หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บ้านซอยสวนพลูกับการอยู่อย่างไทย

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย: อัครเดช สุภัคกุล

น้ำท่วมบ้านเมืองมากมายอย่างนี้ ผู้เขียนนึกถึงผู้ใหญ่ 2 ท่านในชีวิต ที่ผู้เขียนเรียกว่า “พ่อ” ท่านหนึ่งล่วงลับไปแล้วคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกท่านยังมีชีวิตอยู่คือ ดร.วทัญญู ณ ถลาง ที่จะพูดถึงในคราวนี้คือ ทั้งสองท่านมีอะไรคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เวลาน้ำท่วมบ้านแล้วท่านไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับใครเขาเลย โดยเฉพาะท่านแรกนั้น กลับรู้สึกเฮฮาตามประสาของท่าน มากกว่าใครในชีวิต เท่าที่ผู้เขียนได้เคยประสบพบเห็นมา

ขอเล่าถึงท่านแรกก่อน เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมา ที่ผู้เขียนยังอาภัพอัปภาคย์อยู่ ต้องนั่งรถเมล์มาจากบ้านไหนไม่ทราบ (เพราะย้ายไปหลายที่) มาลงที่ถนนสีลม แล้วเดินเท้ามาข้ามถนนสาทร เพื่อมาขอข้าวขอเหล้า บ้านซอยสวนพลูของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กินทุกวันในตอนเย็น จำได้แม่นยำอยู่อย่างหนึ่งว่า วันไหนที่กรุงเทพฯ ฝนตกหนัก น้ำยังไม่ท่วมที่ไหน หากใครไปบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในเวลานั้น จะต้องลุยน้ำท่วมเข้าไปขนาดหน้าแข้ง ตั้งแต่ปากซอยพระพินิจกันไปเลย


ไม่พักที่จะต้องพูดถึงเรือนไทยของท่าน ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็มีอาการอย่างเดียวกัน คืออยู่ในน้ำเลยทีเดียว แทนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านจะทุกข์ใจ เมื่อเวลามีแขกไปใครมายามน้ำท่วมบ้านอย่างนี้ ท่านกลับมีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ที่จะได้จัดสำรับกับข้าว ต้อนรับแขกเหรื่อลูกศิษย์ลูกหา ที่มาร่วมกินข้าวค่ำ ที่บนเรือน ซึ่งปกติจะกินข้าวกันที่โต๊ะอาหารใต้ถุนเรือนอยู่เป็นประจำ เคยมีคนไปถามท่านว่า “ไม่เดือดร้อนหรือที่น้ำท่วมบ้าน” ท่านบอกว่า “ผมสร้างบ้านนี้ไว้รับน้ำท่วม”

อีกท่านต่อมาคือ อดีตผู้ว่าฯ การเคหะแห่งชาติท่านแรก ดร.วทัญญู ณ ถลาง ท่านมีบ้านอยู่ที่เมืองนนทบุรี ตรงข้ามเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน บ้านท่านอยู่ในซอยลึกเข้าไป ผู้เขียนเคยมองลงมาจากเครื่องบิน เห็นเป็นบ้านหลังเดียวในละแวกนั้น ที่ยังเป็นป่าคลุมอยู่ มองแทบจะไม่เห็นตัวบ้านเลยก็ว่าได้ ด้วยความเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่อยู่อย่างเข้าใจในธรรมชาติ ตัวเรือนที่ออกแบบอย่างสมัยใหม่ ได้ยกสูงกว่าระดับพื้นดินเกือบเมตรครึ่ง ถึงน้ำจะท่วมท่านก็ไม่เดือดร้อนเช่นกัน

นอกไปจากนั้นบ้านของท่านอีกหลังหนึ่งที่ บ้านหลวง ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ก็เป็นเรือนไม้ธรรมดา หลังคามุงแป้นเกร็ด ยกใต้ถุนสูงเกือบ 2 เมตร อยู่ท่ามกลางแมกไม้สายธาร เวลาใครไปหาก็จะต้องผ่านป่าเข้าไปจึงจะถึงตัวบ้าน จะเห็นได้ว่า ทั้งสองท่านมีความเป็นอยู่อย่างไทย เข้าใจวิถีชีวิตไทยดั้งเดิมเป็นอย่างดี แม้ทั้งสองท่านจะจบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในตะวันตก แต่ท่านก็ไม่ลืมความเป็นไทย และมองอย่างคนในอดีตว่า น้ำท่วมนั้นดี เอาปุ๋ย เอาพันธุ์ปลามาให้ รวมถึงได้มีการชะล้างสิ่งปฏิกูลต่างๆ จากผืนดินออกไป ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่คนไทยเราจะกลับมาอยู่อย่างไทยในอดีต จะได้ไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนกันอีกต่อไป

@คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น: