หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สงครามเงาอิหร่าน-อิสราเอล


ความรุนแรงจากความขัดแย้งระหว่างคู่ปรปักษ์ ยิว-อิหร่าน ลามมาถึงบ้านเราจนได้ เหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และการจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัย ทำลายบรรยากาศการลงทุนและการท่องเที่ยว “ในระดับหนึ่ง” ซึ่งเรื่องเปราะบางอย่างนี้รัฐบาลต้องระวังเรื่องจุดยืนในการจัดการปัญหา เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เป็นมิตรประเทศที่ดีของเรา

ต้องหาทางผลักดันเวทีต่อกร ให้พ้นบ้านเรา และอย่างน้อยต้องให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำสอง เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็ว



เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นแค่วันเดียว หลังเกิดเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอล ในกรุงนิวเดลีเมืองหลวงอินเดีย และที่กรุงทบิลิซิ ของจอร์เจีย ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และนายเอฮุด บารัค รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ระบุว่ารัฐบาลอิหร่านอยู่เบื้องหลัง ซึ่งแน่นอนว่าทางการเตหะรานออกโรงปฏิเสธทันควัน


ผลสอบสวนเบื้องต้นของเรา ผู้ต้องสงสัยกลุ่มนี้หมายโจมตีนักการทูตอิสราเอล สอดคล้องกับมุมมองของพอล กาเยีย นักวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นก่อนหน้านี้ และกาเยียยังเชื่ออีกว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก ที่อิหร่านจะอยู่เบื้องหลังทั้งสามเหตุการณ์

เป็นแผนปฏิบัติการส่วนหนึ่งของความพยายามเล่นงานเจ้าหน้าที่การทูตอิสราเอลทั่วโลก เพื่อตอบโต้การสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่าน 4 คน ในกรุงเตหะรานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอิหร่านระบุว่าเป็นฝีมือหน่วยสายลับมอสสาดของอิสราเอล

สงครามเงาจากผลพวงโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่ทางการเตหะรานยืนยันมาตลอดว่า มีจุดประสงค์เพื่อการพลังงานในทางสันติ แต่อิสราเอลและชาติตะวันตกไม่เชื่อ ปักใจว่าอิหร่านต้องการผลิตอาวุธมหาประลัย ความพยายามขัดขวางในทางลับจึงดำเนินมาตลอด และเข้มข้นน้อง ๆ การเชือดเฉือนกันระหว่างทีมสายลับโซเวียตกับชาติตะวันตก ในยุคสงครามเย็น

พอล กาเยีย เป็นหุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง และ ผอ.พีเอสเอ เอเชีย บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง การจัดการวิกฤติ และการประเมินความเสี่ยงทางการเมือง อยู่ในกรุงเทพฯ อดีตเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลาง หรือ ซีไอเอ นาน 20 ปี ประจำอยู่ใน 6 ประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเชีย


แต่กาเยียบอกว่า ผู้ต้องสงสัย 3 คนที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกันโจมตีด้วยระเบิดในกรุงเทพฯ เป็นแค่ “มือสมัครเล่น” ไม่ถึงขั้นผู้ก่อการร้ายมืออาชีพ ระดับฮิซบอลเลาะห์ เมื่อดูจากพฤติกรรมการลงมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติการ

ระเบิดประกอบแบบง่าย ๆ การโจมตีไม่มีการวางแผนซับซ้อน รวมทั้งการเคลื่อนไหว และหาทางหนีทีไล่ ตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศไทย

กาเยียเชื่อว่าอิหร่านใช้วิธียืมมือเครือข่ายข่าวกรอง “ระดับรอง” ในหลายประเทศ วางแผนและหาคนนอกลงมือโจมตีเป้าหมายเจ้าหน้าที่ทูตอิสราเอล โดยอิหร่านช่วยเหลือทางอ้อม และอยู่ให้ห่างมากที่สุด เพื่อไม่ให้อิสราเอลกล่าวหาได้ถนัดปาก

เป็นที่รู้กันมานานว่า อิหร่านชอบใช้กลุ่มตัวแทนโจมตีศัตรูในต่างแดน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน หรือกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ เป็นต้น และปฏิบัติการแก้แค้นอิสราเอลรอบใหม่ เชื่อว่าอิหร่านงัดเอาวิธีการนี้มาใช้อีกครั้ง ส่วนจะใช้งานกลุ่มไหนยังไม่แน่ชัด

อาจจะเป็นหน่วยปฏิบัติการนอกประเทศ “กองกำลังกัดส์” ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านก็ได้ และล่าสุดกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ออกแถลงแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งนิวเดลีและทบิลิซิ

อิสราเอลก็ใช้กลุ่มตัวแทนเล่นงานศัตรูแทบทุกแนวรบในต่างแดนเช่นกัน โดยรายงานข่าวกรองหลายสำนักระบุว่า อิสราเอลมีกลุ่ม ลับ ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในอิหร่านเป็นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มมูจาฮีดีนประชาชนอิหร่าน (เอ็มอีเค) หรือกลุ่มจุนดัลเลาะห์ ที่ซีไอเอสหรัฐก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลเตหะราน มีฐานอยู่ที่จังหวัดบาโลชิสถาน

แต่นักวิทย์ฯนิวเคลียร์อิหร่าน 4 คน ที่ถูกสังหารในกรุงเตหะราน น่าจะเป็นฝีมือเครือข่ายของมอสสาดในชุมชนเมืองมากกว่า


นักวิเคราะห์อีกหลายคนเชื่อเช่นกันว่า เหตุการณ์ที่นิวเดลี ทบิลิซิ และกรุงเทพฯ เป็นความพยายามแก้แค้นการสังหารกลุ่มนักวิทย์ฯนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งรายล่าสุด นายมอสตาฟา อาหมัด-โรชาน โดนระเบิดแม่เหล็กดับคารถยนต์ ขณะขับติดไฟแดงแยกจราจร ใกล้มหาวิทยาลัยในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา

หลังเหตุการณ์นี้ อยาตอลลาห์ อาลี คาห์เมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านถึงกับประกาศก้อง ต้องแก้แค้นเอาคืนผู้อยู่เบื้องหลังให้ได้ โดยระบุหน่วยมอสสาดของอิสราเอลตรง ๆ

นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่าน 4 คนที่ว่า ถูกสังหารด้วยระเบิดแม่เหล็ก โดยคนร้ายขี่รถมอเตอร์ไซค์ประกบแปะติดข้างรถยนต์ แล้วกดชนวน และการโจมตีที่นิวเดลี ทบิลิซิ และกรุงเทพฯ คนร้ายใช้ระเบิดแบบเดียวกัน

โบอาซ กานอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการก่อการร้ายของศูนย์เฮิร์ซลิยา อิสราเอล บอกว่า ระเบิดแม่เหล็กที่ใช้ แสดงให้เห็นชัดว่า การโจมตีเหล่านี้เป็นฝีมือของอิหร่าน เพื่อแสดงให้อิสราเอลเห็นปฏิบัติการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ทำคนอื่นอย่างไร ต้องได้คืนอย่างนั้น

สงครามในเงามืด ความพยายามสกัดกั้นโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่านของอิสราเอล กลายเป็นการออกมาห้ำหั่นกันในที่แจ้ง เพิ่มระดับความตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่ายขึ้นอีกหลายขีด ท่ามกลางความวิตกของหลายฝ่าย ที่เกรงจะบานปลายเป็นการเผชิญหน้าด้วยอาวุธ ซึ่งช่วงหลังอิสราเอลพูดเป็นนัยบ่อยขึ้น การโจมตีทางอากาศถล่มโรงงานต้องสงสัยพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน อาจมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

สหรัฐพันธมิตรคู่ซี้ของอิสราเอล ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพิ่งลงนามในคำสั่งคว่ำบาตรทางการเงินครั้งใหม่ต่ออิหร่านเมื่อไม่กี่วันก่อน และบอกว่าปฏิบัติการทางทหารเป็นหนึ่งในทางเลือกสุดท้าย หากสถานการณ์บีบบังคับ

เรื่องโจมตีอิหร่าน รัสเซียกองหนุนสำคัญของเตหะรานก็เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน โดย พล.อ.นิโคไล มาคารอฟ ประธานคณะเสนาธิการทหารรัสเซีย เผยต่อสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตี เมื่อ 14 ก.พ. ว่า กลุ่มชาติมหาอำนาจตะวันตกใกล้ตัดสินใจโจมตีอิหร่าน ซึ่งถ้าเกิดขึ้น เชื่อว่าคงในช่วงฤดูร้อน อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

แต่นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงส่วนใหญ่มองว่า ทั้งอิสราเอล สหรัฐ และอิหร่าน ต่างไม่ต้องการให้ความตึงเครียดบานปลายกลายเป็นสงคราม เพราะมีแต่จะแพ้และสูญเสียทั้งสองฝ่าย อยู่ที่ว่าใครจะสูญเสียมากน้อยกว่ากัน แถมประชาคมโลกจะพลอยโดนหางเลขย่อยยับไปด้วย

สงครามเงาจะดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็อีกหลายเดือน และอิสราเอลใช้การถูกเล่นงานรวบรวมเสียงสนับสนุนจากนานาชาติ กดดันอิหร่านในเวทีการทูต ด้วยมาตรการคว่ำบาตรหนักขึ้น ขณะที่อิหร่านเองก็จะใช้วิธีขอเจรจา เพื่อถ่วงเวลาโครงการนิวเคลียร์ มุกเดิม ๆ ที่ใช้ได้ผลมาตลอด ทุกครั้งที่อิสราเอลใกล้ตัดสินใจลงมือโจมตี.

สุพจน์ อุ้ยนอก @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: