หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำเนียบรัฐบาล

ทำเนียบรัฐบาล : สัญลักษณ์การเมืองไทย
โดย : สาวิตรี เล็กมณี @เดลินิวส์
วันจันทร์ ที่ 29 สิงหาคม 2554

ทำเนียบรัฐบาลถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีประวัติศาสตร์และเป็นมรดกของชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 27 ไร่ 3 งาน 44 ตาราวางของถนนพิษณุโลก ที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 6 โดยได้รับการออกแบบจากช่างชาวอิตาเลียน และมีการนำศิลปะแบบเวนีเชี่ยนโกธิค (Venetian Gothic) มาเป็นต้นแบบ ผสมผสานกับงานเขียนและงานปั้นทำให้สง่างามตลอดมา ทั้งนี้รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานแก่ พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ หรือหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ และตั้งชื่อว่า “บ้านนรสิงห์“ ต่อมาในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นควรให้รัฐบาลไทยซื้อ “บ้านนรสิงห์” ไว้เพื่อใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลและสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง ในราคา 1,000,000 บาท ซึ่งหลังจากนั้นได้ชื่อเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย และทำเนียบรัฐบาล ตามลำดับ โดยมอบให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล


สำหรับพื้นที่โดยรอบขอทำเนียบรัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่ 4 สี่เหลี่ยมที่ด้านหน้าและด้านซ้ายถูกขนานด้วยคลองผดุงกรุงเกษมและคลองเปรมประชากร ส่วนด้านหลังและด้านขวาเป็นถนนนราชดำเนินและถ.พิษณุโลก ขณะที่รั้วกั้นอาณาเขตในอดีตนั้นเป็นรั้วคอนกรีตทึบรอบด้านแต่ปัจจุบันด้านหน้าและด้านข้างฝั่งถนนพิษณุโลกได้ปรับเปลี่ยนเป็นรั้วเหล็กดัดลวดลาย โปร่งตามากขึ้นเพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ชื่นชมความสง่างามของทำเนียบรัฐบาล ส่วนพื้นที่ด้านในนั้นได้มีการจัดสนามหญ้าเขียวขจีและตกแต่งปีนใหญ่จำนวน 9 กระบอก

ในปัจจุบันนี้ทำเนียบรัฐบาลกกลายเป็นสถานที่ราชการที่ใช้เป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จัดรัฐพิธี เช่น งานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ จัดการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อชี้แจงนโยบายรัฐบาล รวมทั้งเป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องทุกข์และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

นอกจากทำเนียบรัฐบาลจะมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกด้วย เนื่องจากทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์กลางการอำนาจในการบริหารประเทศ เมื่อเป็นอย่างนี้เหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลแห่งนี้ และเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งหนึ่งที่คอการเมืองในบ้านเราแทบทุกคนจะต้องจดจำได้อย่างดีคือ ในช่วงเดือนปลายสิงหาคม พ.ศ.2551 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) เข้าล้อมและบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่นในการชุมนุมทางการเมืองกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งในที่สุดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้นจริง โดยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร สุนทรเวช แต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทยนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีโอกาสเข้ามานั่งเก้าอี้ทำงานภายในทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว.


2สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อในทำเนียบรัฐบาล
โดย : สาวิตรี เล็กมณี @เดลินิวส์
วันจันทร์ ที่ 05 กันยายน 2554


ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่มีประวัติศาสตร์และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งสถิตอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความโดดเด่นและได้รับการยอมรับในความเป็นสิริมงคลจากข้าราชการและทุกคนที่เข้ามาทำงานภายในทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นที่คนตำแหน่งสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างเจ้าหน้าที่ส่งเอกสาร จะต้องให้ความเคารพ กราบไหว้ สักการะ และนำเครื่องเซ่นมาบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองในการปฎิบัติหน้าที่การงานนั้นเห็นจะมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ พระพรหมที่ตั้งสถิติอยู่บนระเบียงหลังคาด้านหน้าของตึกไทยคู่ฟ้า มีแท่นประดิษฐานรูปปั้น พระพรหมมีลักษณะ 4 พระพักตร์ 4 พระกร ขนาดหน้าตักประมาณ 24 นิ้ว และมีกำแพงเตี้ย ๆ แบบคลาสสิคบังฐานอยู่ข้างหน้า โดยในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ริเริ่มให้มีการจัดจัดสร้างและสั่งการให้กรมศิลปากร เป็นผู้ปั้นและหล่อเป็นโลหะสัมฤทธิ์ แต่จัดสร้างแล้วเสร็จและอัญเชิญประดิษฐานบนแท่นในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนอีกแห่งคือ ศาลพระภูมิเจ้าที่ ที่ตั้งสถิตอยู่บริเวณริมกำแพงทำเนียบรัฐบาลด้านถนนพิษณุโลก ตรงข้ามกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.)

สำหรับคนไทยที่มีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณกาลว่า สถานที่ใดที่เราจะต้องไปทำงานหรืออยู่อาศัยนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เราจะต้องกราบไหว้บูชา สักการะ เพื่อเป็นบอกกล่าวและขออนุญาตเข้ามาอยู่อาศัยให้เกิดความสิริมงคล จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฎิญาณตนก่อนเข้าปฎิบัติหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งนักการเมืองทั้งหลายที่เข้ามาทำงานภายในทำเนียบรัฐบาล จะทยอยเดินทางนำเครื่องเซ่น เครื่องบวงสรวงไม่ว่าจะเป็นชุดเล็ก ชุดใหญ่ ธูปดำ เทียนแดง ดอกดาวเรือง ทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวพันกับความเชื่อในความเป็นสิริมงคลจะนำมาสักการะกันอย่างไม่ขาดสายในช่วงเริ่มต้นการทำงาน

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้ง 2 แห่งก่อนที่จะเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้กับตัวเองและทีมงานแล้ว ยังเป็นพิธีกรรมที่สิ่งบ่งบอกและแสดงถึงความเชื่อเหล่านี้ยังมีอยู่ในสายเลือดคนไทยทุกคนไม่เสื่อมคลายลงแม้แต่น้อย ที่สำคัญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังคงเป็นที่พึ่ง ที่หวัง และที่สร้างกำลังใจสำหรับทุกคนที่คิดดี ทำดี มุ่งสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างแท้จริงเท่านั้น.

ตึกไทยคู่ฟ้า:เก้าอี้นายกรัฐมนตรี
โดย : สาวิตรี เล็กมณี @เดลินิวส์
วันจันทร์ ที่ 19 กันยายน 2554

ตึกไทยคู่ฟ้าเป็นสถาปัตยกรรมเป็นแบบเวนีเชี่ยนโกธิคที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งของประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้ พล.ร.อ.เจ้าพระยารามราฆพ ว่าจ้างชาวอิตาเลียนชุดที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมให้เป็นผู้ออกแบบ และเป็นผู้สร้าง แต่การสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียก่อน และช่างชาวอิตาเลียนกลับประเทศหมด ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปรับปรุง ต่อเติมและตกแต่งจนสำเร็จเรียบร้อย โดยมีเป็นตึก 2 ชั้น แต่ตรงมุมด้านทิศใต้ได้สร้างตอนบนเพิ่มขึ้น เสมือนเป็นตึก 3 ชั้น โดยที่ชั้น 3 ช่องต่าง ๆ ไม่มีบานหน้าต่างติดและไม่มีหลังคา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดสมดุลกับมุมอาคารทางทิศเหนือ ซึ่งทำเป็นห้องหลังคาโดม

ภายนอกอาคารโดยทั่วไปเป็นหินล้างพิเศษให้เกิดรูพรุนเล็ก ๆ ที่กำแพง และบัวปูนต่าง ๆ ผนังภายนอกบางส่วน ได้ทาสีคล้ายสีกำแพงหินอ่อน ส่วนยอดตึกมีขอบระเบียงเชิงหลังคาทำเป็นลวดลายโดยติดตราสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ดูกลมกลืนและงามประณีตเป็นอย่างยิ่ง และที่แปลกตาอย่างมากคือปั้นเป็นรูป "หัวไก่" ประดับอยู่ตามใต้กรอบหน้าต่างและตามปลายรางน้ำที่ระบายน้ำฝนจากหลังคาลง ส่วนภายในตึกไทยคู่ฟ้านั้นมีทั้งห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ห้องทำงานของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ห้องรับรองและห้องประชุม เช่น ห้องรับรองสีงาช้างที่ใช้รับรองอาคันตุกะและผู้นำสำคัญทางการเมือง ห้องรับรองสีม่วง ห้องประชุมสีเขียว นอกจากนั้นยังมีการนำภาพถ่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีมาประดับไว้ด้วย

สำหรับห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่บริเวณด้านขวา ชั้น 2 ของตึกไทยคู่ฟ้าและทุกครั้งมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งก็จะมีปรับปรุง ตกแต่งภายในห้องทำงานใหม่ตามรสนิยมของนายกรัฐมนตรีแต่ละคน อย่างกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดนี้ ได้ว่าจ้างบริษัทตกแต่งภายในชื่อดังมาออกแบบการเพื่อให้ใช้พื้นที่ทั้งหมดอย่างเป็นสัดส่วนและออกมาในสไตส์โมเดริ์นโทนสีเข้ม พร้อมรับติดตั้งระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตึกไทยคู่ฟ้าทำหน้าที่ให้การต้อนรับและทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศมาแล้วถึง 27 คน และขณะนี้กำลังให้การต้อนรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศที่เข้านั่งมาทำงานบริหารประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนที่อยากเห็นประเทศชาติกลับมาสงบสุข สันติ ปรองดองเหมือนอย่างเช่นในอดีต.

ตึกสันติไมตรี:ภารกิจนายกรัฐมนตรี
โดย : สาวิตรี เล็กมณี @เดลินิวส์
วันจันทร์ ที่ 26 กันยายน 2554

ตึกสันติไมตรีเป็นตึกที่อยู่ในแนวเดียวกับตึกไทยคู่ฟ้า มีลักษณะเป็นตึกชั้นเดียว ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ด้านหน้ามีน้ำพุประดับอยู่ด้านซ้าย มีลานหินอ่อนเป็นระเบียงโดยรอบทำให้เดินถึงกันได้ทั่วทั้งตัวตึก ภายในตึกจะประกอบด้วยห้องรับรองขนาดใหญ่ คือ ตึกสันติไมตรีหลังนอก ตึกสันติไมตรีหลังใน และห้องรับรับรองขนาดเล็ก คือ ห้องรับรองสีฟ้า และห้องรับรองสีเหลือง โดยแต่ละห้องตกแต่งที่เน้นความหรูหรา สวยงามและเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัวด้วยการเล่นลวดลายสีทองและประดับโคมไฟคริสตัลห้อยระย้าไว้บนเพดาน ขณะที่บางห้องมีภาพวาดสีน้ำมันฝีมือของศิลปินชื่อดังอย่าง อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยะกฤษ ตกแต่ง ขณะที่ภายนอกตึกมีลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปะการตกแต่งเลียนแบบตึกไทยคู่ฟ้า เนื่องจากในสมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเห็นว่าห้องโถงคับแคบ และไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดงานใหญ่ จึงได้สั่งการให้สร้างตึกเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง

ตึกสันติไมตรีสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานในลักษณะอเนกประสงค์และมีห้องโถงกลางเป็นตัวเชื่อมระหว่างตึกสันติไมตรีหลังนอกและหลังใน รัฐบาลจึงได้ใช้ตึกสันติไมตรีในการปฏิบัติภารกิจและราชการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงรับรองแขกสำคัญจากต่างประเทศ พิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พิธีมอบรางวัล สถานที่จัดการประชุมต่าง ๆ เช่น ประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อชี้แจงนโยบายรัฐบาล รวมทั้งเป็นสถานที่รับแขกภายในประเทศจำนวนมากที่ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เช่น นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยห้องรับรองสีฟ้าและห้องรับรองสีเหลืองนั้นจะใช้รับแขกหรือคณะบุคคลที่เข้าเยี่ยมคารวะ และในรัฐบาลบางสมัยได้ใช้เป็นห้องที่นายกรัฐมนตรีพบปะและให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอีกด้วย เช่น พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ห้องโถงตรงกลางตึกสันติไมตรียังเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองอีกด้วย เพราะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2548 ซึ่งถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของพ.ต.ท.ทักษิณ มีคณะรัฐมนตรีคณะที่ 55 แต่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นของพันตำรวจโททักษิณถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและมีความหมายอย่างมากในชีวิตการเมือง เพราะเป็นการเริ่มต้นนับถอยหลังในทางการเมืองและส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเศษเท่านั้นก่อนที่จะถูกรัฐประหารโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549.

ตึกนารีสโมสร : ภาพลักษณ์รัฐบาล
โดย : สาวิตรี เล็กมณี @เดลินิวส์
วันจันทร์ ที่ 3 ตุลาคม 2554


ตึกนารีสโมสรเป็นตึกที่สร้างขึ้นพร้อมกับตึกไทยคู่ฟ้าทำให้ลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกัน โดยสร้างเป็นตึกชั้นเดียวตั้งอยู่ต้นทางคูน้ำที่ปลูกบัวสายสีแดงไว้จำนวนมาก ส่วนด้านในเป็นห้องโถงพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีผนังกั้น มีศาลาท่าน้ำ โดยในสมัยเจ้าพระยารามราฆพ เรียกตึกนี้ว่า "ตึกพระขรรค์" เนื่องจากเจ้าพระยาราราฆพเคยเป็นมหาดเล็กที่เป็นผู้เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยเป็นสถานที่ตั้งศพ ท้าวอินทรสุริยา หรือ ม.ล.เชื้อ พึ่งบุญ พี่สาวของเจ้าพระยาราฆพด้วย หลังจากนั้นได้ใช้เป็นสถานที่พักตัวละครและสถานที่แต่งตัวละคร

ในอดีตยังมีการสร้าง “ตึกแสงอาทิตย์“ ขึ้นตรงด้านข้างของตึกนารีสโมสรเพื่อใช้เป็นทางขึ้น-ลง และเป็นทางเชื่อมไปยังตึกต่าง ๆ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้งานแล้วจึงไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง ”ตึกแสงอาทิตย์” มากนัก และต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นทางท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม ได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ตึกนารีสโมสร“ ทั้งนี้ “ตึกนารีสโมสร” นั้นได้รับการปรับปรุงและอนุรักษ์มาเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประเภทอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2548 ประเภทกลุ่มอาคารทำเนียบรัฐบาล

ปัจจุบันนี้ตึกนารีสโมสรกลายเป็นศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีและทีมโฆษกรัฐบาลใช้เป็นสถานที่แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคาร นอกจากนั้นยังมีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในตึกเป็นห้องทำงานของโฆษกรัฐบาล รองโฆษกรัฐบาล และในบางโอกาสยังใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสื่อมวลชนและทีมโฆษกรัฐบาลอีกด้วย

สำหรับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและต้องทำงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีพอสมควร เพราะต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ถ่ายทอดแนวคิดและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมการสื่อสารระหว่างรัฐบาลและประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และในบางครั้งยังใช้ตำแหน่งนี้ตอบโต้ทางการเมืองอีกด้วย ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างและส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลในแต่ละสมัย.

ไม่มีความคิดเห็น: