หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์

พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย
โดย อาจารย์สยาม ยิ้มบัว คณะทำงานศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์




นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ได้นำพาผมและท่านผู้อ่านทุกท่านร่วมเดินทางผ่านเส้นทางแห่งกาลเวลากลับไปสู่จุดเริ่มต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2325 เฉกเช่นกับรูปแบบใหม่ในทุกวันนี้ของเฟซบุ๊กที่มีการทำ timeline วันนี้ผมก็พาทุกท่านมาย้อน timeline ในบ้านเกิดเมือนอนของเราบ้างนะครับ เมื่อเราเข้ามาสู่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์บริเวณโถงกลางก็ต้องหาบัตรเข้าชมกันก่อน หากเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา งานนี้ฟรีครับ แต่สำหรับผมเองก็ไปซื้อบัตรให้เรียบร้อยและเตรียมเข้าชมกันครับ


การเริ่มชมนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ได้เริ่มขึ้นผ่านเส้นทางที่นำเสนอช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2325 ของไทยซึ่งถือเป็นปฐมบทแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปรียบเทียบกับเหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศ ที่ทำให้ทราบเพิ่มเติมจากการจัดแสดงอีกว่า ห่างกันเพียงไม่กี่ปี ในปี 2333 สหรัฐอเมริกาก็มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกแล้ว แต่ละห้วงเวลาที่ผ่านมา ก็ได้มองเห็นพัฒนาการของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีวิถีก้าวแห่งความเจริญอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพูดถึงย่านที่ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ทุกคนจะนึกถึงเสาชิงช้า เมื่อนึกถึงชุมชนที่ทำบาตรพระ ก็จะเห็นภาพชุมชนบ้านบาตรขึ้นมา การเดินเข้าสู่ห้อง “ดื่มด่ำย่านชุมชน” จึงทำให้ทราบถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวจากท่านอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และผ่านการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีที่เราสามารถสัมผัสได้ นอกจากนี้ยังได้เห็นผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ให้เราได้ศึกษาเพิ่มเติม

พ้นจากห้องนี้ไปแล้ว คราวนี้ถึงเวลาที่เราจะย้อนกลับไปสู่เมื่อครั้งแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์กันแล้วครับ ผ่านเทคโนโลยีสื่อผสม 4 มิติในห้อง “รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์” ที่จะกล่าวถึงประวัติแห่งต้นกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ และเหตุการณ์ต่างๆ ในห้วงเวลานั้น ผมมั่นใจว่าท่านใดที่เคยมาชมแล้วจะรู้สึกภูมิใจเมื่อได้ฟังความหมายในชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร และได้ตื่นเต้นกับเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่มีในห้องนี้ เมื่อประตูห้องนี้ได้เปิดออกมา พระบรมมหาราชวังก็ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า

ความยิ่งใหญ่อลังการแห่งวังหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน ความเป็นศูนย์กลางและแหล่งพึ่งพิงหลักของชาวไทย สะท้อนผ่านโมเดลจำลองพระบรมมหาราชวังตั้งแต่เขตพระราชฐานชั้นนอก กลาง และใน ซึ่งเพียงแค่ห้องนี้ห้องเดียวผู้เข้าชมก็สามารถใช้เวลาได้เป็นชั่วโมงในการศึกษางานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ราชสำนัก ประวัติแห่งพระแก้วมรกต และเกร็ดน่ารู้ในวังได้ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้อง “เกียรติยศแผ่นดินสยาม”

ไม่มีความคิดเห็น: