หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หลังครึ่งศตวรรษพม่า-มะกันฟื้นสัมพันธ์


กระแสความเปลี่ยนแปลงในพม่า เมื่อเกิดขึ้น ดูเหมือนว่าจะแรงไม่แพ้กับมวลน้ำที่หลากไหล จากเหนือเข้าถล่มตอนล่าง รวมทั้งเมืองหลวงของประเทศไทย ชนิดตั้งตัวไม่ติด

ล่าสุด (วลีซึ่งช่วงหลังมานี้ฮิตติดปากบรรดาผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าว ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่รู้ว่าล่าตั้งแต่เมื่อไหร่) มหาอำนาจที่หันหลังให้กับเมียนมาร์ หรือพม่าในอดีต ส่งนักการทูตทรงอิทธิพลสูง ฮิลลารี คลินตัน เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการถึงเมืองหลวงแห่งใหม่ เนย์ปิดอร์


นับเป็นการเยือนครั้งแรก และครั้งประวัติศาสตร์โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐในรอบกว่า 50 ปี

ในการเจรจาครั้งสำคัญกับประธานาธิบดีอดีตนายพลเต็ง เส่งของพม่า คลินตันซึ่งคุยตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึงแล้วว่า วาระสำคัญของเธอคือพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปมากขึ้นในดินแดนโสร่งแห่งนี้ ซึ่งเธอก็ไม่ผิดหวัง

ประธานาธิบดีรัฐบาลพลเรือนคนแรกของพม่า (ภายใต้เงื้อมเงาของนายพลขุนทหาร) รับปากว่าจะทำตามที่คลินตันอยากจะได้

จากนั้นคลินตันได้เสนอ ด้วยทีท่าระมัดระวัง สิ่งล่อใจต่าง ๆเพื่อสนับสนุนให้พม่ามีการกระทำใหม่ ๆ เกิดขึ้น แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องสำคัญนั่นก็คือมาตรการคว่ำบาตรที่วอชิงตันประเคนเล่นงานเนย์ปิดอว์ มานานหลายทศวรรษว่า คงจะเป็นการเร็วเกินไปที่จะยกเลิก และนั่นหมายความว่าพม่า “จำเป็นที่จะต้องลงมือทำอะไรให้มากกว่านี้” จึงค่อยมาพูดกันใหม่

ขั้นตอนต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการ “จะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะนำไปเปรียบเทียบ ทั้งนี้สหรัฐต้องการที่จะเห็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นจริง” คลินตันกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่เนย์ปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อไว้อวดโอ่ เป็นหน้าตาของประเทศ

คลินตันเปิดเผยด้วยว่า บรรดาแกนนำของพม่าได้ให้ความมั่นใจกับเธอว่า ความก้าวหน้าจะยังคงดำเนินต่อไปและอย่างกว้างขวางมากขึ้น “แต่เรายังไม่ถึงจุดที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรได้” รมต.ต่างประเทศสหรัฐย้ำ

ในขณะที่เต็ง เส่ง ซึ่งถอดเครื่องแบบ (เก็บใส่ตู้ไว้ที่บ้าน) ได้เข้ามาทำหน้าที่ประธานาธิบดีพลเรือนเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งที่หลายชาติมองเป็นเรื่องตลก และขาดความน่าเชื่อถือ ก็กล่าวยกย่องการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของปรปักษ์มหาอำนาจครั้งนี้ว่า เป็นหน้าใหม่แห่งความสัมพันธ์

ตัวแทนอาวุโสที่สุดของสหรัฐที่เคยเยือนพม่าในรอบกึ่งศตวรรษแถลงต่อไปว่า สหรัฐจะเปิดการเจรจากับพม่า เพื่อเริ่มต้นการค้นหาร่วมกัน ซากศพของทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศจุดยุทธศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสมรภูมิสำคัญ

นอกจากนั้นคลินตันยังได้เชื้อเชิญพม่า ให้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ความริเริ่มแม่โขงตอนล่าง โครงการของสหรัฐที่เสนอความร่วมมือด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ และสนับสนุนคณะทำงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในประเทศเหล่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้นคลินตันบอกว่า เป็นขั้นตอนที่เพิ่มมากขึ้นและสหรัฐก็เตรียมพร้อมที่จะไปให้ไกลกว่านั้น หากการปฏิรูปยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

หากเป็นไปได้ตามนั้น สหรัฐกำลังหารือกันถึงวิธีการที่จะ “ยกระดับ” สัมพันธภาพทางการทูตและแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกัน

ปัจจุบันตัวแทนสหรัฐในพม่าเป็นนักการทูตระดับอุปทูต เพื่อเป็นการประท้วง นับตั้งแต่บรรดาผู้นำทหารของพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 2533 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติ (เอ็นแอลดี) ของ นางออง ซาน ซูจี กวาดชัยชนะชนิดถล่มทลาย

ในวันเดียวกับที่ฮิลลารี คลินตัน เดินทางเยือนครั้งประวัติศาสตร์ก็มีข่าวว่านางซูจี ไอคอนในการเรียกร้องประชาธิปไตยได้เปิดเผยว่า เธอมีแผนการที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง “ข้าพเจ้าหวังที่จะลงเลือกตั้งรัฐสภา” ซูจีกล่าวในวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากพม่าไปยังวอชิงตัน ก่อนที่เธอจะได้พบกับรมต.ต่างประเทศสหรัฐ (ช่วงค่ำของวันพฤหัสบดี)

เธอยืนยันว่าจะลงแข่งขันอย่างแน่นอน เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซูจีกล่าวกับผู้ฟังที่สภาเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการในวอชิงตัน

ซูจีบอกว่าพรรคเอ็นแอลดีของเธอจะเริ่มวางแผนที่จะลงแข่งขันการเลือกตั้งซ่อม ทันทีที่พรรคของเธอได้รับการจดทะเบียนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และว่าการที่มีตัวแทนของเอ็นแอลดีเข้าไปอยู่ในสภาบ้าง จะทำให้สามารถทำงานได้เป็นสองเท่าที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ เพราะเอ็นแอลดีจะสามารถทำงานได้ ทั้งในและนอกสภา

การตัดสินใจของเอ็นแอลดี ที่จะยุติการคว่ำบาตรกระบวนการทางการเมือง มีขึ้นวันเดียวกับที่รัฐบาลพม่าได้รับการประทับตรารับรอง ที่น่าประทับใจ เกี่ยวกับการปฏิรูปที่เพิ่งเริ่มต้นของพม่า

ขณะนี้ยังมีเก้าอี้ในรัฐสภาว่างอยู่อีก 48 ที่นั่ง แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเลือกตั้งซ่อมจะมีขึ้นเมื่อใด

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ กล่าวในจดหมายที่คลินตันเป็นผู้นำส่งมอบกับมือเต็ง เส่ง ผู้นำประเทศที่ครั้งหนึ่งถูก ตะวันตกถือว่าเป็นรัฐอันธพาล เสนอยุคใหม่ด้านความสัมพันธ์ หาก พม่าทำการปฏิรูป ขณะเดียวกันก็สัญญากับนางซูจีว่า จะให้การสนับสนุนเธอตลอดกาล

ในสารที่มีถึงนายพลเต็ง เส่ง โอบามาเสนอขั้นตอนใหม่ในความสัมพันธ์ พร้อมร้องขอผลลัพธ์ที่จับต้องได้ จากความพยายามปฏิรูปการ เมือง ซึ่งวอชิงตันกำลัง “ทดสอบ” ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขั้นตอนต่อไป

ผู้นำสหรัฐบอกกับเต็ง เส่ง ว่าวอชิงตันต้องการสำรวจดูว่าสหรัฐจะมีวิธีใด “ที่จะสนับสนุนและทำให้ความพยายามของท่านในอันที่จะถ่ายโอนไปสู่ประชาธิปไตย และปกป้องสิทธิมนุษยชนคืบหน้าไปได้”

สารดังกล่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐหลายคนมองว่า เป็นสัญญาณจาก โอบามา ว่าเขาพร้อมที่จะ “ลงทุน” ด้วยชื่อเสียงของตัวเองในการเกี่ยวพันกับพม่า

ส่วนเนื้อหาของจดหมายที่คลินตันมีถึงนางซูจีนั้น ผู้นำทำเนียบขาวกล่าวว่า เขามีความชื่นชมมานาน “ในความกล้าหาญและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างมั่นคงของท่าน”

คลินตันขอบคุณ “สำหรับแรงบันดาลใจที่ท่านมอบให้กับพวกเราทุกคนทั่วโลก ซึ่งแบ่งปันคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม เราจะยืนเคียงข้างท่านทั้งขณะนี้และเสมอไป”

บรรยากาศอึมครึมในพม่าเริ่มมีความสดใสมากขึ้น เช่นเดียว กับมวลน้ำก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ในไทย ที่แห้งเหือดไป (ไม่ใช่ด้วยฝีมือของรัฐบาลแน่นอน) เกือบจะหมดแล้ว คงต้องรอดูกันอีกทีว่า การเมืองของดินแดนโสร่งจะพลิกเปลี่ยนหรือไม่ เมื่อซูจีได้นั่งเก้าอี้ส.ส.นั่นแหละ.

ศุภชัย พยัคฆันตร์ @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: