หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

1ทศวรรษ'ถนนคนเดิน'อัตลักษณ์ความเป็นล้านนา

โดย...จันจิรา จารุศุภวัฒน์
@คมชัดลึก


ทุกเย็นวันอาทิตย์บรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งมือสมัครเล่น มืออาชีพ พากันนำสินค้าที่ผลิตขึ้นเองและรับจากผู้ผลิตในท้องถิ่นวางจำหน่ายบนถนนคนเดินกลางเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ถนนพระปกเกล้า ถนนราชดำเนิน จากประตูท่าแพจนถึงหน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นถนนที่มีจำนวนผู้ค้ามากถึง 6,000 ราย ปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 10 ถือเป็นเสน่ห์ของเชียงใหม่ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาแล้วไม่พลาดเยี่ยมชม


ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแล บอกว่า ถนนคนเดินวันอาทิตย์เป็นแหล่งช็อปปิ้งที่สำคัญอีกแห่งของเมืองเชียงใหม่ที่กลายเป็นจุดดึงดูดสำคัญให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาต้องมาช็อปปิ้ง จนสร้างเม็ดเงินหมุนเวียน ทั้งการขายปลีก และออเดอร์ หรือคำสั่งซื้อไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 100 ล้านบาท


"ถนนสายนี้มีวิวัฒนาการและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนผู้ค้า นักท่องเที่ยว ทำให้เทศบาลต้องจัดระเบียบพื้นที่เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งช็อปปิ้งที่มีคุณภาพของเมือง โดยเฉพาะสินค้าที่นำมาจำหน่ายต้องเป็นงานแฮนด์เมด หรือเป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของงานฝีมือประกอบ ห้ามนำสินค้าจากโรงงานและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาจำหน่าย"

ทัศนัย กล่าวว่า หลังจัดระเบียบให้ถนนคนเดินวันอาทิตย์มีเอกลักษณ์เป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวแล้ว แผนงานและเป้าหมายการจัดระเบียบถนนคนเดินในระยะต่อไป นอกจากจะเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่นำอาหารมาจำหน่ายต้องไม่ใช้โฟม หรือภาชนะที่เป็นพลาสติก ต้องเป็นภาชนะที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อลดจำนวนขยะในพื้นที่

"นอกจากนี้จะดูแลเรื่องความปลอดภัยให้เคร่งครัดมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าถนนคนเดินเป็นพื้นที่เปิด แต่ละสัปดาห์มีนักท่องเที่ยวมาไม่ต่ำกว่าวันละ 1 หมื่นคน จึงต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว" นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าว

ด้าน สราวุฒิ แซ่เตี๋ยว นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ บอกว่า ถนนคนเดินวันอาทิตย์ถือเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่สร้างสีสันให้แก่การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นแหล่งกระจายสินค้าหัตถอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น <

"ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยว อยากเห็นถนนสายนี้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และอยากให้มีการขยับขยายพื้นที่ เพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งช็อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของภาคเหนือ และเปิดพื้นที่ให้เป็นช่องทางกระจายสินค้าหัตถอุตสาหกรรมของผู้ผลิตในท้องถิ่นที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก"

จุฬาลักษณ์ อาจหาญ พนักงานบริษัทเอกชน ที่ผลิตสินค้าแฮนด์เมดจำหน่าย บอกว่า ขายสินค้าที่ถนนคนเดินวันอาทิตย์มานานกว่า 6 ปี ยอดขายแต่ละสัปดาห์ถือว่าน่าพอใจ รายได้เสริมจากการขายสินค้าบนถนนเส้นนี้ ถูกนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายจิปาถะ รวมทั้งนำมาเป็นทุนหมุนเวียนซื้อวัสดุเพื่อนำมาผลิตสินค้าขายอีก

"ถนนสายนี้นอกจากเป็นช่องทางการตลาดให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีพื้นที่ในการนำสินค้าที่ผลิตขึ้นเองมาวางจำหน่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้ามือสมัครเล่นได้มีโอกาสค้าขายเพื่อเป็นอาชีพเสริมด้วย" จุฬาลักษณ์ กล่าว


ด้าน ศุภชัย อมรกันทรากร พ่อค้าถนนคนเดินวันอาทิตย์อีกราย บอกว่า ทำงานประจำด้วย แต่เริ่มนำสินค้ามาขายที่ถนนคนเดินปี 2549 เป็นสินค้าทำมือ เช่น ตุ๊กตา พวงกุญแจ ลูกปัด ฯลฯ ช่วงแรกขายส่งให้เพื่อน แต่หลังๆ เห็นว่าขายดีขึ้นจึงมาขายเอง โดยใช้วิธีแบกสินค้ามาวางขาย กระทั่งมีล็อกประจำ ยอมรับว่ารายได้มากกว่างานประจำที่ทำ มีออเดอร์อย่างต่อเนื่องจนผลิตแทบไม่ทัน


วันนี้ ถนนคนเดินวันอาทิตย์ เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเชียงใหม่ ถือเป็นโชว์รูมค้าขายสินค้าพื้นเมือง อันเป็นเวทีของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง!

ไม่มีความคิดเห็น: