หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (5)

ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นตำแหน่งพระสนมเอกของพระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อนซึ่งมีเมียได้หลายคน พระสนมเอก มี 4 ตำแหน่ง คือ ท้าวอินทรสุเรนทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรเทวี และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ส่วนท้าวอื่น ๆ ไม่ใช่ตำแหน่งพระสนมเอก เป็นสตรีทำหน้าที่อื่น ๆ ในวังหรือตั้งเป็นเกียรติยศ รัชกาลปัจจุบันเคยตั้งผู้ดูแลพระราชฐานชั้นในเป็นท้าวโสภานิเวศน์ ตั้งหม่อมบางมารดา ม.ล.บัว กิติยากร (คือพระอัยยิกาหรือยายของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ) เป็นท้าววนิดาพิจาริณี


พระสนมเอกคือเมียพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ถึงขั้นเป็นเจ้าหรือพระมเหสี แต่ก็เป็นใหญ่กว่าเมียเล็กเมียน้อยอื่น ๆ หรือเจ้าจอมหม่อมสนมธรรมดา เวลาเข้าเฝ้าจะมีที่นั่งเป็นพิเศษ สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องเจ้าจอมมารดาแพ ซึ่งเป็นหม่อมมาก่อนครองราชย์ เป็นพระสนมเอกมีตราตั้งมีเครื่องยศหีบหมากทองคำ ภายหลังเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์


ปกติพระสนมเอกแม้จะเป็นใหญ่ก็ไม่เคยเห็นใครยุ่งกับการเมือง คงทำแต่หน้าที่ปรนนิบัติพัดวีไปตามเรื่อง สมัยอยุธยานั้นผู้หญิงกับการเมืองเป็นอันแยกจากกันเด็ดขาด ห้ามเกี่ยวข้อง นี่ถ้ามาเกิดในสมัยนี้เห็นคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีคงช็อกตาย! แต่ท้าวศรีสุดาจันทร์น่าจะเป็นคนเก่ง ประกอบกับมีนิสัยมักใหญ่ใฝ่สูง ลงท้ายนั่งทูลนอนทูลกันอีท่าไหนไม่รู้ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เอ๊ย! สมเด็จพระไชยราชาธิราชไว้ใจให้เป็นผู้รักษาเมืองเวลาไปรบ แต่แล้วก็ถูกเมียรักวางยาจนสวรรคต พอยกลูกเป็นกษัตริย์ได้ไม่นานก็วางแผนจับลูกฆ่าอีกคนแล้วยกชู้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 15

บางคนว่าเป็นกรรมเวรสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ฆ่าหลานอาแท้ ๆ แย่งราชบัลลังก์มาก่อน!

สมัยที่ชู้ซึ่งเลื่อนขั้นมาจากพนักงานเฝ้าหอพระ มีหน้าที่เปิดปิดประตู จุดธูปเทียน แกว่งกำยาน ก่อกองกูณฑ์ นำสวดมนต์ เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จบูชาพระ ได้เป็นกษัตริย์นั้นเรียกกันว่าขุนวรวงศาธิราช ก็เป็นกษัตริย์ไปอย่างนั้นเองเพราะยังไม่ได้บรมราชาภิเษกสวมมงกุฎ ขุนนางทั้งปวงก็ไม่นับถือ นักประวัติศาสตร์หลายคนไม่ยอมรับเป็นกษัตริย์ด้วยซ้ำ ถ้าไม่นับ อยุธยาก็มีกษัตริย์ 33 พระองค์ ถ้านับก็จะมี 34 รัชกาลในที่นี้ผมขอนับนะครับ เพราะท่านอยู่ในราชสมบัติตั้ง 42 วัน

ระหว่างนั้นท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นใหญ่ไม่ใช่เล่น ผู้คนเรียก “แม่หยัวเมือง” หรือแม่ยั่วเมือง คำนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นมาริลีน มอนโร ยั่วมาจากหยัว และหยัวมาจากอยู่หัว ลองอ่านเร็ว ๆ ดูสิครับ

เจ้านายและขุนนางชิงชังทั้งขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ คิดว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้ บ้านเมืองจะเป็น “ทุรยศ” จนถึงเสียบ้านเสียเมือง จึงคิดจะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ผู้นำสำคัญคือขุนพิเรนทรเทพ ในหนังท่านมุ้ยคือฉัตรชัย เปล่งพานิช ราชทินนาม “พิเรนทรเทพ” เป็นชื่อขุนนางฝ่ายตำรวจ สมัยหนึ่งขุนพิเรนทรเทพผู้หนึ่งเวลาสอบสวนผู้ร้าย แกชอบใช้วิธีแปลก ๆ สงสัยจะทำแบบตำรวจสมัยหลังที่ใช้ไฟลนไข่บ้าง เอาแมงป่องไต่ตามขาบ้างหวังจะให้สารภาพ ใครทำอะไรแปลกก็เลยถูกเรียกว่า “ทำพิเรนทร์” หนักเข้าพิเรนทร์เลยแปลว่าพิลึก!

ที่วรจักรมีวัดชื่อวัดพระพิเรนทร์ ไม่ได้แปลว่าพระวัดนี้ชอบทำอะไรแปลก ๆ แผลง ๆ แต่สมัยรัชกาลที่ 3 พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจได้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่จึงได้ชื่อตามผู้สร้าง

ขุนพิเรนทรเทพเชื้อสายเจ้าสุโขทัยที่ลงมาอยู่อยุธยานานแล้วกับพวกร่วมกันจับขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์และลูกฆ่า แล้วไปทูลเชิญพระเทียรราชา น้องสมเด็จพระไชยราชาธิราชให้สึกจากพระมาเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราชาธิราชเจ้า รัชกาลที่ 16ทีนี้ชักคุ้น ๆ แล้วใช่ไหมครับ! เวลาเรียนประวัติศาสตร์ไทย ครูมักจับจุดเริ่มตั้งแต่รัชกาลนี้จะได้ไปให้ถึงสมเด็จพระนเรศวรเร็ว ๆ คนไทยจึงไม่ค่อยจะรู้เรื่องสมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) ไปเมืองจีน สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 2) หรือเจ้าสามพระยาสร้างวัดราชบูรณะรวมทั้งกรุมหาสมบัติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจัดระเบียบราชการใหม่ สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2) ทำการค้ากับโปรตุเกส สมเด็จพระไชยราชาธิราชรบกับพม่าครั้งแรกและให้ขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสายตรงที่หน้าธรรมศาสตร์จนถึงปากคลองตลาด

ก่อนผนวช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระชายาอยู่ก่อนแล้วคือพระสุริโยทัย (ในหนังท่านมุ้ยสะกดใหม่ว่าสุริโยไท) มีพระราชโอรสที่ควรรู้จักคือพระราเมศวรและพระมหินทร์ มีพระราชธิดาที่สำคัญคือพระสวัสดิราช ความดีของขุนพิเรนทรเทพยิ่งใหญ่มากจึงทรงตั้งเป็นพระมหาธรรมราชา ส่งขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก แค่นี้ก็ใหญ่เอาการเพราะพิษณุโลกเป็นเมืองสำคัญที่สุดรองจากอยุธยา และพระราชทานพระสวัสดิราชไปเป็นพระชายา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ คนนี้คือแม่สมเด็จพระนเรศวร (ช่วยจำด้วยว่าพระมหาธรรมราชามีเชื้อสายเจ้าสุโขทัย)

บัดนี้พระมหาธรรมราชาก็เป็นลูกเขยกษัตริย์อยุธยาแล้วแต่ก็ไม่ค่อยถูกชะตากับพี่น้องฝ่ายเมียนัก

สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น พม่ายังแค้นไม่หายที่เคยแพ้สงครามเชียงกราน จึงเข้ามาตีตามชายแดนอยู่เนือง ๆ พอรู้ว่าอยุธยาเปลี่ยนกษัตริย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ให้ยกทัพใหญ่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ (บัดนี้เป็นกองหินเล็ก ๆ สามกอง) แถวกาญจนบุรีซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพที่ใกล้ที่สุด ผ่านเข้ามาถึงป่าโมกแล้วมาหยุดทัพอยู่ที่ทุ่งลุมพลีนอกเกาะอยุธยา คนละฝั่งแม่น้ำกัน

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกทัพออกไปหยั่งกำลังพม่าที่ทุ่งลุมพลี ว่ากันว่าไม่รู้ว่าสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีแต่งพระองค์ปลอมเป็นชายเข้ากระบวนทัพไปช่วยรบด้วย พระเจ้าแปรแม่ทัพพม่าออกต่อสู้จนถึงทำยุทธหัตถีกัน (รบบนหลังช้าง) ขณะจะฟันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระสุริโยทัยถลันช้างเข้าขวางเลยถูกฟันสิ้นพระชนม์ พอรู้ว่าเป็นหญิง พม่าตกใจถอยทัพกลับไปตั้งตัวใหม่ เพราะปกติแล้วผู้หญิงจะไม่มาเกี่ยวกับสงครามและราชการงานเมือง ทางอยุธยารับพระศพกลับเข้ากรุง ถวายพระเพลิงและก่อเจดีย์ครอบไว้ ยังมีอยู่จนบัดนี้เรียกว่าเจดีย์ศรีสุริโยทัยทาสีทองอร่ามงามตา

ครูควรพานักเรียนไปชม เล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง อีกแห่งที่ทุ่งลุมพลี มีพระราชานุสรณ์สถานเป็นพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย วีรสตรีอยุธยาพระองค์แรก ภูมิสถานสวยงามมาก ควรพานักเรียนไปชมด้วย ไม่ใช่ให้ไปดูเพื่อเกลียดชังพม่า การรบเป็นเรื่องของการเมือง ความอยู่รอดและค่านิยมสมัยนั้น แต่ไปดูเพื่อให้รู้ว่ายามบ้านเมืองไม่สงบทุกคนล้วนมีหน้าที่ของตนทั้งนั้น และถ้าจะตายเพื่อชาติก็ต้องยอม

อธิบายอีกครั้งว่าพม่าและมอญนั้นเดิมเป็นคนละอาณาจักรกัน เมืองหลวงพม่าเมื่อก่อนคืออังวะ เมืองหลวงมอญคือหงสาวดี ต่อมาพวกพม่าสายไทยใหญ่แยกมาตั้งกรุงตองอูต่างหาก ตองอูยิ่งใหญ่มากจนตีพม่าได้ และครอบครองอังวะ และยังไปตีมอญได้อีกจึงครอบครองหงสาวดี โดยผนวกเข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรพม่าหมด มอญแท้ ๆ นั้นไม่ชอบพม่านักเพราะทำให้เขาเสียบ้านเสียเมืองมาจนบัดนี้ พวกนี้ถ้ามีโอกาสจะสมัครใจเข้ามาสวามิภักดิ์อยุธยามากกว่า

สมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และกษัตริย์องค์ต่อมาคือพระเจ้าบุเรงนองได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่หงสาวดี ยามใดที่กษัตริย์พม่ายกทัพจากอังวะมาตีไทย พงศาวดารจะเรียกว่าพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะ ยามใดยกมาจากตองอูจะเรียกว่าพระเจ้ากรุงตองอู ยามใดที่ยกมาจากหงสาวดี จะเรียกว่าพระเจ้ากรุงหงสาวดี (ซึ่งก็คือกษัตริย์พม่า แต่ทหารเกณฑ์มีทั้งพม่า มอญ ไทยใหญ่)

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สวรรคต กษัตริย์พระองค์ใหม่ไม่ใช่พระเจ้าตะโกนชะเวตี้ แต่คือพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองผู้ชนะสิบทิศ ทรงทราบว่าอยุธยาได้ช้างเผือกมาถึง 7 ช้าง จึงทำทีมาขอแบ่ง 2 ช้าง ไทยไม่ให้ พระเจ้าบุเรงนองจึงจัดทัพใหญ่มารบเรียกว่าสงครามช้างเผือก จนกระทั่งมาเหยียบถึงชานกรุงศรีอยุธยาขนาดตะโกนพูดกันได้ จึงเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกไปเจรจาตามแผนการปรองดองระงับการทำสงคราม คงคล้าย ๆ คราวนายกฯ อภิสิทธิ์เจรจากับกลุ่มคุณจตุพรนั่นแหละ โดยปลูกพลับพลาเจรจาต้าอวยกันแถววัดหน้าพระเมรุ (วัดนี้ยังอยู่ พระประธานงามนักหนา ครูควรพานักเรียนไปชม) เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสถาบันพระปกเกล้าให้เป็นที่เจรจา

การเรียกช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่าช้างบ้านจะเรียกเป็นตัว ถ้าเป็นช้างหลวงที่ขึ้นระวางแล้วจะเรียกเป็นเชือก แต่ถ้าเป็นช้างเผือกจะเรียกเป็นช้าง เอเชียถือว่าการที่พระมหากษัตริย์ได้ช้างเผือกมาในระหว่างครองราชย์แสดงถึงบุญญาธิการยิ่งใหญ่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ชื่อว่าพระเจ้าช้างเผือกเพราะได้ช้างมาสู่พระบารมีหลายช้าง พระเจ้าบุเรงนองรู้ว่าช้างเผือกเป็นของรักของหวงจึงแต่งอุบายมาขอแบ่งช้างเผือก

เจรจาคราวนี้พระเจ้าบุเรงนองต่อรองว่ามาทั้งที ช้างเผือก 2 ช้างไม่พอเสียแล้ว ต้องขอ 4 ช้างจึงจะคุ้มค่าเดินทาง ไทยเห็นว่าพม่าล้อมหมดแล้วก็ต้องยอมแม้จะยังไม่เสียกรุง ผู้ชนะสิบทิศยังขอพระราเมศวรรัชทายาทหรือพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ไปอยู่พม่าอีกด้วยคงหวังเป็นตัวประกัน ซึ่งเราก็ยอม แต่หลังจากนั้นยังมีการต่อสู้ต่อพันกันตามหัวเมืองภาคเหนืออีกจนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเหนื่อยหน่ายเต็มทีสละราชสมบัติให้พระมหินทร์ พระราชโอรสที่เหลืออยู่เป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 17 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหินทราธิราช ต่อมาก็ทรงหวนกลับมาครองราชย์ใหม่อีกหน ไม่นานก็สวรรคต สมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์ครั้งที่ 2

ขณะนั้นพม่ายกทัพใหญ่มาล้อมกรุงอีกแล้วเพราะมีเรื่องอื่นเข้ามาทำให้พม่าหาเหตุได้ใหม่ พระเจ้าบุเรงนองคุมทัพหลวง ทัพอื่นมีพระมหาอุปราช พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าอังวะ พระเจ้าหงสาวดีเป็นแม่ทัพเรียกว่ามาหมดจากทุกเมืองใหญ่ของพม่าเพราะกะจะตีให้แตก ที่สำคัญคือมีทัพพระมหาธรรมราชาจากพิษณุโลกมาสมทบด้วย แล้วจะเล่าว่าทำไมจึงไปร่วมด้วยช่วยกันกับพม่าเสียแล้ว

เดือน 9 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2112 พม่าซึ่งล้อมอยุธยาอยู่ราว 7 เดือน นำโดยพระเจ้าบุเรงนองก็ลั่นกลองรบบุกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแตกจนตกเป็นเมืองขึ้นสมใจพม่าเป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราชนี่เอง.

“การเรียกช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่าช้างบ้านจะเรียกเป็นตัว ถ้าเป็นช้างหลวงที่ขึ้นระวางแล้วจะเรียกเป็นเชือก แต่ถ้าเป็นช้างเผือกจะเรียกเป็นช้าง เอเชียถือว่าการที่พระมหากษัตริย์ได้ช้างเผือกมาในระหว่างครองราชย์แสดงถึงบุญญาธิการยิ่งใหญ่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ชื่อว่าพระเจ้าช้างเผือกเพราะได้ช้างมาสู่พระบารมีหลายช้าง”


วิษณุ เครืองาม
@เดลินิวส์ 13 กันยายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น: