หน้าเว็บ

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เกียรติยศแผ่นดินสยาม

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย อาจารย์สยาม ยิ้มบัว คณะทำงาน ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์


ผมเดินก้าวอย่างช้าๆ เข้ามาในห้อง “เกียรติยศแผ่นดินสยาม” ของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งเราได้เดินมาถึงหน้าประตูสนามราชกิจ(จำลอง) นั่นหมายถึงผมได้ยืนอยู่หน้าประตูที่จะเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นในของวังหลวงแล้วครับ ด้วยธรรมเนียมวังที่กล่าวไว้แต่เมื่อครั้งแรกสร้างกรุง ว่าเขตพระราชฐานชั้นในนั้นเป็นเขตหวงห้ามสำหรับบุรุษเพศ และบุคคลภายนอก แต่นี่คงเป็นโอกาสเดียวที่ผู้ชายและใครก็ตามที่มาที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์แห่งนี้จะได้เข้าชมเขตพระราชฐานชั้นใน


ภาพของท้าวศรีสัจจา และฉากของแม่พลอยในสี่แผ่นดินที่ไปเหยียบธรณีประตูจนถูกคุณท้าวท่านทักและต้องไปกราบธรณีประตูก็ลอยขึ้นมาในความคิดผมอีกครั้ง เมื่อเบื้องหลังของประตูจะเห็นจ่าโขลน และรูปปั้นจำลองของท้าวศรีสัจจานั่งหน้าประตูอยู่เป็นการสะท้อนภาพอดีตให้เห็นถึงธรรมเนียมของผู้อารักขาประตูวังและกฎธรรมเนียมในวังทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการแฝงเกร็ดความเป็นชาววังให้เราได้เห็น เช่น การเลือกนุ่งผ้าตามสีประจำวันเพื่อความโชคดี การร้อยพวงมาลัยในวัง การทำขนมไทย

ผมเดินออกมาจากเขตพระราชฐานชั้นในและด้วยความที่ได้ยินเสียงการฝึกซ้อมรำของสาวๆ ฝ่ายในแล้ว ช่างดูเป็นความต่อเนื่องของอารมณ์เพราะห้องจัดแสดงต่อมานั้นคือ “เรืองนามมหรสพศิลป์” การแสดงและเรื่องราวมหรสพต่างๆ ในทุกยุคสมัยที่มีในกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เล่าขานผ่านการนำเสนอรอบทิศทาง สัมผัสบรรยากาศแบบ 360 องศา ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสทดลองเชิดหุ่นกระบอกด้วยตัวเอง ในมุมนี้เด็กๆ จะสนุกมากครับผ่านการได้เชิดหุ่นกระบอกและมีใบหน้าของตนเองอยู่ในจอ

เรายังเดินมาได้เพียงแค่ครึ่งเดียวของเส้นทางทั้งหมดเท่านั้นนะครับ ยังไม่ทันหายเหนื่อย ผมก็เดินเข้าไปถ่ายรูปกับกล้องถ่ายภาพโบราณจากร้านฉายาราชดำเนิน และเข้าไปสู่ห้อง “เยี่ยมยลถิ่นกรุง” ซึ่งได้รวบรวมสถานที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ผ่านจอขนาดใหญ่ให้เราได้ชม และประสบการณ์ที่ทำให้ผมได้ขำอีกครั้งหนึ่งคือ ใบหน้าของตนเองไปปรากฏอยู่ที่ตัวละครแอนิเมชั่นที่ผมได้ไปถ่ายภาพไว้ และมีปรากฏไปในละครแอนิเมชั่นในสถานที่ท่องเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากนี้ มาพักสายตากันในจุดทิวทัศน์ที่สวยที่สุดในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์นั่นคือ บริเวณชั้น 4 เพราะจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของถนนราชดำเนิน โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามฯ และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ดั่งเช่นเทวดาหรือองค์เทพได้รังสรรค์เมืองสวรรค์แห่งนี้ไว้

ไม่มีความคิดเห็น: