หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เจ้าพ่อ "เฟซบุ๊ก" เบียดจอมแฉ "วิกิลีกส์" "บุคคลแห่งปี" กับภารกิจเปลี่ยนโลก

นิตยสาร "ไทม์" เพิ่งประกาศให้ "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" ผู้ก่อตั้ง "เฟซบุ๊ก" เป็นบุคคลแห่งปี 2553 เหตุผลหลักมาจากเว็บเครือข่ายสังคมยอดฮิตที่เขาก่อตั้งได้เปลี่ยนแปลงวิถี ชีวิตของผู้คนไปจากเดิม

ไทม์ยกย่องว่า ซักเคอร์เบิร์ก วัย 26 ปี ได้ร้อยเรียงผู้คนในโลกไว้ภายใต้เครือข่ายเดียวกัน และได้สร้างสังคมที่มีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐถึง 2 เท่า ซึ่งหากเทียบเป็นประเทศ เฟซบุ๊กจะเป็นประเทศขนาดใหญ่อันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย

เฟซบุ๊ก มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกมากถึง 500 ล้านคน กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก เพราะสามารถขยายขอบเขตของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และสร้างนิยามใหม่ของความเป็นชุมชน ซึ่งในโลกใบใหม่นี้ ผู้ใช้สามารถสร้างเครือข่ายสังคมได้นอกเหนือจากการสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน

อย่าง ไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นออนไลน์ของไทม์ ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปี คือ "จูเลียน แอสเซนจ์" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนในโลกด้วยการเปิดเผยข้อมูลลับทางการทหารและการทูต ของประเทศ ต่าง ๆ แต่ทางกองบรรณาธิการเลือกให้ ซักเคอร์เบิร์กได้ตำแหน่งนี้

น่าสนใจว่า ไม่ว่าใคร ระหว่าง"ซักเคอร์เบิร์ก" กับ "แอสเซนจ์" จะได้รับตำแหน่งบุคคลแห่งปี สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ทั้งคู่ต่างมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกให้แตกต่าง ไปจากเดิม ซึ่งทั้ง "เฟซบุ๊ก" และ "วิกิลีกส์" เปลี่ยนให้ข้อมูลส่วนตัวและความลับทั้งหลายกลายเป็นเรื่องสาธารณะ

เว็บ ไซต์ "นิวยอร์ก แมกาซีน" ระบุว่า สิ่งที่ทั้ง "ซักเคอร์เบิร์ก" และ "แอสเซนจ์" ทำ ได้เปลี่ยนแปลงโลก โดย"ซักเคอร์เบิร์ก"ได้รับการยอมรับในฐานะฮีโรของสังคมออนไลน์ และผู้คนหลายล้านคนยกย่องเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสุดพิเศษสำหรับการเชื่อมโยง และติดต่อในชุมชนออนไลน์ ขณะที่ "แอสเซนจ์" ได้รับการยกย่องในฐานะผู้สร้างอิสรภาพด้านข้อมูล และ "วิกิลีกส์" ก็ช่วยฉีกม่านแห่งความลับที่ภาครัฐมักใช้ปกปิดสิ่งต่าง ๆ ไว้

แต่ ขณะเดียวกัน ทั้งคู่ก็หนีไม่พ้นคำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดย"ซักเคอร์เบิร์ก" และ "เฟซบุ๊ก" ถูกครหาว่านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปแลกกับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่วน "แอสเซนจ์" และ "วิกิลีกส์" ก็ถูกกล่าวหาว่าบ่อนทำลายทางการทูตและทำให้ชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลลับตกอยู่ในความเสี่ยง ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า "ความลับ" อาจไม่เป็นความลับในโลกยุคดิจิทัลและเครือข่ายสังคมเช่นปัจจุบัน ซึ่งทั้ง "ซักเคอร์เบิร์ก" และ "แอสเซนจ์" ได้มีส่วนขยายระดับของความโปร่งใสให้เพิ่มขึ้น ทั้งในมิติการเมือง วัฒนธรรม และความเป็นส่วนตัว คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะต้านทานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร แต่เราจะใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4272

ไม่มีความคิดเห็น: