หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หาดใหญ่กับโรคที่ไม่มียารักษา

โดย : ดาวเรือง รัตนะ
Life Style/กรุงเทพธุรกิจ


แม้น้ำสูงกว่า 3 เมตรจะอันตรธานไปแล้ว แต่ชาวหาดใหญ่ยังคงหวาดผวาถึงการมาของอุทกภัยครั้งใหม่ ตรวจอาการป่วยไข้น่าจะเข้าข่าย "โรคกลัวน้ำ"

ฝนเม็ดหนักตลอดสองวันสอง คืนเต็มที่สาดเทลงใส่นครหาดใหญ่จนในที่สุดหัวเมืองอันมีสมญาว่าเป็นศูนย์ทาง เศรษฐกิจของถิ่นสะตอก็ต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากเมืองบาดาลในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนอุทกภัยเที่ยวล่าสุดจะทะลักท่วม ทุกชีวิตต่างเตรียมตัวหาทางรับมือเป็นอย่างดี ด้วยเพราะประสบการณ์อันเลวร้ายเมื่อเดือนน้ำหลากของ 10 ปีก่อน ยังคงกรีดความรู้สึกของผู้คนแทบทุกครั้งที่ฝนตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะต่างก็หวาดกลัวภาพวันคืนที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินและของมีค่าไปกับสาย น้ำ จะกลับมาหลอกหลอนอีกคำรบ





ซ้อมมาดีแต่หนีไม่พ้น

ข่าวคราวอุทกภัยที่ปรากฏกับประชาชนทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือตลอดหนึ่งเดือนเต็ม ทำให้ ประสิทธิ์ สุขศรี หนุ่มวัยกลางคนที่อาศัยและหาเลี้ยงชีวิตด้วยการประกอบธุรกิจเล็กๆ อยู่ในย่านการค้าสำคัญกลางเมืองหาดใหญ่หลายสิบปี รู้สึกได้ถึงภัยธรรมชาติที่ผิดแผกไปจากที่เคยเป็น โดยเฉพาะข่าวสารที่ถูกนำเสนอผ่านหน้าสื่อทุกแขนงล้วนตอกย้ำให้เห็นภาพของ ระดับความรุนแรงและหนักหน่วงของ “น้ำ” ที่ไหลทะลักท่วมจนไม่อาจวางใจได้ เมื่อถึงกำหนดการตามปฏิทินบ่งบอกว่า “หน้าฝน” กำลังมาเยือนแดนสะตอ


“ประสิทธิ์” มักจะเงี่ยหูฟังรายงานข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่ตลอด และปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ข้าวสาร อาหารแห้ง รวมทั้งน้ำดื่มถูกกักตุนไว้เป็นเสบียงกรังชนิดเต็มอัตราศึก กระทั่ง ช่วงสายของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะ กิจ ทำให้เค้าลางเรื่องภัยน้ำท่วมเริ่มเป็นจริงมากยิ่งขึ้น


ใจของหนุ่มใหญ่เลือดสะตอผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากว่า 30 ฝน อดกระหยิ่มยิ้มย่องไม่ได้ ที่ตัวเองรู้เท่าทันสถานการณ์ของดินฟ้าอากาศ เฉพาะเที่ยวนี้เขามั่นใจว่าสามารถใส่กลอนปิดประตูเผชิญวิบากกรรมบนสายน้ำได้ เพราะ 10 ปีที่แล้ว กระแสน้ำทะลักทลาย ทำให้ข้าวของมีค่าต้องจมน้ำชนิดไม่ทันขนหนี มิหนำซ้ำตัวเองยังต้องท้องว่างนานถึง 48 ชั่วโมงเต็ม


แต่สุดท้าย เมื่อปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 30 ตุลาคม -1 พฤศจิกายน 2553 วัดได้ถึง 600 มิลลิเมตร ต่อให้ฟิตซ้อมเตรียมตัวรับมือสถานการณ์มาดีแค่ไหนก็ยากที่จะหนีพ้นภาวะ “น้ำท่วมเมือง” ได้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2543 วันที่หาดใหญ่กลายเป็นเมืองบาดาล ตอนนั้นอ่วมด้วยปริมาณน้ำฝนเพียง 420 มิลลิเมตรเท่านั้น


“ประสบการณ์น้ำท่วมปี 43 และข่าวสารเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและอีสานทำให้ผมเตรียม พร้อมเป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าเที่ยวนี้หาดใหญ่อาจจะเผชิญภาวะอุทกภัยแน่ๆ แต่ไม่คิดว่าน้ำจะมามากกว่าที่คาดการเอาไว้ ” ประสิทธิ์ เล่าความรู้สึกพลางหยิบซองม่าม่าที่ผ่านการบีบจนแตกละเอียดมาโชว์


หนุ่มคนเดิมย้อนเหตุการณ์ผ่านสำเนียงเปื้อนทองแดงว่า ปี 2543 ทรัพย์สินของมีค่าบางอย่างยังพอคว้าขึ้นมาพร้อมกับหนีน้ำขึ้นมาซุกหัวนอนบน บ้านชั้นสองได้ แต่เที่ยวนี้อุทกภัยรุกไล่ให้ชีวิตต้องปีนป่ายมานั่งอยู่บนกระเบื้องที่ใช้ ปกคลุมตัวบ้าน ชนิดไม่กล้าแม้จะข่มตาให้หลับลงได้เพราะเจ็บใจที่ธรรมชาติไม่ยอมแพ้ให้ มนุษย์เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาได้พยายามศึกษาเหลี่ยมคูดิน ฟ้า อากาศ อย่างรอบด้านเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในที่นั่งลำบากหากเกิดน้ำท่วมซ้ำ

“ผมขนของไว้บนชั้นสองก็ยังไม่พ้น แถมเตรียมอาหารแห้ง และน้ำดื่มสุดท้ายก็ต้องหอบเอามาบรรเทาหิวบนหลังคา ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตแต่สุดท้ายเราก็หนีมันไม่พ้น และคงจะเป็นจริงดั่งคำที่ว่ามนุษย์เราไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้” ประสิทธิ์ กล่าวด้วยสำเนียงเปื้อนสะตอ ก่อนแหงนหน้ามองฟ้าที่ถูกปกคลุมด้วยเมฆดำทมึน





ไม่อยากจมแล้วจมอีก

ในประวัติศาสตร์อุทกภัยที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำที่ยากจะลืมของชาว หาดใหญ่นั่นคือเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2531 และปี 2543 โดยทั้งสองคราคราบไคลแห่งความเจ็บปวดไม่เคยถูกชะล้างไปได้ด้วยสายฝนที่พรำลง มา กลับมีแต่จะพอกพูนความหวาดผวามากขึ้นเรื่อยๆ ทันทีที่แว่วเสียงเตือนให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือภัยธรรมชาติที่มากับน้ำ โดยเฉพาะผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านการค้าเลื่องชื่อ “ สันติสุข - กิมหยง ” เพราะจุดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ถูกโจษจันท์ไปทั่วกรณีเกิดปรากฎการณ์น้ำนอง เมืองหาดใหญ่


“หัวใจเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่อยู่บนถนนนิพัธอุทิศหนึ่ง นิพัธอุทิศสอง และนิพัธอุทิศสาม หรือที่คนรู้จักกันในชื่อตลาดสันติสุข รวมถึงตลาดกิมหยงแหล่งชอปปิงของนักท่องเที่ยว ดังนั้นปรากฎการณ์ท่วมตลาดสันติสุขในปี 2531 เป็นเสมือนความเจ็บปวดที่คนละแวกนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำเป็นรอบที่สาม ดังนั้นอะไรที่ป้องกันได้เราทำหมด” ชายผมสีดอกเลา เจ้าของร้านกระเป๋า ย่านการค้าชื่อดังที่ไม่ยอมให้รู้จักชื่อจริง แต่ยินดีให้คนทั่วไปเรียกว่า “เฮีย” เริ่มต้นสนทนาด้วยประโยคยาว

"เฮีย" ผู้ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่เมืองหาดใหญ่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน บอกว่า สำหรับพ่อค้า และแม่ค้าย่านสันติสุข รวมถึงตลาดกิมหยง ล้วนชิงชังเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างมากเพราะเมื่อน้ำมา "ชีวาวอดวาย ” เสมอ


“ของเราจมน้ำหมด ต้องขนมาขายเลหลังซึ่งแต่ละเจ้าขาดทุนเป็นล้านนะคุณ แล้วอย่างนี้ใครอยากจมแล้วจมอีก จริงไหม อะไรป้องกันได้ต้องทำก่อน ยิ่งหน้าฝนทีไรใจมันเต้นตุ๊ม ตุ๊ม ต่อม ต่อมทุกทีซิน่า ” เฮีย พูดไปยิ้มไป

แม้สินค้าในร้านเล็กๆ ของ “เฮีย” จะถูกขนขึ้นไปวางบนชั้นสูงสุดเท่าที่แขนจะเหยียดถึง ทันทีที่ทราบข่าวการแจ้งเตือน “ชักธงแดง” จากเทศบาลนครหาดใหญ่ในช่วง 17.30 น.ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ “ไข่แดง” หรือพื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เตรียมตัวอพยพเคลื่อนย้ายชีวิตและสิ่งของไปอยู่ในจุดปลอดภัย เพราะนาทีนี้สุ่มเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมมากขึ้นทุกขณะ

แต่ท้ายที่สุดความพยายามในการผ่อนหนักให้เป็นเบาของเจ้าของกิจการรายนี้ ด้วยการขนของไว้บนที่สูงแทบกลายเป็นศูนย์เพราะเพียงแค่ข้ามคืน ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ ผืนน้ำสีขุ่นเข้มกำลังกวาดต้อนให้ "สินค้าทำเงิน" ที่มั่นใจว่าจะสามารถอยู่เหนือน้ำ ทิ้งตัวร่วงหล่นลอยเท้งเต้งไปต่อหน้าต่อตา

ประสบการณ์ชีวิตในสถานการณ์น้ำท่วมระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาคราวนี้ ดูเหมือนจะกระแทกความเจ็บปวดลงบนความรู้สึกมากกว่าอุทกภัยครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะระดับน้ำที่ทะลักท่วมสูงกว่า 3 เมตรในย่านการค้าชื่อดังครั้งนี้เหมือนจะจมเม็ดเงินลงทุนในสินค้าล็อตใหม่ ให้หายไปกับสายน้ำทิ้งห่างปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ 2 ขบวนที่ผ่านมาแบบไม่เห็นฝุ่น

“หนัก และรุนแรงกว่าน้ำท่วมที่ผมเคยพบเจอมาในชีวิต แถมน้ำก็มาเร็วของทั้งหมดจมน้ำเกลี้ยง ทางเดียวที่ทำได้คือขนของออกมาขายแบบเลหลังเพื่อหาเงินไปต่อทุนในวันพรุ่ง นี้” เฮีย ถอนหายใจเฮือกใหญ่ พลางสาละวนกับการเทน้ำออกจากกระเป๋าใบเขื่อง

ชายคนเดิม บอกว่า คงไม่มีใครอยากพบกับความเจ็บปวดที่ธรรมชาติหอบมาฝากชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า เฉกเช่นคนหาดใหญ่ที่เผชิญทุกภัยในยามนี้ เพราะทุกครั้งที่สายน้ำเหือดแห้ง สิ่งที่หลงเหลือคือความสูญเสียและร่องรอยแห่งความบาดเจ็บทางเศรษฐกิจชนิดไม่ สามารถประเมินค่าได้ ดังนั้นถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากจมแล้วจมอีก”

ก่อน “เฮีย” จะละบทสนทนาและหันกลับไปให้น้ำหนักกับสินค้าชุ่มน้ำภายในร้าน เขายังไม่วายโปรยยิ้มพลางหยอดมุขทิ้งท้ายว่า

“ไม่รับกระเป๋าน้ำท่วมคุณภาพดีไว้ใช้สักใบเหรอ ?”






อุทกภัยในดวงตารอบ 70 ปี


เครื่องสูบน้ำนับสิบตัวทำงานชนิดหามรุ่งหามค่ำก็ไม่สามารถยับยั้ง ทัดทานให้กระแสน้ำหยุดไหล และเอ่อเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของโรงแรมชื่อดังได้

มิพักจะพูดถึงกระสอบทรายจำนวนนับไม่ถ้วนที่วางปิดทางชนิดไม่ต้องการเป็น มิตรกับกระแสน้ำที่ไม่ได้รับเชิญ แต่สุดท้ายเม็ดทรายที่ถูกบรรจุในถุงก็ทำหน้าที่สุดความสามารถได้เพียงแค่ “ประวิงเวลา” เท่านั้น สุดท้ายกระแสน้ำที่เอ่อล้นจากคลองอู่ตะเภาก็สามารถข้ามผ่านแนวกั้นที่ สมชาติ พิมพ์ธนพูนพร กรรมการผู้จัดการโรงแรมซากุระ แกรนด์วิว หาดใหญ่ วางแผนรับมือเอาไว้ได้

ที่ผ่านมา พูดได้ว่าวิธีรับมือของสมชาติต่ออุทกภัยในหาดใหญ่ล้วน “เอาอยู่” มานับครั้งไม่ถ้วน ต่างก็แต่เที่ยวนี้ที่ “แผนเดิม” กลับใช้ไม่ได้ผลเหมือน ทั้งเจอมาตรการตอบโต้อย่างรุนแรงที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบ 70 ปีของประวัติศาสตร์อุทกภัยที่เคยอุบัติขึ้นในอำเภอหาดใหญ่


“ผมอยู่หาดใหญ่มานานจนอายุปูนนี้แล้วยังไม่เคยเห็นน้ำท่วมเมื่อที่ มีระดับความสูงถึง 3 เมตรมาก่อน ชาวบ้านละแวกนี้เขาบอกว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในรอบ 70 ปี แต่สำหรับผมกลับมองว่ามันรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีมากกว่า ” สมชาติ ให้ความเห็น

ผู้บริหารโรงแรมชื่อดังเมืองหาดใหญ่ ให้ข้อมูลว่าเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2543 มีหลายจุดของเมืองที่ไม่ถูกน้ำท่วม แต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ต่างประสบกับปัญหาอุทกภัยกันถ้วนหน้า จึงไม่แปลกที่ทุกคนต้องจารึกไว้ในความทรงจำว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือที่สุด ของที่สุด จึงเกินกว่าทุกมาตรการที่มีและเตรียมไว้รับมือกับปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิด ขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว


สมชาติ บอกว่า ปรากฎการณ์น้ำท่วมทั่วไป เป็นเสมือนแรงกระตุกให้คนหาดใหญ่ตื่นตัวมากกว่าที่เคย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้มันมากกว่าที่คาดคิด เพราะก่อนเกิดเหตุน้ำท่วม 1 เดือนได้มีการซ้อมแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไว้แล้ว แต่วิทยายุทธ์ทุกกระบวนท่าที่เตรียมไว้กลับไม่เพียงพอในการประมือกับอุทกภัย หนนี้

“เราสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินสิ่งของมีค่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้ง แล้วครั้งเล่า และทุกครั้งก็นำไปสู่การศึกษาหาหนทางรับมือแต่ท้ายที่สุดเราก็ไม่เคยยับยั้ง มิให้เกิดน้ำท่วมกับหาดใหญ่ได้อยู่หมัดสักที” สมชาติ กล่าวด้วยสีหน้าเคร่งขรึม


อุทกภัยที่อุบัติขึ้นหนนี้ก็คงเป็นอีกครั้งเช่นเดียวกันที่ “คนหาดใหญ่” คงมีการบ้านให้ขบคิดมากมายหากต้องการ “ จับให้ได้ ไล่ให้ทัน ” ตัวการเพื่อสกัด “ปัญหาน้ำท่วม ” ก่อนที่หน้ามรสุมจะหมุนวนมาอีกรอบใน 365 วันนับจากนี้

ไม่มีความคิดเห็น: