หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ธนบุรีศรีมหาสมุทร (1)

กรุงเทพฯ และธนบุรีวันนี้เดิมเมื่อเกือบ 500 ปีก่อนเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันเรียกว่า “บางกอก”


ผู้รู้สันนิษฐานที่มาไว้หลายอย่างเช่นแถบนี้คงเป็นดงต้นมะกอกมาก่อน ปรากฏหลักฐานจากวัดอรุณราชวรารามที่เคยชื่อวัดมะกอกนอก คนสมัยก่อนมักตั้งชื่อชุมชนใกล้น้ำว่าบางแล้วต่อด้วยชื่อต้นไม้ที่ดกดื่นในถิ่นนั้น ๆ เช่น บางรัก บางกรวย บางแค บางจาก บางโพ บางไทร ถ้าอย่างนั้นบางทีอาจจะเรียกบางมะกอกมาก่อน ภายหลังจึงกร่อนลงเหลือแค่บางกอก แต่บางคนก็บอกว่าน่าจะมาจากบางโคกแปลว่าที่สูง บ้างก็ว่าภูมิประเทศแถบนี้มีคลองล้อมรอบจึงน่าจะเรียกเพี้ยนมาจากบางเกาะ


ใครถนัดแบบไหนก็เชื่อไปทางนั้นเถิดครับ อย่าทะเลาะกันเลย แต่คนปักษ์ใต้ยังคงเรียกกรุงเทพฯ ว่าบางกอกมาจนทุกวันนี้ ตอนผมเข้ามาเรียนต่อในกรุงไปลายายบอกว่าจะไปเรียนที่กรุงเทพฯ ยายถามว่าอยู่ที่ไหน พออธิบายจบยายร้องว่าพุทโธ่! บางกอกนั่นเอง

อธิบายซ้ำอีกครั้งว่าแม่น้ำเจ้าพระยานั้นไหลจากนครสวรรค์ไปลงอ่าวไทยที่ปากน้ำพระประแดง (แปลว่าคนเดินหนังสือหรือเมสเซ็นเจอร์ บอย) แถว ๆ บางเจ้าพระยา ฝรั่งเดินเรือเข้ามาเมื่อหลายร้อยปีก่อนเคยเรียกว่าแม่น้ำริเวอร์ เพราะถามคนไทยว่าริเวอร์นี้ชื่ออะไร คนไทยตอบว่าแม่น้ำไงล่ะ ต่อมาก็เรียกตามชุมชนแรกที่มาถึงว่าบางเจ้าพระยาริเวอร์ ภายหลังสั้นเหลือเจ้าพระยาริเวอร์ สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ่อพระเจ้าเอกทัศ) พงศาวดารไทยเริ่มเรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว

บางเจ้าพระยานั้นหมายถึงเจ้าพระยาอะไร คนไหนก็ไม่มีใครรู้ ที่จริงก่อนสมัยพระเจ้าบรมโกศ เราไม่มีบรรดาศักดิ์เจ้าพระยา มีแต่ออกขุน ออกหลวง ออกพระ และออกญา คำว่าบางเจ้าพระยาจึงแปลกดี เวลานี้เริ่มมีการพูดถึงการขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 เป็นฟลัดเวย์เพิ่มอีกสายเอาไว้ระบายน้ำในหน้าน้ำท่วม น่าจะเรียกแม่น้ำออกญาจะได้คู่กัน เพราะเจ้าพระยา 2 ฟังเหมือนสถานอาบอบนวดแถวถนนศรีอยุธยา!

แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรีลงมาจนถึงบางกอก แล้วหักข้อศอกโค้งข้างศิริราชไปออกข้างวัดอรุณฯ สมัยพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยาโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดตัดตรงจากโค้งแม่น้ำข้างศิริราชไปเชื่อมโค้งข้างวัดอรุณฯ จะได้ย่นเวลานั่งเรืออ้อมไปค่อนวัน ทั้งลำน้ำที่ตรงยังเป็นฟลัดเวย์ระบายน้ำที่ท่วมลงทะเลได้เร็วกว่าแม่น้ำที่คดเคี้ยว ต่อมาคลองลัดนี้กว้างจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำที่เลี้ยวข้างศิริราชแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย แม่น้ำที่เลี้ยวออกข้างวัดอรุณฯ ก็แคบลงกลายเป็นคลองบางกอกใหญ่ คงเพราะกว้างใหญ่และมีคนใหญ่คนโตอยู่กันมากกว่า

เรื่องนี้เล่าหลายหนแล้ว แต่อยากเล่าบ่อย ๆ เพราะชื่นใจที่ผู้อ่านอีเมล์มาบอกว่าชอบอ่านให้ลูกฟัง ถ้าให้ดีช่วยสรุปให้ลูกฟังด้วยนะครับว่า 1.ผู้นำสมัยก่อนท่านมีวิสัยทัศน์คิดการณ์ไกลว่าควรป้องกันและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไร การขุดคลองลัดสายใหญ่ยาวร่วม 3 กิโลเมตรเมื่อ 500 ปีมาแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย บางกอกเองก็อยู่ไกลอยุธยา ท่านยังเอาใจใส่มาดูแลจัดการให้ 2.อะไรที่เคยสำคัญ วันหนึ่งย่อมตกอับได้แม้แต่แม่น้ำที่อาจตื้นเขินและแคบลงจนกลายเป็นคลอง อะไรที่ไม่สำคัญ นานวันก็ผงาดขึ้นมาได้เช่นคลองลัดที่กลายเป็นแม่น้ำ นับประสาอะไรกับคน!

สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ รัชกาลที่ 16 (เป็นตาของสมเด็จพระนเรศวร) ให้ยกเมืองบางกอกฝั่งตะวันตกขึ้นเป็นเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรและถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญสำหรับตรวจคนเข้าเมือง เก็บภาษีเรือสินค้า และป้องกันภัยจากทางน้ำที่จะเข้าไปสู่กรุงศรีอยุธยาซึ่งไกลขึ้นไปทางเหนือราว 70 กิโลเมตร ส่วนฝั่งตะวันออก (กรุงเทพฯ) ยังคงเรียกว่าบางกอก


ธนบุรีแปลว่าเมืองแห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย “ธนะ” เป็นคำเดียวกับธนที่รวมกับคำว่าอาคารเป็นธนาคาร รวมกับคำว่าอารักษ์เป็นธนารักษ์ รวมกับอธิปไตยเป็นธนาธิปไตยแปลว่านับถือเงินและความร่ำรวย นึกว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ธนะแปลว่าทรัพย์สินก็ได้

ธนบุรีหลังสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกลายเป็นเมืองสำคัญเพราะเป็นศูนย์กลางการค้าสำหรับเรือแพที่เข้าไปไม่ถึงอยุธยา ขณะเดียวกันธนบุรีก็มีเรือกสวนไร่นาและผลไม้พันธุ์ดีเป็นอันมาก เช่น ลิ้นจี่ มังคุด ละมุด ส้ม ทุเรียน ชมพู่ หมาก แม้แต่ลำไยก็ดกดื่น คนรุ่นนี้คงนึกไม่ออกว่าธนบุรีเป็นแดนลิ้นจี่และมังคุดพันธุ์ดีไปได้อย่างไร นอกจากนี้ปูปลา กุ้ง หอยจากแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน และแม้แต่จากแม่น้ำป่าสักซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปก็มีผู้นำมาขายที่นี่ ธนบุรีจึงมั่งคั่งสมชื่อ

ความที่ธนบุรีต้องรับเรือราชทูตบ้าง เรือสินค้าต่างประเทศบ้าง เจ้าเมืองธนบุรีจึงมักเป็นชาวต่างชาติ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็เป็นชาวเติร์ก และฝรั่งเศสยังสร้างป้อมไว้ 2 ป้อมอยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯ แถวโรงเรียนราชินีป้อมหนึ่ง หัวมุมคลองบางกอกใหญ่ฝั่งธนบุรีอีกป้อมหนึ่ง มีปืนใหญ่และกองทหาร ระหว่างป้อมกับป้อมมีโซ่ขึงไว้ใต้แม่น้ำ ถ้าข้าศึกบุกเข้ามาก็ชักโซ่ขึ้นขึงให้ตึงขวางเรือไว้

สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รัชกาลที่ 32 ปลายอยุธยาเต็มทีเพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา พม่าก็ยกทัพมาตีอยุธยาแตก คนที่จะมีชื่อต่อไปในประวัติศาสตร์ไทยมาเกิดอย่างน้อยก็ 4 คนที่ควรรู้จัก คนแรกชื่อพ่อสิน ลูกชาวจีน นายอากรเก็บภาษีส่งหลวง แม่เป็นไทย คนที่สองอายุน้อยกว่าราว 2 ปีชื่อพ่อทองด้วง ลูกขุนนางเชื้อสายไทยมอญ แม่น่าจะมีเชื้อสายจีน คนที่สามอายุน้อยลงมาอีกราว 2 ปี ชื่อพ่อบุนนาค ลูกขุนนางชั้นเจ้าพระยาระดับนายกฯ ฝ่ายทหาร เชื้อสายแขกเปอร์เซีย แม่เป็นไทย คนที่สี่ชื่อพ่อบุญมา น้องพ่อทองด้วง อายุน้อยกว่าเพื่อน

สามคนแรกคือพ่อสิน พ่อทองด้วง พ่อบุนนาคเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก เรียกว่าทีมลูกจีน ลูกไทย ลูกแขก เวลาบวชเณรบวชพระก็บวชไล่เลี่ยกันแต่คนละวัด คราวหนึ่งพระสิน พระทองด้วงออกบิณฑบาต ซินแสจีนเห็นเข้าก็ชอบใจทายว่าทั้งคู่จะได้เป็นฮ่องเต้


เรื่องหมอดูนี้ทางไทยมีเรื่องเล่ามาก รัชกาลที่ 3 ครั้งยังเด็ก ญาติที่เป็นมุสลิมเคยจับพระหัตถ์ทำนายว่าต่อไปจะได้เป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 4 ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จออกผนวช สมภารวัดตะเคียนเคยถวายพยากรณ์ว่าต่อไปจะได้ราชสมบัติ พอครองราชย์จริงก็ทรงบูรณะวัดตะเคียนพระราชทานชื่อว่าวัดมหาพฤฒาราม สมัยอยุธยาสมภารวัดพระยาแมนก็เคยพยากรณ์ว่าต่อไปเจ้ากรมคชบาลคือพระเพทราชาจะได้ครองเมืองซึ่งก็เป็นจริง

ประเภทไม่เป็นโหร แต่ทายยุทายแหย่ก็มี อย่างที่อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าเคยขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ที่พิษณุโลกเพราะสงสัยว่าไฉนจึงต่อสู้กับผู้อาวุโสได้ไม่เพลี่ยงพล้ำ พอได้ดูตัวก็มอบของขวัญให้แล้วทายว่ารูปก็งาม ฝีมือก็ดี จงรักษาตัวไว้เถิดต่อไปเห็นทีจะได้เป็นกษัตริย์

เวลานี้นักการเมืองจึงชอบดูหมอว่าเมื่อไรจะได้เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อใดจะได้กลับมามีอำนาจ ไม่ว่าหมอพระหรือโหรอาชีพ ไม่ว่าหมอตาดีหรือตาบอดและไม่ว่าซินแสจีน สวามีแขก จนถึงหมดดูพม่าอย่างอีที. เป็นอันยอดนิยมทั้งนั้น จนบัดนี้เห็นจะมีนายกฯ รอคิวตามบัญชีโหรอยู่ราว 20 คน และตั้งรัฐบาลมีรัฐมนตรีครบทุกกระทรวงราว 10 คณะ!


พ่อสินนั้นต่อมาเจ้าพระยาจักรี สมุหนายกได้ขอตัวไปเลี้ยง มีผู้อ่านอีเมล์มาถามว่าแสดงว่าพ่อทองด้วงซึ่งต่อไปได้เป็นเจ้าพระยาจักรีอายุมากกว่าพ่อสินใช่ไหมจึงขอพ่อสินไปเลี้ยง ขอเรียนว่าพ่อทองด้วงอายุน้อยกว่าพ่อสิน 2 ปี และยศถาบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาจักรีมีเป็นสิบคน ใครเป็นสมุหนายกคุมฝ่ายพลเรือน (เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี) ได้เป็นเจ้าพระยาจักรีทั้งนั้น เวลาเรียกจึงมักต่อท้ายด้วยชื่อเดิมหรือที่อยู่จะได้รู้ว่าคนไหน เจ้าพระยาจักรีที่ขอพ่อสินไปเลี้ยงเป็นคนละคนกับพ่อทองด้วงครับ

เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 มีการพบพงศาวดารฉบับใหม่ แต่ผมเห็นว่ายังไม่น่าเชื่อถือนัก ระบุว่าพ่อสินเป็นพ่อค้าชาวจีนจากอยุธยาขึ้นไปค้าขายที่เมืองตากจนร่ำรวย ทางการจึงตั้งเป็นพระยาตาก ฟังดูพิลึกอยู่แต่ก็ขอยกมาเล่าให้รู้ไว้

เมื่อเข้าวัยหนุ่ม พ่อสินและพ่อทองด้วงได้เข้าทำราชการเป็นหลวงยกกระบัตร ซึ่งสมัยก่อนมีอยู่ทุกเมือง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยเจ้าเมืองด้านกฎหมายคล้าย ๆ อัยการจังหวัดทุกวันนี้ ยกกระบัตรเป็นตำแหน่งพลเรือนนักปกครองไม่ใช่นักรบ ส่วนพ่อบุนนาคอาศัยว่าเป็นลูกนายกรัฐมนตรีฝ่ายทหาร (สมุหพระกลาโหม) และแม่เป็นชาววังจึงเข้าทำงานในวังเป็นมหาดเล็ก

พ่อสินออกไปเป็นยกกระบัตรเมืองตากซึ่งเวลานั้นถือว่าไกลและกันดารมาก ส่วนพ่อทองด้วงไปเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี ใกล้อยุธยาหน่อย พ่อสินไปอยู่ตากไม่นานเจ้าเมืองตากตาย ทางอยุธยาขี้เกียจส่งคนไปแทนจึงยกหลวงยกกระบัตร (สิน) เป็นพระยาตากคนใหม่ ชาวเมืองเรียกว่าพระยาตากสิน ฝ่ายหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) นั้น พระยาราชบุรีเจ้าเมืองไม่ได้ตาย จึงเป็นยกกระบัตรไปอย่างนั้นจนสิ้นสมัยอยุธยา

เหตุการณ์นี้ล้ำเข้ามาถึงสมัยพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอยุธยา การที่พ่อสินได้เป็นเจ้าเมืองตากนั้นเป็นฐานอย่างดีในการจะทำงานสำคัญของชาติ เพราะเจ้าเมืองต้องเป็นทุกอย่างไม่ว่าฝ่ายบุ๋นหรือฝ่ายบู๊ ถึงตอนนั้นจะยังไม่เป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอก็เถอะ ข้าศึกยกผ่านมาก็ต้องออกไปสะกัด ข้าศึกมาเมียงมองอยู่ตามชายแดนก็ต้องไปสืบข่าว โจรผู้ร้ายชุกชุมก็ต้องปราบ ราษฎรลำบากเพราะข้าวยากหมากแพงฝนฟ้าไม่ตกก็ต้องช่วยเหลือ

น้ำท่วมยังต้องไปช่วยเลย ใครจะพังพนังกั้นน้ำ รื้อกระสอบทรายก็ต้องไปห้ามปราม ยกมือไหว้บ้างขอร้องบ้าง



เมืองตากเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุว่าสมัยหนึ่งพ่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ให้ลูกชายอายุ 19 ปีไปตั้งรับและต่อสู้จนได้ชัยชนะจึงให้ชื่อว่า “รามคำแหง” เมืองตากอยู่ติดกับชายแดนพม่าซึ่งฮึ่ม ๆ กับอยุธยามานานแล้ว ขณะนั้นเป็นสมัยราชวงศ์อลองพญา หนทางที่พม่ายกทัพทางบกมาตีอยุธยานั้น มี 3 ช่องทางคือด่านแม่ละเมาอยู่ที่ตากนี่เอง ด่านเจดีย์สามองค์อยู่เมืองกาญจน์ และด่านสิงขรอยู่แถวประจวบฯ หากพม่าหักด่านเข้ามาทางแม่ละเมาได้ จะเข้าตีสุโขทัย (ตอนนั้นแทบไม่มีความสำคัญ) พิษณุโลก (สำคัญที่สุดรองจากอยุธยา) และขึ้นเหนือไปตีเชียงใหม่ได้โดยง่าย

ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร (สมัยสุโขทัยเรียกว่านครชุม มีความสำคัญและเก่าแก่กว่าตาก) ตายลง ทางอยุธยาอาจประหยัดงบประมาณค่าขนย้ายและติดสงครามที่พม่ายกมาล้อมกรุงจึงไม่ตั้งใครขึ้นไปปกครอง แต่ให้ย้ายพระยาตากสินจากเมืองตากใกล้ ๆ กันลงไปเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ทีนี้จะเป็นพระยาตากไม่ได้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นพระยาวชิรปราการ คำว่าปราการแปลว่ากำแพง วชิระแปลว่าเพชร แต่ยังไม่ทันจะไปรับตำแหน่งใหม่ก็ทราบข่าวพม่าล้อมกรุง พระยาตากสินจึงสำแดงวีรกรรมตามที่ชะตาจะได้เป็นผู้กู้ชาตินำทหารจากเมืองตากรุดลงมาช่วยอยุธยารับมือพม่าเรียกว่าห่วงบ้านเมืองมากกว่าตำแหน่ง

นี่ถ้าพระยาตากเข้ารับตำแหน่งแล้ว เราจะไม่รู้จักพระเจ้าตากสิน แต่จะรู้จักพระเจ้าวชิรปราการสินแทน

พระเอกขี่ม้าเข้ากรุงแล้วครับ ถ้าเป็นหนังไทยสมัยก่อนคนดูต้องตบมือและผิวปากกันลั่นโรง แต่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าพระองค์นี้ขณะนั้นท่านไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายจะได้เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย จะเป็นแม่ทัพหรือเชลย จะอยู่หรือตาย เพราะกลายเป็นว่าท่านไม่ได้สู้กับพม่าข้าศึกที่มาล้อมกรุงเท่านั้น แต่สู้กับรัฐบาลที่อ่อนแอโลเลเหลาะแหละ ครม.ที่แตกความสามัคคีเพราะเล่นการเมืองกันเองในยามวิกฤติ ซ้ำร้ายแม่ทัพยังขาดภาวะผู้นำอีกด้วย.

วิษณุ เครืองาม
wis.K@hotmail.com
@เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: