หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ใจดี สู้น้ำ

โดย : ทีมข่าวจุดประกาย
Life Style@กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 กันยายน 2554

บ้านนี้อยู่กับน้ำมาตั้งแต่จำความได้ ท่วมเมื่อไหร่ก็เปลี่ยนมาใช้เรือแทนรถ ยกชีวิตมาไว้บนชั้นสอง มีวิถียังชีพโดยไม่ต้องพึ่งถุงยังชีพ



"น้ำไม่มา ใจมันก็ไม่ดี" ชายชราวัย 87 ปี พูดขึ้นมาในวันที่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านจนความสูงแทบมิดอก


"น้ำมาสิ ใจไม่ดี" หลายคนคงอยากเถียงออกไปอย่างนี้ ในช่วงที่น้ำหลากกำลังพรากสมบัติไปเกือบหมดชีวิต

แต่ที่ชายชราพูดออกไปอย่างน้ำ ก็เพราะแกเคยชินกับน้ำมาตั้งแต่จำความได้ ปีไหนไม่ได้เห็นน้ำท่วม เป็นต้องใจหายทุกครั้ง เพราะหมายความว่า แกจะไม่ได้ยิงนก ตกปลา และพายเรือแข่ง อย่างที่ชอบอีก

แสง เทียนทอง วัย 87 ปี ผู้ไม่ได้เป็นญาติโยมอะไรกับนักการเมืองขาใหญ่ ถือเป็นสมาชิกอาวุโสอันดับ 2 ของบ้านศาลาแดงเหนือ หมู่ 2 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่เฉลี่ยทุกๆ 2-3 ปี จะได้ใช้เรือแทนรถและเดินเท้าอยู่ราว 2 เดือน เพราะน้ำจะเข้าท่วมหมู่บ้าน จนทุกเรือนชานต้องมีเรือติดไว้ทุกหลัง แถมแต่ละหลัง "ยกสูง" ผิดปกติ



จริงๆ แล้ว แสง เทียนทอง เป็นคนบ้านใกล้เคียง มาเป็นเขยของบ้านศาลาแดงเหนือ ตอนนี้ตกพุ่มม่าย อยู่บ้านคนเดียวซึ่งเป็นบ้านทรงมอญอายุกว่า 150 ปี ที่ตอนนี้โอนเอนเต็มที ไม่มีคนมาดูแล ลูกชายคนเดียวก็ไปทำงานต่างถิ่น ไม่กลับมาเยี่ยมหลายเดือนแล้ว

ภายในบ้านเต็มไปด้วย "ของยังชีพ" ที่ได้รับแจกมา ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง รวมทั้งยาทาแก้น้ำกัดเท้า

สามอย่างแรกเหลือพอกินไปถึงปีหน้า เพราะอยู่คนเดียวไม่ได้กินอะไรมาก ส่วนอย่างหลัง แทบไม่ได้ใช้...จนหยากไย่ขึ้น

"โอ๊ย ไม่ต้องใช้หรอก (เสียงสูง) สมัยก่อนตาทำนา ยิ่งกว่านี้อีก"


สมัยยังมีเรี่ยวมีแรง ตาแสงทำนาปี ซึ่ง "น้ำหลาก" ทำอะไรข้าวตาไม่ได้ เพราะแต่ละพันธุ์ล้วนสูงกว่าน้ำ ชนิดที่ว่า น้ำมาเท่าไหร่ ข้าวก็บ่ยั่น

"พุดดาด เจ๊กเฉย ขาวตาแห้ง" ตาแสง สาธยายพันธุ์ข้าวที่น้ำท่วมไม่ถึง

แต่วันนี้ชายชราใช้ "ข้าวสารแจก" ประทังชีวิตไปวันๆ สลับกับฟังข่าวทุกๆ 3 มื้อ แต่ที่เงี่ยหูฟังเป็นพิเศษคือ ข่าวน้ำท่วม


ชายผู้โตมากับน้ำท่วม ฟังด้วยความรู้สึกธรรมดา แต่ในใจก็สงสารคนไม่ชินน้ำอีกค่อนประเทศ

"เราไม่ได้ลำบากอะไร ชินแล้ว สงสารก็แต่คนอื่นเค้า" ชายชราบอกด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แถมยังยก "ยาแก้น้ำกัดเท้า" ให้คนแปลกหน้าไปเสียเกือบหมด




น้ำมา อย่ากั๊ก

เพราะบรรพบุรุษชาวมอญเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำ ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านศาลาแดงเหนือ คุ้นชินกับภาวะน้ำท่วมจนดูแลจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐก็ยังอยู่ไหว



นภดล แสงปลั่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่สอง เล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมของบ้านศาลาแดงเหนือว่า ปีนี้เก็บของช้า รอจนน้ำท่วมแล้วค่อยได้เก็บของ สาเหตุไม่ใช่เพราะไม่ได้เตรียมการ แต่เพราะคาดไม่ถึงว่าจะท่วมหนักอีกในปีนี้

"คือ นึกว่าไม่ท่วมไง มันมีเคล็ดอยู่ว่าปีไหนน้ำท่วมหนักปีหลังจะไม่ค่อยท่วม มันจะเว้นสี่ปีที สามปีทีหนึ่ง บางทีก็ห้าปีท่วมหนักทีหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ท่วมทุกปีเลย บางบ้านโชคดีหน่อย เพราะของที่ยกสูงไว้ตั้งแต่ปีกลาย เคยอยู่ยังไงก็ยังอย่างนั้น"


น้ำท่วมบ้านศาลาแดงเหนือปีนี้ ถึงแม้จะราวอก แต่ยังถือว่าน้อยกว่าปีกลาย หนำซ้ำในบางจุดท่วมแค่เข่า ไม่ก็ตาตุ่ม แจะน้ำอยู่อย่างนั้นล่วงเลยมาราวครึ่งเดือนแล้ว


ถามว่าลำบากไหม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตอบทันทีเลยว่า "ไม่ลำบาก" ในเมื่อเลือกอยู่ริมน้ำ ก็ต้องอยู่กับน้ำท่วมให้ได้ ฉะนั้นน้ำท่วมถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่เปลี่ยนไปบ้างตามยุคตามสมัย คือ อาจจะมีคนรุ่นใหม่บ่นกันบ้าง กับความไม่สะดวกสบายอย่างเก่า ขณะที่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต พอน้ำขึ้น ชาวบ้านเป็นต้องรีบฉวยโอกาสนี้ออกมาขัดฝาบ้านบ้าง ถูพื้นบ้านโดยไม่ต้องไปตักน้ำ ทำความสะอาด ปัดกวาดหยากไย่กันเป็นการใหญ่

"สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ผมว่ามันเกี่ยวกับทางรัฐนี่แหละที่ทำให้เปลี่ยนแปลง สมัยก่อนไม่มีถนน น้ำมาก็ท่วมเหมือนกันหมด ไม่มีการแบ่งแยก ว่าน้ำไม่มีกับน้ำมี บางสายมีถนนกั้น น้ำไม่ข้ามมา ก็ทำนาได้ บ้านไหนมีตังค์หน่อยก็จ้างรถแบ็คโฮมาทำคันนาก็ทำนาได้ คนไม่มีทุนก็ทำไม่ได้ พอหลวงมีงบประมาณมาจะช่วยชาวนา ป้องให้ทางโน้น แต่ทางนี้ไม่ได้ป้องก็โวยวาย

รัฐบาลเขาช่วยก็ถือว่าดี มาช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ชาวนาจะได้มีรายได้ แต่เมื่อทำไปแล้วเกิดการแข่งขัน เหมือนที่เห็นในข่าว ไอ้ทางนี้ก็น่าเห็นใจ ปีหนึ่งเขามีรายได้แค่นาปีละครั้ง น้ำท่วมทีเดียวหมดเลย เป็นหนี้ไว้ก็ไม่ได้ใช้ ดอกก็ขึ้น พอทางโน้นจะให้ปล่อยน้ำมาให้เขา เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเขาลำบากแน่ จะให้เขาแช่น้ำไว้อีก เขาก็บอกว่าเขาลำบาก แต่ทางนี้สบาย คนก็มีความคิดว่า ถ้าจะท่วมก็ท่วมให้เหมือนกัน ลำบากก็ลำบากให้เหมือนกัน"

ปัญหากระทบกระทั่งกันเรื่องหลวงปล่อยน้ำ ใครโดนมาก โดนน้อย จนกลายเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันในหลายๆ ชุมชน แต่สำหรับชาวบ้านศาลาแดงเหนือไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้เท่าใด เพราะชาวบ้านบางนี้ถอยห่างจากอาชีพเกษตรกรแทบหมดแล้ว โดยหันไปทำงานรับจ้าง กินเงินเดือนเป็นหลัก เรื่องรายได้จึงไม่กระทบเพราะยังทำงานได้เหมือนเดิม จะเหลือก็เพียงความขลุกขลักเล็กน้อยในการใช้ชีวิต ที่ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงอะไร



"เรื่องกินอยู่ก็ปกติ ไม่ต่างอะไรกับหน้าแล้ง การขาดแคลนไม่มี เพราะมีรถกับข้าวมาจอดขายตรงถนน พอมาถึงเขาก็ประกาศเรียก ขอแค่มีเงินก็ไม่อดตาย ส่วนของแจก ถึงหมู่บ้านเราไม่ได้ของแจกผมก็ไม่ว่าหรอกนะ แต่ชาวบ้านเขาอยากได้ เขากดดันว่าทำไมหมู่อื่นได้ ทำไมเราไม่ได้ หาว่าผู้ใหญ่ไม่ตื่นตัว ไม่แจ้งทางการ แต่ถ้าเอามาเปรียบกัน ของเราไม่มีอะไรเลยที่จะสู้ได้ ความลำบากของเราก็ไม่มี ปัญหาอดอยากของเราก็ไม่มี" ลุงผู้ช่วยผู้ใหญ่บอก

ถึงปากจะบอกว่า อยู่ได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าให้เลือกระหว่างท่วมกับไม่ท่วม แน่นอนว่าคำตอบคือ ไม่ท่วม แต่ถ้า "ต้องท่วม" ชาวบ้านบางนี้ขอแบบจัดหนัก น้ำมาแค่ตาตุ่ม ขอที.. อย่ามาจะดีกว่า





............................................

อยู่กับน้ำแบบ 'ตลาดเก้าห้อง'

เป็นธรรมดาของพื้นที่ริมน้ำที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกๆ ปี เช่นเดียวกับ เก้าห้อง ตลาดโบราณร้อยปี ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งชาวบ้านต้องพับขากางเกงเดินลุยน้ำกันมาตั้งแต่เด็ก


ศิริพรรณ ตันศักดิ์ดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดเก้าห้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมในตลาดเก้าห้อง ณ เวลาปัจจุบันว่า พื้นที่บริเวณชายน้ำที่ติดกับแม่น้ำท่าจีนยังมีน้ำท่วมขังอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดกลาง เลยไปจนถึงหอดูโจร ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่าส่วนอื่นๆ จึงมีน้ำท่วมขัง แต่ได้ทำแนวกระสอบทรายกั้นน้ำไว้แล้ว

"ปกติจะมาช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน แต่ปีนี้มาเร็ว มาตั้งแต่สิงหาคม คือเราอยู่ติดน้ำ เราก็จะเดินดูระดับน้ำกันอยู่ตลอดเวลา พอระดับน้ำสูงขึ้นก็จะมาบอกต่อๆ กัน เพื่อให้ทุกคนค่อยๆ เตรียมขนของยกขึ้นสูง น้ำมาก็จะค่อยๆ เอ่อจากแม่น้ำท่าจีนลงมาที่ตลาด เข้าท้องร่องไหลไปตามถนน แต่คราวนี้มาไวมาก เราไม่ทันได้เตรียมตัว ก็ทะลักเข้าท่วมตลาดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม"

ระดับน้ำปกติที่ศิริพรรณเคยเจอมาตั้งแต่เด็กจะอยู่ราวๆ ครึ่งน่อง หรือมากที่สุดก็ไม่เกินสะโพก แต่ปีนี้เธอว่า น้ำท่วมหนักที่สุดเท่าที่จำความได้ คืออยู่ราวๆ 1 เมตร ส่วนหน้าบ้านของศิริพรรณที่อยู่ทางฝั่งถนนท่วมสูงที่สุดราว 61 เซนติเมตร

"ตอนปี 2549 นั่นก็เยอะนะ แต่ปีนี้เยอะกว่า เยอะกว่าตอนปี 2549 ประมาณ 1 คืบ คือมันท่วมทุกปี มันก็ชินแล้วนะ ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหาอะไร แต่ชินไม่ได้แปลว่าไม่เครียดนะ ก็เครียด คือน้ำท่วมก็ท่วมไป เพราะเราอยู่กับน้ำ แต่ที่เป็นปัญหาอาจจะเรื่องความช่วยเหลือ เพราะเข้ามาไม่ถึงสักที คนเจอน้ำท่วมเขาเครียด แล้วเขาก็จะหงุดหงิดไง ทำไมบ้านเรายังไม่ได้ ทำไมช่วยเหลือไม่ทั่วถึง น่าจะเอาเครื่องสูบน้ำมาตั้งที่จุดนี้ อะไรแบบนี้"

สำหรับบ้านเรือนในตลาดเก้าห้องมีลักษณะเป็นเรือนแถว 2 ชั้น สร้างด้วยไม้ ชั้นล่างจัดเป็นพื้นที่ขายของ ส่วนชั้นบน หรือที่ศิริพรรณ เรียกว่า "เหล่าเต๊ง" จะเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนของแต่ละครอบครัว

"เวลาน้ำท่วมก็แค่ยกของให้สูงขึ้น แล้วก็นอนบนเหล่าเต๊งเหมือนเดิม อย่างที่บ้านพี่ขายน้ำขวด น้ำแข็ง ก็ต้องเอาลังโค้ก 2 ลังมาซ้อนกัน แล้วเอากระดานพาด เอาของวาง ก็ต้องหนุนให้สูงไว้ก่อน ส่วนการเดินทางสมัยก่อนเราจะใช้กระดานทำทางเดินเชื่อม แผ่นกระดานก็จะมีกันทุกบ้าน เป็นไม้กระดานหน้ากว้าง 1-2 เมตร มันเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมี

อีกส่วนก็...เวลามีงานเทศกาล มีงิ้ว เราก็เอาไม้กระดานของโรงงิ้วนั่นแหละเอามาปูเป็นทางเดิน พาดต่อๆ กันไป เพราะน้ำมันไม่ได้ท่วมเยอะ ส่วนเรื่องไฟฟ้าไม่มีปัญหา ที่ตลาดนี้เดินสายไฟไว้สูง บ้านสมัยใหม่เขาจะเดินสายไฟไว้ต่ำ เอาไว้ข้างล่าง แต่ที่ตลาดเก้าห้องจะเดินสายไฟสูง อยู่เหนือหัวขึ้นไป"

ในส่วนของห้องน้ำ ศิริพรรณ ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้ห้องน้ำเทศบาล แต่ประสบการณ์จากน้ำท่วมปี 2549 ทำให้ที่บ้านของเธอต้องทำห้องน้ำใหม่ โดยยกให้สูงขึ้นกว่าเดิม ปีนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องห้องน้ำ


ถามว่า น้ำท่วมแบบนี้ส่งผลอย่างไรกับบ้านส่วนใหญ่ที่สร้างด้วยไม้ ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดเก้าห้อง บอก น้ำช่วยให้ไม้ขยายตัวแน่นขึ้น ถึงตอนน้ำท่วมไม้จะพองตัวจนปิดประตูหน้าต่างไม่ได้ แต่พอแห้งแล้ว เนื้อไม้จะแน่น ทนทาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ส่วนการคมนาคมในช่วงน้ำท่วมโดยมากจะเดินเท้าเปล่า เพราะน้ำค่อนข้างสะอาด ถึงขนาดที่เด็กๆ สามารถกระโดดเล่นน้ำท่วมกันได้ แต่ถ้าชาวบ้านคนไหนไม่สะดวกจะเดินเท้าเปล่า ก็อาจจะใช้เรือพายช่วย

"มันไม่เยอะไงก็ไม่จำเป็นต้องมีเรือกันทุกบ้าน ยกเว้นใครไม่ชินเดินน้ำก็จะใช้เรือ แต่พี่ชินแล้ว เดินลุยน้ำจนเท้าเปื่อยทุกวัน ในตลาดเขาก็ใช้เรือกันนะ น้ำท่วมแค่เข่าก็ใช้เรือได้แล้ว เอาไว้ขนของบ้าง อะไรบ้าง ตอนน้ำท่วมก็ขายของปกติ ชาวบ้านฝั่งโน้นใช้เรือพายมาซื้อของ บางคนใส่ผ้าถุงมา แต่ก็เอากางเกงมาเปลี่ยนด้วย"

ถึงสถานการณ์น้ำในตลาดเก้าห้องจะดีขึ้น แต่ถ้านับตามฤดูกาลปกติที่น้ำควรจะมาในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน คนเก้าห้องก็ยังต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: