หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จิบกาแฟ..ช้าช้า ที่โตเกียว

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



“คาเฟ่ สโลว์” (Cafe Slow) ร้านกาแฟที่ซ่อนตัวอยู่ในความมืดและเย็นยะเยือกกลางกรุงโตเกียว

กรุงโตเกียว ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่ผู้คนไม่เคยหลับใหลแห่งศตวรรษที่ 21 จึงมีคนญี่ปุ่นหลายคนคาดหวังว่าเมืองหลวงของพวกเขาจะกลายเป็นศูนย์กลางสำ หรับไลฟ์สไตล์ที่เป็นทางเลือกแบบใหม่ที่อุดมไปด้วยอาหารออร์แกนิกส์ ระบบการค้าขายที่ยุติธรรมและหลักการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับโลก


นั่นจึงเป็นที่มาของ “คาเฟ่ สโลว์” (Cafe Slow) ร้านกาแฟที่ซ่อนตัวอยู่ในความมืดและเย็นยะเยือกกลางกรุงโตเกียวของ อัตสุชิ โยชิโอกะ ซึ่งรู้สึกสงสารมนุษย์เงินเดือนชาวแดนอาทิตย์อุทัยนับล้านคนที่ต้องเบียด เสียดกันในรถไฟใต้ดินระหว่างเดินทางไปทำงานเพราะเขาก็เคยเป็นหนึ่งในคนเหล่า นั้น
“ผมเคยเป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบเป็นเวลานาน ผมเคยย้ายที่อยู่ประมาณ 20 ครั้ง เพราะผมต้องการที่ที่ใหญ่และสะดวกสบายขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผมมีรายได้มากขึ้นแต่ก็ใช้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว” เขากล่าว


ชายวัย 63 ปีคนนี้เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมของยูเนสโกถึง 30 ปี หลังจากที่เขาออกจากงานเขาก็ไม่เคยใส่สูทผูกเนกไทหรือต้องไปเบียดเสียดเป็น ปลากระป๋องในรถไฟในช่วงเวลาเร่งรีบอีกเลย

อัตสุชิเป็นสมาชิกของสโมสรความเชื่องช้าแห่งโตเกียว (Tokyo Sloth Club) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 หลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นแตกเกือบ 10 ปี ซึ่งตอนนั้นประเทศเกิดภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจ


นาโอโกะ บาบะ ผู้อำนวยการทั่วไปของสโมสรความเชื่องช้าแห่งโตเกียวเล่าว่า สโมสรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อนำเสนอวิถีการดำเนินชีวิตแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ แม้ว่าความเชื่องช้าอาจจะมีภาพลักษณ์ของพวกอยู่ในป่าหรือหลังเขา แต่พวกเขาก็สามารถอยู่รอดมาได้


“คนเหล่านั้นอาศัยอยู่บนต้นไม้และกินใบไม้เป็นอาหารในขณะเดียวกันพวกเขา ก็ดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ด้วย ถือเป็นระบบนิเวศวิทยาที่ชาญฉลาดมาก คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งถึงจะอยู่รอดได้ วิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาช่วยชี้ทางให้เราหาวิธีแก้ปัญหามากมายที่สังคม กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้” นาโอโกะกล่าว

ด้วยแรงบันดาลใจจากปรัชญาการใช้ชีวิตแบบสโลว์ ไลฟ์ หรือ "เนิบช้า" อัตสุชิจึงริเริ่ม “ค่ำคืนแห่งกาแฟในความมืด” ทุกสัปดาห์เมื่อ 9 ปีก่อนที่ร้านกาแฟแห่ง นี้เพื่อให้คนเข้ามานั่งพูดคุยและผ่อนคลายในร้านที่มีบรรยากาศอบอุ่นและ เคล้าคลอด้วยเสียงดนตรีจากเปียโน ร้านนี้ตกแต่งแบบเรียบง่าย เฟอร์นิเจอร์ในร้านทำจากไม้เก่า ไม่ใช้ไฟฟ้า มีเพียงแสงไฟสลัวๆ จากเทียนขี้ผึ้ง


“อารยธรรมของพวกเราพยายามที่จะเปิดไฟทั่วเมืองเพื่อขจัดความมืด แต่ช้าก่อน เมื่อคุณนั่งอยู่ในความมืด คุณจะรู้สึกถึงความเงียบสงบและเยือกเย็นในยามค่ำคืน หรือชื่นชมกับแสงตะวันในเวลากลางวัน และเปิดตัวเองให้กับการสื่อสาร” อัตสุชิกล่าว

รายการอาหารของ “คาเฟ่ สโลว์” มีแต่อาหารท้องถิ่นและออร์แกนิกส์ที่ทุกขั้นตอนของการผลิตจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงรวมถึงผลิตภัณฑ์นำเข้าที่ซื้อขายผ่านระบบการค้าที่เป็นธรรมที่ ช่วยคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนาจากระบบการค้าของเอกชนรายใหญ่ที่ มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ อัตสุชิยังพยายามพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากน้ำมันและพลังงานนิวเคลียร์ให้ น้อยที่สุดด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้


อัตสุชิบอกว่า เหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การแต่งงานและการตายถูกจัดการโดยภาคธุรกิจ เช่น โรงแรมขนาดใหญ่และโรงพยาบาลซึ่งไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นเหมือนเมื่อก่อน เขาจึงต้องการให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตแบบช้าๆ


ไอเดียในการก่อกำเนิดร้านกาแฟใน ความมืดเกิดขึ้นหลังจากที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) หรือสนธิสัญญาหรือข้อตกลงอันเป็นผลจากการเจรจาภายใต้กรอบของอนุสัญญาสหประชา ชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร่างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับภาวะโลก ร้อนที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์


หลังจากนั้นองค์กรหลายแห่งทั่วโลกต่างก็ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อ ต้านโลกร้อน เช่น กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) ที่เริ่มโครงการ "Earth Hour" ในปี 2550 ด้วยการรณรงค์ให้ปิดไฟบนตึกในเมืองทั่วโลกเป็นเวลา 60 นาที


ด้วยไอเดียแปลกใหม่ของ “คาเฟ่ สโลว์” คนญี่ปุ่นจำนวนมากจึงเดินตามรอยสโลว์ ไลฟ์ กันมากขึ้น เช่น ชาวนารุ่นใหม่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็เริ่มที่จะไม่ใช้บริการของผู้ค้าปลีก อาหารรายใหญ่ ผู้คนเริ่มหันมาปลูกผักบนสวนลอยฟ้าหรือบนดาดฟ้าของบ้านในช่วงวันหยุด

 
ตอนเปิดร้านใหม่ๆ ผู้คนพากันหัวเราะเยาะอัตสุชิและเรียกเขาว่าคนขี้เกียจหรือพวกเลี่ยงงาน แต่ตอนนี้เขาเห็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะคุณแม่ยังสาวพาลูกน้อยมานั่งผ่อนคลายที่ร้าน ซึ่งเขาคิดว่ามีคนจำนวนมากชื่นชอบไลฟ์สไตล์แบบนี้


“การมานั่งที่ร้านนี้ ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายและสบาย ฉันไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “slow” หรอก ฉันเพียงแค่อยากรู้สึกใกล้ชิดกับพลังของธรรมชาติที่แท้จริง” นามิโกะ โอคุโบะ คุณแม่วัย 32 ปีที่มากับลูกน้อยวัย 1 ขวบกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: