หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (19)

ก่อนปี 2475 เรื่องราวของประเทศไทยคือเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ เมืองอื่น ๆ เป็นเพียงตัวประกอบ และเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ก็คือเรื่องราวของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก อย่างที่รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าอันพระนครทั้งหลายก็เหมือนกับกายสังขารกษัตริย์คือจิตวิญญาณเป็นประธานแก่ร่างและอินทรีย์

แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 แม้ความเจริญจะยังไม่ไหลเทไปยังต่างจังหวัด ก็นับว่าทุกแห่งมีความสำคัญ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจากทุกจังหวัดทำให้คนไทยได้รู้ว่าปัตตานี นราธิวาส ระนอง เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของไทย ทั้งตัวละครที่เปลี่ยนหน้ามาเล่นในยุคใหม่นี้ไม่ใช่เจ้าพระยา หรือกรมหลวงกรมขุนอะไรอีกแล้ว แต่เป็นครู เป็นชาวนา เป็นกรรมกร เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการชั้นตรี ทหารยศนายสิบ เพราะอาจได้รับเลือกเป็น ส.ส. และสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ออกกฎหมายได้ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเสียเองก็ได้

พระมหากษัตริย์นั้นทรงลดบทบาทลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญซึ่งถูกยกให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแทน อำนาจในการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินไปตกอยู่แก่คณะรัฐบาล แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังทรงมีพระราชอำนาจทางสังคมที่สะสมมาแต่พระราชบรรพบุรุษ บางคนถือว่าถึงอย่างไรก็ทรงเป็นเทวราชา ถ้าไม่มีบุญ ไฉนจะได้เป็น บางคนถือว่าทรงเป็นธรรมราชา ถึงจะลดพระราชอำนาจลงแต่ก็ยังทรงไว้ซึ่งพระราชคุณธรรมซึ่งหาไม่ได้จากนักการเมือง

ความผูกพันระหว่างคนไทยกับพระมหากษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงแยกกันไม่ออก เพราะเคยรัก เคยเคารพ เคยเห็นพระคุณของท่าน พี่ท่าน พ่อท่าน ปู่ท่าน ทวดท่านอย่างไรก็ยังทำอย่างนั้นเพราะได้สัมผัสมาแล้วกว่า 150 ปี


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนไทยทั่วไปมิได้คิดว่าพระราชสถานะของรัชกาลที่ 7 แตกต่างไปจากเดิมเท่าใดนัก หลายเรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้ทำ เช่น การแต่งตั้งข้าราชการ สภาเป็นผู้ทำ เช่น การออกกฎหมาย หรือศาลเป็นผู้ทำ เช่น การพิพากษาคดีก็ยังต้องอาศัยพระราชลัญจกร พระปรมาภิไธย หรือพระบรมราชโองการอยู่ดี

แต่ความสัมพันธ์กันเองระหว่างคนภายในรัฐบาลไม่ดีนัก แม้แต่ระหว่างรัฐบาลหรือนักการเมือง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามามีอำนาจกับพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่สู้ดีนัก การกระทบกระทั่งเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ตั้งแต่เรื่องที่รัฐบาลถูกมองว่าไม่ได้ถวายพระเกียรติยศเท่าที่ควร การปฏิบัติที่รุนแรงต่อพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ เช่น กรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งต้องเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ และยังมีการปล่อยให้เกิดการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์หลายครั้งจนถึงขนาดทรงถูกฟ้องร้องในศาล

ต่อมายังกระทบไปถึงงานในหน้าที่หรือพระราชเกียรติยศ เช่น เมื่อไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติบางฉบับ แต่รัฐสภาก็มีมติยืนยันจนต้องนำออกประกาศใช้โดยไม่มีพระปรมาภิไธย

ความกดดันทั้งหมดมาลงที่พระเจ้า อยู่หัว ไม่ว่าความกดดันจากพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่อาจทรงดูแลพระราชวงศ์ให้พ้นภัยได้ ความกดดันจากประชาชน ซึ่งต้องการที่พึ่งที่อาศัย อย่างสมัยก่อน แต่ก็ทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจเสียแล้ว และความกดดันจาก พระสุขภาพอนามัยที่เบียดเบียนมาแต่ทรงพระเยาว์

ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นไปตามฤกษ์ที่พระธรรมวโรดม วัดสระเกศคำนวณ ท่านเป็นโหรใหญ่ เป็นอุปัชฌาย์ของสมเด็จเกี่ยว ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช

วันเสด็จพระราชดำเนินที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ แม้จะทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เต็มพระอิสริยยศแต่รับสั่งว่าไม่ต้องถวายพระมหาสังวาลที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้น และให้ชักพระแท่นมนังคศิลาของพ่อขุนรามคำแหงออก ตรัสว่าเมื่อรักษาของท่านไว้ไม่ได้ก็ไม่ควรใช้ของท่าน เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นผู้เข้าไปรับ

หลายปีต่อมามีผู้กราบบังคมทูลถามถึงการทรงฉลองพระองค์ยิ่งใหญ่ครั้งนั้น ตรัสว่าเมื่อแรกที่ทรงบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์อย่างนี้คือเมื่อทรงรับราชสมบัติอันเป็นการถวายอำนาจมาให้พระองค์ทรงใช้ บัดนี้จึงทรงบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์นั้นเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อส่งต่อพระราชอำนาจกลับคืนสู่ราษฎรให้ไปปกครองกันเอง

ใครอยากเห็นว่าฉลองพระองค์นี้เป็นอย่างไรดูได้จากพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าอาคารรัฐสภา

ความจริงหลายเรื่องจะโทษคณะราษฎรก็ไม่ได้ ในภาพรวมต้องยกประโยชน์ให้ว่าคณะบุคคลกลุ่มนี้มีเจตนาดีที่จะเห็นบ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นประชาธิปไตย ทั้งมีความกล้าหาญเสี่ยงตายไม่ใช่เล่น และเวลานั้นก็เป็น กระแสของโลกด้วย (หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเสนอให้เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นว่า “การอภิวัฒน์”) แนวพระราช ดำริที่ว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญและการปกครองตนเองแก่ราษฎรก็ใช่ว่าจะรับรู้กันในสมัยนั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอันเป็นมรดกตกทอดจากสมัยราชาธิปไตย ตลอดจนการกดขี่ข่มเหงราษฎรจากระบบเจ้าขุนมูลนายก็ยังคงมีอยู่จริง เหตุเหล่านี้เป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

คณะราษฎรประกอบด้วยบุคคลที่ต่างภูมิหลัง ต่างความคิด ต่างวิธีการ แม้เป้าหมายตอนแรกจะตรงกัน แต่พอได้อำนาจแล้วก็เกิดความขัดแย้งกันเอง อันดูจะเป็นธรรมดาของการยึดอำนาจทั่วโลกเพราะอำนาจไม่เข้าใครออกใคร หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) นักกฎหมายจากฝรั่งเศสผู้ปราดเปรื่องดูจะเป็นนักเปลี่ยนแปลงคนสำคัญที่สุด แต่พรรคพวกและสังคมก็ยังตามไม่ทันในหลายเรื่องจนท่านเองต้องเคยถูกขอให้ไป “ดูงาน” ต่างประเทศเสียระยะหนึ่ง

ดาวรุ่งพุ่งแรงของคณะราษฎรในเวลานั้นยังมีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์) คนเหล่านี้ผลัดกันมีบทบาทในการเมืองไทยต่อมาอีกหลายสิบปี

ความรุนแรงครั้งใหญ่มาเกิดขึ้นในปี 2476 เมื่อเกิดขบถบวรเดช พระองค์เจ้าบวรเดชทรงนำทหารลงมาจากโคราช ประกาศจะยึดอำนาจถวายคืนรัชกาลที่ 7 ขณะนั้นประทับอยู่ที่หัวหิน รัฐบาลจึงทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ เหมือนให้เห็นว่าในหลวงอยู่ข้างรัฐบาล พวกขบถเป็นฝ่ายล้มเจ้าหรืออยากเป็นใหญ่เอง แต่ไม่ทรงต้องการเข้าไปข้องแวะกับข้อขัดแย้ง จึงเสด็จไปประทับที่สงขลา

รัฐบาลปราบขบถสำเร็จ หลังจากที่ปะทะกันที่หลักสี่จนล้มเจ็บหรือตายทั้งสองฝ่าย ตรงนั้นจึงมีอนุสาวรีย์ปราบขบถ หลังจากนั้นรัฐบาลดูจะมั่นใจตนเองมากขึ้น แต่ก็เหมือนจะกินใจอะไรต่ออะไรจนร้าวฉานไปหมด

หลังจากนั้นรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จไปทรงรักษาพระเนตรที่อังกฤษ พอถึงวันที่ 2 มีนาคม 2477 ก็มีพระราชหัตถเลขามาถึงรัฐบาล ทรงสละราชสมบัติหลังจากอยู่ในราชสมบัตินาน 9 ปีเพราะไม่อาจจะทรงอยู่ภายใต้ภาวะกดดันได้อีกต่อไป และไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายใดอาศัยประโยชน์จากพระองค์ไปจัดการกับอีกฝ่ายหนึ่ง

รัชกาลที่ 7 มีพระมเหสีพระองค์เดียวตามแบบยุโรป และไม่ทรงมีพระราช โอรสธิดา ได้เคยทรงขอพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาษ พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช น้องร่วมพระครรภ์กับรัชกาลที่ 5 มาทรงเลี้ยงอย่างพระราชโอรสบุญธรรม พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ จึงมีศักดิ์เป็นลูกผู้น้องของรัชกาลที่ 7 เมื่อเสด็จไปประทับที่อังกฤษ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ได้เป็นนักบินเข้าร่วมกองทัพอากาศอังกฤษในระหว่างสงคราม และประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์

ทางเมืองไทยสถานการณ์การเมืองผันผวนหลายอย่าง ก่อนสละราชสมบัติ พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีมีข้อขัดแย้งกับสภาฯ จนออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ต่อมาคณะทหารขอให้ท่านลาออก สภาฯ เลือกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรเป็นนายกฯ ต่อมาท่านได้เสนอให้ยุบสภาเป็นครั้งแรก พอเลือกตั้งใหม่ก็ได้จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกฯ

พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติมีใจความสำคัญตอนหนึ่งที่เราจำกันได้ดีคือทรงเต็มใจสละอำนาจให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ไม่ได้มอบให้แก่หมู่ใดคณะใด ความหมายประการหนึ่งที่ซ่อนอยู่คือทรงสละสิทธิที่จะยกราชสมบัติแก่ผู้ใดทั้งที่ตามกฎมณเฑียรที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงกระทำเช่นนั้นได้

หลังสละราชสมบัติ ทางการได้ยึดวังเจ้านายบางพระองค์โดยอ้างว่าใช้ทรัพย์ของแผ่นดินซื้อหามา ในจำนวนนี้มีวังสุโขทัย (เขียนศุโขทัย) ซึ่งเป็นเรือนหอรัชกาลที่ 7 และวังบางขุนพรหมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ ด้วย

รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่อังกฤษกับสมเด็จพระบรมราชินีอย่างเงียบ ๆ นานถึง 7 ปี ทรงย้ายที่ประทับหลายครั้ง ขณะนั้นสงครามโลกเกิดขึ้นในยุโรปแล้วจึงทรงลำบากพอสมควร วันที่ 30 พฤษภาคม 2484 เสด็จสวรรคต พระชนมพรรษา 48 พรรษา

การถวายพระเพลิงทำอย่างเงียบ ๆ ที่สุสานในลอนดอน ไม่มีพระราชพิธี ไม่มีพระบรมโกศ ไม่มีการประโคม มีผู้มาร่วมงานไม่กี่คน ฝรั่งคนหนึ่งเห็นงานเงียบเชียบนักจึงอาสามาสีไวโอลินเพลงที่ทรงโปรดข้างหีบพระบรมศพ หลังจากนั้นอีกหลายปีจนสงครามสงบถึงสมัยรัชกาลที่ 9 รัฐบาลจึงกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีให้เสด็จกลับ รัฐบาลอังกฤษจัดเรือรบเชิญพระบรมอัฐิมาส่ง ทางการไทยจัดริ้วกระบวนเชิญพระบรมอัฐิไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง

เรื่องราวของรัชกาลที่ 7 ถ้าไม่อยากอ่านหนังสือก็แวะไปชมได้ที่พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 7 ตรงหัวถนนราชดำเนินเชิงสะพานผ่านฟ้าที่เคยเป็นกรมโยธาธิการ บัดนี้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล ในนั้นมีภาพเก่า ๆ งาม ๆ ข้าวของส่วนพระองค์รัชกาลที่ 7 หนังสือที่ทรงโปรด เครื่องทรงต่าง ๆ และภาพพระตำหนักในอังกฤษ รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นคนไทยรุ่นแรก ๆ ที่นำกีฬากอล์ฟมาเผยแพร่ สมเด็จฯ นั้นน่าจะเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่เล่นกอล์ฟด้วยซ้ำ

ครูควรพานักเรียนไปชม จะได้รู้จักพระมหากษัตริย์ผู้อาภัพและยิ่งด้วยความอดทน ความเสียสละพระองค์นี้

แม้รัชกาลที่ 7 สวรรคตในปี 2484 แต่รัชกาลใหม่ก็เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 คือ 7 ปีก่อนนั้นแล้ว วาระนั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองครั้งใหญ่ ทุกคนรู้ว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชนมายุ 9 ชันษาได้เป็นรัชกาลที่ 8 ในเวลาต่อมา แต่ที่อาจงง ๆ กันคือทำไมราชสมบัติจึงตกแก่เจ้านายพระองค์น้อยนี้และเหตุใดจึง กล่าวกันว่าการที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงยินยอมให้พระราชโอรสรับราชสมบัติในครั้งนั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่

เรื่องนี้มีคำตอบครับ.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: