หน้าเว็บ

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จารึกวัดศรีชุม จ.สุโขทัย

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย 
โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ


เมื่อปี พ.ศ.2430 พลโทหลวงสโมสรพลการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ได้ค้นพบศิลาจารึกที่อุโมงค์ของมณฑปพระอจนะวัดศรีชุม จ.สุโขทัย ซึ่งต่อมาภายหลังได้เรียกว่า “จารึกวัดศรีชุม” หรือ “จารึกสุโขทัยหลักที่ 2” ที่เชื่อว่าจารึกขึ้นเมื่อภายหลังปี พ.ศ.1884 และผู้ที่ได้สร้างจารึกหลักนี้ขึ้นมาจากการศึกษาพบว่าคือ ผู้เป็นหลานปู่ของพ่อขุนผาเมือง แห่งราชวงศ์ผาเมือง ที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์สุโขทัย ภายหลังที่ราชวงศ์พระร่วง ได้ครองราชย์ที่สุโขทัยนั่นเอง

โดยที่ความในจารึกได้กล่าวถึงพระราชประวัติขององค์ผู้จารึกว่า ทรงเป็นพระราชโอรสของพญาคำแหงพระราม และทรงเป็นนัดดา (หลานปู่) ของพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม (น้ำท่วม) กษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงสุโขทัย ที่ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์ ได้เกิดเหตุ “ขอมสมาดโขลญลำพง” ยึดอำนาจ และขึ้นครองกรุงสุโขทัย ครั้งนั้นพ่อขุนผาเมืองพระราชโอรสได้ทรงร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองราด ทำการปราบปรามจนเป็นผลสำเร็จ

เมื่อทรงมีชัยเหนือขอมสมาดโขลญลำพงแล้ว พ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาวทรงครองกรุงสุโขทัย เป็นต้นราชวงศ์พระร่วง ได้ทรงถวายพระนาม “ศรีอินทราทิตย์” กับ “พระขรรค์ชัยศรี” ซึ่งเป็นของพระองค์แต่เดิม ที่ได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์ขอม ในฐานะราชบุตรเขย จากนั้นก็ได้ทรงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ดังกล่าว จากจารึกวัดศรีชุมจึงทำให้ทราบว่า แท้จริงราชวงศ์ของพระองค์ไม่ได้หายไปไหน แต่คงด้วยเหตุผลทางการเมืองจึงยุติบทบาทลงไป

กระนั้นก็ตามผู้ทรงจารึกได้กล่าวไว้ในจารึกว่า เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนม์ได้เพียง 26 พรรษานั้น ได้กระทำยุทธหัตถี (ชนช้าง) กับขุนจังเป็นสามารถ ทั้งที่ช้างของขุนจังคู่ต่อสู้กำลังอยู่ในอาการตกมันโดยแท้ การรบครั้งนั้นขุนจังเป็นฝ่ายแพ้ ได้ไสช้างหนีไป แต่สุดท้ายได้ถูกพระองค์ผู้ทรงจารึกจับได้ทั้งคน แลทั้งช้างที่ตกมันนั้นได้ในที่สุด วีรกรรมครั้งนั้นย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์หนุ่มแห่งราชวงศ์ผาเมือง ที่มีความกล้าหาญเพียงใด

ครั้นพระชนม์ได้ 29 พรรษาทรงจารึกว่า ทรงมีพระราชโอรสหนึ่งพระองค์ แต่ต่อมาเมื่อพระชนม์ได้ 31 พรรษาทรงเบื่อหน่ายโลก ได้เสด็จทรงผนวช และทรงเสด็จจาริกไปถึงเกาะลังกา ทรงจำพรรษาอยู่ถึง 9 พรรษาด้วยกัน ภายหลังเมื่อกลับสู่กรุงสุโขทัย ได้ทรงเป็นผู้นำลัทธิลังกาวงศ์ และสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาจากลังกามาเผยแพร่ ในผืนแผ่นดินไทยเป็นอันมาก และชาวลังกามีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระองค์ท่านเป็นอย่างสูง ได้ถวายพระนามแด่พระองค์ท่านว่า “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีรัตนลังกาทวีป”

ไม่มีความคิดเห็น: