หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (3)

เพลงที่เด็กร้องได้ ผู้ใหญ่ฟังดีเพลงหนึ่งมีว่า “ตาอินกะตานา หาปลาเอามากินกัน...” แต่แล้ววันหนึ่งตาอินกะตานาเกิดจะแย่งปลากัน ลงท้ายตาอยู่ก็คว้าพุงเพียว ๆ ไปกิน ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาก็มีเรื่องพรรค์อย่างว่านี้ เมื่อสมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) กษัตริย์ผู้มาจากสุพรรณสวรรคตลง พระราชโอรสสองพระองค์คือเจ้าอ้ายพระยาซึ่งครองเมืองสุพรรณยกทัพขับช้างเข้ามาหมายจะเป็นกษัตริย์อยุธยา แต่เจ้ายี่พระยา เจ้าเมืองสรรคบุรีไม่ยอม คุมทัพขับช้างมาต่อสู้กับพี่จนปะทะกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน ลงท้ายสิ้นพระชนม์ทั้งคู่


สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่าเจ้าทั้งสองคงต่างพระชนนีกัน เจ้านายขุนนางจึงทูลเชิญน้องนุชสุดท้องเป็นตาอยู่คือเจ้าสามพระยา เจ้าเมืองชัยนาทขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ชื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 2) เมื่อถวายพระเพลิงเจ้าพี่ทั้งสองแล้ว ทรงสร้างพระปรางค์มหาธาตุเจดีย์ครอบที่ตรงนั้น และให้สร้างวัดขึ้นเรียกว่าวัดราชบูรณะ ทุกวันนี้เหลือแต่ซาก ส่วนพระปรางค์ยังอยู่สมบูรณ์

ไทยเรามีธรรมเนียมมาแต่โบราณว่าบ้านใหญ่เมืองโตต้องมีวัดสำคัญคู่พระนครคือวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐ์ กรุงศรีอยุธยาก็มีวัดเหล่านี้ เมื่อสร้างกรุงเทพฯ ก็ได้โปรดฯ ให้สร้างหรือเปลี่ยนชื่อวัดเดิมที่บูรณะใหม่มาใช้ชื่อวัดเหล่านี้ วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพุทธ ข้างโรงเรียนสวนกุหลาบ เดิมเป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาชื่อวัดเลียบ ตำราหนึ่งว่าเพราะมีต้นเลียบ อีกตำราว่าเพราะจีนเลี้ยบ (คนละคนกับหมอเลี้ยบ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เป็นผู้สร้าง สมัยต้นกรุงเทพฯ เคยเป็นวัดประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 สัมพันธมิตรทิ้งระเบิดลงวัดจนเรียบจริง ๆ บัดนี้บูรณะใหม่แล้ว

วัดราชบูรณะสมัยอยุธยาอาจมีมาก่อนสมัยเจ้าสามพระยาก็ได้ ไม่งั้นจะไปถวายพระเพลิงตรงนั้นได้อย่างไร แต่คงโทรมเต็มทีจนโปรดฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งวัด

ความยิ่งใหญ่ของวัดราชบูรณะมาปรากฏแก่สายตาชาวโลกเมื่อ พ.ศ.2499 เมื่อตำรวจจับโจรกลุ่มหนึ่งซุกซ่อนพระพิมพ์ทองคำเป็นอันมาก ทั้งยังมีสร้อยทองคำ แหวน เพชรนิลจินดา ขนาดแบ่งปันกันแล้วก็ยังเหลือให้ยึดได้ไม่น้อย เมื่อไต่สวนได้ความว่าแอบขุดจากกรุใต้ฐานพระปรางค์วัดราชบูรณะ พอเข้าหน้าฝนดินชุ่มน้ำ อ่อนตัว จึงขุดเจาะง่าย กรมศิลปากรจึงนำผู้เชี่ยวชาญมาขุดเจาะบ้างพบว่าใต้ฐานพระปรางค์ลึกลงไปเป็นกรุหรือห้องขนาดลิฟต์ซ้อนกันอยู่ใต้ดินเป็นชั้น ๆ

ในปี พ.ศ. 2500 เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า การระบายอากาศและป้องกันโรคจากใต้ดินยังเป็นปัญหา กรุเองก็เล็ก คับแคบ น่ากลัวว่าจะพังทลาย แต่แล้วก็ค่อย ๆ ลำเลียงสมบัติออกมาได้หลายชิ้นเป็นพระเนื้อต่าง ๆ นับหมื่นองค์ พระธาตุเจดีย์ทองคำ โต๊ะทอง มงกุฎทองคำ เครื่องสวมศีรษะเรียกว่าศิราภรณ์ พระแสงดาบ ช้างทรงทองคำชูงวงหมอบ และของมีค่าอีกมหาศาล

ไม่มีใครรู้ว่าเครื่องทองของมีค่าเหล่านี้ไปอยู่ใต้ฐานพระปรางค์ได้อย่างไร ทำราวกับเป็นสมบัติมัมมี่ในพีระมิด บ้างก็สันนิษฐานว่าบรรจุไว้เป็นพุทธบูชา บ้างก็ว่าเป็นของนำไปใช้ในชาติหน้า บางคนก็ว่าอาจเป็นการยักย้ายถ่ายเทสมบัติซ่อนไว้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วยความสนพระราชหฤทัย ทรงแนะนำแนวทางการชักดาบออกจากฝักทองคำโดยไม่ให้เสียหาย และรับสั่งว่าของเหล่านี้อยู่คู่อยุธยา ควรนำออกแสดงที่นี่ ไม่ควรย้ายไปไว้ที่อื่น กรมศิลปากรจึงสนองพระราชกระแส นำพระพิมพ์เนื้อต่าง ๆ บางส่วนที่มีอยู่มากมายออกให้เช่าบูชาหาทุน ได้เงินมาหลายล้านบาทสร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาที่อยุธยาโดยไม่ต้องใช้เงินแผ่นดิน

พิพิธภัณฑ์นี้น่าดูมาก ชีวิตนี้ครูควรพานักเรียน พ่อแม่พาลูก ลูกหลานพาปู่ย่าตายายไปชมมรดกเจ้าสามพระยาสักครั้ง จะได้เห็นเจดีย์ทองคำบรรจุพระธาตุเป็นสิบ ๆ องค์ พระพิมพ์เนื้อทอง เงิน นาก ชิน เหรียญกษาปณ์สมัยอยุธยา ศิราภรณ์ ของที่ต้องดูให้ได้คือช้างทองคำหมอบซึ่งเป็นของสำคัญงามนักหนา ที่ไม่ได้ขุดพบจากวัดราชบูรณะแต่เชิญมาจากที่อื่นคือพระพุทธรูปศิลาห้อยพระบาท และเศียรพระพุทธรูปจากวัดธรรมิกราชซึ่งหล่อขึ้นตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองยังไม่เกิด

เจ้าสามพระยาได้สถาปนาพระราชโอรสเป็นพระราเมศวร อันเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนรัชทายาทครั้งพระเจ้าอู่ทอง โปรดฯ ให้ไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งขณะนั้นตกเป็นของอยุธยาแล้ว การส่งรัชทายาทไปครองพิษณุโลกเริ่มเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่บัดนั้น เรียกว่าใครครองพิษณุโลกต่อไปจะได้ครองอยุธยา (ก่อนหน้านั้นให้ดูว่าใครครองเมืองลพบุรี)

เมื่อเจ้าสามพระยาสวรรคต พระราเมศวรได้กลับมาครองอยุธยาเป็นรัชกาลที่ 8 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แปลว่าที่พึ่งแห่งโลกทั้งสามคือโลกมนุษย์ สวรรค์ และนรกภูมิ ตามคตินิยมในเรื่องไตรภูมิ เวลาเดียวกันเชียงใหม่กำลังแยกตัวเป็นอิสระ มีกษัตริย์ปกครองชื่อคล้ายกันว่าพระเจ้าติโลกราชและมีความหมายอย่างเดียวกันด้วย

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองกรุงศรีอยุธยานานถึง 40 ปี ก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต้องนับว่าพระองค์อยู่ในราชสมบัตินานที่สุดในประเทศไทย และทรงทำประโยชน์หลายอย่างจนอยากทายว่าวันหนึ่งจะมีคนนึกถึงผลงานจนยกเป็นมหาราชหรือธรรมิกราชได้อีกพระองค์

เมื่อครองราชย์ได้ 15 ปี เชียงใหม่ยกทัพไปตีหัวเมืองภาคเหนือจนจวนไล่ลงมาถึงพิษณุโลก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเสด็จขึ้นไปตั้ง ศอฉ.บัญชาการรบอยู่ที่พิษณุโลก และทรงใช้เวลาอีก 25 ปีอยู่ที่นั่นอย่างถาวรจนถือเป็นเมืองหลวง ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้นกลับลดลงเป็นเมืองลูกหลวง ให้พระราชโอรสปกครองมีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช (เมืองขึ้น)

ผลงานยิ่งใหญ่คือทรงตั้งทำเนียบศักดินาขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดอยู่ในวังไม่มีพระสงฆ์ซึ่งเป็นต้นแบบของวัดพระแก้วในเวลานี้ ทรงตรากฎมนเทียรบาลซึ่งว่าด้วยกฎกติกาในราชสำนัก ขนบประเพณีต่าง ๆ ลำดับชั้นยศของเจ้านายซึ่งใช้เป็นฐานพิจารณาผู้สืบราชสมบัติ ทรงตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราช และทรงวางรากฐานการปกครองใหม่ เช่น แบ่งข้าราชการเป็นฝ่ายพลเรือนและทหาร ตั้งอภิมหากรมไว้ดูแลราชการ 4 ด้านเรียกว่าจตุสดมภ์ แปลว่า เสาหลักทั้ง 4 ได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา ซึ่งระเบียบราชการอย่างนี้ใช้มา 400 ปีจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ระหว่างเสด็จฯไปอยู่พิษณุโลกได้ทรงผนวช ทรงสร้างวัด หล่อพระพุทธรูป และจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ใหม่

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตที่พิษณุโลก พระบรมราชา พระราชโอรสซึ่งปกครองอยุธยาได้ขึ้นครองราชย์เต็มที่เป็นรัชกาลที่ 9 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 3) แล้วลดฐานะพิษณุโลกลงเป็นเมืองเอก ราว 3 ปีต่อมาก็สวรรคต พระเชษฐาชื่อแปลว่าพี่แต่ความจริงเป็นน้องชายขณะนั้นครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองเอกต่อจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงกลับลงมาครองกรุงศรีอยุธยาต่อจากผู้เป็นพี่ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2) เป็นรัชกาลที่ 10 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์

รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นานถึง 38 ปี ทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังต่อจนเสร็จ โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่สูง 8 วา หุ้มทองคำชื่อพระศรีสรรเพชญซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปมีค่าคู่บ้านคู่เมืองและสำคัญที่สุดของพระนครศรีอยุธยา

ใครไปไหว้พระมงคลบพิตรที่อยุธยาวันนี้จะเห็นเจดีย์ 3 องค์เรียงกันข้างพระวิหาร สององค์แรกสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างไว้บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ่อ) และสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พี่) ส่วนองค์ที่สามต่อมาสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร พระราชโอรสสร้างเพิ่มขึ้นเพื่อถวายพระราชบิดาคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เห็นแล้วช่วยยกมือไหว้เสียด้วย นี่คือเจดีย์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์

รัชกาลนี้ฝรั่งเข้ามาค้าขายเป็นชาติแรกคือโปรตุเกส นับถึงบัดนี้ร่วม 500 ปีแล้ว และโปรดฯ ให้ตั้งกรมพระสุรัสวดีเป็นครั้งแรก มีหน้าที่สักเลก (ข้อมือ) เกณฑ์คนเป็นทหาร ชายฉกรรจ์อายุ 18 ปีทุกคน ต้องเป็นทหารเรียกว่าไพร่ ถ้าไปอยู่กับขุนนางอำมาตย์เรียกว่าไพร่สม ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์ก็ส่งเงินไปให้หลวงจ้างคนอื่นเรียกว่าไพร่ส่วย พออายุ 20 ปีก็ระดมกลับเข้าทำงานหลวงหมดเรียกว่าไพร่หลวง

บัดนี้เกิดอำมาตย์และไพร่แล้วนะครับ! แต่ไม่แตกแยกกันเป็นสีเพราะคนไทย พ.ศ.2000 ไม่สวมเสื้อ นุ่งแต่กางเกงถึงเข่าบ้าง คาดผ้ารวบปลายเหน็บหลังเหมือนโจงกระเบนแต่ตัวเท่ากางเกงในบ้าง จึงไม่อาจจำแนกสีได้ ถ้าใครถามว่าสีอะไร ชาวอยุธยาทั้งหลายจะตอบว่า “ศรีอยุธยาจ้ะ”.

“พิพิธภัณฑ์นี้น่าดูมาก ชีวิตนี้ครูควรพานักเรียน พ่อแม่พาลูก ลูกหลานพาปู่ย่าตายายไปชมมรดกเจ้าสามพระยาสักครั้ง จะได้เห็นเจดีย์ทองคำบรรจุพระธาตุเป็นสิบ ๆ องค์ พระพิมพ์เนื้อทอง เงิน นาก ชิน เหรียญกษาปณ์สมัยอยุธยา ศิราภรณ์ ของที่ต้องดูให้ได้คือช้างทองคำหมอบซึ่งเป็นของสำคัญงามนักหนา ที่ไม่ได้ขุดพบจากวัดราชบูรณะ แต่เชิญมาจากที่อื่นคือพระพุทธรูปศิลาห้อยพระบาท และเศียรพระพุทธรูปจากวัดธรรมิกราชซึ่งหล่อขึ้นตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองยังไม่เกิด”

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hoymail.com
@เดลินิวส์ 30 สิงหาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น: