หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ศรีอยุธยา (6)

ในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์รัชกาลที่ 17 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าโดยราบคาบใน พ.ศ. 2112 หลังจากที่ตั้งกรุงมาได้ 219 ปี กษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีคือพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เป็นอัน ปิดฉากยุคแรกของศรีอยุธยาราชธานีของพระเจ้าอู่ทอง

ว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว พระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก ลูกเขยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ น้องเขยสมเด็จพระมหินทราธิราช มีบทบาทเข้าด้วยกับฝ่ายบุเรงนอง (พม่าเรียกบาเยียนนองหรือพระเจ้ากยอดินนรธา) อยู่มาก ถ้าไม่คิดว่าเป็นพระราชบิดาสมเด็จพระนเรศวรก็น่าจะมีเหตุให้ถูกติฉินว่าร้ายได้ แต่เมื่อมาคิดว่าทรงมีส่วนสำคัญในการช่วยพระนเรศวรกอบกู้บ้านเมืองจนพ้นจากเงื้อมมือพม่าในเวลาต่อมา ก็ต้องถือว่าอาจเป็นการเดินแผนเดินอุบายอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หวานต้องอมขมต้องกลืนก็ได้


ข้อสำคัญคือเรื่องเก่า ๆ ในทางประวัติศาสตร์นั้น เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จึงยากจะรู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นอุบายการศึก แม้แต่คนเขียนพงศาวดารก็ยังยากจะรู้เบื้องหลังได้ คนรุ่นหลังจึงยิ่งไม่รู้ความใน

ถ้าให้ว่าไปตามข้อสันนิษฐานต้องเข้าใจว่าพระมหาธรรมราชาซึ่งเดิมเป็นขุนพิเรนทรเทพ เป็นคนเก่ง คนกล้า รักบ้านเมือง มิฉะนั้นจะยึดอำนาจจากขุนวรวงศาธิราชมาถวายพระเทียรราชาได้อย่างไร แต่ต้องจำด้วยว่าท่านมีเชื้อสายเจ้านายสุโขทัย สุโขทัยนั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอยุธยามาก่อนจนสุโขทัยค่อย ๆ ถูกอยุธยากลืน ลึก ๆ แล้วพระมหาธรรมราชาจึงอาจฝังใจบางอย่างและกินใจกับเจ้านายสายอยุธยาโดยเฉพาะราชวงศ์สุวรรณภูมิอยู่บ้างก็ได้

ในส่วนของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เจ้านายผู้มีพระคุณและพ่อตานั้นคงไม่กระไร แต่กับสมเด็จพระมหินทราธิราช พี่เมีย น่าจะกินใจไม่ถูกเส้นกันอยู่ ข้างพม่าเองก็คงยุแยงพระมหาธรรมราชาตามหลักแบ่งแยกแล้วปกครองด้วย ข้อสำคัญคือ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สติฟั่นเฟือนจนถูกขุนนางหลอกพาเข้าป่าจับปลงพระชนม์ บุเรงนองขึ้นเป็นกษัตริย์เริ่มราชวงศ์ใหม่ กิตติศัพท์ของบุเรงนองในฐานะผู้ชนะสิบทิศนั้นใครได้ยินก็ครั่นคร้าม พระมหาธรรมราชาน่าจะรู้ดีว่าไร้ประโยชน์จะไปขวางทางปืนพม่า มีแต่จะโอนอ่อนให้พม่าไว้ใจแล้วค่อยคิดแก้ไขเอาทีหลัง

พระไชยเชษฐา กษัตริย์ลาวองค์ที่สละบัลลังก์เชียงใหม่ไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตเคยมีสาส์นมาขอพระเทพกษัตรี ราชธิดาองค์เล็กของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเป็นมเหสี พระมหาธรรมราชาไม่อยากให้น้องเมียได้กับกษัตริย์ลาวจึงไปทูลบุเรงนองจนพม่าแต่งทัพมาดักชิงตัวไปกลางทาง เรื่องนี้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโกรธลูกเขยมาก

คราวหนึ่งสมเด็จพระมหินทราธิราชยกทัพจะไปตีพิษณุโลกเพราะเขม่นน้องเขยเต็มกำลังและคงคิดว่าเอาใจออกห่าง พระมหาธรรมราชาจึงไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองถึงหงสาวดีเป็นครั้งแรก บุเรงนองปลาบปลื้มมากว่ามาสวามิภักดิ์ จึงตั้งเป็นเจ้าฟ้าสองแควครองพิษณุโลกในฐานะเมืองประเทศราชนับแต่นั้น สมเด็จพระ
มหินทราธิราชเข้าตีพิษณุโลกไม่ได้แต่ก็นำพระวิสุทธิกษัตรี น้องสาวและพระเอกาทศรถ หลานลุงกลับลงมาอยุธยา เรียกว่าจะตัดญาติพรากผัวพรากเมียกันล่ะ

เรื่องนี้พม่าคงยิ้มแก้มปริว่า “เอาจนอยุธยาแตกกันเองหมดแล้ว” พระเจ้าบุเรงนองจึงนำทัพใหญ่บุกลงมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชานำทัพจากพิษณุโลกมาสมทบด้วย ล้อมกรุงได้ 7 เดือน ก็ตีอยุธยาแตก

เราเสียกรุงแก่พม่าสองครั้ง ครั้งแรกปี 2112 ในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งหลังปี 2310 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ห่างกัน 198 ปี แต่ในการเสียกรุงครั้งแรก ชั่วดีถี่ห่างคงต้องรับว่ามือชั้นผู้ชนะสิบทิศ ไม่ใช่ “โจรกระจอก” เพราะเข้ามาอย่างกษัตริย์ พม่าแทบจะไม่ได้ทำลายบ้านเมืองวัดวังเหมือนจะเหยียบกรุงให้รู้ว่า “ไผเป็นไผ” เท่านั้น หลังจากบุเรงนองกลับไป อยุธยายังอยู่ได้เป็นปกติแต่ในฐานะเมืองประเทศราชซึ่งแปลว่าเมืองขึ้นแต่มีกษัตริย์ปกครองเองได้ แต่ในการเสียกรุงครั้งที่สอง ทัพพม่านำโดยแม่ทัพชื่อเนเมียวสีหบดี (กษัตริย์พม่าในเวลานั้นไม่ได้มา) ประพฤติดังโจรไล่ฆ่าฟันผู้คนและเผาบ้านเผาเมือง 7 วัน 7 คืน จนราบเรียบ ฟื้นอีกไม่ได้เลย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียกว่า “ปล้นพระนคร”

คนไทยไม่น้อยพลอยหลงรักจะเด็ดหรือบุเรงนองไปแล้วด้วยซ้ำ เวลาร้อง “ฟ้าลุ่มอิระวดี คืนนี้มีแต่ดาว” ก็ทำตาปรอยตามชรินทร์ไปด้วย

บุเรงนองกวาดต้อนชาวอยุธยาเป็นเชลยไปพม่า ทิ้งไว้ราว 1 หมื่นคนเพื่อไม่ให้คิดการใหญ่ แล้วตั้งพระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์อยุธยา พระมหาธรรมราชาถวายลูกสาวชื่อพระสุพรรณกัลยาและลูกชายชื่อพระนเรศวรกลับไปพม่าด้วย (พระนเรศวรอาจไปอยู่พม่าก่อนแล้ว) ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชก็โดยเสด็จตามไปในขบวนด้วยอย่างผู้แพ้แต่สวรรคตเสียที่กลางทาง

ย้อนไปว่ากษัตริย์ครั้งกรุงสุโขทัยตั้งแต่ก่อนเกิดอยุธยานั้นรู้จักกิตติศัพท์ของกษัตริย์อินเดียพระองค์หนึ่งดีคือพระเจ้าอโศก ผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาในอินเดีย ลังกา และสุวรรณภูมิ เคยส่งพระมาเป็นสมณทูตจนดินแดนแถบนี้นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ราว พ.ศ. 300 สุโขทัยคงรู้เรื่องนี้และฝังใจมาจากพระที่มาจากนครศรีธรรมราช กษัตริย์สุโขทัยตั้งแต่พญาลิไทลงมาจึงมีพระนามว่าพระมหาธรรมราชาเช่นเดียวกับพระนามของพระเจ้าอโศก (นครฯ เรียกว่าพญาศรีธรรมาโศกราชมหาธรรมราชา)

การที่ขุนพิเรนทรเทพได้เป็นพระมหาธรรมราชาจึงเป็นการใช้ชื่อเจริญรอยตามกษัตริย์สุโขทัยเพราะทรงมีเชื้อสายสุโขทัย เมื่อครองราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยารัชกาลที่ 18 ก็ได้ใช้พระนามว่าสมเด็จพระสรรเพชญ ซึ่งเป็นพระนามพระพุทธเจ้า ไม่ยอมใช้พระรามาธิบดีหรือพระบรมราชาธิบดีอันเป็นนามพระเป็นเจ้าของแขกตามแบบกษัตริย์อยุธยาพระองค์ก่อน ๆ

เมื่อสิ้นสมเด็จพระมหินทราธิราช นักประวัติศาสตร์ถือว่าสิ้นราชวงศ์สุวรรณภูมิ (นับจากสมเด็จพระบรมราชาหรือขุนหลวงพงั่ว) และเริ่มราชวงศ์พระร่วงในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา (สมเด็จพระสรรเพชญ) ต่อไป โดยถือว่าเป็นวงศ์เชื้อสายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย

มีเรื่องแปลกว่าคนไทยรู้จักพระสุพรรณกัลยาดีว่าเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ยกถวายบุเรงนอง และเป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวร แต่พงศาวดารไทยกลับไม่ได้กล่าวถึง ไปปรากฏแต่ในพงศาวดารพม่า นักประวัติศาสตร์ไทยบางคนจึงสงสัยว่ามีตัวตนจริงไหม

พระนเรศวร (พม่าเรียกพระนเรศ) ไปอยู่พม่าตั้งแต่เด็กในฐานะตัวประกัน ช่วงนี้มีตำนานมากมาย เช่น เรื่องที่บุเรงนองเมตตามากว่าเก่งและฉลาด จนพระราชโอรสคือมังไชยสิงห์ (มังก็คือหม่องที่เรียกกันในภาษาไทย) และพระราชนัดดาคือมังสามเกียดริษยา เรื่องพระนเรศวรชนไก่กับมังสามเกียด “ไก่เชลยนี้เก่งนัก” เรื่องพระนเรศวรทรงพบรักกับเจ้าขรัวมณีจันทร์ ฯลฯ แต่ต่อมาก็ได้กลับมาอยู่อยุธยา พระราชบิดาส่งขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกในฐานะอุปราชเมื่อพระชนมายุ 16 ปี

ที่พิษณุโลกยังมีซากวังพระนเรศวรอยู่ตรงข้ามวัดพระพุทธชินราช ผมเคยไปตรวจราชการพบว่ามีการสร้างโรงเรียนทับไว้แต่ขุดลงไปพบหลักฐานมากมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างขุดค้นตกแต่ง ส่วนที่อยุธยาก็มีวังจันทร์เกษมไว้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จลงมาราชการ

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต (พม่ายกย่องว่าเป็นมหาราช) มังไชยสิงห์ พระราชโอรสได้เป็นกษัตริย์ชื่อพระเจ้านันทบุเรง ส่วนพระโอรสของพระเจ้านันทบุเรงที่ชื่อมังสามเกียดได้เป็นพระมหาอุปราชามังกะยอชวา องค์นี้มีอายุแก่กว่าพระนเรศวร พระนเรศวรจึงเรียก “เจ้าพี่” และเป็นองค์เดียวกับที่ทำยุทธหัตถีกับพระนเรศวร

พระนเรศวรเป็นผู้แทนอยุธยาขึ้นไปงานพระบรมศพบุเรงนองและแสดงความสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่ตามธรรมเนียมเจ้าประเทศราช เจ้าเมืองลุมและเมืองคังอีกสองเมืองขึ้นกลับแข็งข้อไม่ยอมมาสวามิภักดิ์ กษัตริย์พม่าจึงให้พระมหาอุปราชา พระสังขทัต และพระนเรศวรผลัดกันองค์ละวันไปปราบโชว์ฝีมือว่าใครแน่กว่ากัน เจ้าพม่าสององค์แรกแพ้ราบ วันที่สามพระนเรศวรวางแผนล้อมหน้าล้อมหลังยกเข้าตีจนชนะ พม่าเริ่มตระหนักแล้วว่า “เจ้าอยุธยาคนนี้ไม่เบา”

สมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งอยุธยาทรงทราบแล้วว่าสิ่งที่ทรงรอคอยมานานคือการที่อยุธยาเป็นอิสระจากพม่าบัดนี้อยู่ไม่ไกลแล้ว!

อยู่มาเมืองอังวะซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงอาณาจักรพม่ามาแต่เดิมจนพม่าอีกสายแยกไปตั้งกรุงตองอูเป็นเมืองหลวงแล้ววกมาปราบทั้งพม่าอังวะ และมอญหงสาวดีเริ่มเข้มแข็งขึ้นอีกจนเป็นขบถ พระเจ้านันทบุเรงสั่งเมืองขึ้นทั้งหมดให้ยกทัพไปช่วยกันปราบ สำหรับอยุธยานั้นให้ยกทัพไปสมทบที่เมืองแครง (เคยเป็นของอาณาจักรมอญ) ส่วนพระองค์เองยกทัพนำหน้าไปล้อมเมืองอังวะก่อน และนัดแนะกับพระมหาอุปราชา พระราชโอรสว่าเมื่อพระนเรศวรยกทัพมาถึงเมืองแครง เจ้าคนนี้เก่งนักนานไปเป็นอันตรายจึงนัดแนะให้พระยาเกียรติ พระยาราม ขุนนางมอญลอบฆ่าเสียที่เมืองแครงแล้วกวาดต้อนทัพไทยรวมเป็นทัพหงสาวดียกไปตีอังวะ

พระยาเกียรติ พระยารามเล่าอุบายนี้ให้พระมหาเถรคันฉ่องฟัง ในหนังท่านมุ้ย สรพงศ์ ชาตรี เล่นเป็นพระมหาเถร คนเหล่านี้เป็นมอญซึ่งเกลียดพม่าเป็นทุนอยู่แล้วจึงชวนกันไปทูลพระนเรศวรเล่าอุบายพม่า พระนเรศวรกริ้วมากว่าพม่าระแวงคิดร้ายต่อพระองค์ก่อนจึงเป็นโอกาสจะแยกตัวได้แล้ว ทรงสั่งให้เลิกทัพกลับอยุธยาทันที

ก่อนออกจากเมืองแครง ในเดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 (หลังเสียกรุง 15 ปี) พระนเรศวรประกาศอิสรภาพหลั่งทักษิโณทกลงบนแผ่นดินแครง ประกาศว่านับแต่นี้ไปกรุงศรีอยุธยาและกรุงหงสาวดีเป็นอันขาดไมตรีกัน ขอฟ้าดินจงเป็นพยานเถิด

วันนี้คือวันประกาศอิสรภาพของไทย แต่เป็นการประกาศฝ่ายเดียว พม่าจะยอมรับหรือไม่ยังต้องดูว่ารบรากันต่อไป
อีกไหม ใครชนะ

แต่ที่แน่คือ “ผู้พันเบิร์ด” คุณวันชนะ สวัสดี นายทหารที่เล่นหนังท่านมุ้ยเป็นพระนเรศวรนั้นเล่นได้ดีนักหนา ดูแข็งแกร่ง กล้าหาญ หน้าตาดี มีสง่าแต่ไม่ถึงกับสำอาง และดูโบราณเป็นไทยสมัยนั้นดี!

เรื่องของพระนเรศวรเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของท่านมุ้ยจึงต้องสร้างตั้งหลายภาค ทุ่มทุนหลายร้อยล้านบาท ชีวิตของพระองค์เป็นมหาวีรกรรมที่คนไทยต้องเรียนรู้ สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรแล้ว พม่าไม่เคยมาเหยียบอยุธยาอีกเลยร่วม 200 ปี

เคยนึกเล่น ๆ ว่าถ้าวันนั้นไม่มีคนอย่างสมเด็จพระนเรศวร ป่านนี้ผมอาจเป็นหม่องนุ่งโสร่งเดินขายหมากขายพลูอยู่แถวชเวดากองหรือไม่ก็เป็นพม่าแทงกบอยู่ตามชายแดน หรือไม่อีกทีก็เข้าพวกไปกับ ออง ซาน ซูจี รู้แล้วรู้รอดไปแล้วก็ได้.

วิษณุ เครืองาม
wis.k@hotmail.com
@เดลินิวน์ 20 กันยายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น: