หน้าเว็บ

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Big Green : โศกนาฏกรรมธรรมชาติ

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
LifeStyle @กรุงเทพธุรกิจ

ต้องใช้คำว่า "วิกกติผลิตเรื่องเศร้า" สำหรับภาพรวมสิ่งแวดล้อม-ธรรมชาติในปีนี้ และทำทีว่าจะผลิตโศกนาฏรรมขึ้นอีกเรื่อยๆ


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในรอบทศวรรษหลังสุด ได้ "พลิกโฉม" โลกที่เราเคยรู้จักไปโดยสิ้นเชิง


ความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ พายุหลงฤดู ภัยพิบัติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง และ "ถี่" มากขึ้น ทั้งหมดล้วนกลายเป็น "ความท้าทายใหม่" ให้ผู้คนหันกลับมาเอาใจใส่การดำเนินชีวิตของตัวเอง และรับมือกับผลพวงจากสถานการณ์ต่างๆ ที่พร้อมจะกระโจนเข้าใส่โดยไม่รู้ตัว

"กระแสอนุรักษ์" จึงกลายเป็นอีกปรากฏการณ์ แทรกซึมอยู่ในทุกรายละเอียดของสังคม ทั้งด้วยหวังจะพลิกฟื้นธรรมชาติให้กลับคืนมาเหมือนอย่างอดีต หรือ ภาพลักษณ์ที่ดูดีของผลิตภัณฑ์ในการตลาด

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า "กล้าไม้" ที่เพิ่งเอาดินกลบวันนี้ จะแตกหน่อต่อกิ่งทดแทนทรัพยากร ภายในวัน หรือสองวัน ผลกระทบที่ถูก "สั่งสม" มายังคงมีให้เห็นอยู่



ตลอด พ.ศ. 2553 ถือจึงเป็นอีกปีสะท้อนพัฒนาการ "วิกฤติธรรมชาติ" มรดกจากคนรุ่นก่อนที่ตกทอดมาถึงคนรุ่นนี้






เมื่อธรรมชาติ "เอาคืน"



ในรอบขวบปีที่ผ่านมา โลกเราเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติชนิด "เต็มรูปแบบ" อีกครั้ง




ตั้งแต่ต้นปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ "เฮติ" ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3 แสนคน ผู้บาดเจ็บกว่า 3 แสนคน ขณะที่อีกกว่า 1 ล้านคนยังไม่มีที่อยู่อาศัย คล้อยหลังเพียงเดือนเดียว ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งแคว้นเมาเลประเทศชิลี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แกนโลกเอียงไปจากตำแหน่งเดิม 3 นิ้วส่งผลให้ระยะเวลาสั้นลงไป 1.26 ไมโครวินาที (1ไมโครวินาที เท่ากับ 1 ในล้านวินาที)



ข้ามฟากไปซีกโลก การปะทุของภูเขาไฟ ไอย์ยาฟยัลลาโยกูล (Eyjafjallajokull) ในไอซ์แลนด์ ส่งผลให้เกิดการปิดน่านฟ้าครั้งใหญ่ในยุโรป ผู้โดยสารนับล้านๆ คนไม่สามารถเดินทางได้ สร้างความเสียหายให้ธุรกิจการบินวันละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 6.6 พันล้านบาท และมีรายงานข่าวจากอเมริกาใต้ว่า เกิดภูเขาไฟระเบิดอย่างต่อเนื่องมากถึง 3 ครั้งต่อชั่วโมงที่ประเทศเอกวาดอร์ด้วย



ส่วน โบลิเวีย ต้องผจญไฟป่ามากกว่า 25,000 จุดทั่วประเทศ หรือ กัวเตมาลา เองก็เผชิญภาวะโคลนถล่ม



ผืนแผ่นดินแนวหลังคาโลกก็ถูกพิพากษาไม่ต่างกัน นอกจากภูเขาไฟระเบิด รัสเซียยังต้องเจอกับไฟป่านับร้อยแห่ง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในประวัติศาสตร์รัสเซีย และความแห้งแล้งในภูมิภาค กองเพลิงนี้คร่าชีวิตผู้คนไปสูงถึง 8,000 คน



ขณะที่ทวีปเอเชียเอง ปรากฏการณ์ "แผ่นดินไหว" ได้เกิดกระจายตัวไปทั่ว ตั้งแต่อ่าวเบงกอล จนถึง หมู่เกาะอันดามันของอินเดีย โดย ภูเขาไฟเมราปี (Merapi) ระเบิดซ้ำที่ ประเทศอินโดนีเซีย มีรัศมีการกระจายของขี้เถ้าขยายเป็นวงกว้างประมาณ 2-4 กิโลเมตร ก่อนจะถูก สึนามิถล่มซ้ำที่หมู่เกาะเมนตาไว ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 108 คน และสูญหายราว 500 คน ประเทศปากีสถาน ได้เกิดอุทกภัยรุนแรงทางตะวันตกเฉียงเหนือ จากผลพวงของพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย



ส่วน สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากจะเกิดแผ่นดินไหว ก็ยังถูกพายุทอร์นาโด และพายุลูกเห็บ ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บมากมาย อีกทั้ง ยังเกิดน้ำท่วม และแผ่นดินถล่มฉับพลันในพื้นที่ 74 เมือง ของ 6 มณฑล ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 2.56 ล้านคน



ยังไม่รวมถึง พลานุภาพของพายุโซนร้อน "โกนเซิน" (Conson) ในทะเลจีนใต้ กับ พายุลูกเห็บขนาดเท่าลูกเทนนิสที่ถล่มเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย สร้างความเสียหายอีกนับไม่ถ้วน






ดินหาย น้ำตาตก



ดูเหมือน "ดิน" จะกลายเป็นหนึ่งในปัญหาระดับ "คลาสสิก" ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ทั้งในแง่ของการถือครองสิทธิ์ หรือการบุกรุกที่ ประเด็นเผ็ดร้อนที่ "ดิน" กลายเป็น "หน้าหนึ่ง" รายวันอย่างสม่ำเสมอ หนีไม่พ้นกรณีของ "เขายายเที่ยง" และ "การขยายถนนธนะรัชต์"




เรื่องแรก เกี่ยวกับการถือครองที่ดิน เขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถูกมองว่าเป็นการครอบครองที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จนนำมาสู่การยื่นฟ้อง อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า "ไม่มีเจตนา" ประเด็นดังกล่าวยิ่งร้อนแรงขึ้นมากขึ้น เมื่อกลุ่มเสื้อแดงนำมาโจมตี พล.อ.สุรยุทธ์ พร้อมกับการบุกขึ้นไปชุมนุมที่ เขายายเที่ยง ช่วงเดือนมกราคม จนกระทั่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ยอมคืนที่ดิน เขายายเที่ยง จำนวน 21 ไร่ ให้กรมป่าไม้ หลังยื้อยุดมานาน



ส่วน "การขยายถนนธนะรัชต์" เป็นการขยายถนนสาย 2090 ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จาก 2 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร ของกรมทางหลวง ทำให้ต้นไม้ใหญ่อายุกว่า 100 ปี กว่า 200 ต้น ถูกโค่นทิ้ง โดยเฉพาะต้นตะแบก ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้าน โดยมีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งในโลกออฟไลน์ และโลกออนไลน์ จนคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยับยั้งโครงการดังกล่าวในที่สุด



นอกจากนั้น เรื่องของดินที่เกี่ยวพันกับผู้คนโดยตรง อย่างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ก็ยัง "ไร้คำตอบ" ล่าสุด การกัดเซาะตั้งแต่ฝั่งตะวันออกจนถึงอ่าวไทยฝั่งตะวันตก และบางพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ถูกกัดเซาะมากกว่าอัตรา 5 เมตรต่อปีใน 12 จังหวัด รอบชายฝั่งอ่าวไทย รวมเป็นระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด โดยบริเวณ อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งไปแล้ว 45 กิโลเมตร



งานวิจัยของ วิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ได้พัฒนาโปรแกรมแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อทำนายผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งพบว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใดๆ พื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียนของกรุงเทพฯ จะถูกกัดเซาะเข้าไปอีก 300 เมตรภายใน 20 ปี



หากเป็นอย่างนั้นจริง คงได้เห็นคนกรุงเทพฯ นั่งน้ำตาตกตามๆ กันอย่างไม่ต้องสงสัย







น้ำมา...ราบพนาสูญ



ไม่ว่าจะ "แล้ง" หรือ "ล้น" น้ำมักกลายเป็นปัญหาที่ "แก้ไม่ตก" อยู่เสมอ ยิ่งในระยะหลัง ปัจจัยอย่างปรากฏการณ์ เอลนิโญ (El Nino) และ ลานิญา (La Nina) ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำโดยตรง




ตั้งแต่ต้นปีสถานการณ์ "น้ำแล้ง" เริ่มฉายภาพความรุนแรงเรื่อยมาตั้งแต่แม่น้ำสำคัญหลายสายเริ่มแห้งขอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตของชาวบ้านจำนวนมาก



ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับ "วิกฤติ" ที่เกิดขึ้นพบว่า การระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อการอุปโภค - บริโภคทั่วประเทศอยู่ที่ 68 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเพียง 46 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เท่านั้น



และแม้จะมีฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ แต่ก็ไม่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนหลักได้ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลที่มีระดับน้ำในขั้นวิกฤต ไม่สามารถปล่อยน้ำเพิ่มเติมให้เกษตรกรได้ ขณะ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรกรรมอันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งจะไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท



และเพียงไม่กี่เดือนต่อมา ภาพ "ฝนแล้ง" ก็ถูกทดแทนด้วย "น้ำท่วม"



38 จังหวัด 161 อำเภอ 772 ตำบล ประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 2 แสนครัวเรือน เนื่องจาก "ความแปรปรวนของร่องฝน" ทำให้ปริมาณน้ำฝนในแต่ละวันตกไม่ต่ำกว่า 100 มิลลิเมตร



น้ำที่ล้นทะลักจากเขื่อนลำพระเพลิง กับน้ำจากเขาใหญ่ ทำให้ นครราชสีมา เผชิญน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 50 ปี มีสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ปากช่อง ปักธงชัย และเฉลิมพระเกียรติ ลพบุรี ประกาศเขตภัยพิบัติทั้งจังหวัดโดยบริเวณที่น้ำท่วมถ้าเป็นที่นาหรือที่ราบ ลุ่มน้ำท่วมสูงถึง 4-5 เมตร ขณะที่น้ำท่วมในหมู่บ้านสูงถึง 2-3เมตร ส่วนวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 505 วัด



นครสวรรค์ มีพื้นที่น้ำท่วมทั้ง 15 อำเภอโดยเฉพาะ อ.ท่าตะโกที่เป็นพื้นที่รับน้ำจากทั้งลพบุรีและเพชรบูรณ์เพื่อไหลไปยังบึง บอระเพ็ด โดยน้ำไหลเข้ามาในเวลากลางคืนทำให้ประชาชนไม่ได้เตรียมการรับมือแต่อย่างใด หลังได้รับน้ำหนุนจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิทำให้หลายอำเภอใน ขอนแก่น ประสบปัญหาน้ำท่วมในเวลาต่อมา
กระทั่งที่สงขลาเอง ...น้ำในปีนี้ถือเป็น อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543









อากาศวิกล คนวิกฤติ



นับวัน สภาพอากาศยิ่งที่มีต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเมืองที่มี "มหานคร" ต่อท้ายอย่างกรุงเทพฯ




หมอกจางๆ ในตอนเช้าถูกแทนที่ด้วยฝุ่นควัน และไอเสีย แดดที่เคยพอให้รู้สึกร้อนกลายเป็น "แสบผิว" ทั้งๆ ที่เฉียดไปโดนไม่ถึง 5 นาที ยังไม่นับถึงอาการเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน ที่บ่อยครั้งก็หักปากกาเซียนพยากรณ์อากาศอย่างกรมอุตุฯ แบบไม่มีชิ้นดี



ที่สำคัญ "ความวิปริต" เหล่านี้ยิ่งเพิ่มกระแส "โลกร้อน" ให้มี "น้ำหนัก" ยิ่งขึ้น



กระทั่งผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง "ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้" (The Economicsof Climate Change in Southeast Asia:A Regional Review) ของ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) หรือ เอดีบี ก็ออกมายืนยันว่า ไทยเป็นหนึ่งประเทศในภูมิภาคที่กำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดย ตรง



แม้จะมีแนวคิดตามแนววิทยาศาสตร์มาอ้างอิงถึง ความแปรปรวนของอากาศกับเมืองใหญ่มากมลพิษจะถือเป็นภาวะปกติ และไม่ได้มีเอี่ยวกับโลกร้อน แต่ดูออกจะขัดความรู้สึกของหลายๆ คนอยู่ เพราะในความเป็นจริง มันร้อนให้เห็นอยู่โทนโท่



ถึงอย่างนั้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแบบเฉียบพลัน ก็ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างต่อร่างกายของคนเรา โดยรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ร่างกายมนุษย์สามารถทนความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ไม่มากนัก หากร้อนจัด เย็นจัด ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้



เมื่ออากาศร้อนจัด ร่างกายเสียเหงื่อมาก ทำให้เลือดข้น ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ ทำให้เป็นลม ช็อก และเสียชีวิตได้ โดยจะเริ่มต้นจากอาการเจ็บป่วยจากแดดร้อนจัด คือ ตะคริวแดด เพลียแดด และเป็นลมแดดในที่สุด



หรือภาวะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเรา ก็อาจจะเกิดปัญหา เมื่อน้ำปนเปื้อน อาหารบูดเสียง่าย พาหะอย่างยุงที่พร้อมจะออกมาตลอดเวลาที่มีการเปลี่ยนสภาพอากาศอย่างฉับพลัน รวมทั้งคนที่มีอาการเส้นเลือดตีบ เลือดไหลช้าก็จะมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ หรือโรคหัวใจได้ง่ายกว่าปกติ



แต่ก็ต้องไม่มองข้ามการวางแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่กำลังกลายเป็น "มาตรฐานคนละเส้น" กับภาคประชาสังคม ทำให้ "แผนแม่บทโลกร้อน" กลายเป็นข้อโต้เถียงถึง "ความไม่เป็นธรรม" ในการแก้ปัญหาอยู่ในขณะนี้



ทั้งหมดจึงเป็นมากกว่า "สัญญาณเตือน" เพื่อนำไปสู่ "ทางออก" อันยั่งยืน หากเป็น "โรดแมป" ที่อย่างไรก็ต้องเดินไปทางนั้น 
-------------------------------------
ปีนี้เป็นปีที่ธรรมชาติเอาคืนสาหัสจริง ๆ โดนกันโดยถ้วนหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: