หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปริศนารังนุคใต้ดินจีน

น่าจะเป็นอีกชนวนวิวาทะ ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจ จีน – สหรัฐ หลังมีการเปิดประเด็น ผลวิจัยทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ซึ่งสรุปว่า กองทัพจีนมี “หัวรบนิวเคลียร์” ถึง 3,000 ลูก มากกว่าที่ประเมินกันก่อนหน้านี้ประมาณ 7 เท่า

หัวรบนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธเหล่านี้ เก็บไว้ในเครือข่ายอุโมงค์ลับใต้ดินหลายแห่งทั่วประเทศ รวมระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร โดยรังใหญ่สุดอยู่ใต้เทือกเขา เขตมณฑลเหอเป่ย ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่งเมืองหลวง และอีกแห่งที่มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้


การวิจัยเริ่มหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 2 ระลอก ระดับ 8.0 และ 7.9 ริคเตอร์ ที่มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 68,000 คน จากภาพถ่ายทางอากาศในรายงานของสถานีโทรทัศน์ แสดงให้เห็นภูเขาหลายลูกในเขตมณฑลเกิดการยุบตัวพังถล่มอย่าง “ผิดปกติ” และมีการตรวจพบร่องรอยการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิกกัมมันตรังสีหลายพันคนแห่กันไปที่นั่นสุดท้ายทางการจีนยอมรับว่า พื้นที่แถบนั้นมีการสร้างโครงข่ายอุโมงค์ใต้ดิน

รายงานผลการวิจัยขนาดความยาว 363 หน้า ยังไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน มีเพียงกระทรวงกลาโหมสหรัฐ หรือ เพนตากอน ที่นำออกเผยแพร่เป็นการภายใน แล้วรั่วไหลไปถึงสื่อยักษ์ใหญ่ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งนำเสนอเป็นบทความ ในฉบับวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาในวงการได้พอสมควร

อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยชิ้นนี้คือ ฟิลิป เอ. การ์เบอร์ อดีตคณะกรรมการวางแผนยุทธศาสตร์ ในสังกัดสภาความมั่นคงอเมริกันของเพนตากอน ในยุคสงครามเย็น ทำหน้าที่เสนอรายงานหรือคำชี้แนะ ส่งโดยตรงถึงรัฐมนตรีกลาโหม และประธานคณะเสนาธิการร่วม กลุ่มลูกศิษย์นักศึกษาที่จอร์จทาวน์ ใช้เวลาวิจัยนาน 3 ปี รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อย่างครอบคลุม

การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ หัวรบนิวเคลียร์พร้อมใช้งานในครอบครองของ 5 ประเทศ กลุ่ม “รัฐอาวุธนิวเคลียร์” หรือ เอ็นดับเบิลยูเอส (Nuclear-Weapon States : NWS) จีนมีน้อยที่สุด (แต่ลึกลับและน่าสงสัยมากที่สุด) ประมาณ 180 – 240 ลูก มากกว่าใครเพื่อนคือรัสเซีย 2,430 – 11,000 ลูก ตามด้วยสหรัฐ 1,950 – 8,500 ลูก อันดับ 3 ฝรั่งเศส 290 – 300 ลูก และอันดับ 4 สหราชอาณาจักร 160 – 225 ลูก

ประเทศที่ประกาศว่ามี หรือเชื่อกันว่ามีอาวุธนิวเคลียร์นอกจากนี้ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ชมรมนิวเคลียร์ (Nuclear Club) เช่น อิสราเอล อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ อิสราเอลคาดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 80 – 200 ลูก นอกนั้นต่ำกว่าร้อย

อันที่จริง เรื่องอุโมงค์นิวเคลียร์ใต้ดินของจีน ไม่ใช่ของใหม่ หรือเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด ทางการจีนเคยเปิดเผยและยืนยันเรื่องนี้ด้วยตัวเองมาแล้ว โดยสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ของทางการปักกิ่ง รายงานในเดือน มี.ค. 2551 ว่า นับตั้งแต่ปี 2538 กองพลน้อยทหารปืนใหญ่ที่ 2 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลขีปนาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ ระดมกำลังทหารหลายหมื่นนาย ขุดเจาะอุโมงค์ลึกลงไปใต้ดิน“หลายร้อยเมตร” แถบเทือกเขาในมณฑลเหอเป่ย เพื่อใช้เป็น “ฐานขีปนาวุธ”

ปี 2552 วารสารทางการของพีแอลเอ ยืนยันว่ามีฐานขีปนาวุธใต้ดินจริง โดยเรียกเครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้ว่า “กำแพงเมืองจีนใต้ดิน” จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นฐานยิงตอบโต้ หากเกิดเหตุการณ์จีนถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์

บทความในนิตยสารแวดวงกลาโหม เอเชีย-แปซิฟิก ดีเฟนซ์ ของไต้หวัน ระบุว่า ขีปนาวุธพิสัยกลาง – ไกล ติดหัวรบนิวเคลียร์ยุคแรกๆ ของจีน ถูกติดตั้งไว้บนดินทั้งหมด ต่อมาคงนึกได้ว่าตกเป็นเป้าสายตา ถูกตรวจจับจากดาวเทียมจารกรรมของศัตรู และอาจถูกโจมตีได้ง่าย พีแอลเอเลยเคลื่อนย้ายลงใต้ดินทั้งหมด

พีแอลเอบอกว่า เครือข่ายอุโมงค์นิวเคลียร์ใต้ดินถูกออกแบบเป็นพิเศษ สามารถต้านทานการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากข้างบน แบบมั่นใจได้ 100 %

ช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นการตัดลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐกำลังคุกรุ่น ไมเคิล เทอร์เนอร์ ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐโอไฮโอ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกองทัพแห่งสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเตือนการตัดลดงบประมาณกองทัพ โดยยกเรื่องจีนก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อซ่อนอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐไม่มีทางล่วงรู้ขอบเขตและขีดขั้นสมรรถนะ

ทางแก้คือต้องจัดสรรงบ พัฒนานิวเคลียร์ของสหรัฐ ให้เหนือชั้นอยู่เสมอ

สหรัฐและรัสเซียมีความคืบหน้า ในการเจรจาและตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ ในครอบครองของแต่ละฝ่าย แต่กับจีนสหรัฐเจรจาแบบทวิภาคี ในหลายระดับมากว่า 10 ปี แต่ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ประเด็นนี้ กริกอรี คูลัคกี นักวิเคราะห์อาวุโสโครงการความมั่นคงโลก เปรียบเปรยว่า “เหมือนไก่พูดคุยกับเป็ด”

ต่างฝ่ายต่าง “ไม่เข้าใจ” หรือไม่ก็ “ไม่เชื่ออย่างสนิทใจ” ในคำพูดของอีกฝ่าย

ทุกรอบการเจรจาวอชิงตันยืนกรานตลอด ปักกิ่งต้องโปร่งใสมากกว่านี้ เกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นสมรรถนะ ของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีในครอบครอง ปักกิ่งก็โต้ว่าโปร่งใสอยู่แล้ว และโปร่งใสกว่าสหรัฐเสียอีก อย่างเช่น นโยบายนิวเคลียร์ จีนประกาศชัด “จะไม่โจมตีใครก่อน” ขณะที่สหรัฐแค่ “ให้คำมั่น” จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตี รัฐใดๆ ที่ “ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง”

การประเมินแสนยานุภาพกองทัพจีน โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐประจำปี 2554 เผยแพร่ในเดือน พ.ค. คาดว่าจีนน่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 155 – 240 ลูก ในจำนวนนี้ติดขีปนาวุธพิสัยไกล 75 ลูก พิสัยกลางอีกประมาณ 120 ลูก

ส่วนของสหรัฐ ถึงเดือน พ.ค. 2553 รัฐบาลวอชิงตันประกาศว่ามีหัวรบนิวเคลียร์ ติดตั้งทั้งพร้อมใช้งานและสำรองทั้งหมด 5,113 ลูก และปลายเดือน ต.ค. ปีนี้ ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า กองทัพสหรัฐมีหัวรบนิวเคลียร์พิสัยไกล พร้อมใช้งาน 1,790 ลูก อีก 822 ลูกติดตั้งในขีปนาวุธข้ามทวีป เรือดำน้ำ และเครื่องบินทิ้งระเบิด

จีนบอกว่าที่สหรัฐย้ำคำเรียกร้อง ให้จีนโปร่งใสเรื่องจำนวนนิวเคลียร์ในสต๊อก เป็นแค่ความพยายามเบี่ยงเบนประเด็น กลบเกลื่อนที่จีนท้าให้สหรัฐกล้าประกาศนโยบายเดียวกัน นั่นคือ จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีใครก่อน

ตอนนี้สภาคองเกรส และหลายหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐ เริ่มมีการพูดถึงงานวิจัยของกลุ่มลูกศิษย์อาจารย์การ์เบอร์มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาวุธทำลายล้างสูงหลายคน รวมถึงคูลัคกี ได้เรียงหน้าออกมาโจมตีผลวิจัยชิ้นนี้ มั่วและผิดพลาด

ฮันส์ คริสเตนเซ่น ผอ. โครางการข้อมูลนิวเคลียร์ของสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกา บอกว่า จีนมี่มีวัตถุดิบเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ มากพอจะผลิตหัวรบได้ถึง 3,000 ลูก อีกทั้งไม่มีระบบสำหรับยิงหัวรบมากมายขนาดนั้น

ส่วนความเห็นของคูลัคกี งานวิจัยของการ์เบอร์และลูกศิษย์เชื่อถือไม่ได้ในทางวิชาการ เพราะการค้นหาข้อมูลมั่วไม่เป็นระบบ แม้กระทั่งจากนิยายวิทยาศาสตร์ ในรายการโทรทัศน์ของจีน ที่สำคัญฐานข้อมูลส่วนใหญ่ เอามาจากข้อความที่โพสต์บนบล็อกของจีน.


สุพจน์ อุ้ยนอก @เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: