หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Big People : 11 คนใหญ่ กับเรื่องดีร้ายและขายฝัน

โดย : ทีมข่าวจุดประกาย

ส่ง3คำถามไปเทียบ เชิญบุคคล"ใหญ่"ในรอบปีว่าอะไรดีและแย่ที่สุดในปีเสือ รวมถึงสิ่งที่อยากเห็นอยากมีในปีหน้า..มาทบทวนและตั้งความหวังไปพร้อมๆ กัน



อมาตยา เซน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1998


"ยากมากที่จะสรุปได้ เพราะปีนี้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ที่อยากจะพูดถึงคือ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบังคลาเทศ โดยเฉพาะการยกระดับ ให้สำคัญในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของชนกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อยๆ ต่างมากขึ้นในบังคลาเทศ ภายใต้การปกครองของกลุ่มอำนาจที่ปกครองแบบเบ็ดเสร็จมาตลอด อย่างการที่เราได้เห็นผู้หญิงบังคลาเทศเดินไปไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมีสายตาดูถูกจากผู้ชาย มันคือสิ่งที่น่ายินดีอย่างหนึ่งนะ




เรื่องดีอีกเรื่อง คือ สำนักข่าวอัลจาซีรา ที่เสนอข่าวอย่างเป็นธรรม และครอบคลุมทุกข่าวสารในโลกอย่างดีมาก เขาไม่ได้นำเสนอแค่มุมมองของโลกตะวันตก แต่ทำทุกเรื่องอย่างตรงไปตรงมา



ส่วนเรื่องที่แย่ คือ สถานะของผู้หญิงที่ตกต่ำลงในหลายๆ ประเทศ ที่ยังถูกเลือกปฏิบัติ ผมอ่านข่าวผู้หญิงโซมาเลียที่โดนข่มขืนและร้องเรียน แต่กลับถูกรัฐบาลฟ้องว่าคบชู้ ซึ่งหลายประเทศยังเป็นไปอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในหลายๆ ประเทศ ทั่วโลก ที่ยังไม่ตระหนักในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์



สิ่งที่หวัง ผมหวังให้เรื่องที่ยังไม่ดี ดีขึ้นในวันข้างหน้า และให้สิ่งที่ดีอยู่แล้ว ดีไปอย่างต่อเนื่อง"




ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยหญิงคนแรกของไทยที่เดินทางไปร่วมคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา



"การที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น น่าจะเป็นเรื่องดีที่สุดที่เกิดขึ้นในปีนี้ เพราะถ้าเราตระหนักก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที




แต่เรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา อยากจะพูดถึงเรื่องปะการัง ที่ได้รับความเสียหายมากๆ ตายไปพอสมควร ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะโดนผลกระทบจากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น โดยที่เราไม่ทันเตรียมตัวตั้งรับ มันมาเร็วกว่าที่คาดไว้



คงต่อเนื่องมาถึงสิ่งที่มุ่งหวังอยากให้เกิดในปีหน้า เดิมคนใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ก็อยากให้ใส่ใจมากขึ้นอีก ถึงเราจะหยุดโลกร้อนไม่ได้ แต่เราสามารถชะลอมันได้ การทำสิ่งเล็กๆ อย่าง ลดใช้ถุงพลาสติกทุกวัน 1 ปีก็ 365 ถุงแล้ว อยากให้เชื่อว่า เราคนเดียวทำได้จริงๆ แล้วพอคนอื่นเห็นก็จะทำตาม"







รศ.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล



"เรื่องดีๆ ที่ผมภาคภูมิใจ และต้องการบอกกล่าวมีอยู่ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน เหตุการณ์แรก คือเมื่อวันที่ 29 กันยายน วง Thailand Philharmonic Orchestra ได้มีโอกาสแสดงดนตรีต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของวงในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งมา




อีกงานหนึ่งคือเมื่อวันที่ 18 พฤศิกายน ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ฯ คว้ารางวัลที่ 1 และรางวัลเหรียญทอง Creative Idol จากสื่อในรูปของเพลงและวิดีโอ ในงาน QS-Apple ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นงานรวมมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 600 แห่ง



สุดท้าย วันที่ 19 พฤศิกายน อดีตผู้นำมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพื่อชมการแสดงของวง ทีพีโอ ผมได้สอบถามถึงเหตุผลที่มาชมคอนเสิร์ต ท่านบอกว่า ต้องการมาดูความเจริญของประเทศไทย นั่นเท่ากับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญที่ว่า



เมื่อพูดถึงเรื่องร้ายๆ ในรอบปี 53 คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 ที่มีการเผาสี่แยกราชประสงค์ มันสะท้อนว่าเราด้อยพัฒนา ส่วนของเรื่องร้ายๆ อีกอย่าง คงหนีไม่พ้นนักการเมืองไทยที่ยังล้าหลังมาก ระบบ kick back 30-35 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราไปไม่ถึงไหน ทั้งที่นักการเมืองมีหน้าที่สร้างความสุขให้ประชาชน



อีกเรื่องคงเป็นเรื่องส่วนตัวของผม ผมป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก แต่ถึงที่สุด ถือเป็นการป่วยที่มีความสุข เพราะทำให้เรารู้ว่าเราทำงานหนักเกินไป พักผ่อนน้อยไป และเรามีเวลาเหลืออีกไม่มาก ถือว่าโชคดีที่กลับมาได้ 100 เปอร์เซนต์



สำหรับปีหน้า สังคมไทยคงกระเตื้องขึ้น หากมองปี 53 ว่าตกต่ำถึงขีดสุดแล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่ออย่างนั้น ดังนั้น ปี 54 จึงน่าจะเป็นปีแห่งความหวัง เมื่อคนไทยได้เรียนรู้มากขึ้น และรู้จักนำความดีความงามมาพัฒนาประเทศในที่สุด"







ลภัสภร ถาวรเจริญ ตัวแทนลมกรดสาวทีมชาติไทย ชุดคว้าเหรียญทอง วิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตร หญิง กวางโจวเกมส์




สิ่งที่ดีที่สุดในรอบปี ก็คือ เหรียญรางวัลที่พวกเธอสามารถชูธงไตรรงค์เหนือลู่วิ่งของ Aoti Main Stadium ได้อย่างสง่าผ่าเผย




"ที่ผ่านมาทางสมาคม และผู้สนับสนุนต่างก็ให้ความสำคัญกับนักกีฬาเป็นอย่างดี อย่างตัวเองทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตก็ให้การสนับสนุนมาตลอด ซึ่งการสนับสนุนนักกีฬาเองในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมทั้งความทุ่มเทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทำให้กลายเป็นแรงผลักดัน ให้พวกเราประสบความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลนี้มาครองได้ในที่สุด"



แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ มุมมองของเธอ การให้ความสำคัญกับนักกีฬายังไม่มีเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน



"ในภาพรวม ทั้งภาครัฐ และเอกชน ยังไม่มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนากีฬาอย่างจริงจังมากนัก ส่วนหนึ่งในปีนี้อาจมีอุปสรรคหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะปัญหาบ้านเมือง แต่เราก็ยังคาดหวังว่าระบบของวงการกีฬาจะถูกพัฒนาให้มีความเป็นมืออาชีพมาก ขึ้น เพราะทุกวันนี้ เพื่อนบ้านเราต่างก็มีการพัฒนามาตรฐานที่สูงขึ้น ถ้าเรายังไม่เริ่มทำอะไรอนาคตจะลำบากแน่นอน"



แน่นอน จุดอ่อนของวงการ ก็กลายเป็นความหวังด้วย



"ปีหน้ามีทัวร์นาเมนต์การแข่งขันสำคัญๆ เยอะ ทั้ง ซีเกมส์ ชิงแชมป์เอเชีย คัดเลือกโอลิมปิก และกรีฑาชิงแชมป์โลก หลายฝ่ายก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ ก็อยากให้มีการพัฒนาศักยภาพ หรือให้ความสำคัญกับนักกีฬาไปอย่างต่อเนื่อง ไม่จบแค่เกมต่อเกม อย่างน้อยก็เอาความสำเร็จของนักกีฬารุ่นพี่ ไปเป็นสื่อกลาง สร้างมาตรฐานเพื่อพัฒนาเยาวชนต่อไปในอนาคต"







เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์



“ที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย เรื่องร้ายๆ ที่เราได้เจอะเจอก็เช่นเรื่อง น้ำท่วม,ภัยแล้ง,ภัยหนาว และเหตุการณ์ทางการเมือง แต่เมื่อใดที่เกิดเรื่องร้ายๆ เรื่องดีๆ ก็มักจะปรากฏตามมาเช่นกัน อย่างเช่นพอเจอเรื่องร้าย น้ำใจของคนไทยก็หลั่งไหลมาช่วยเหลือกัน ช่วยคนน้ำท่วม ช่วยสร้างบ้านใหม่ ช่วยคนหนาวเหน็บให้หายหนาว และ



อีกเรื่องที่เป็นเรื่องที่ดีที่สุดอีกเรื่องก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงมีพระอาการดีขึ้น ได้เห็นพระองค์เสด็จออกมาให้ได้เราได้ชื่นชมพระบารมีในวันเฉลิมพระชนม์ พรรษา”



สำหรับปี 2554 ที่จะมาถึงนี้ธงไชยอยากเห็นคนไทยรักและสามัคคีกันยิ่งๆ ขึ้น



“อยากเห็นคนไทยรักกัน สามัคคีกัน ขอให้พวกเรา คิดดี คิดบวก เริ่มคิดบวกมาจากตัวเราก่อน อย่างตัวพี่เบิร์ดจะคิดบวกตลอด ใครคิดลบ เอาบวกให้เขา บวกๆ ให้ แล้วถ้าใครบวกอยู่แล้ว เราก็ไปช่วยบวกเขาอีก รับรองว่า สังคมไทย จะน่าอยู่ยิ่งขึ้นครับ



สุดท้ายนี้เบิร์ดก็อยากจะฝาก ...อย่างที่รู้ๆว่า หัวใจคนไทยนั้น บอบช้ำมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้น เรามาดูแลกัน ดูแลเทคแคร์คนรอบข้าง อย่าอยู่คนเดียว หรือถ้าอยู่คนเดียว เราก็มาอยู่คนเดียวด้วยกัน เพราะพี่เบิร์ดคิดว่าถ้าเรามีหัวใจที่เข้มแข็ง ต่อให้เจออุปสรรคหรือปัญหาใดๆ มันก็จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเสมอครับ ขอให้สิ่งร้ายๆ ผ่านไปให้หมด ขอวิงวอนให้คุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองพวกเราคนไทยทุกคนนะครับ”





ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์พิเศษศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของสวนธรรมเกษตร จ.ปราจีนบุรี



สิ่งดีที่สุดในปีนี้คือ "การออกกฎหมายพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ"




"แม้ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดสภาเกษตรกร แต่มีความรู้สึกว่าดีมากๆ ความพยายามหลายสิบปีเพิ่งจะสำเร็จในปีนี้ เพราะจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรรวมตัวกันโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมโดย ผิดกฎหมายอีกต่อไป เกษตรกรมีเวทีให้ช่วยกันคิดผลักดันนโยบายกฎหมาย รวมทั้งแผนปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกษตรกรอยู่รอดได้อย่างมี ศักดิ์ศรี เกษตรกรจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะนำไปสู่การผลักดันเจรจาต่อรองเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยและคนจนเข้าถึงที่ดิน ฐานทรัพยากร การแก้ปัญหาหนี้สิน และเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้"



ส่วนสิ่งแย่ที่สุดคือ "กระบวนการยุติธรรมไทยจับเกษตรกรยากจนที่ทำกินในที่ดินตัวเองเข้าคุก คือเกษตรกรรายย่อยที่จังหวัดลำพูน 21 คนได้รับโทษโดยถูกจำคุก 6 เดือนในข้อหาบุกรุกที่ดินของเอกชนทั้งที่เกษตรกรทำกินในที่ดินของตนเอง การจับกุมคุมขังเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรและครอบครัวเดือดร้อนมาก ขณะที่นายทุนเจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องสงสัยว่าจะร่วมมือกัน ทุจริต ออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่ถูกดำเนินคดี



เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมกับคนจน ซึ่งหากมาตรฐานนิติรัฐเป็นแบบนี้ อาจทำให้คนจนที่อยู่ในข่ายที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐและเอกชนอย่างผิด กฎหมายจะต้องถูกจับกุมคุมขังอีกนับแสนคน จึงเป็นความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่แย่ในสังคมอย่างที่สุด"



สำหรับความคาดหวังในปีหน้า



"ผมหวังว่าจะมีการแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกินและคนจนเมืองไร้ที่อยู่ อาศัยและที่ประกอบอาชีพอย่างจริงจัง ด้วยการจำกัดการถือครองที่ดินเกษตร เก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ากับเจ้าของที่ดินเกษตรที่ไม่ได้ถือครองหรือไม่ ได้ทำเอง นำเงินภาษีนี้มาจัดทำกองทุนธนาคารที่ดินบริหารที่ดินให้กระจายไปยังเกษตรกร ที่ไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกินอย่างทั่วถึง"







สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง



"เหตุการณ์ 10 เมษา และ 19 พฤษภาที่รัฐตัดสินใจใช้อาวุธสงครามเข้าสลายฝูงชน ถือเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในรอบปีสำหรับผม" เขาบอก




"ทหารไม่มีทักษะในการควบคุมฝูงชน มีแต่การฆ่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทหารออกมา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องล้าหลังมาก แล้วมันก็เกิดขึ้นอีก อีกทั้งยังโหดเหี้ยมกว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำ"



หากเรื่องดีก็ยังมีให้เห็น โดยเฉพาะในวิกฤติน้ำท่วม



"การออกมารวมตัวของภาคประชาชนในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤตินั้น ชี้ให้เห็นว่าประชาสังคมก้าวเข้ามาแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ผลักให้เป็นภาระของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ประชาชนดำเนินการเป็นคู่ขนาน เป็นจิตอาสาที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเห็นการพัฒนามาตั้งแต่ตอนสึนามิแล้ว"



สำหรับความหวังในปีหน้า ในกรอบการทำงานของเขาเอง ก็ยังมองถึงการแก้ปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก



"ความขัดแย้งทางการเมืองก็ควรจะกลับมาสู่การแก้ปัญหาในแนวทางของการ เมือง ความขัดแย้งไม่ว่าจะดำรงอยู่หรือไม่ แต่ก็ไม่ควรออกนอกกรอบการเมืองอีกต่อไป เราควรหาทางจัดการ และคลี่คลายปัญหาให้อยู่ภายในกรอบดังกล่าว"







ประมวล เพ็งจันทร์



"สิ่งที่มองว่าเป็นเรื่องไม่ดีของบ้านเมือง ถ้าเรามองในมุมกลับ มันก็เป็นแง่มุมที่ดี เราจะได้ตระหนักรู้ถึงความหมายของความรุนแรง เพราะถ้าเราไม่ตระหนักรู้ความหมายของความรุนแรง เราก็ไม่เห็นคุณค่าของสันติภาพและความสงบสุข




ถ้าสังคมใดไม่เห็นค่าของสันติภาพ สังคมนั้นจะเดินเข้าไปสู่ความรุนแรง จะทำสงครามกันเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าไม่เห็นคุณค่าของมิตรภาพ ก็จะทะเลาะกัน จะโกรธใคร จะเกลียดใครก็ได้ ในมุมมองของผม แน่นอนเรารู้สึกสลดกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แต่ความโศกสลดนั้นมันทำให้รู้สึกได้ถึงความหมายของสันติภาพ อย่าพูดว่าดีหรือไม่ดี แต่ว่ามีค่า และค่านั้นจะมีผลเมื่อผ่านพ้นไปแล้วเราได้ตระหนัก



สำหรับความหวังของผม อยากเห็นคนเราที่เคยรู้สึกเกลียดชังรู้สึกโกรธแค้นต่อกัน ลบความรู้สึกนั้นออกไปเสีย อยากเห็นคนที่เคยด่าทอ ได้พูดจาด้วยวาจาที่ไพเราะต่อกัน ได้ยินคนด่ากันบ่อย ใจของเราก็จะสลดหดหู่ พลังของความดีงามในสังคมก็เสื่อมถอย ชีวิตที่เป็นปัจเจกบุคคล พลังชีวิตก็อ่อนล้าไป ถ้าเป็นไปได้ผมอยากฟังคำชื่นชมสรรเสริญจากปากของคนที่เคยเกลียดชังคนอื่น ในสังคมเราเสียงประณามสาปแช่ง มันไม่ได้สาปแช่งใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการสาปแช่งสังคมทั้งหมดเลย แต่ถ้าเป็นเสียงยกย่องสรรเสริญแม้จะยกย่องเป็นรายบุคคล แต่เสียงนี้ก็มีผลแก่การยกย่องภาพรวมของสังคม



ถ้าเราใช้ชีวิตนั้นเพื่อขัดแย้ง เพื่อเอาชนะ เพื่อทำให้คนอื่นวิบัติ ผลที่เกิดขึ้นในใจของเราก็คือความวิบัติของเราเอง แต่ถ้าชีวิตของเราจิตใจถูกระดมกำลังมาใช้เพื่อการชื่นชมยินดีการกระทำของคน อื่น ผลของการชื่นชมนั้นจะกลายเป็นพลังชีวิตของตัวเราเอง



ถ้าเราทำในสิ่งที่เป็นตรงกันข้าม พลังในสังคมก็จะเข้มแข็งขึ้นที่สำคัญคือพลังแห่งความดีงามในสังคมก็จะมาก ถ้าเป็นเช่นนี้ผมก็เข้าใจว่ามันน่าจะมาถึงจุดที่ดูดีได้ ..เป็นความหวังของผม







ซะการีย์ยา อมตยา กวีรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2553



ปีเสือที่ผ่านไป เหตุการณ์ที่ราชประสงค์ และภาคใต้ น่าจะเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดของสังคมไทยในทัศนคติของซะการีย์ยา




"ผมคิดว่าทุกคนที่ได้รับรู้ข่าวนี้น่าจะมีมุมมองด้านมนุษยธรรมเช่น เดียวกับผม ไม่ได้แบ่งว่าฝ่ายไหน ฝ่ายใด แต่เหตุการณ์นั้นถือเป็นการสูญเสียของมนุษย์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น"



และเรื่องดีของกวี จะเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากรางวัลซีไรต์ที่เขาคว้ามา



"ผมได้รวมเล่มบทกวีออกมาหนึ่งเล่ม หลังจากที่ผมทำงานมาสิบปี ก็เพิ่งมีเล่มแรก หลังจากนั้นหนังสือก็ได้เข้ารอบรางวัลซีไรต์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่มีเรื่องดีกว่านั้น ก็คือ ก่อนที่ผมจะได้เข้ารอบรางวัลซีไรต์ บทกวีของผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบรรดากวีรุ่นใหม่ที่ประเทศ ฝรั่งเศสเชิญให้ไปแลกเปลี่ยน 1 สัปดาห์ ทางฝรั่งเศสเขาให้คุณมาแซล บาร์ลังค์คัดเลือกกวี และเขาได้แปลบทกวีของผมไปเป็นภาษาอังกฤษสามชิ้น และฝรั่งเศสอีกหนึ่งชิ้น ผมไม่แน่ใจว่ามีทั้งหมดกี่คน แต่จะคัดเหลือสามคน ตอนนี้ยังไม่ประกาศว่าใครได้ไป แต่ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการทำงาน มันช่วยให้รู้สึกหายเหนื่อย"



ผมหวังว่าปีหน้าน่าจะมีการพูดคุยกันระหว่างทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน อยู่ น่าจะลงตัวได้แล้ว น่าจะมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน 4-5 ปีที่ผ่านมา ควรจะมีการชำระให้ถูกต้อง ความสงบน่าจะคืนมา ส่วนตัวผมก็อยากจะทำงานอย่างจริงๆ จังๆ เพราะตั้งแต่ได้รับรางวัลซีไรต์มาก็ไม่มีเวลาทำงานเขียน ตั้งใจว่าจะเขียนมันจริงๆ จังๆ บทกวีจะยังทำต่อไป แต่ที่อยากทำนี่เป็นนิยาย และงานแปล



ปีหน้านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของผมและของทุกคนอีกครั้งหนึ่ง"







อ.จรูญ บุญสวน จิตรกรอาวุโส



"ปีที่ผ่านมามีความรู้สึกเหมือนกับว่างานศิลปะที่ 'make it easy' หรือทำแบบง่ายๆ ค่อยๆ หายไป มันจะกลายเป็นว่ารูปเขียนที่เสนอต่อประชาชนช่วงหลังๆ เหมือนกับว่าศิลปินเริ่มใช้ฝีไม้ลายมือมากขึ้น คนที่มีฝีมือ คนที่ฝึกปรือมาอย่างช่ำชองเนี่ยมีโอกาสมากขึ้น งานอะไรที่มันชุ่ยๆ ง่ายๆ ซึ่งสมัยหนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมมันหายไป แม้แต่ในแวดวงนักศึกษาศิลปะ คนที่มีฝีมือมีมากขึ้น




อีกอย่างคือเรื่องของการแสดงงาน ที่น่าดีใจคือเดี๋ยวนี้มีแหล่งให้ศิลปินได้แสดงงานมากขึ้น ถึงจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องของรายได้ก็ไม่จำเป็น แต่เมื่อมีโอกาสได้แสดง ผู้คนได้เห็นผลงาน ก็จะเป็นแรงให้ศิลปินได้เห็นแนวทางของตัวเองชัดเจนขึ้น ช่วงปีที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าศิลปินเราก้าวเดินไปมากขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วซึ่งช่วงนั้นผมรู้สึกว่าผมหมดหวังกับศิลปิน



ช่วงหลังผมพยายามคิดว่า อะไรที่ไม่ดี ถ้าเราดูแล้วจะรู้สึกไม่ดีเราไม่ดูดีกว่า ผมพยายามทำใจให้สบาย อะไรที่ไม่ดีเราไม่อ่าน ไม่ฟัง พยายามเลือก ทำให้ใจเราดีขึ้น งานของศิลปินบางคนไปดูแล้วถึงจะเห็นอะไรไม่ดีแล้วเราก็เริ่มมองโลกในแง่ดี พยายามคิดว่าเขาอายุยังน้อยอยู่ เขาคงจะพัฒนาต่อไปได้



ปีหน้า น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ คนที่ดูรูปมีความตั้งใจดู คนดูรูปมีความรู้มากขึ้น ไม่ใช่กิ๊กก๊อก ทำอะไรชุ่ยๆ มาแสดง รู้จริงมั่งไม่รู้จริงมั่งเริ่มจะหายไปแล้ว เดี๋ยวนี้ศิลปินต้องรู้แล้วว่าคนดูรูปเริ่ม 'ทัน' หรือเผลอๆ จะก้าวหน้ากว่าศิลปินด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นศิลปินจะหลอกคนไม่ได้...หลอกก็ตายเปล่า "







ภาณุ อิงคะวัต ประธานเครือข่ายพลังบวก



สิ่งที่ดีที่สุดของภาณุ อิงคะวัต คือการมองความเศร้าสลดของเหตุการณ์บ้านเมืองในแง่บวก




"ผมว่ามันทำให้เราตาสว่าง ได้คิด ได้รับรู้ ได้ยิน ในหลายๆ ปัญหาที่แท้จริงของคนไทย ที่เราด้วยกันเองไม่เคยสนใจ หรือใส่ใจพอ โดยเฉพาะปัญหาระดับรากหญ้าของคนต่างจังหวัดในที่ห่างไกลความเจริญ เราได้เข้าใจความต้องการของเขามากขึ้น มีคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มากมายที่ลงมาร่วมกันศึกษาและพัฒนาแก้ไขมากขึ้น ถึงแม้มันจะไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ แต่ดูเหมือนเราได้ก้าวไปสู่ความร่วมมือใหม่ๆ มาตราฐานความคิดใหม่ๆที่จะพาประเทศไปอีกระดับของพัฒนาการได้



ส่วนเรื่องที่แย่ที่สุดในรอบปี คงปัญหาความแตกแยกของคนไทยกันเอง สิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนก็เกิดได้เพราะเพียงแค่มีคนไทยกันเองที่หวัง ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ความเชื่อในชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ถูกนำมาเป็นเครื่องมือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่เราเคยสั่งสมกันมาถูกทำลายหรือใช้เป็นเครื่องมือ ผิดๆ



"ปีหน้าผมหวังว่าคนไทยจะเลิกนั่งรอให้คนอื่นลุกขึ้นก่อน แต่เอาพลังในตัวเองมาใช้แก้ไขปัญหาต่างๆของสังคมไทย หวังว่าคนไทยจะคิดถึงเรื่องส่วนรวมมากกว่าเรื่องส่วนตน ไม่รู้หวังมากไปหรือเปล่าครับ" เขาทิ้งท้ายด้วยคำถาม

ไม่มีความคิดเห็น: