หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สื่อสภาฯคลอดฉายาเจ็บ“หลังยาว ผลาญภาษี”

เหตุมาจากผลงานไม่มีดีแต่ขึ้นเงินเดือน มอบให้ “สภาล่าง” ส่วน “สภาสูง” ครองฉายา “อัมพฤกษ์รับจ็อบ” ขัดแย้งหนักเข็นผลงานไม่ออก “ชัย ชิดชอบ”ได้ฉายา “เฒ่าเก๋า-เจ๊ง”

วันนี้ (29 ธ.ค.) สื่อมวลชนสายรัฐสภา เปิดเผยการตั้งฉายาฝ่ายนิติบัญญัติประจำปี 2553 ว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ร่วมกันระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสอง สภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ขอยืนยันว่า การตั้งฉายารัฐสภาทุกครั้งได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ หลีกเลี่ยงการใช้อคติ ปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย สำหรับฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำ รัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้


1.เหตุการณ์แห่งปี : เสื้อแดงบุกสภา คือ ในวันที่ 7 เม.ย.2553 กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้มาชุมนุมที่หน้ารัฐสภามีข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ยุบสภา จากนั้นนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำผู้ชุมนุม ได้ทำลายประตูและบุกเข้ามาในรัฐสภา พยายามจะเข้าตัวอาคารรัฐสภา 1 บริเวณชั้นลอย เพื่อหาตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ทำให้บรรดาส.ส.รวมถึงรัฐมนตรีต่างพากันวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด แม้กระทั่งนายสุเทพถึงกับต้องปีนกำแพงด้านหลังรัฐสภา โดยมีส.ส.คนใกล้ชิด คือ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ถืออาวุธสงครามอารักขา นำมาซึ่งการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันเดียวกัน

2.วาทะแห่งปี : “พูดเท็จซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตัวเองเชื่อคำโกหกตัวเอง” คือ เป็นคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่ตอบโต้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ระหว่างตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2553 เกี่ยวกับการกล่าวหาว่ารัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

3.สภาผู้แทนราษฎร : หลังยาว ผลาญภาษี คือ การทำงานของ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งก็พบว่าสภาฯชุดนี้มีปัญหาองค์ประชุมล่มซ้ำซาก อีกฝ่ายก็เล่นเกมไม่เข้าร่วมประชุม ขณะที่พฤติกรรมของส..ส. ยังไม่สมกับการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ดี แต่กลับได้รับการขึ้นเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน ขัดกับความรู้สึกสังคม

4.วุฒิสภา : อัมพฤกษ์รับจ็อบ คือ การที่วุฒิสภาถูกแบ่งออกเป็น ส.ว.สรรหาและเลือกตั้ง ทำให้การทำงานเป็นลูกผสม ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาความขัดแย้งของสองกลุ่มยังปรากฏชัดเจน หลายครั้งยังเปิดศึกทำลายกันเอง และไม่ให้ความสำคัญกับการประชุม จนการประชุมเกือบล่มหลายครั้ง ขณะเดียวกันในการพิจารณาชี้ขาด เรื่องสำคัญ ส.ว.จำนวนหนึ่งทำหน้าที่รับใช้รัฐบาลและฝ่ายค้านตามเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ จนไม่มีอิสระในการลงมติ บทบาทการทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นเสือกระดาษ

5.ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ชัย ชิดชอบ) : เฒ่าเก๋า-เจ๊ง คือ ในยุคการเมืองแบ่งขั้วจึงเป็นงานหนักของนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องควบคุมการประชุมสภาให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งนายชัยได้ใช้ประสบการณ์และความเก๋า ผสมความเป็นลูกทุ่ง สลับกับการใช้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัวจนหลายครั้ง ส.ส.รุ่นลูกต้องยอมจำนนต่อความเก๋าเกมของนายชัย แต่บุคลิกของนายชัย กลับไม่ได้ช่วยคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งในสภาลงได้ ตรงกันข้ามได้ซ้ำเติมให้อุณหภูมิในสภา เดือดระอุเต็มไปประท้วงวุ่นวาย ของสองฝ่าย

6.ประธานวุฒิสภา (ประสพสุข บุญเดช) : ประสพสึก คือ เป็นภาพสะท้อนถึงการทำงานของนายประสพสุข บุญเดช ที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ขณะเดียวกันการบริหารงานในหน้าที่ก็ไม่ได้ปักหลักให้มั่นคง โอนอ่อนไปตามแรงกดดันของส.ว.กลุ่มต่างๆ

7.ดาวเด่น : ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เนื่องจากนายชวลิตได้ปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สะท้อนผ่านกระทู้ถาม กระทู้สด การอภิปราย อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช้คำพูดเสียดสี ปราศจากบุคลิกแข็งกร้าวและคำพูดก้าวร้าว เป็นแบบอย่างการทำหน้าที่ของส.ส.ท่ามกลางสภาพขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนัก ณ ขณะนี้ สื่อมวลชนเสียงส่วนใหญ่จึงโหวตให้นายชวลิต ดาวเด่นประจำปี 2553

8.ดาวดับ : กลุ่ม 40 ส.ว. โดยกลุ่ม 40 ส.ว. มีอดีตมือตรวจสอบภาคประชาชน อย่าง รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ และส.ว.สรรหา อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ซึ่งเป็นความหวัง แต่เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ผลงานถดถอยลงเรื่อยๆ

9.คู่กัดแห่งปี : อภิวันท์ VS บุญยอด พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กรุงเทพฯ ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่มาเนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ พ.อ.อภิวันท์ ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายบุญยอดจะลุกขึ้นประท้วงและอภิปรายโจมตีการทำหน้าที่ประธานของ พ.อ.อภิวันท์ แทบทุกครั้ง ด้วยเหตุผลที่พ.อ.อภิวันท์เคยขึ้นเวทีเสื้อแดง

10.คนดีศรีสภา : “ทิวา เงินยวง” รางวัลคนดีศรีสภาปีเสือดุตกเป็นของ “นายทิวา เงินยวง” ผู้ทำหน้าที่ตัวแทนของปวงชน และส.ส. เขต 6 กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ตราบลมหายใจสุดท้าย แม้ช่วงป่วยเป็นโรคมะเร็งร้ายคุกคาม ในยุคส.ส.ชอบกระโดดร่ม หรือบางช่วงมีมวลชนเสื้อแดงมาปิดล้อมสภา ก็ไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณนักการเมืองมืออาชีพถดถอยลง ยังเดินทางมาร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ

11.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นปีที่ 2 ที่ไม่มีการตั้งฉายา เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังคงไม่ตั้งหัวหน้าพรรคจากบุคคลที่เป็นส.ส.อยู่ในสภา ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายารัฐบาลที่ “รัฐบาลรอดฉุกเฉิน”ว่า ตนมีหน้าที่ทำให้บ้านเมือง ประเทศชาติรอด และทำให้รอดเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจไปแล้ว ในบีหน้าก็จะให้หลุดพ้นจากปัญหาการเมืองให้ได้ เมื่อถามต่อว่าคิดว่าปีหน้าจะรอดฉุกเฉินอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบปีหน้าตั้งฉายาอีกครั้งก็เป็นรัฐบาลใหม่แล้ว

นายกฯยังได้กล่าวถึงฉายา “ ซีมาร์คโลชั่น” ว่า เป็นธรรมดาก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตรวจสอบกัน ก็ต้องพิสูจน์กันไป ยาบางตัวต้องใช้เวลากว่าจะออกฤทธิ์

ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงถึงกรณีที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายาให้เป็น “ทศกัณฐ์กรำศึก”ว่า ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความเมตตาไม่รุนแรงหนักกว่านี้ และแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนได้ติดตามการทำงานของตนและครม.อย่างใกล้ชิด ส่วนฉายาของนายกรัฐมนตรีนั้นตนยอมรับว่าเห็นใจ เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั้นเห็นว่าท่านทำงานหนักและมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา ท่ามกลางความคาดหวังสูง อยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือเห็นผลทันตา

นายสุเทพยัง กล่าวถึงฉายารัฐบาลรอดฉุกเฉิน โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่รอดฉุกฉินหวุดหวิดมาหลายหน เพราะโชคไม่ดีที่มาเป็นรัฐบาลในช่วงที่ปัญหาบ้านเมือง อยู่ในจุดที่วิกฤติสูงสุด ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง แต่สิ่งศักดิ์สิทธิและกำลังใจของประชาชนช่วยให้รัฐบาลฝ่าฟันมาได้ วันนี้เชื่อว่านายกฯมีกำลังใจ ที่จะนำรัฐบาลและครม.ทำงานให้กับประชาชน และที่บอกว่ารัฐบาลมีกองหนุนดีของรัฐบาลนั้น ก็คือเสียงสนับสนุนจากประชาชน ตนยอมรับเลยและประกาศเลยว่าคิดและอยากให้นายอภิสิทธิ์นำทีมชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลและกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะทำงานได้ถูกใจประชาชนและแก้ไขปัญหาประชาชนได้มากขึ้น

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลให้ฉายา“สิงห์โอด เสืออิ่ม”ว่า “ผมอิ่มมาก่อนทำงานแล้ว ผมถือว่าผมไม่มีความจำเป็น ไม่มีความไคร่อย่างที่อย่างที่เข้าใจ ผมไม่ถือ ไม่ใช่คนอย่างนั้น ก็รู้ฐานะของผมดี ผมเฉยๆ อายุปูนนี้แล้วไม่รู้สึกอะไร”

นอกจากนี้ วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (ซีเอสไอ) ที่ศึกษาจากความเห็นข้าราชการ เอกชน และประชาชน 1,220 ตัวอย่าง และข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นสังคมไทยปีนี้อยู่ในระดับรุนแรงมาก และสูงขึ้นจากปีที่แล้ว โดยดัชนีคอร์รัปชั่นปี 53 ได้คะแนนทั้งสิ้น 3.5 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน แยกเป็นการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นปัจจุบันได้ 3.2 คะแนน และแนวโน้มที่เกิดขึ้นอนาคต 3.8 คะแนน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากแยกเป็นดัชนีปัญหาและความรุนแรงของสถานการณ์คอร์รัปชันได้ 3.3 คะแนน ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชันได้ 4.3 คะแนน ดัชนีการปราบปรามคอร์รัปชัน 3.7 คะแนน และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก 2.9 คะแนน ซึ่งต่ำกว่ากึ่งจากคะแนนเต็ม 10 ทุกดัชนี สำหรับการประเมินวงเงินคอร์รัปชั่นปี 53 มีมากถึง 1.69-2.02 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1-2% ของจีดีพี นอกจากนี้ไทยยังถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีคอร์รัปชั่นอันดับ 78 ของโลก จาก 178 ประเทศ และติดอันดับที่ 14 ใน 33 ประเทศของเอเชีย

“การสำรวจพบว่ากลุ่มประชาชน และนักธุรกิจมองปัญหาและความรุนแรงการคอร์รัปชั่นใกล้เคียงกัน แต่ส่วนราชการมองในสถานการณ์ที่ดีกว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงตลอด 3 ปีทีผ่านมา ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ดีขึ้นและมีแนวโน้มแย่ลงอีก” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสังคมไทยยังอ่อนแอ และตระหนักถึงปัญหานี้น้อย ปัญหาคอร์รัปชันจึงไม่ดีขึ้น ทั้งนี้เสนอให้รัฐเร่งแก้ใน 4 แนวทางคือ การรวมหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องการปรามปรามทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหน่วยงาน เดียว สร้างความร่วมมือ การปลูกจิตสำนึก สร้างค่านิยมให้เป็นที่รับรู้ต่อสังคมต่อการต้านคอร์รัปชั่น และปรับปรุงขั้นตอนทำงานของรัฐให้รวดเร็ว ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ในการตัดสินใจ เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชั่นไทยน่าเป็นห่วงมาก.

ที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: