หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ลำดับ6ชม."หาดใหญ่"จม มหาศาล แรง เร็ว เกินป้องกันทัน


18.00 น. (1 พฤศจิกายน 2553) หลังเกิดฝนตกต่อเนื่อง 2 วัน ทำให้ระดับน้ำในคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำที่ 1 เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ ตัดสินใจยกระดับการเตือนภัยเป็น "ธงแดง" หมายถึงน้ำจะท่วมภายใน 6-30 ชั่วโมง ให้เตรียมย้ายทรัพย์สินและอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ภายหลังจากเพิ่งสั่งปรับเปลี่ยนจาก "ธงเขียว" เป็น "ธงเหลือง" ให้เฝ้าระวังเมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน


22.00 น. ระดับน้ำเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องตัดสินยกระดับการเตือนภัยสูงสุดเป็น "ธงแดง" เปิดสัญญาณ "ไซเรน" หมายถึง "น้ำจะท่วมภายใน 2 ชั่วโมง ให้ประชาชนอพยพทันที"

22.10 น. พายุดีเปรสชั่นพัดเข้าถล่มพื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทย ทำให้พื้นที่เทศบาลนครสงขลา ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา พื้นที่ชายฝั่ง อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ ได้รับความเสียหาย ต้นไม้ริมชายฝั่งล้มระเนระนาด เรือที่จอดหลบคลื่นที่เกาะหนู เกาะแมว ถูกพายุพัดเกยชายหาด

22.30 น. น้ำทั้งสองคลองเริ่มทะลักจากพนังกั้นน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลนคร หาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่บริเวณชุมชนเทศาพัฒนา เทศบาลนครหาดใหญ่ ก่อนหน้านั้นน้ำเข้าท่วมหมู่บ้านลัดดานิเวศน์ เขตเทศบาลตำบลควนลัง และท่วมฝั่งตรงข้าม ตั้งแต่หน้าที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ ขณะเดียวกันมีการตัดระบบไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วม

23.30 น. ระบบการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์เริ่มติดขัด โดยเฉพาะโทรศัพท์พื้นฐาน

24.00 น. น้ำเริ่มไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ชั้นในย่านเศรษฐกิจ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 และ 3 ถนนเสน่หานุสรณ์ ระดับน้ำท่วมสูง 1 เมตรเศษ ขณะที่ริมคลองอู่ตะเภา น้ำท่วมสูง 3 เมตร หลังน้ำเริ่มเอ่อได้มีการเตือนภัยผ่านวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่น ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านชั้นเดียวอพยพออกนอกพื้นที่เนื่องจากระดับน้ำ ท่วมสูงเพิ่มขึ้น และน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนบางส่วนขนย้ายข้าวของไม่ทัน ขณะที่พื้นที่ท่วมซ้ำซาก แม้ขนย้ายข้าวของขึ้นอยู่ที่สูง แต่น้ำเกินความคาดหมาย ทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายเช่นกัน

เจ้าของรถหลายร้อยคันสามารถขับรถขึ้นไปจอดบนที่สูง และบนสะพานได้ทัน แต่อีกหลายพันคันหนีไม่ทันก็จมอยู่ในน้ำเช่นเดียวกับรถของนักท่องเที่ยวที่ จอดในชั้นใต้ดินตามโรงแรมต่างๆ


07.30 น. (2 พฤศจิกายน 2553) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมายังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ เปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อำนวยการแก้ไขปัญหา

ตลอดช่วงเช้าได้ระดมเรือท้องแบน รถบรรทุกออกให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่พยายามใช้โทรศัพท์มือถือโทรแจ้งตามสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีวิทยุท้องถิ่น รวมถึงสายด่วนกู้ภัย 1784 แต่การช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุม เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่นำเรือพร้อมอุปกรณ์กู้ภัยที่ออก ไปช่วยเหลือแล้วได้


11.30 น. มีการเปิดโรงครัวชั่วคราว ปรุงอาหารสำเร็จรูปออกแจกจ่ายประชาชนที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา

12.30 น. นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา ทำข้าวกล่องสำเร็จรูป กว่า 500 ชุด ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ นำไปหย่อนให้ผู้ประสบภัยที่การช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง

15.30 น. น้ำจากพื้นที่ อ.สะเดาเริ่มไหลเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ทำให้น้ำบริเวณถนนลพบุรีราเมศวร์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แม้น้ำในคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำที่ 1 ไหลระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา แต่ก็ไม่ช่วยให้น้ำในตัวเมืองลดลงมากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในภาคใต้ตอนล่างมากกว่าที่เคยตกจนท่วมหาดใหญ่ ในปี 2543


16.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาประชุมรับทราบสถานการณ์ที่ มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่


17.00 น. คณะของนายกรัฐมนตรีนั่งรถไปแจกของ แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงแยกคอหงส์พบว่าระดับน้ำท่วมสูงจนรถไม่สามารถผ่านได้ จึงแจกถุงยังชีพให้ประชาชนในละแวกดังกล่าวเสร็จขึ้นรถและเครื่องบินกลับ กรุงเทพฯ พร้อมมอบหมายให้นายถาวร เสนเนียม บัญชาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ตอนล่าง

น้ำท่วมหาดใหญ่ปี"43



มองอดีต ดูปัจจุบัน

วิกฤต น้ำท่วมหนัก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงแห่งภาคใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ทำให้เรานึกย้อนไปถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2543

ปีนั้น หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างแปรสภาพเป็นดีเปรสชั่น ปกคลุมอ่าวไทยก่อนเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร พัทลุง กระบี่ ปัตตานี สตูล ยะลา ตรัง นราธิวาส สุราษฎร์ธานี สงขลา และนครศรีธรรมราช ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง 3 วัน 3 คืน

มวลน้ำมหาศาลจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ติดพรมแดนไทยกับมาเลเซีย ไหลบ่าเข้าท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ชั้นในซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมสูง พื้นที่ตัวเมืองจมน้ำสูงเฉลี่ย 1-2 เมตร

อุทกภัยปี 2543 ครั้งนั้น มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

1.ปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่า 300 มิลลิเมตรต่อวัน

2.น้ำไหลบ่าจาก อ.สะเดาซึ่งอยู่ใต้ อ.สงขลา และมีพื้นที่สูงกว่าลงมาสู่ตัวเมืองหาดใหญ่

3.การ บริหารจัดการเมืองที่ขาดการวางแผนที่ดี แผนผังที่เทศบาลวางไว้ไม่ได้นำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม มีการก่อสร้างอาคาร ถนน ระบบสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามระบบผังเมือง กลายเป็นอุปสรรคกีดขวางการไหลของน้ำ นอกจากนี้ ระบบระบายน้ำขยายตัวไม่ทันการเจริญเติบโตของเมือง และหลายเส้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ

การสร้างถนนเลี่ยงเมืองด้านตะวัน ตกเฉียงเหนือกลายเป็นพนังขนาดใหญ่กั้นน้ำจากภายในเมืองไม่ให้ไหลออกสู่ ทะเลสาบสงขลาที่อยู่ด้านเหนือโดยสะดวก

ภาวะอุทกภัยหาดใหญ่ปี 2543 ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งเลวร้าย สรุปความเสียหายด้านกายภาพประมาณ 1,843 ล้านบาท ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 35 ราย อย่างไม่เป็นทางการสูงถึง 233 ราย มีผู้ประสบความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

ผลจากความเสียหายครั้งนี้ทำให้ เทศบาลนครหาดใหญ่ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูสภาพเมือง และตั้งคณะทำงานศึกษาการป้องกันอุทกภัยของเทศบาลนครหาดใหญ่

ที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ 3 ประการ คือ



1.ก่อสร้างคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำคลองสายหลัก

2.ก่อสร้างเส้นทางผันน้ำ หรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำเดิมที่มีปัญหาน้ำไหลไม่สะดวก เพื่อเสริมเส้นทางระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น

3.ปรับปรุงตกแต่งสภาพลำน้ำ ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น คลองช่วงไหนคดโค้ง ให้ขุดคลองใหม่ตัดเป็นลำน้ำสายตรงให้น้ำไหลสะดวก

ทางจังหวัด และท้องถิ่นน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งมาปฏิบัติ สร้างพนังสองฟากคลองอู่ตะเภาสูง 1.50 เมตร ขุดลอกคูคลอง เจาะอุโมงค์ลอดถนนเลี่ยงเมือง ฯลฯ

วิกฤต น้ำท่วมหาดใหญ่ปีนี้ มีสภาพที่มา และปัญหาเหมือนปี 2543 ไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ปีนี้วิกฤตหนักกว่าเดิม เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมากกว่า ส่งผลให้โครงการป้องกันอุทกภัยต่างๆ ไม่อาจช่วยให้เมืองหลวงแห่งภาคใต้พ้นจมบาดาลได้ตามคาดหวัง

ที่มา : หน้า 2 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพุธที่ 3 พ.ย. 2553 
----------------------------------------
ปริมาณน้ำที่มาในปีนี้มากกว่าปี 43 มาก การวางแผนที่เตรียมไว้จึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่วางไว้  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังน้ำท่วมคือ น้ำลดได้เร็วกว่าปี 43 มาก

ไม่มีความคิดเห็น: