่เวลาเดือนกว่า สนามบินที่เต็มไปด้วยทรายแห่งนี้ก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ดังเดิมด้วยอาคารชั่วคราว

หลัง 6 เดือนผ่านไป สนามบินนานาชาติเซนไดที่ใช้งบประมาณในการบูรณะราว 1 ใน 5 ของงบประมาณที่เคยใช้ในการก่อสร้างนั้น ทุกอย่างได้รับการฟื้นฟูกลับมาราวกับไม่เคยเกิดเหตุคลื่นยักษ์ถล่ม หากว่าไม่มีสัญลักษณ์ของระดับน้ำที่ท่วมเข้ามาและมุมลงชื่อร่วมให้กำลังใจจากผู้คนทั่วโลกไว้เป็นหลักฐานยืนยัน โดยที่นี่เป็นที่พักพิงของผู้คนกว่า 2,000 คนในห้วงเวลานั้น หลังจากได้รับสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหว โดยมีขนมอร่อยนานาชนิดที่วางจำหน่ายในร้านขายของที่ระลึกเป็นเสบียงหลัก ซึ่งรวมทั้งขนมเค้กไส้คัสตาร์ดแสนนุ่มหวานมัน ขนมขึ้นชื่อของเซนไดที่บางคนเรียกมันว่าขนมพระจันทร์เพราะรูปที่ติดอยู่หน้ากล่องและหน้าตาของขนม

ขณะที่พื้นที่รอบนอกของสนามบินที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมและชุมชนริมชายทะเลนั้น วันนี้อาจเหลือเพียงแค่ฐานรากของบ้านแบบน็อกดาวน์ และพื้นที่ร้างว่างเปล่าที่ยังพอดูออกว่าเคยเป็นทุ่งนามาก่อน ที่มีโรงเผาขยะที่เมืองเซนไดสร้างขึ้นใหม่ 3 แห่งเพื่อจัดการกับขยะจำนวนมหาศาล

มร.มิชิโอะ คายาบา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของเมืองเซนได บอกว่า เซนไดสร้างเตาเผาขยะทั้ง 3 แห่งขึ้นในพื้นที่ประสบภัยเพื่อความสะดวกในการจัดการ โดยตลอด 6 เดือนที่ผ่านมานั้น นอกจากจัดการแยกประเภทของขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้กับขยะที่ต้องทำลายแล้ว เตาเผาขยะแบบไร้มลพิษก็ถูกสร้างขึ้นพร้อม ๆ กันเพื่อจัดการกับขยะที่ต้องทำลาย

วันนี้ทุ่งนาว่างเปล่าริมทะเลจะถูกทิ้งไว้อย่างนั้นโดยจะไม่มีการทำการเพาะปลูกใด ๆ เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ดินกลับคืนสภาพ ขณะที่ย่านที่พักอาศัยที่เคยอยู่ในเขตประสบภัยนั้น เมืองเซนไดมีการพิจารณาว่าจะไม่ใช้พื้นที่เหล่านั้นเพื่อเป็นเขตชุมชนอีก เพราะแม้ว่าสึนามิครั้งใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นนี้จะไม่เกิดซ้ำสองในระยะเวลาอันใกล้อีก แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้คนที่มาเป็นอันดับหนึ่ง พื้นที่เสี่ยงภัยจะไม่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอีกครั้งอย่างแน่นอน

ออกไปที่เมืองฮิราอิซูมิ ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกในเขตอิวาเตะ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาวที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ แต่ที่นี่วันนี้กลับมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมคอนจิกิโด หรืออาคารทอง มรดกโลกของเมืองฮิราอิซูมิ ณ วัดชูซอนจิ พอสมควรอย่างไม่หวั่นเกรงกับความหนาวเหน็บ โบราณสถานซึ่งสร้างขึ้นในปี 850 เป็นวัดนิกายเทนได ซึ่งมาจากประเทศจีนแห่งนี้ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ จากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งที่ตั้งอยู่บนเนินเขา คงเป็นเพราะภูมิปัญญาของคนโบราณที่เลือกทำเลได้อย่างเหมาะเจาะและปลอดภัย


นอกจากภาพความเสียหายที่แทบไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว ในเรื่องของอากาศที่หลายคนยังกังวลเกี่ยวกับกัมมันตรังสีนั้น เครื่องมือวัดกัมมันตรังสีขนาดพกพาที่ถูกนำไปด้วยทุกที่เพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยนั้น พบว่าค่ากัมมันตรังสีที่วัดได้นั้นอยู่ระหว่าง 0.04-0.1 เท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นระดับที่มีอันตรายใด ๆ เพราะสำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อต้นปี มีการวัดค่ากัมมันตรังสีอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยหากพื้นที่ใดวัดค่าได้ถึงระดับ 0.2 จะมีการปิดพื้นที่เพื่อทำความสะอาดทันที ทั้งที่ระดับที่ว่านั้นไม่ได้มีผลใด ๆ กับการใช้ชีวิต และระดับที่ว่านั้นเป็นระดับที่มีอยู่ตามเมืองใหญ่หลายแห่งของโลก

“ความจริงแล้วกัมมันตรังสีมีอยู่ทุกที่รอบ ๆ ตัวเรา ไม่ใช่เฉพาะที่นี่เท่านั้น ที่เมืองไทยเองก็มี จากสถิติการวัดปริมาณกัมมันตรังสีทั่วโลก” ทาคุมะ อธิบาย

มร.ฮิโรโตโมะ มิเนะงิชิ ผู้อำนวยการแผนกสนับสนุนการแลกเปลี่ยน กรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมืองเซนได ฝากบอกว่า อยากจะเชิญชวนคนไทยให้กลับมาเที่ยวเซนไดและโทโฮขุอีกครั้ง แหล่งท่องเที่ยวไม่เพียงยังคงอยู่แต่ยังคงสวยงามดังเดิมด้วยเช่นกัน.

อธิชา ชื่นใจ

ไม่มีความคิดเห็น: