หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"ดาบหน้า" เพื่ออนาคต


กรีซเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เผชิญปัญหาหนี้สิน จนต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู)

ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ส่งผลกระทบถึงประชาชนจำนวนมาก

อย่างรายของ นิคอส ซาทัลบาส เซลส์แมนในกรุงเอเธนส์ ที่ยืนยันว่าเขาไม่ทราบว่าความไร้ประสิทธิภาพหรือคอร์รัปชัน เป็นรากเหง้าของวิกฤติการเงินในประเทศ

แต่ซาทัลบาสมีแนวคิดที่ชัดเจนว่าเขาจะทำอย่างไรเพื่อรับมืออุปสรรคในภายภาคหน้า

"ผมวางแผนจะเดินทางออกนอกประเทศให้เร็วที่สุด และจะไปไซปรัสซึ่งระบบทั้งหลายแหล่ดีกว่ากันมาก" เซลส์แมนวัย 29 ปีเล่าถึงแผนการ ขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนไปตามท้องถนนพร้อมตะโกนถ้อยคำต่อต้าน รัฐบาล

"เพื่อนของผม 2 คนออกนอกประเทศไปแล้วในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และหางานซึ่งให้ค่าตอบแทนดีกว่าในกรีซเสียอีก" ซาทัลบาสเล่า

เซลส์แมนรายนี้เป็นหนึ่งในบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยจำนวนมากของกรีซที่ตัดสินใจสละเรือ แทนที่จะอยู่รับมือกับภาระหนี้สินจำนวนมหาศาลที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ก่อเอาไว้

หนี้สินของกรีซ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300,000 ล้านยูโร นับว่าสูงกว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประเทศเสียอีก แล้วก็มากเสียจนรัฐบาลต้องปฏิรูปวิธีใช้จ่ายและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอนาคต แลกเปลี่ยนกับเงินกู้ 110,00 ล้านยูโรจากอียูและไอเอ็มเอฟ

เรื่องอื้อฉาวคอร์รัปชันทางการเมืองที่มีอยู่มากมาย และระบบที่เอื้อต่อคนที่พวกพ้องหรือเส้นสาย แทนที่จะเน้นที่ความสามารถ ทำให้หนุ่มสาวชาวกรีกจำนวนมากมองอนาคตอย่างเป็นจริงมากขึ้น

* สมอง(กรีซ)ไหล ไปต่างแดน

จริงๆ แล้ว เมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่แล้ว คนหลายพันเดินทางออกจากกรีซเพื่อ ไปหาชีวิตที่ดีกว่าในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือประเทศอื่นในยุโรป แต่ช่วงแห่งความเฟื่องฟูเมื่อทศวรรษ 80-90 คนจำนวนหนึ่งเลือกเดินทางกลับบ้าน หลังจากกรีซเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ขณะเดียวกับที่มีความต้องการคนทำงานจำนวนมาก ในช่วงที่กรีซเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2547

กระนั้น ปัจจุบันบัณฑิตหนุ่มสาวชาวกรีกจำนวนมากกำลังสร้างกระแสไปหาชีวิตใหม่ที่ดี กว่า และตกลงใจไปเสี่ยงโชคในตลาดต่างแดนอย่างไซปรัส อังกฤษ เยอรมนี ตุรกี และตะวันออกกลาง ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวคาดว่าจะพุ่งถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปีนี้

การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าหนุ่มสาวกรีก 7 ใน 10 คนต้องการทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อรัฐบาลนำมาตรการรัดเข็มขัดมาใช้ จนส่งผลให้รายได้และอนาคตด้านอาชีพการเงินของพวกเขาริบหรี่

ดังนั้น หนุ่มสาวกรีก 4 ใน 10 คนจึงตั้งหน้าตั้งตาหางานในต่างประเทศ หรือไม่ก็ก้มหน้าก้มตาเรียนต่อ หวังสะสมความรู้สำหรับบุกเบิกในตลาดแรงงานต่างชาติ

"เราเห็นคนกรีกจำนวนมากขึ้นส่งอีเมลมาถึงเรา และมาที่สำนักงานหางานของเราในเมืองนิโคเซีย ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาววัย 20-30 ปีที่มีการศึกษา และเริ่มมองหางานทำในต่างประเทศ หรือบางคนก็ตกงาน" อันโตนิส คาฟูรัส แห่งกระทรวงประกันแรงงานและสังคม ในไซปรัส ระบุ พร้อมเสริมว่าไซปรัสเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจสำหรับชาวกรีก ส่วนใหญ่เพราะมีมาตรฐานการครองชีพที่สูง และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน

ด้านเจ้าหน้าที่ไซปรัสก็สังเกตเห็นว่ามีครูชาวกรีกไปสมัครงานมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกเหนือจากงานราชการอื่นๆ

"ในภาพรวมแล้ว เรารับมือกับวิกฤติทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่อื่นในยุโรป แต่เราก็เผชิญการท้าทายเช่นกัน" แอนเดรียส ฮาราลัมบูส แห่งกระทรวงการศึกษาไซปรัส กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจกรีกจะหดตัว 3 เปอร์เซ็นต์ปีนี้ เพราะมาตรการรัดเข็มขัดส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนจำนวนมาก คิดอย่างเดียวกับซาทัลบาสว่าควรไปหาโอกาสในต่างแดน เพราะเชื่อว่าประตูในกรีซปิด ลงแล้ว อย่างรายของ เปตรอส อเลกซาคิส วัย 26 ปี ที่กำลังมองหางานแรกหลังสำเร็จการศึกษา และไม่เคยมีโอกาสได้งานเลย โดยอเลกซาคิสสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแพนทีออน และหางานมา 2 ปีแล้ว

"โอกาสในการได้งานมั่นคงในกรีซลดลงเรื่อยๆ และวิกฤติที่เกิดขึ้นก็ทำให้ความหวังทั้งหลายสูญสลาย" อเลกซาคิสเล่า

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญกลัวว่าจะเกิดภาวะสมองไหล ทำให้ผู้มีความสามารถและพรสวรรค์ รวมถึงคนงานที่มีฝีมือ มุ่งหน้าไปหางานทำต่างประเทศ ซึ่งให้เงินเดือนสูงกว่าและมีวิถีรวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ ทนายความ และแม้แต่ครู เป็นกลุ่มคนงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ และมุ่งหน้าหางานทำในต่างประเทศ เหมือนรายของโปปี ทริริโกทิส วิศวกรเคมี วัย 33 ซึ่งจะย้ายไปอยู่กับสามีที่ดูไบเร็วๆ นี้ หลังจากสามีของเธอได้งานที่ธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ปัจจุบันสามีของเธอมีรายได้มากกว่าที่หาได้ในกรีซถึง 3 เท่า

"คุณไม่สามารถมีชีวิตที่ดีในกรีซ เพราะปกติก็มีอุปสรรคนานัปประการอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอวิกฤติอีกยิ่งทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีชีวิตที่ดี" ทริริโกทิสเปรย

รัฐบาลกรีกพยายามแก้ปัญหาด้วยการประกาศโครงการสร้างงานมูลค่า 2,600 ล้านยูโร เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน โครงการดังกล่าวรวมถึงการลดเงินประกันสังคมที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องจ่ายสมทบ หากธุรกิจขนาดเล็กจ้างคนหนุ่มสาว ทั้งยังลดค่าแรงขั้นต่ำเหลือเดือนละ 590 ยูโร จาก 700 ยูโร



อียูและไอเอ็มเอฟยินดีกับการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของกรีซ แต่ยืนยันว่ากรีซต้องเดินหน้าจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโต

"สิ่งที่กรีซต้องทำคือฟื้นฟูการเติบโต เพราะหากเศรษฐกิจไม่ขยายตัว ก็จะไม่มีทางออกสำหรับปัญหาของประเทศ" ไอเอ็มเอฟระบุ

(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากสำนักข่าวดีพีเอ)

โดย : สุดา มั่งมีดี @กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: