หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

มะละกา

มะละกา : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย บทความโดย อัครเดช สุภัคกุล


ภาพที่ได้นำมาแสดงในคราวนี้ เป็นภาพเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปทัศนศึกษาที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย เมื่อปีพ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา โบสถ์ที่เป็นฉากอยู่เบื้องหลังนั้น เป็นโบสถ์คริสต์มะละกา ที่สร้างมาจากอิฐซึ่งนำมาจากประเทศฮอลันดา แล้วฉาบด้วยดินแดงท้องถิ่น โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่กลางจัตุรัสดัตช์ ใช้เวลาในการสร้าง 12 ปี แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2296 ชาวดัตช์สร้างโบสถ์แห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่ ประเทศฮอลันดาได้ปกครองเมืองมะละกา มาครบ 100 ปี


ชาวดัตช์ หรือชาวฮอลันดานั้น นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ดังนั้นโบสถ์นี้จึงสร้างเพื่อเป็นโบสถ์โปรเตสแตนต์ มาแต่เดิมที ครั้นภายหลังที่อังกฤษได้เข้ามาปกครองมะละกาแทนชาวดัตช์ โบสถ์แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นศาสนสถานของนิกายแองกลิกันของชาวอังกฤษไป ที่ภายในโบสถ์มีแผ่นจารึกเหนือหลุมฝังศพของชาวดัตช์ มีพระคัมภีร์ทองเหลือง จารึกอักษรอาร์เมเนียน ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของมะละกา จึงมีผู้มาถ่ายรูปกันมาก

สำหรับตำนานเมืองของมะละกา ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อราวพุทศตวรรษที่ 20 ยังมีเจ้าชายปรเมศวร เจ้าผู้ครองเกาะเทมาเส็ก (สิงคโปร์ในปัจจุบัน) ทรงถูกกองทัพชวาโจมตี และเสด็จหนีมาขึ้นฝั่งทางตอนเหนือ ในที่นั้นทรงพบสุนัขป่า 2 ตัว กำลังรุมทำร้ายกระจงซึ่งตัวเล็กนิดเดียว แต่กระจงก็ต่อสู้สุนัขป่านั้นเป็นสามารถ จนสุนัขป่าทั้ง 2 ตัว แพ้แล้วหนีไป ทรงเห็นเป็นนิมิตมงคล จึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้น ให้ชื่อเมืองว่า “มะละกา” เป็นภาษามาเลย์ แปลว่า ต้นมะขามป้อม

ด้วยบริเวณทั่วไปของมะละกาในเวลานั้น มีต้นมะขามป้อมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันนี้หากใครจะดูต้นมะขามป้อม ก็สามารถดูได้ที่ตรงข้ามป้อม เอ-ฟาโมซา ซึ่งมีอยู่เพียงต้นเดียว ส่วนกระจงน้อยก็ได้รับเกียรติเป็นตราสัญลักษณ์ของรัฐมะละกา ส่วนชาติแรกที่เข้ามาอยู่ที่เมืองมะละกาคือ ชาวจีน ที่ได้ติดตามกองเรือของ นายพลเจิ้งเหอ มาเมื่อราวพ.ศ. 2033 และเนื่องจากช่องแคบมะละกาเป็นเมืองท่าการค้าเครื่องเทศนานาชาติที่สำคัญ ผู้คนจึงมาอยู่ที่มะละกากันมาก

ผู้ที่มาค้าขายนอกจากจะมีชาวจีนแล้วยังมีชาวอินเดียอีกเป็นจำนวนมากด้วย จนท้ายที่สุดทำให้มะละกามีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อครั้งสมัยอยุธยา เมืองมะละกาเคยตกเป็นของสยาม ครั้นอยุธยามีศึกกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงตีตนออกห่าง จนกระทั่งฝรั่งชาติแรกคือชาวโปรตุเกสได้เข้ามายึดครองในปีพ.ศ.2052 ต่อมาฮอลันดาได้แย่งชิงไปปกครองในปีพ.ศ.2184 ครั้นปีพ.ศ.2340 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ของสยาม อังกฤษก็เข้ามาทำการยึดครอง และในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ตนกู อับดุล ราห์มัน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียท่านแรก ซึ่งมีมารดาเป็นชาวไทยแห่งสกุล “นนทนาคร” ได้ประกาศอิสรภาพของประเทศมาเลเซียจากอังกฤษ ณ เมืองมะละกาแห่งนี้ครับ

“เซอลามัท ติงกัล” ภาษามาเลย์แปลว่า ลาไปก่อนครับท่านผู้อ่าน วันจันทร์หน้าพบกันที่ “อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์” ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: