หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (16)

ถ้าให้นึกถึงความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยจะนึกถึงการเลิกทาส ภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคมรูปทรงเลิกทาสนั้น เขียนคำอธิบายว่า “อภัยทาน” ใครได้ดูละครเรื่องนางทาสของวรรณสิริ หรือลูกทาสของรพีพร จะรู้ว่าการเป็นทาสเป็นเรื่องระทมขมขื่นนักหนา เลิกเสียได้เป็นอันว่าดี แต่มีข้อความจริงเบื้องหลังการเลิกทาสสองประการคือ แม้รัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าชีวิต สั่งอะไรก็ย่อมได้ กลับต้องทรงใช้เวลานับสิบ ๆ ปีกว่าจะเลิกได้สำเร็จ เพราะไหนนายเงินจะขัดขวาง

ไหนทาสเองก็ไม่เต็มใจเกรงว่าเมื่อเป็นไทแล้วไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร พระองค์เองก็ทรงทราบว่ากว่าลินคอล์นจะเลิกทาสได้ต้องเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกาตายกันเป็นเบือ เรื่องนี้จึงละเอียดอ่อนมากสำหรับเมืองไทย


ที่ใครคิดว่าพอประกาศเลิกทาสปั๊บ ทาสก็ลุกขึ้นยืดอกสลัดโซ่ตรวน ยกมือชูกำปั้นเป็นอิสระทันทีนั้น เอาเข้าจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต้องทรงเริ่มจากให้ทาสทุกคนมี “ค่าตัว” เพื่อจะได้หาเงินมาไถ่ ต่อมาก็ทรงกำหนด “การลดทอน” คือ ค่าตัวจะค่อย ๆ ลดลงจนเหลือน้อยพอไถ่ได้ ต่อไปจึงกำหนด “การสิ้นสุด” คือ ไถ่ไม่ไถ่ก็หมดเวลา ให้ทยอยเป็นไทได้ ระหว่างนั้นนายเงินและทาสก็พลอยปรับตัวว่าต่อไปจะเอาแรงงานมาจากไหนและทาสเองเป็นไทแล้วจะไปทำอะไรกิน

ข้อความจริงที่สองคือทาสนั้นเมืองไทยมีไม่มากนัก แต่ไพร่มีมากกว่าหลายสิบเท่า การเลิกไพร่จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นประโยชน์แก่ชายไทยแทบทุกคน ตั้งแต่สมัยอยุธยาชายไทยต้องถูกเกณฑ์แรงงานเข้าทำราชการเดือนหนึ่ง แล้วออกเวรกลับไปอยู่บ้านกับลูกเมียเดือนหนึ่งสลับกัน เรียกว่าเข้าเดือนออกเดือน เวลามีสงครามผู้หญิงเขายังเกณฑ์เป็นไพร่เลย

ต่อมาขยายเป็นเข้าสองเดือนหรือสามเดือน เข้า ๆ ออก ๆ อย่างนี้หลวงจะได้มีทหารไปรบ มีช่างไปก่อสร้าง มีแรงงานไว้ขุดคลอง แต่ไพร่ไม่ใคร่ได้อยู่บ้านไม่ได้ทำมาหากิน ไพร่ที่อยู่กับในหลวงเรียกว่า “ไพร่หลวง” ถ้าไปอยู่กับขุนนางคอยรับใช้เรียกว่า “ไพร่สม” ถ้ามีเงินจะไม่ไปก็ได้ให้ส่งเงินไปแทน หลวงจะได้เอาไปจ้างคนอื่นเรียกว่า “ไพร่ส่วย” พวกเรานี้ส่วนใหญ่อาจไม่ได้เป็นทาสแต่น่าจะเป็นไพร่ชนิดใดชนิดหนึ่ง รัชกาลที่ 5 ให้ยกเลิกระบบไพร่เปลี่ยนไปใช้ระบบเกณฑ์ทหารแทน พระเดชพระคุณเรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่เท่ากับหรือมากกว่าการเลิกทาสเสียอีก

เมื่อเลิกไพร่แล้วพวกที่ยังประกาศตัวเป็นไพร่ชวนกันลุกขึ้นสู้กับอำมาตย์อยู่อีกจึงเป็นเพียงวาทกรรมในการปลุกระดมเรียกคนมาชุมนุม ยิ่งไปปลุกระดมกันต่อหน้าพระบรมรูปทรงม้าแล้วสงสารในหลวงพระองค์นี้นัก

ในปี 2425 รัชกาลที่ 5 ครองราชย์มา 14-15 ปี แต่กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ตั้งมาครบ 100 ปี ทรงโสมนัสมากว่าพระนครอยู่รอดปลอดภัยมาได้ครบศตวรรษ มีการจัดงานยิ่งใหญ่ ก่อนนั้นเคยทรงสร้างเครื่องราชฯ จุลจอมเกล้าพระราชทานเจ้านายขุนนางข้าราชการพ่อค้าราษฎรมาแล้วเพื่อตอบแทนความดีที่ “ช่วยกันบำรุงวงศ์ตระกูลและรักษาบ้านเมืองมาได้ด้วยความสามัคคี”

รัชกาลที่ 5 ทรงมี “เทสต์” มาก ไปต่างประเทศก็ทรงซื้อและสะสมของ ดี ๆ มาเก็บไว้เป็นมรดกของชาติจนทุกวันนี้ เช่น ชุดลายคราม จปร. เครื่องกังไสจีน ศิลปะของฟาร์แบเช่ แซฟวร์ ภาพวาดและรูปปั้นฝีมือจิตรกรประติมากรเอกของโลก ทั้งยังมีเวลาพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและโคลงฉันท์กาพย์กลอนต่าง ๆ ที่ไพเราะเป็นอันมาก เช่น ไกลบ้าน พระราชพิธีสิบสองเดือน เงาะป่า นิทราชาคริต

ทรงรู้ว่าระบบราชการอายุ 500 ปีของเราง่อนแง่นเต็มที จึงทรง “รีฟอร์ม” แปลว่าปฏิรูป ยุบจตุสดมภ์ 4 กรมคือ เวียง วัง คลัง นา แล้วตั้งเป็นกระทรวง โดยมีเสนาบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายนโยบายมีปลัดทูลฉลองเป็นใหญ่ฝ่ายประจำ ทรงจ้างชาวต่างชาติเข้ามาเป็นที่ปรึกษาไปพลาง ระหว่างนั้นทรงตั้งโรงเรียนเฉพาะด้านผลิตข้าราชการพลเรือนส่งทุกกระทรวง

ตั้งโรงเรียนกฎหมายผลิต นักกฎหมายส่งกระทรวงยุติธรรม ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารผลิตทหารส่งกระทรวงกลาโหม ตั้งโรงเรียนผลิตครู ผลิตหมอ ผลิตช่างจนพอใช้ในราชการ

ข้าราชการสมัยก่อนไม่มีเงินเดือน เป็นเสือจับเนื้อกินเองจึงเรียกว่า “กินเมือง” ทรงเปลี่ยนเป็น “ครองเมือง” และมีเงินเดือนให้

ทรงจัดระบบการศึกษา จัดระบบภาษี จัดระบบการปกครองใหม่ ตั้งเป็นเมือง เป็นจังหวัด มณฑล สยามจึงเป็นเอกภาพมาได้

ทรงริเริ่มธรรมเนียมตัดถนน สร้างสะพาน พวกที่ขึ้นต้นว่า “สะพานเฉลิม...” ใช่ทั้งนั้น สะพานผ่านพิภพลีลา

ผ่านฟ้าลีลาศ มัฆวานรังสรรค์ก็ทรงสร้าง ทั้งยังมีพระราชศรัทธาสร้างวัดเทพศิรินทร์ วัดราชบพิธ วัดเบญจมบพิตร เรื่องวัดเบญจฯ นี้ได้เห็นพระทัยเป็นธรรมจริง ๆ เดิมคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายทูลขอให้เป็นวัดธรรมยุตตามธรรมเนียมครั้งรัชกาลที่ 4

ตรัสว่าวัดธรรมยุตมีมากแล้ว ขอเป็นวัดมหานิกายบ้าง แต่ธรรมยุตจะมาอยู่ก็ไม่ห้าม เรียกว่าวัดนี้สร้างเพื่อ “สงฆ์จตุรทิศ” จึงเป็นวัดมหานิกายสืบมาจนบัดนี้



รัชกาลที่ 5 ท่านโชคดีเพราะมี “กาละ” คือมีกาลเวลาสร้างความเจริญนานถึง 42 ปี จึงต่อเนื่องและได้ทันเห็นผลสำเร็จ มี “ธรรมะ” คือมีคุณธรรม เที่ยงธรรม ใครไม่รู้ก็ทรงแนะทรงสอน ทรงให้อภัยแก่ฝ่ายตรงข้าม ทรงใช้มาตรฐานเดียวกันปกครอง “ตั้งแต่ลูกข้าแลเจ้านายราชตระกูลลงไปถึงลูกชาวไร่ชาวนา”

ทรงมี “เสนา” คือมีผู้คนที่จะสนองพระบรมราโชบายต่อมาอีกหลายปีต่างก็เป็นน้องบ้าง ลูกบ้าง หลานบ้าง ขุนนางเก่ง ๆ บ้าง ดังที่ด้านการปกครองทรงได้กรมพระยาดำรงฯ (ต้นราชสกุลดิศกุล) ด้านการช่างทรงได้กรมพระยานริศฯ (ต้นราชสกุลจิตรพงศ์) ช่วยออกแบบต่าง ๆ “ราวกับนั่งในใจฉัน” ด้านการต่างประเทศได้กรมพระยาเทววงศ์ฯ (ต้นราชสกุลเทวกุล) ด้านกฎหมายและการศาลได้กรมหลวงราชบุรีฯ (ต้นราชสกุลรพีพัฒน์) ด้านศาสนาทรงได้กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ด้านการไปรษณีย์ทรงได้กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ (ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์) ด้านเศรษฐกิจทรงได้กรมพระจันทบุรีฯ (ต้นราชสกุลกิติยากร) ด้านการทหารทรงได้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (สกุลแสงชูโต) กรมหลวงสิงหวิกรมฯ (ต้นราชสกุลฉัตรไชย) กรมพระนครสวรรค์ฯ (ต้นราชสกุลบริพัตร) ด้านการศึกษาทรงได้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (สกุลบุนนาค) เป็นต้น

สุดท้ายคือทรงมี “จักขุมา” แปลว่ามีสายตาที่กว้างไกลหรือวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ทรงให้คนไทยมีการศึกษา ให้เสนาบดีฝึกหัดจัดประชุมเพื่อเตรียมเป็น ครม. และเป็นรัฐสภา ทรงละเอียดลออในการกำกับดูแลราชการ เช่น เมื่อทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ในวัดเบญจฯ ยอดด้วนก็ทรงมีจดหมายถึงเสนาบดีทันทีให้ไปดูว่า “เป็นโรคอะไร” ถนนแถววรจักรไฟตะเกียงดับทรงสั่งเสนาบดีนครบาลให้ไปดูว่า “ใครฉ้อน้ำมัน” หนังสือราชการจากหัวเมืองส่งผ่านเสนาบดีกว่าจะมาถึงพระองค์หลายวัน ทรงให้คนไปสอบว่าติดอยู่ที่ใคร นานกี่วัน ให้ปรับวันละบาทโทษฐาน “เข้าเกียร์ว่าง”

ทรงส่งพระราชโอรสไปเรียนวิชาการต่าง ๆ ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ รัสเซีย เยอรมนี พระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทุมบิงเง็น เยอรมนี จนจบได้ปริญญาเอกเป็นคนแรกของไทย ทำวิทยานิพนธ์เรื่องข้าว แม่ท่านเป็นเจ้าทางเหนือ เสียดายที่กลับมาไม่นานก็ปลงพระชนม์พระองค์เองทั้งที่ยังหนุ่ม
แท้ ๆ

รัชกาลที่ 5 มีพระมเหสีเทวี เจ้าจอมหม่อมพระสนมมากน่าจะมากที่สุด แต่มีพระราชโอรสธิดารวมกัน 77 พระองค์ (น้อยกว่ารัชกาลที่ 4) พระองค์ที่ 76 คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ ต่อไปได้เป็นรัชกาลที่ 7 ส่วนพระองค์ที่ 77 เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงประสูติได้เดือนเดียวก็สิ้นพระชนม์

สิ้นรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ประสูติจากพระอัครมเหสีจึงได้ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 6

คนไทยเรียกรัชกาลที่ 5 ว่า “พระปิยมหาราช” ปิยะแปลว่าที่รัก ทั้งนี้เพราะทรงมีกาละ ธรรมะ เสนา และจักขุมา หลายคนบวงสรวงเซ่นไหว้พระองค์ทุกวันอังคาร เพราะบนอะไรก็มักได้ตามนั้น โดยเฉพาะว่ากันว่าบนด้วยซิการ์ (แปลกแท้!) จนเรียกท่านว่าเสด็จพ่อ ร.5 นักการเมืองคนไหนถ้าเอาความวิเศษของท่านเรื่องกาละ ธรรมะ เสนา จักขุมามาใช้สัก 1 ใน 10 คงนั่งอยู่ในใจประชาชนได้ตลอดกาล

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: