หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Big Politics : การเมืองเรื่องยุบ ยึด ยื้อ

โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
LifeStyle @กรุงเทพธุรกิจ

เริ่มซีรีส์พิเศษ 5เรื่องใหญ่ในรอบปีด้วย"การเมือง"ที่เข้ารอบแบบนอนมาและหลายครั้งเป็น"การ เมืองที่ไม่ถูกกฎหมาย"แต่ใช้กฎหมายเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก


นิตยสาร Times ยกให้ข่าว "ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง" ติดอันดับ 1 ใน 10 ข่าวเด่นของโลกในรอบปี

พรรคประชาธิปัตย์ รอดพ้นการยุบพรรคไปได้ถึง 2 ครั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนุญถูกสังคมตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ


รวมไปถึงการกลับลำแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาลตามแรงกดดันจะพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมคัดค้าน

การเกิดขึ้นของคณะปฏิรูป และปรองดอง ที่ดึงผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมาร่วมก่อฐานสามเหลี่ยม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อันเชื่อว่าน่าจะเป็น "รากเหง้า" ของปัญหาทั้งหมด


บรรดาคลิปหลุด คลิปแฉประดามี ที่ฝั่งการเมืองร้อนแรงไม่แพ้โลกมายา..

"ไฮไลท์" ที่ยกมาคร่าวๆ ทั้งหมดนี้คงเพียงพอที่จะทำให้ "การเมือง" คือเรื่องใหญ่แห่งปี 2553

และปีนี้ ปรากฎการณ์ทางการเมืองแต่ละครั้ง ล้วนแต่ท้าทายอำนาจกฎหมาย หรือไปไกลถึงขั้นใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

"กฎหมายแห่งราชอาณาไทย" จึงถูกสั่นคลอน และโดนยอกย้อนถามว่า ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่ หรือเป็นเพราะใครต่างๆ ที่เป็นผู้อำนาจบังคับใช้ ไม่ตั้งตนอยู่บนหลักยุติธรรม

คำตอบของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในสายลม ขณะเดียวกันก็ไม่สำเร็จรูปขนาดโหรฟันธง


แต่อย่างน้อยๆ การตั้งคำถามถึงการเมืองเรื่องกฎหมายในรอบปี จากผู้ที่ติดตามและมีจุดยืนชัดเจนอย่าง รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าจะให้ข้อมูลและมุมมองน่าสนใจกลับไปขบคิด ฟิตกายและใจให้พร้อมรับกับการเมืองปีหน้า ปีที่อาจารย์บวกลบคูณหารแล้วว่า "หนักกว่า"


ปีนี้เป็นปีที่การเมืองมีเรื่องมีราว เรียกได้ว่าสวิงตลอดเวลา อาจารย์คิดว่าเป็นผลมาจากอะไร



มีอยู่สองอย่าง อันหนึ่งเป็นความจริงที่ปิดเอาไว้แล้วมันค่อยๆ หลุด บางทีหลุดแบบไม่คาดฝัน ใครจะไปคิดว่าเขาจะพูดจากันแบบนี้ แล้วก็มันเป็นข่าว(ในวิกิลีคส์) ออกมา อีกอันคือว่ากระบวนการที่เคยทำเอาไว้มันจะย้อนกลับมามัดคอตัวเอง หมายถึงว่าสิ่งที่ทำไว้ สิ่งที่เคยตัดสินเอาไว้มันจะย้อนกลับมา เช่น คุณเรืองไกรไปยื่นเรื่องกรณีคุณอภิสิทธิ์ไปรับค่าบรรยายว่า เหมือนอย่างที่คุณสมัครโดน แต่หลักที่ถูกต้องคือมันไม่ใช่ ที่คุณสมัครทำมันไม่เข้าข่ายเป็นลูกจ้างในความหมายของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญท่านตีความตรงนี้กว้างไปหมด มันจะเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก แล้วภาวะแบบนี้ยิ่งจะทำให้ประชาชนเห็นชัดมากขึ้น เป็นความลำบากของชนชั้นนำที่คุมอำนาจอยู่ในเวลานี้



กับอีกฝ่ายที่ต่อสู้เค้าก็ไม่ง่าย เพราะนี่คือการต่อสู้ที่มีเดิมพันที่สูงมากด้วย แล้วก็เค้าสู้กับอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมไทยเรามานาน มันก็ไม่ได้ง่าย แต่ว่ามันพูดมานานแล้ว








ปีนี้เป็นปีที่การเมืองใช้กฎหมายเยอะมาก?



ใช่ เยอะจริงๆ ปีที่ผ่านมามันก็ใช้ตลอดนะ เพียงแต่ว่าปีนี้นี่มันเยอะ แต่ในขณะเดียวกันมันอาจจะแปลกกว่าปีก่อนๆ คือการกัดเซาะ ความศรัทราที่มีต่อระบบมันมาก







มีการตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์เยอะมากด้วย




ปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ ปีก่อนๆ เวลาพูดก็พูดจากเหตุผลล้วนๆ ซึ่งคนฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ปีนี้เรามีอะไรบางอย่างมาสนับสนุน สำหรับผม ถ้าไม่นับเรื่องเหตุการณ์เมษา พฤษภานะ เป็นปีที่ดีสำหรับผม ในแง่ที่ว่าสิ่งที่ผมไม่เคยพูดมาก่อนหน้านี้ คนเริ่มได้เห็นแล้ว หวังว่าปีต่อไปจะได้เห็นมากขึ้นอีก แต่วในด้านหนึ่งมันก็เป็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ







จึงเกิดกลุ่มนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร(การรวมกลุ่มของคนที่ประกอบวิชาชีสอนกฎหมาย) ขึ้นมา?



เหตุการณ์เมษา พฤษภาที่ผ่านมาเป็นแรงผลักสำคัญมากๆ ที่ทำให้ตัดสินใจว่าต้องทำ ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่ามันถูก คือ สร้างอุดมการณ์ทางกฎหมาย-การเมืองที่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อแทนที่อุดมการณ์แบบเก่าและปลูกฝังให้เป็นอุดมการณ์ใหม่ของสังคม นอกจากจะเป็นการตรวจสอบบ้านเมืองแล้วยังเป็นการตรวจสอบเราเองไปในตัว ว่าจะเป๋ไปจากหลักหรือเปล่า







อาจารย์มองว่าการตรวจสอบที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือหรือความศักสิทธิ์มีมากแค่ไหน



ไม่ค่อยเหมือนเดิม จริงๆ วันนี้เราเข้าใจกระบวนการตรวจสอบทุกอย่างว่ามันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองหมด เลย ผมก็ยังรู้สึกเลยว่าเวลาที่ออกวิเคราะห์ออกแหล่งข่าวอะไรออกไปเนี่ย มันก็ยังถูกมองได้เหมือนกันว่ามันเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง เมื่อก่อนก็คิดว่าให้ไปโดยความบริสุทธิ์ แต่หลังๆ เนี่ยรู้แล้วล่ะว่าให้ไปมันก็ถูกเอาไปใช้ แต่ว่าอย่างเดียวที่ทำให้ต้องทำต่อไปคือเรายังรู้สึกว่าเราบริสุทธิ์







เรายังต้องเชื่อในการตรวจสอบต่อไป ?



ใช่ เป็นอย่างนั้น แน่นอนว่า เวลาเกิดกระบวนการตรวจสอบจากหลากหลายภาคส่วน เราก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในประชาธิปไตย แต่ในกระบวนการตรวจสอบนั้นมันน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนเราก็คงต้องดูเอา แต่ละองค์กร แต่ผมบอกได้เลยว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่องค์กรที่สำคัญๆ ขาดความน่าเชื่อถือไปมาก




กลายเป็นว่า คนจะหันไปเชื่อคำจำพวก "แฉ ตีแผ่ หลุด" มากกว่าการตรวจสอบ



เพราะว่ามันสัมผัสได้ไง เช่น ผมดูคลิป มันสัมผัสได้ เร็วต่อการตรวจสอบด้วย และขณะที่คนที่ถูกกล่าวหาไม่ได้แสดงออกอย่างจริงจัง ในแง่ของการทำให้ความจริงมันกระจ่างขึ้นมา มันก็ยิ่งกลายเป็นการอยู่เฉยๆ ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาเพื่อให้คนลืมๆ ไป แต่อีกด้านหนึ่งไม่ลืม และยิ่งเท่ากับไปตอกย้ำความเชื่อของคนให้มันหนักแน่นไปอีก




ทุกวันนี้เรามีมิสเตอร์เฉย เยอะเลย ในบรรดาองค์กรต่างๆ การเฉยมันเป็นการอับจนปัญญาอย่างหนึ่ง อาจจะถือหลักแบบจีน คือสงบสยบเคลื่อนไหว ซึ่งบางสถานการณ์มันใช้ได้ แต่อย่าคิดว่ามันใช้กับสถานการณ์แบบนี้ได้ การที่เฉยเพื่อให้เรื่องมันหายไป ในด้านหนึ่งเหมือนกับไปตอกย้ำความเชื่อของคนให้หนักแน่นขึ้นไปอีก




ก็จะมีคำตอบกลับมาว่า เดี๋ยวเวลาจะพิสูจน์เอง



ก็ใช่ เวลาพิสูจน์เองว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อมันเป็นความจริง มันพิสูจน์ในทางตรงกันข้ามที่เขาคิดไงครับ




แสดงว่าเราไม่ควรจะเฉย?



ไม่ ผมคิดว่า คือถ้ายังมีสำนึกอยู่ต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบมันสำคัญนะ แต่เวลาพูดอย่างนี้เถียงกันโลกแตก....







ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนรู้อะไรถูกผิดทางกฎหมาย แต่ไม่ขับเคลื่อนหรือถามออกมาเสียงดังๆ เพราะความรักชอบในตัวบุคคลหรือกลุ่มการเมือง มันจะเป็นอย่างไรต่อไป



นี่คือปัญหาใหญ่เลยและนี่คือระเบิดเวลา สังเกตไหมครับว่า จากคดียุบพรรค เงียบกันไปเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักวิชาการเงียบกันไปเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าทำไมนะ และถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ผมเกรงว่าคนจะไม่ใช้วิธีการในระบบอีกแล้ว นี่น่ากลัว มันเสื่อมหมด เค้าไม่เชื่ออีกแล้วไง อย่างที่บอกการที่เงียบคนเค้าไม่สนใจแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งนี่เป็นอีกเรื่องที่เขาจดลงบัญชีเอาไว้ ผมห่วงว่าจะเป็นแบบนั้น








"ระบบ" อาจารย์หมายถึงกฎหมายใช่ไหม



ใช่ มันกำลังพังทะลายลง





ศาลเตี้ยจะกลับมาหรือเปล่า




วันหนึ่ง ถ้ามันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ว่าผมว่าปัจจัยชี้ขาดก็ยังคงเป็นกองทัพ คุณคุมกองทัพให้เป็นเอกภาพแล้วกัน เพราะว่าที่สุดมันก็ตัดสินที่อาวุธปืน




ในทางกลับกัน การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา อาจารย์มองเห็นความหวังหรือการเติบโตในแง่ดีบ้างหรือไม่



ผมมองว่าคนไทยโดยเฉลี่ย พร้องกับระบอบประชาธิปไตย อันนี้ผมยืนยัน ผมรู้สึกว่า เขามีความคิดทางการเมืองในระดับหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะสีแบบไหน แต่สิ่งที่ขาดอยู่คือการเคารพหลักประชาธิปไตย




หมายความว่า เขารู้สึกแล้วว่าการเลือกตั้ง ออกสิทธิออกเสียงเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ จะมาบอกว่าทุกวันนี้คนไทยยังมั่วอยู่ ยังไม่พร้อม ผมไม่เชื่อ คนที่ไม่พร้อมคือชนชั้นนำ แล้วก็สรรหาอะไรต่างๆ มาโทษมาตำหนิ คือประชาธิปไตยมันเป็นระบอบที่ตำหนิได้นะ แต่มันเป็นระบบที่มีตำหนิน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการปกครองในระบอบอื่น เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน



ทีนี้คนที่ตำหนิก็จะตำหนิจุดที่มันเป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตย แต่ไม่พูดจุดแข็งของประชาธิปไตย การเลือกตั้งซึ่งด่ากันนักกันหนาว่าชั่วร้าย หารู้ไม่ว่าถ้าเกิดรับและเคารพผลของการเลือกตั้ง คนไม่ฆ่ากันนะ อยู่ไปสี่ปีแล้วมาเลือกกันใหม่นะ มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพอร์เฟคในโลกมนุษย์หรอก เราต้องอยู่กับความเป็นจริง



บังเอิญคุณได้ผู้นำที่คุณไม่ชอบขี้หน้าเค้ามากๆ คุณรู้สึกว่าผู้นำเจ้าเล่ห์ แล้วคุณจะทำทุกวิถีทางที่จัดการ มันไม่ได้หรอก ต่างคนมันก็ต่างจิตต่างใจ ต้องเคารพคนอื่นด้วย วันนี้ต้องเอาให้ชัดว่า อะไรคือประเด็นหลัก อะไรคือประเด็นรอง ประชาธิปไตยเนี่ยนะครับ การให้อำนาจเป็นของปวงชนจริงต้องอยู่ในประเด็นหลัก การขจัดคอร์รัปชั่นต่างๆ เหล่านี้คือประเด็นรองที่มันจะต้องทำตามมา ไม่ใช่เอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นหลัก แล้วประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักมันก็ทำลายระบบ เหมือนที่ทำอยู่



ขอถามแบบกำปั้นทุบดิน อาจารย์คิดว่าปีหน้าการเมืองจะเป็นอย่างไร



มันจะรุนแรง ผมไม่แน่ใจเลยว่ามีเลือกตั้งหรือเปล่านะ แต่ถ้ามีการเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลก็อาจจะชนะการเลือกตั้ง นี่เป็นการคาดการณ์นะ เว้นแต่ว่ามันถล่มทลาย แต่ผมยังไม่คิด คือผมยังไม่ได้มองไกลขนาดเลือกตั้ง ผมยังรู้สึกว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นในข้างหน้ามากขึ้น ที่เราไม่รู้ เรายังคาดหมายไม่ได้ คือวันนี้อะไรเล็กๆ น้อยๆ มันเป็นปัจจัยทางการเมืองหมดเลย เอามาเกี่ยวหมดเลย เราจะไปพยากรณ์อะไรแบบทั่วๆ ไปนี่ยาก ผมว่าสังคมไทยนี่อย่าพยากรณ์เลย มันยาก มันพยากรณ์ไม่ได้เลย เราไม่รู้




อย่างผมเคยคิดว่ามันจะเกิดการปะทะอย่างแน่นอน ภายใต้การปลุกเร้า ความรู้สึกทางการเมืองมันจะทำให้เกิดการปะทะแน่ๆ และมันก็เกิดจริง แต่ผมยังกลัวว่าถ้ามันจะมีอีก มันอาจจะหนักหน่วง
...................................................




บันทึกการเมือง 2553


ยึด


- 26 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์กว่าสี่หมื่นหกพันล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดิน




- 3 เมษายน กลุ่ม นปช.เคลื่อนขบวนเข้ายึดพื้นที่แยกราชประสงค์ อีก 7 วันต่อมา รัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เปิดการปะทะบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิต 25 คนรวมถึงพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรมและช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น



- ต้นเดือนพฤษภาคม นายกเสนอโรดแมปแผนปรองดอง 5 ข้อกำหนดยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 24 พฤศจิกายน แต่แกนนำเริ่มแตกแยกและเห็นต่าง ขอเสนอจึงตกไป



- 13 พฤษภาคม ศอฉ.ใช้มาตรการกดดัน ปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ ค่ำวันนั้น เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผลถูกลอบยิง เสียชีวิต



- 19 พฤษภาคม นปช.ประกาศยุติการชุมนุม แกนนำทั้งหมดเข้ามอบตัว แต่ผู้ชุมนมไม่พอใจ กระจายตัวเผา กทม.และต่างจังหวัด ก่อนจะปิดฉากความรุนแรงในวันรุ่งขึ้น สรุปมีผู้เสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บกว่า2000 คน







(ไม่)ยุบ


- 29 พฤศจิกายน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องคดีการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทโดยผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมาย




- 9 ธันวาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องคดีการบริจาคเงิน 258 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมติ 4 ต่อ 3 เสียง กรณีข้อกล่าวหา การรับเงินบริจาค จำนวน 258 ล้านบาท จากบริษัท TPI โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านทางบริษัท เมซไซอะฯ ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2548 เนื่องจากเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคในคดีนี้ ตามมาตรา 94 และ 95 ดังนั้น การที่ กกต. มีความเห็นให้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นการข้ามขั้นตอน โดย กกต. ไม่น่าจะมีอำนาจยื่นเรื่องให้ อัยการสูงสุด ยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ จึงมีมติให้ยกคำร้อง




เยียวยา



- 8 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง ศ.ดร.คณิต ณ นครเป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป.)


- 18 มิถุนายน อานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี ตอบรับร่วมเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คณะกรรมการ อาทิ พระไพศาล วิสาโล นิธิ เอียวศรีวงศ์ ม.ร.ว อคิน รพีพัฒน์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: