หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อมรรัตนโกสินทร์ (13)

คำว่า “ทูลกระหม่อม” เป็นคำลำลองที่ชาววังใช้เรียกขานแทนการออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและบรรดาพระราชโอรสธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเฉพาะที่ประสูติจากพระอัครมเหสี ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เวลาพระราชโอรสธิดาของรัชกาลที่ 4 ตรัสถึงทูลกระหม่อมเป็นอันรู้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 4 เท่านั้น

รัชกาลที่ 5 มีพระราชโอรสธิดา 77 พระองค์ แต่ที่จะออกพระนามเรียกทูลกระหม่อมได้เห็นจะไม่เกิน 20 พระองค์ คือ มีแต่เฉพาะที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งล้วนเป็นพระอัครมเหสีเท่านั้น พระราชโอรสธิดาพระองค์อื่นเป็นสมเด็จหรือเสด็จทั้งสิ้น


คำว่า “ทูลกระหม่อม” บางครั้งก็กร่อนจนสั้นลงเป็น “ทูลหม่อม” บางทีเพื่อให้รู้ว่าเป็นทูลกระหม่อมพระองค์ใดก็จะเพิ่มพระนามเล่นตามไปด้วย เช่น ทูลกระหม่อมแดง ทูลกระหม่อมเอียดน้อย บางทีเรียกตามพระสถานะ เช่น ทูลกระหม่อมชาย ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ ทูลกระหม่อมพระ บางทีก็เรียกตามที่ประทับ เช่น ทูลกระหม่อมวังบางขุนพรหม


ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องนับถือพระองค์เจ้าหญิงละม่อมพระราชธิดารัชกาลที่ 3 มาก เพราะถวายอภิบาลเลี้ยงดูมาตั้งแต่สิ้นสมเด็จพระบรมราชชนนี โปรดฯ ให้เป็นสมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ฯ ชาววังออกพระนามว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” เห็นจะเป็นเจ้านายชั้นเสด็จพระองค์เดียวที่ชาววังเรียกทูลกระหม่อมทั้งที่ไม่ได้ประสูติจากพระอัครมเหสี

คำว่า “สมเด็จ” เป็นคำลำลองอีกคำใช้เรียกพระราชโอรสธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าที่ประสูติจากพระมเหสีเทวีอื่น ๆ ซึ่งไม่ถึงชั้นพระอัครมเหสี เช่น สมเด็จชาย (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีฯ) สมเด็จหญิงใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์) บางทีมิได้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามาแต่ประสูติ แต่เมื่อทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชั้นสมเด็จก็เรียกสมเด็จได้ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นต้น

สมเด็จเจ้าฟ้าจึงมีทั้งที่เป็นทูลกระหม่อมและสมเด็จ แต่จะไม่เรียกว่าเสด็จเป็นอันขาด

สมเด็จในที่นี้หมายถึงสมเด็จที่เป็นเจ้า คนละอย่างกับสมเด็จพระราชาคณะ เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระวันรัต

ส่วนคำว่า “เสด็จ” เป็นคำลำลองใช้เรียกพระราชโอรสธิดาพระมหากษัตริย์ที่ประสูติจากเจ้าจอมหม่อมพระสนมทั่วไป พระสถานะจริงคือเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า บางครั้งเรียกเสด็จพระองค์หญิง เสด็จพระองค์ชาย สมัยรัชกาลที่ 4-5 มี “เสด็จ” อยู่มากดังที่รัชกาลที่ 4 ตรัสว่า “ข้าเป็นคนลูกมากรากดก” ชาววังมักมีคำพูดให้คนนอกวังอย่างเรางงเล่น เช่น “เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าเสด็จจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จเสด็จเสด็จก็จะเสด็จด้วย” ฟังรู้เรื่องไหมครับ!

ทุกวันนี้ไม่มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอีกแล้วมีแต่พระราชโอรสธิดาที่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหรือทูลกระหม่อม 4 พระองค์ จึงมีการนำคำว่าเสด็จมาใช้เรียกพระราชนัดดาหรือเจ้านายชั้นหลานพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะที่เป็นพระองค์เจ้า เช่น เรียกพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลว่าเสด็จพระองค์ชายใหญ่ เรียกพระองค์เจ้าสุทธศิริโสภาว่าเสด็จพระองค์หญิงสุทธ

เจ้านายฝ่ายชายนั้นเมื่อเจริญพระชนมายุพอสมควรก็จะได้รับพระราชทานชื่อ ครั้นโสกันต์ (โกนจุก) แล้วซึ่งปกติจะทำเมื่อพระชนมายุ 11 (ถ้าเป็นหญิงจะทำเมื่อพระชนมายุ 12-13) หากเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายก็จะโปรดฯ ให้มีชื่อใหม่อีกครั้งเรียกว่า “ทรงกรม” พระสถานะจะเปลี่ยนเป็น “เจ้าต่างกรม” คือเป็นเจ้าที่สามารถปกครองบังคับบัญชาข้าในสังกัดได้จำนวนหนึ่ง เริ่มจากเป็นกรมหมื่น ต่อไปก็เลื่อนเป็นกรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมพระยา โดยมีข้าราชการยศเท่ากับเจ้าพระองค์นั้น เช่น ขุน หลวง พระ เป็นเจ้ากรมหรือผู้ใช้อำนาจแทน ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าฟ้าอาจต้องรอจนรับราชการมีความดีความชอบเสียก่อนจึงจะทรงกรมได้ เจ้านายผู้หญิงที่ทรงกรมพอมีบ้างแต่น้อยเต็มที บรรดาข้าในสังกัดมักเรียกเจ้านายของตนว่าเสด็จในกรมหรือสมเด็จในกรม ภายหลังใคร ๆ ก็พากันเรียกตามไม่ว่าจะอยู่ใต้สังกัดหรือไม่

สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มธรรมเนียมตั้งพระนามกรมพระราชโอรสธิดาตามชื่อเมืองสำคัญ และยังคงใช้ต่อมา เช่น กรมพระนครสวรรค์ฯ กรมหลวงเพชรบุรีฯ กรมหลวงสงขลาฯ กรมขุนเพชรบูรณ์ฯ คล้าย ๆ ที่อังกฤษตั้งชื่อเจ้าตามเมือง เช่น ปรินซ์ ออฟ เวลส์ ดุคออฟยอร์ค ดุคออฟเอดินเบอระ

แม้รัชกาลที่ 5 จะมีพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมพระสนมมากตามที่มีผู้ถวายมา แต่บางครั้งก็ยังมีความจำเป็นอื่น คราวหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียกษัตริย์อังกฤษทรงทาบทามขอพระราชบุตรีพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าครองนครเชียงใหม่ไปเป็นพระราชบุตรีบุญธรรม ทางกรุงเทพฯ วิตกมาก เกรงจะเป็นแผนผูกสัมพันธ์เพื่อฮุบเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา เพราะตอนนั้นอังกฤษได้อินเดียและพม่าไปแล้ว

รัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งทูตไปเฝ้าเจ้านครเชียงใหม่ทูลขอพระราชบุตรีลงมาเป็นพระภรรยา เจ้านครเชียงใหม่ต้องคิดหนักว่าจะนับญาติกับอังกฤษหรือจะนับญาติกับพระเจ้ากรุงสยามดี ในที่สุดก็ยอมถวายพระเจ้ากรุงสยาม

พระราชบุตรีนั้นคือเจ้าดารารัศมี โปรดฯ ให้เป็นพระภรรยาเจ้าตำแหน่งพระราชชายา มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งชื่อพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ถือเป็นเจ้านายชั้นเสด็จ เมื่อสิ้นพระชนม์รัชกาลที่ 5 ทรงออกพระโอษฐ์ว่าเสียใจที่มิได้ยกลูกคนนี้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า คือควรเป็นชั้นสมเด็จได้ เพราะแม่เขาก็มีเชื้อสายกษัตริย์เชียงใหม่

แม้การรับเจ้าดารารัศมีเป็นพระภรรยาเจ้าจะมีเหตุทางการเมือง แต่ก็ทรงเป็นที่สนิทเสน่หามาก และพระราชชายาก็ทรงวางพระองค์เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปทั้งยังทรงช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรสยามกับล้านนาจนสยามได้เป็นเอกภาพ

คราวนี้จะได้ว่าถึงความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงทำให้ไทยกลายเป็น “ชาติ” หรือ “รัฐ” ทั้งยังเป็นรัฐที่มีเอกราช เอกภาพ และมีความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรสืบมา

รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ 42 ปี (2411-2453) ห้าปีแรกยังทรงพระเยาว์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องให้ผู้อื่นสำเร็จราชการแทน หกเจ็ดปีต่อมาแม้ทรงบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ก็ยังมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และวังหน้าเป็นผู้ใหญ่ ช่วงนี้จึงมักเกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่ามักอ้าง “โบราณราชนิติประเพณี” ส่วนรุ่นใหม่ก็อ้าง “นานาอารยประเทศ” เทียบกับสมัยนี้ก็คงเป็น “กระแสโลกาภิวัตน์”

เวลานั้นยุโรปก็กำลังจ้องเราตาเป็นมันโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ถ้าเราเดินเกมผิดก็จะเสียบ้านเมืองโดยง่าย เราจึงต้องคิดถึง “ธรรมเนียมการปกครองแบบใหม่” ไม่ว่าการเมืองการปกครอง การศาล กฎหมาย การให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ การพัฒนาบ้านเมืองไม่ว่าถนนหนทาง สะพาน ตึกรามบ้านช่อง การติดต่อสื่อสาร การศาสนา การศึกษา หรือแม้แต่ทางทำมาหากิน

ถ้าคราวนั้นเราได้ผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีคนช่วยคิด ไม่มีเวลาต่อเนื่องให้ทำงาน ไม่ใจกว้าง ธรรมเนียมการปกครองแบบใหม่ก็ยากจะสำเร็จลงได้

ถึงได้บอกไงล่ะครับว่าความโชคดีของไทยคือการมีผู้นำที่มาอย่างพอเหมาะพอเจาะแก่กาลเวลาและความต้องการ ไม่ช้าไม่เร็วไป.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: