หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชะตากรรมซีเรีย


การล่มสลายของรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด จะตามมาด้วยการผงาดของรัฐบาลกลุ่มศาสนาที่อาจสร้างความไม่แน่นอนให้แก่จอร์แดน ประเทศเล็กๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับซีเรีย ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือมาช้านาน แต่ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลอัสซาดรอดตายจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านการปกครองของเขามานานถึง 11 ปีได้สำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลซีเรียกับจอร์แดน ก็ไม่น่าจะมีอะไรดีขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นอย่างน้อย


โมฮัมหมัด อาบู รัมมาน นักวิเคราะห์การเมืองบอกว่า จอร์แดนกำลังเผชิญสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ตัดสินใจยาก ไม่ว่าตัดสินใจเลือกทางไหนก็มีแต่ผลเสีย เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ยังไม่แน่ว่า รัฐบาลอัสซาดจะอยู่หรือไป ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหวั่นเกรงความวุ่นวายในซีเรียหากรัฐบาลอัสซาดล่มสลาย ความวุ่นวายนี้จะมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของจอร์แดน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับซีเรีย เช่นเดียวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรจอร์แดนและภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด


การส่งออกของจอร์แดนมากกว่าร้อยละ 65 ผ่านทางซีเรีย และชาวจอร์แดนส่วนใหญ่ในทางเหนือของประเทศก็มีญาติอยู่ในซีเรีย และทำธุรกิจการค้าด้วยสินค้าหลากหลายชนิด อาบู รัมมานกล่าวต่อไปว่า สำหรับจอร์แดนแล้ว พวกเขามีความวิตกกังวลอย่างมาก เพราะมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มศาสนาจะผงาดขึ้นครองอำนาจในซีเรีย โดยเฉพาะมุสลิม บราเธอร์ฮูด (กลุ่มภารดรภาพ) ซึ่งยังจะเป็นการช่วยกลุ่มอื่นที่แสวงหาอำนาจ ขยายอิทธิพลของกลุ่มที่มีชื่อว่า บราเธอร์ฮูด เครสเซนท์ ทั้งในแอฟริกา ซีเรีย และจอร์แดน


กลุ่มอิสลามทั้งหลาย ตั้งแต่ในอียิปต์ไปจนถึงโมร็อคโก กวาดที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ของรัฐสภาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยได้อานิสงค์จากเสรีภาพทางประชาธิปไตยครั้งใหม่ ภายหลังเกิดกระแสอาหรับ สปริง หรือการปฏิวัติดอกมะลิในประเทศอาหรับ ขณะที่ กลุ่มศาสนาซีเรียได้เข้าไปลี้ภัยในจอร์แดนเมื่อปี 2525 หลังการสังหารหมู่ที่เมืองฮามา ทางเหนือของซีเรีย ซึ่งครั้งนั้นกองทัพสังหารโหดประชาชนระหว่าง 10,000 ถึง 30,000 ศพ


อาบู รัมมาน บอกว่า ถ้ารัฐบาลซีเรียของอัสซาดยังสามารถอยู่ในอำนาจต่อไป จะเป็นการสร้างความลำบากให้แก่จอร์แดน เพราะสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลซีเรียเคยกล่าวโจมตีจอร์แดนอย่างสาดเสียเทเสียมาแล้ว ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองไม่น่าจะเป็นไปด้วยดีในช่วงสั้นๆ

เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน กลายเป็นผู้นำอาหรับคนแรกที่ออกมาเรียกร้องให้อัสซาดลาออก กระตุ้นให้กลุ่มคนที่จงรักภักดีประธานาธิบดีอัสซาด บุกสถานทูตจอร์แดนในกรุงดามัสกัส และฉีกธงชาติจอร์แดนเป็นชิ้น ๆ

ฮัสซัน อาบู ฮาเนียห์ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มศาสนาระบุว่า จอร์แดนจะเผชิญแรงกดดันภายในอย่างหนัก หากกลุ่มอิสลามขึ้นครองอำนาจในซีเรีย ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จอร์แดนจะต้องยอมอ่อนข้อให้แก่กลุ่มศาสนาในประเทศ ซึ่งเคยเป็นผู้นำการประท้วงเรียกร้องปฏิรูปนับตั้งแต่ปีที่แล้ว กรณีดังกล่าวจะทำให้จอร์แดนตกสู่วังวนของอาหรับ สปริง และจะกลายเป็นปัญหาสำหรับจอร์แดนอย่างแน่นอน ขณะที่ ออร์อิบ รินทาวี นักวิเคราะห์แห่งอัล-กัดส์ ศูนย์การเมืองศึกษา บอกว่า เขาไม่คิดว่า จอร์แดนจะยินดีต่อการผงาดของกลุ่มศาสนาในซีเรีย เพราะเรื่องนี้จะเปลี่ยนสถานการณ์อย่างมากสำหรับจอร์แดน

ส่วนกรณีที่ผู้สื่อข่าวชาวตะวันตก 2 คนถูกยิงเสียชีวิตในซีเรียนั้น ทางกระทรวงต่างประเทศซีเรียออกมาประกาศแล้วว่า จะไม่รับผิดชอบต่อการตายของทั้งคู่ที่ลักลอบเข้าประเทศ แต่รัฐบาลซีเรียได้แสดงความเสียใจต่อองค์กรสื่อและครอบครัวของผู้สื่อข่าวชาวตะวันตกที่เสียชีวิตในซีเรีย แมรี โคลวิน ชาวอเมริกันที่ทำงานให้แก่หนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทมส์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ กับเรมี ออชลิค ช่างภาพเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศส เสียชีวิตจากจรวดที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงซีเรียยิงตกใส่ศูนย์สื่อมวลชนที่ตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวในย่านบาบา อาเมอร์ ของเมืองฮอมส์

นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศซีเรียเรียกร้องกลุ่มผู้สื่อข่าวให้เคารพกฎหมายการทำงานของสื่อมวลชนในประเทศ และหยุดการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการลักลอบเข้าซีเรีย เพื่อไปยังเป้าหมายที่เป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา กระทรวงข้อมูลข่าวสารซีเรียได้อนุญาตให้สื่อมวลชน 200 คนทำข่าวในประเทศ แต่ก็ยังมีนักข่าวจำนวนมากแทรกซึมเข้าสู่ซีเรีย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจำกัดพื้นที่การนำเสนอข่าวของรัฐบาล

สำหรับโคลวิน นักข่าวชาวอเมริกันผู้ช่ำชอง ทำงานให้ซันเดย์ ไทมส์ และออชลิค ช่างภาพของสำนักข่าวไอพี 3 เพรส นอกจากนั้น ยังมีนักข่าวบาดเจ็บอีก 2 คนคือ อีดิท บูเวียร์ ผู้สื่อข่าวชาวฝรั่งเศสจากหนังสือพิมพ์รายวันเลอ ฟิกาโรในแดนน้ำหอม และพอล คอนรอย ช่างภาพของซันเดย์ ไทมส์ ในอังกฤษ


บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกรุมประณามซีเรียที่ฆ่าผู้สื่อข่าว 2 ราย รัฐบาลสหรัฐกล่าวหาทางการซีเรียป่าเถื่อนและไร้ยางอาย ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสจวกซีเรียที่ไม่ยอมรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว กิลเลส ฌาค์เกอร์ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ในฝรั่งเศส เสียชีวิตในเมืองฮอมส์ของซีเรีย จากกระสุนปืนใหญ่ระเบิด ท่ามกลางกลุ่มผู้สื่อข่าวที่เจ้าหน้าที่ซีเรียกำลังพามาเยี่ยมเมือง ตราบใดที่ความรุนแรงในซีเรียยังไม่จบ ชีวิตผู้คนต้องสังเวยอีกไม่รู้เท่าไหร่

วิษณุ ศิริอาชารุ่งโรจน์ @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: